๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒ ฉะบับ กับทั้งส่งรอยประทับพระตราต่าง ๆ ไปให้ ได้รับแล้ว จะได้รวมตอบเปนฉะบับเดียวนี้

รอยประทับพระตราต่าง ๆ ซึ่งท่านส่งไปให้ดูคราวนี้ ต้องที่ฉันจะพูดอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีความรู้อะไรในพระตราเหล่านั้น แต่ผเอิญท่านจดเสียงอ่านหนังสือจีนไปในพระตราลางองค์ มีคำว่า แต้เจีย ซึ่งคำนี้เคยรู้ว่าเปนพระนามแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรวา แต่จะเปนพระองค์ใดจำไม่ได้ พระเจ้าอยู่หัวของเรา ทราบว่าแต่ก่อนมีพระนามอย่างจีนทุกพระองค์ สำหรับใช้เขียนพระราชสาส์นไปเมืองจีน ทำให้อยากรู้ขึ้นมา จึ่งส่งพระตราบรรดาที่เปนอักษรจีนไปให้พระเจนจีนอักษรพิจารณา แล้วให้จดมาให้ตามรู้ อันฉันได้ส่งมาให้ในบัดนี้ด้วยแล้ว ทั้งปึ๊งรอยประทับพระตราต่าง ๆ เพื่อจะได้เก็บไว้ด้วยกัน

ได้พูดกับพระเจนจีนอักษร ถึงเรื่องพระนามอย่างจีน พระเจนรู้และจำได้ดีอยู่ ๔ รัชชกาล ด้วยได้เคยแปลจดหมายเหตุครั้งแผ่นดินเจง ปรากฏพระนามเปนดั่งนี้

รัชชกาลที่ ๑ แต้ฮั้ว
รัชชกาลที่ ๒ แต้ฮก
รัชชกาลที่ ๓ แต้เหม็ง
รัชชกาลที่ ๔ แต้ฮุด

พระนามทั้ง ๔ นี้ ได้ขอให้พระเจนจีนอักษรจดไว้ที่หลังกระดาษบันทึก อันได้ส่งมาให้นั้นด้วยแล้ว เมื่อได้ทราบพระนามรัชชกาลทั้ง ๕ ซึ่งล่วงแล้วมาเช่นนั้น พระนาม แต้เจีย ก็ต้องตกเปนรัชชกาลที่ ๕ แต่ได้ทราบว่าในรัชชกาลนั้น ไม่เคยมีพระราชสาส์นไปเมืองจีนเลย จึ่งสันนิษฐานว่าเปนแต่ขนานพระนามเตรียมไว้ เผื่อจะมีพระราชสาส์นไปตามเคย และท่านผู้ขนานพระนามก็เลยสั่งทำพระตราเข้ามาถวาย แต่ที่จริงจะไม่ได้ใช้เลย

อักษรจีนในพระตรา ซึ่งพระเจนจีนอักษรแปลมาให้นั้น หลายองค์ที่ต้องอย่างจีนเขาว่า คำลีลี ไม่มีความที่ควรสังเกต มีคำอันควรสังเกตอยู่ ๕ องค์ ดังจะกล่าวต่อไปนี้

๑. เปนอักษรจีนอย่างปกติ ว่า เซียม-ก๊ก-แต้-เจี่ย ขนาดใหญ่ (หมายเลข ๒ มา) กับ

๒. เปนอักษรจีนอย่างปกติ และมีคำอย่างเดียวกัน แต่ขนาดย่อมลง (หมายเลข ๑๑ มา)

ทั้งสององค์นี้ จัดว่าเปนพระตราพระนาม อย่างเดียวกันกับพระตราสยามโลกัคคราช ฉะนั้น

๓. เปนอักษรจีนอย่างตัวยี่ มีคำเติมเข้าอีก ๒ คำ คือ เก่า-เม่ง แปลว่า บอก-สั่ง เปน เซียม-ก๊ก-เก่า-เม่ง-แต้-เจี่ย (หมายเลข ๙ มา) กับ

๔. เปนอักษรจีนอย่างตัวยี่เหมือนกัน แต่ทำขนาดให้เล็กลง ตัดคำเซียม-ก๊ก ออก คงมีแต่ เก่า-เม่ง-แต้-เจี่ย (หมายเลข ๘ มา)

เข้าใจว่าพระตรา ๒ องค์นี้ ตั้งใจทำมาจะให้เปนพระตรา พระบรมราชโองการ

๕. อีกองค์หนึ่งประหลาดมาก ทำเปนอักษรจีนอย่างปกติ มีคำว่า เซียม-ก๊ก-เก่า-เม่ง-ยี่-อ๋อง เข้าใจว่าเตรียมทำมาสำหรับวังหน้า ยี่-อ๋อง เห็นจะคิดเทียบมาแต่คำ Second King พระตราองค์นี้จะต้องตีคลุมว่าตั้งใจให้เปนพระตรา พระราชบัณทูร (คือ บันทูล ตามที่หมายเลข ๔ มา)

อนึ่งคาถาในพระตราสยามโลกัคคราช ซึ่งท่านให้คำแปลไปเปนว่าเกี่ยวแก่วัด ทำให้เกิดสงสัยว่า ถ้ามีความเกี่ยวแก่วัดแล้ว เหตุใดแต่ก่อนจึงได้ใช้ประทับสัญญาบัตร คู่ด้วยพระบรมราชโองการ เห็นขีดอยู่มาก จึงได้จดไปสอบถามพระเถร ซึ่งท่านรู้หนังสือดี ท่านก็แปลให้เข้าใจ ไม่มีเกี่ยวแก่วัด ถ้าแปลตรง ๆ ไม่ประกอบด้วยคำประดับพระเกียรติยศด้วยก็เปนดังนี้

๑. ใบประทับตรานี้

๒. ของอัครราชาโลกสยาม

๓. ผู้ปกครองสั่งสอน

๔. สรรพชนในแว่นแคว้นฯ

ผิดกันไปนิดเดียว ที่ท่านแปลคำ อชฺฌาวาสฺส เปนปกครอง ท่านอ้างตัวอย่าง อคารํ อชฺฌาวสติ ว่าปกครองเรือน หรือ ปวี อชฺฌาวสติ ว่าปกครองแผ่นดิน ท่านอธิบายต่อไปว่าคำนั้น ถ้าโดยปกติจะต้องลง ส อาคมเปน อชฺฌาวาสสฺส แต่เพราะข้อบังคับอนุญาตไว้ ว่าถ้าเปนคาถาแล้วตัดอาคมออกเสียก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงตัดเปน อชฺฌาวาสฺส แม้กระนั้นอักษรก็เกิน ๘ ไปพยางค์หนึ่งแล้ว

กับพระตราหงสพิมาน และ พระครุฑพาห์ องค์ซึ่งทำเปลี่ยนพระตราอามแผ่นดินนั้นก็ไม่พ้นสงสัย ด้วยมีเหตุอะไรหลายอย่าง ซึ่งทำให้สัญญาในใจว่าได้เขียนถวายแต่ในรัชชกาลที่ ๕ หากมีประกาศในรัชชกาลที่ ๖ มาหักล้างก็ทำเอาจนใจไป ครั้นได้ไปพบเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ จึ่งได้ลองถามสอบดู เพราะท่านเปนผู้อำนวยการให้ทำหุ่นและให้แกะ ท่านก็รับสมอ้างยืนยันว่าเปนการในรัชชกาลที่ ๕ แน่นอน

ท่านช่วยสอบได้ความว่า อาว อา มีจริง ๆ เปนผู้ชายกับผู้หญิงนั้น ขอบใจท่าน ทำให้เข้าใจขึ้นมาก ส่วนอื่น ๆ นั้นผิดระดับ เราก็แก้ไขไม่ได้ต้องเปนไปตามที่เปนอยู่

ข้อที่กล่าวถึงทำฐานรองบุษบกพระแก้ว ในเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เปนคำกวี อันวิสัยกวีนั้นสุดแต่จะเลือกคำมาร้อยกรอง ให้ได้อักษรและสัมผัสฟังไพเราะเท่านั้นก็เปนแล้ว ไม่ต้องได้ความหรือซ้ำเปนมุสาวาทด้วยก็ได้ ดีเสียอีกที่เรื่องปฏิสังขรณ์นั้นถูกบังคับให้พูดตามความที่เปนไป ท่านจึ่งอ่านเอาความได้บ้าง ไม่เช่นนั้นแล้วท่านจะอ่านจับเอาอะไรไม่ได้ แม้ถูกบังคับให้แต่งตามความเปนไปจริงก็ดี จะทักเล่นสักนิดหน่อยก็ได้ เช่นว่า พระพุทธรูปสัฏฐารศ ในพระอุโบสถวัดพระแก้วไม่มีพระสักองค์เดียวที่สูงถึง ๑๘ ศอก และที่ว่า ท้องไม้ประดับกระจกเขียวงามดุจแก้วไพฑูรย์ ขอโทษแก้วไพฑูรย์สีไม่เขียว คำที่ท่านว่าเปนทางช่างโดยจำเพาะนั้นก็หาใช่ไม่ ไปจำขี้ปากเขามาปรุงลงผิด ๆ ถูก ๆ เอาเปนหลักฐานอะไรไม่ได้ จะบอกท่านให้เข้าใจต่อไปนี้

ไพที ที่จริงเปนยกพื้น แต่ผู้แต่งเรื่อง ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เข้าใจว่าเปนพนัก อีกทางหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงเอาคำสํสกฤตมาใช้เรียกยกพื้นโรงละคอนว่าเวที เข้าใจว่าไม่โปรดที่เรียกกันไปตามฝรั่งว่า สเตด คำ เวที กับ ไพที ก็เปนคำเดียวกัน แต่ทำไมจึ่งไม่ทรงใช้ คำ ไพที นั้นก็ไม่ทราบ กระแสพระราชดำริ ที่ใช้คำ ไวที กันนั้น เข้าใจว่าแผลงไปเดินทางสายกลาง

บันใหญ่ บันแถลง บัน เคยเขียน บรรพ คำ บรรพใหญ่ เปนคำของกวี บรรพแถลง เปนคำของช่าง ถ้าช่างเขาเรียกก็จะต้องว่า บรรพแถลง ตัวใหญ่ตัวเล็ก ที่ใช้คำว่า ตัว นั้น ไม่ว่าสิ่งใดที่ช่างไม้เขาทำขึ้น เรียกว่าตัวทั้งสิ้น มาแต่ ตัวไม้ ท่านคงอยากทราบว่า ทำไมจึ่งใช้จั่วเล็ก ๆ เปนเครื่องประดับบุษบก ทั้งมณฑปและปราสาทด้วย จะบอกให้เข้าใจว่าจั๋วเล็กๆ นั้นคือซุ้มหน้าต่าง บรรดาเครื่องยอดทั้งหลายมาแต่เรือนชั้นทั้งนั้น เดิมก็อย่าง ถะ ข้างจีน แล้วย่นชั้นเข้าเอาแต่หลังคาเข้าต่อกัน ช่องหน้าต่างจึ่งหายไป เหลือแต่ซุ้ม คำว่า บรรพ นั้นก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่าเปนจั่ว แต่คำ แถลง นั้นไม่ทราบ อันเครื่องยอดของเรานั้นก็ประหลาด ถ้าเปนเรือนยอดขนาดใหญ่ที่คนเข้าได้หลายคนเรียกว่า มณฑป ถ้าประกอบมุขเข้าเรียกว่าปราสาท ถ้ามีแต่ยอดขนาดเล็กคนเข้าได้คนเดียวหรือเข้าไม่ได้เลยเรียกว่าบุษบก แต่ที่จริงเปนสิ่งเดียวกัน

กาบพรหมสร หมายถึง กาบห่อโคนเสา เปนคำของใครก็ไม่ทราบ ไม่ใช่คำของช่าง ช่างเขาเรียกแต่ว่า กาบ เท่านั้น มาแต่กาบต้นไม้ เช่นหน่อไม้ไผ่ เปนต้น มีที่ใช้มาก ไม่แต่ห่อโคนเสา

ทรงมัน พวกช่างเขาใช้พูดกันแต่หัวเม็ดอย่างมียอดแหลม ฉันคิดว่ามาแต่ ทรงมัณฑป แล้ว ฑป หลุดหายไป ที่เอามาใช้ว่า มีอกไก่ทรงมัน นั้น กวีรับผิดรับชอบ คำว่า อกไก่ หมายถึงเปนสันเหมือนหนึ่งอกของไก่ ที่เอามาใช้ลอกไม้เปนสันในที่พวงมาไลรัด ก็ทำเทียมพวงมาไลร้อยดอกไม้สามแถว ถ้าลอกกลมแทนพวงมาไลกลม เรียกว่า ลูกแก้ว

คำแผลง คือการแผลงคำนั้น เปนการกระทำด้วยคิดผิด ตอนเมื่อฉันเปนเด็กรุ่น ผู้ที่เรานับถือว่าเปนผู้รู้ ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้ว่าภาษาอื่น ที่คล้ายภาษามคธมีอยู่ในโลกอีก พจนานุกรมภาษาสํสกฤตก็เพิ่งมีเข้ามาทีหลัง เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นคำไรคล้ายภาษามคธก็เข้าใจไปว่าเขาแผลง ทีนั้นก็แผลงกันเล่นสนุกใจ เห็นเปนเก๋ เปนผู้มีปัญญา ท่านคิดว่าภาษาอื่นมีเข้ามาปนอยู่ในภาษาของเรามากนั้นถูกแล้ว คำที่เข้าใจว่าแผลงนั้นไม่ใช่แผลง เปนคำของพวกหนึ่ง เขาใช้กันเช่นนั้นจริงๆ

จรนำ ฉันเคยลากเอาไปเขียนเข้าคำสํสกฤต เปน จรณำ หรือ จรณัม จะผิดหรือถูกก็ไม่ทราบ คำสํสกฤต จรณ แปลว่า เสา คำพวกช่างเราไม่มี เรียก จรณำ ลอยๆ มีเรียกแต่ว่า ซุ้มจรณำ หมายถึงซุ้มประตู หน้าต่างอย่างที่เปนรูปหลังคา ก็เปนอันเข้ากันได้กับภาษาสํสกฤต เมื่อมีหลังคาก็ต้องมีเสา ที่เรียกว่า ซุ้ม นั้นก็หมายถึงมีเสามีหลังคาอยู่เสร็จสิ้นแล้ว มีคำหนึ่งในพระราชพงศาวดาร ว่า เชิญพระอัฐิไปบรรจุที่ท้ายจรณำวิหารพระศรีสรรเพชญ์ อยากเห็นอยากเรียน ว่าจะเปนอย่างไร จึ่งไปดู เห็นท้ายพระวิหารเปนมุขโถง มีเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิอยู่ในนั้น จึงทำให้เห็นไปว่าท่านจะหมายเอามุขโถงนั้นเองเปนจรณำ ดูก็ไม่มีอะไรขัดข้อง ย่อมเปนได้

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ