๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๐

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒ เดือนนี้ ว่าด้วยเรื่องคำอุทาน เรื่องพยัญชนเติม และเรื่องร้องรำ ทั้งส่งคำบรรยายเรื่องละครในละครนอกไปให้ด้วยนั้น ได้รับแล้ว

เรื่องคำอุทานนั้น ท่านว่าถูกแล้ว จะนับเอาเปนภาษาทีเดียวไม่ได้ ที่ฉันพูดมาก็เพื่อเพียงให้ท่านรู้สึกว่า อุทานที่ออกไปในที่อันมีความตั้งใจหมาย ก็มีอยู่บ้างเท่านั้น

เรื่อง ข หยัก ค หยัก ช หยัก ตามท่านว่า ฉันไม่ลงเนื้อเห็นด้วย แต่จะพูดคัดค้านให้มีรูปร่างเปนหลักฐานนั้น ไม่สามารถทำได้ ได้แต่พูดเกะๆ กะๆ ดั่งต่อไปนี้

(๑) ตามที่ท่านเห็นว่า ข หยัก ค หยัก ทำขึ้นสำหรับเขียนภาษาไทยนั้น ถ้าเปนเช่นนั้นจริง หนังสือที่เขียนกันมาแต่ก่อนจะต้องเห็นปรากฏมาแล้ว แต่ก็หาเปนเช่นนั้นไม่ จำได้ว่าพระสารประเสริฐได้พยายามตรวจหนังสือในหลักศิลา ตั้งแต่ครั้งพระเจ้ารามกำแหง อันกล่าวว่าหนังสือไทยแต่ก่อนไม่มีนั้นมาแล้ว แต่ดูไม่ได้หลักฐานอะไร ค หยัก กับ ไม่หยัก ใช้ปนเปกันไป ไม่มีกำหนดกฎชา

(๒) ช หยัก ยังคงเห็นตามเดิม จะใช้ ช จำเพาะแต่ในภาษาบาลีและจะใช้ ซ แทน ช ในภาษาไทยหาได้ไม่ หนังสือเขมรเขาไปอย่างหนึ่ง วรรค จ เขาอ่านว่า จอ ชอ โจ โช โญ เขาแบ่งเป็น โฆษ และ อโฆษ ตัวที่อ่านว่า จอ เมื่อประกอบลากข้างเข้าเขาอ่านว่า จา ส่วนตัวที่อ่านว่า โจ ประกอบลากข้างเข้าเขาอ่านว่า เจีย เสียงเฉโกโว้เว้ไปดังนี้ ด้วยเขาเขียนเขาอ่านกันอย่างนั้น จริงอยู่ ชราย เขาอ่านว่า จเรียย ที่ฉันให้ตัวอย่างก็ตามที่เขาเขียน โอนเอามาเทียบกับไทยเท่านั้น

(๓) ตัว ส ซึ่งมีตัว ร ควบ อ่านเปนเสียง ส เฉย ๆ นั้น เปนความผิดของไทยเราที่พูดตัวควบได้ยากเต็มที เพราะเหตุที่เราเอามาแต่จีน ซึ่งภาษาไม่มีตัวควบ ตรา ก็อ่านว่า กรา อินทรา ก็อ่านว่า อินกรา สระ สรง ก็อ่านว่า สะ สง แต่เขมรเขาอ่านถ้วนตัวคล้าย สะระ สะรง

(๔) คำ พระ พญา เพี้ย ฉันเข้าใจว่าหมายจะเขียน ฟ้า ทั้งนั้น แต่ตัวหนังสือไม่มีจะเขียนก็ต้องผสมขึ้นแต่พอใช้ได้ เหมือนเขมรก็เขียน ฟ้าทลหะ เปน ห๎วาทลห พะม่าเขียน เจ้าฟ้า ก็เปน สอบ๎วา แต่ล้วนไม่มีตัว ฟ ใช้ ด้วยกันทั้งนั้น เหตุขัดข้องอันนี้ จึงต้องคิดสร้างตัว ฟ ขึ้นในภายหลัง นึกประหลาดใจว่าเสียง ฟ นั้นมาแต่ไหน ไม่ใช่ภาษาเราแน่ แม้จีนก็ดูเหมือนมีแต่ภาษาจีนหลวงกับกวางตุ้ง จะมาแต่ภาษาอาหรับเสียดอกกระมัง

(๕) การเรียกตัวพยัญชนให้เปนเสียงต่ำ สูง นั้น เห็นว่าเปนทางสอนของพวกครูบาลีสํสกฤต ซึ่งภาษาของเขา เสียงต่ำสูงไม่เปลี่ยนความ เสียงต่ำหมายว่าเปนลหุ เสียงสูงหมายว่าเปนครุ เช่น วิธี วิเศษ แต่ก่อน เราก็อ่านกันเปนเสียงต่ำคล้าย วีธี วีเศษ เพราะเปนลหุ ครั้นถึง วิทยา อ่านเปนเสียงสูงคล้าย วี้ทยา เพราะเปนครุ แต่เด็กเดี๋ยวนี้อ่านผิดแนวนี้หมด เพราะอ่านแจกลูกว่า ว วา วิ้ วี ก็ต้องอ่านเปน วิ้ธี วิ้เศษ

ท่านอธิบายความประสงค์ ซึ่งต้องการอธิบายถึงร้องรำ เข้าใจแล้ว ฉันจะเขียนให้ท่าน แต่ต้องเข้าใจไว้ว่า เขียนให้สำหรับท่านรู้เท่านั้น แต่ยากเต็มทีที่จะอธิบายให้ท่านเข้าใจ เพราะเปนวิชาที่ฝรั่งเรียกว่า เต๊ฆนิค คนที่ไม่ได้เรียนแล้วจะเข้าใจได้ยาก แต่จะลองอธิบายมาให้ดู ตามที่ฉันพิจารณาเห็น ดูเปนว่าแต่ก่อนนี้ รำ ก็อยู่ส่วนหนึ่งต่างหาก ร้อง ก็อยู่ต่างหาก ปี่พาทย์ ก็อยู่ต่างหาก ส่วนใครก็ใคร แล้วจึงจะมาผสมกันเข้าทีหลัง

คำบรรยายที่ท่านให้ไปเหลวเกือบหมดนั้น ละครในละครนอก กับทยอยในทยอยนอก มีความหมายต่างกัน ละครในนอกหมายถึงในวังนอกวัง ทยอยในนอกหมายถึงลูกปี่พาทย์ ซึ่งมีทางในทางนอก ซ้ำยังมีทางกลางอีกด้วย จะให้คำอธิบายละเอียดทีหลัง

ที่เราเขียนว่า ละคร เพราะเราเข้าใจว่ารกรากมาแต่นครศรีธรรมราช แต่ภาษาชะวาเขาก็มีคำว่า ละคอน แต่เขาหมายความว่าเรื่อง เช่นละคอนอิเหนา เขาเข้าใจกันว่า เรื่องอิเหนา จะเอาอะไรเปนแน่ ก็เหลือแต่ไม่ทราบ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ