๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๔๘๐

พระยาอนุมานราชธน

จะตอบหนังสือของท่าน ซึ่งลงวันที่ ๑๓ ตุลาคมนั้นสืบไป

เรื่องคำกร่อนของท่านนั้นดีมาก หากจะไม่ถูกก็เฉียดเข้าไปทีเดียว เปนทางน่าพิจารณามาก

ท่านแปลคำ เถอด เปน เหอด นั้นถูกทีเดียว ฉันนึกได้แล้ว เคยไปได้ยินพระท่านสวดมนต์ที่วัดในเมืองชล ท่านสวด พุทธฮัง ธฮัมมัง สังฆฮัง นึกชอบใจเสียกะไรเลย เห็นว่าท่านอาจารย์ผู้สอนมีปัญญามาก ตัว ถ ก็คือ ต + ห จึ่งเลื่อนไปเปน เหอด ได้ด้วยง่าย

คำว่า ชาติ ท่านเข้าใจความหมายของฉันคลาดอยู่ ฉันไม่ได้หมายจะให้ถอยหลังไปใช้ตามเดิม ฉันบอกว่าฉันไม่เข้าใจเท่านั้น จะใช้ถึงตระกูลถึง พวก ด้วยก็เอา แต่คำตระกูลหรือพวกนั้น จะตีวงเพียงไร ที่นับว่าเปนตระกูลหนึ่งหรือพวกหนึ่ง ซึ่งจะนับว่าเปนชาติหนึ่ง ไม่เข้าใจที่ตรงนี้

เรื่องคำซ้อนก็ถูกตามที่ท่านอธิบายอยู่มาก แต่ลางคำ เมื่อประชุมบัณฑิตย์ ว่ากันเข้า ก็จะมีความเห็นแตกต่างไปได้

อันคำที่มีเสียงเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกันนั้น ไม่ใช่มีแต่ในภาษาไทย แม้ภาษาจีนและภาษาบาลีก็มีเหมือนกัน โบราณาจารย์ของเราท่านก็รู้สึกเดือดร้อน จึงบัญญัติให้เขียนตัวต่างกันเสีย เช่น ข้า ฆ่า ล่า หล้า เล่า เหล้า เป็นต้น

อนึ่ง สระ นั้นก็ไม่มีมากอย่าง หากต่างกันมากไปด้วยพูดไม่ชัด และด้วยอำนาจออกเสียงหนักเบาเท่านั้นเอง เหมือนกับพยัญชนอันได้ตกลงกันมาแล้ว

เรื่องที่พูดกันมาทั้งหมดนี้ เปนกรุยทางที่หมาย อันจะเดินไปในทางทำแกรมมา ภาษาไทยทีเดียวแล้ว ฉันอยากจะดูแคลน แกรมมาภาษาไทย ว่าถ้าเรียงคำตามตำรานั้น จะไม่เปนภาษาเลย เชื่อว่าผู้แต่งถูกท่านผู้ใหญ่บังคับให้แต่ง หมดปัญญาก็เอาตำราภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ เข้ามาทำโครง ภาษามันเหมือนกันเมื่อไร จะได้ใช้ได้

คำอีกพวกหนึ่ง ท่านจะได้สังเกตเห็นหรือเปล่า คือคำที่ใช้กลับหน้าหลังกันให้ความต่างกัน เช่น ดีใจ ใจดี เสียใจ ใจเสีย ฉะนี้เปนต้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ