๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

๑๒ มีนาคม ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๗ ประทานคืนหนังสือมหาทิพมนต์ และตรัสประทานข้อทรงสังเกตต่าง ๆ มายังข้าพระพุทธเจ้านั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

คำ เถาก๊วย ในภาษาจีนเป็น เช้าก๊วย เช้า แปลว่า หญ้า ก๊วย แปลว่า ขนม เพราะชนมชะนิดนี้ใช้กิ่งและใบไม้แห้งชะนิดหนึ่ง ต้มเอาเมือกผสมเข้ากับแป้งมันเพื่อไม่ให้เหลว ยัง เต้าฮวย อีกอย่างหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยสงสัยว่าเอาอะไรผสมกับน้ำถั่วเหลืองจึงได้ข้นเป็นอย่างวุ้น ได้ขออนุญาตเข้าไปดูวิธีทำ คงได้ความว่าต้องใส่ หินยิบซั่ม คือหินแป้งที่เอามาทำเปนฝุ่นผัดหน้าและใช้เป็นเครื่องผสมปูนสิเมน เขาอธิบายว่า ถ้าไม่ใส่แป้งหินยิบซัม น้ำถั่วเหลืองก็จะเป็นอย่างน้ำข้น ๆ เท่านั้น

พระยาอรรคนิธินิยม ข้าพระพุทธเจ้าเคยรู้จัก บิดามารดามีถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพ ฯ ที่ตำบลบางขวางล่าง อำเภอยานนาวา แต่เพราะเหตุไรจึงได้ชื่อสมุย ไม่ทราบเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าไปหาพระพาหิรรัชฏพิบูล ซึ่งเป็นน้องชายพระยาอรรคนิธินิยม เพื่อสอบถามเรื่องนี้ แต่พระพาหิร ฯ กลับขึ้นไปรับราชการที่นครราชสิมาก่อนหน้าเสีย ๒-๓ วัน ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยคำ สมุย ว่าจะเป็นภาษาพวกเงาะซาไก เพราะเกาะสมุยอยู่ใกล้เกาะพะงัน อันเป็นชื่อของพวกเงาะที่อยู่ทางด้านตะวันออกของแหลมมลายู ฉลาง หรือ ถลาง ก็อีกคำหนึ่ง เป็นชื่อของพวกชาวน้ำเซหลัง ชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ในแหลมมลายูตอนเหนือ มักเป็นคำในภาษาตระกูลมอญ-เขมร และภาษากะเหรี่ยงอยู่มาก แม้แต่ภาษาพวกเงาะซาไก ก็มีเค้าเป็นภาษามอญ-เขมร ข้าพระพุทธเจ้าเคยตรวจดูคำภาษาซาไกในพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่า ก็มีเค้าภาษามอญ-เขมรอยู่หลายคำ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้ นักปราชญ์ชาวตะวันตกจึงรวมภาษาซาไกไว้ในตระกูลมอญ-เขมร แยกพวกเงาะเซมัง ซึ่งมีอยู่มากในตอนปัตตานีและใต้ลงไป เป็นอีกตระกูลภาษาหนึ่ง เพราะพวกนั้นมีภาษาไปทางชาวพื้นเมืองเดิมของแหลมมลายู คำว่า กรุง หรือ เกริง ซึ่งในภาษามอญแปลว่าแม่น้ำ ไปมีอยู่ในภาษามลายูชาวสุมาตรา ส่วนมลายูพวกอื่นไม่ใช้คำ กรุง ว่าแม่น้ำ

เรื่องตัวหนังสือไทย ที่ตรัสประทานมามีประโยชน์เป็นแนวทางให้ข้าพระพุทธเจ้าใช้สอบสวนได้ต่อไป เรื่องที่ตรัสนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยคิด แต่ติดขัดไปไม่ตลอด ข้าพระพุทธเจ้าได้ตริตรองดูตามแนวที่ประทานมา ก็เห็นเค้าอยู่บ้างเป็นเงาๆ แต่การจะผิดถูกอย่างไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ในการสอบเสียงภาษาไทย จากเสียงอ่านในตัวหนังสือของเสียงชาวกรุงเทพ ฯ คงไม่ได้ตลอด เพราะภาษาชาวกรุงเทพ ฯ ปนกับ เสียงภาษาอื่นเสียมากแล้ว เสียงของไทยแต่เดิม จะต้องค้นเอาจากพวกไทยในถิ่นอื่นที่มีการติดต่อกับความเจริญได้น้อย ด้วยอาจจะรักษาเค้าของเก่าเหลืออยู่ได้นานกว่าพวกไทยที่เจริญแล้ว แต่ก็หมดหนทางสอบสวน เมื่อไม่มีหนทางจะสอบสวนได้ ถ้าจะใช้ตรวจดูเสียงของไทยในถิ่นพายัพอีศานและไทยใหญ่ ซึ่งพอจะสอบสวนจากเสียงของผู้ที่พูด ก็จะได้เค้าเสียงเก่าอยู่บ้าง เพราะไทยถิ่นเหล่านี้คงมีเสียง ถึงว่าจะเปลี่ยนแปลงกลายไป ก็คงไม่มากเท่ากับเสียงภาษาไทยกรุงเทพฯ และจะพิจารณาเอาเสียงจากตัวหนังสือ คงจะไม่ได้ เพราะตัวหนังสือเป็นเครื่องหมายของเสียงเท่านั้น ย่อมมีบกพร่องด้วยประการทั้งปวง เมื่อลืมเรืองตัวหนังสือ สอบสวนเอาแต่เสียงพูดเป็นที่ตั้ง ก็ปรากฏว่าการจัดพยัญชนะเป็นอักษรสูงกลางต่ำมีบกพร่องดั่งที่ทรงสันนิษฐาน กับเห็นเหตุที่ในจารึกพ่อขุนรามกำแหงว่าทำไมใช้ผันเสียงแต่ไม้เอกและไม้โทเท่านั้น เสียงพยัญชนะของไทยใหญ่และพายัพมีแบ่งเป็นคู่สูงคู่ต่ำ เช่น ก๋อ-กอ ขอ-คอ หงอ-งอ เหตุนี้จำนวนพยัญชนะของเขาแต่ละวรรคจึงมีแต่ ก ข ง สามตัวเท่านั้น แต่ละตัวอ่านได้ทั้งเสียงสูงเสียงต่ำ สุดแล้วแต่คำในภาษาจะออกเสียงไหน ไม่มีเครื่องหมายบอกแยกไว้ในตัวพยัญชนะ คำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง ก ซึ่งไม่เป็นเสียงผันในภาษาไทยกรุงเทพ ฯ ก็เป็นเสียงไม้จัตวาหมด เช่น กิน กอง กวน ก็เป็น กิ๋น ก๋อง ก๋วน ถ้าเป็นเสียงที่อักษรต่ำไม่มีผันก็เป็นเสียง ก หรือ ค ตามปรกติ แล้วแต่คำที่ใช้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เสียงในจารึกพ่อขุนรามกำแหงอย่างคำว่า ตู น่าจะอ่านออกเสียงว่า ตู๋ ในสมัยนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะคิดเครื่องหมายมากไปกว่าไม้โท ส่วนเสียงไม้ตรีก็มีแต่คำที่เป็นอักษรต่ำ ใช้ไม้โทออกเสียงบังคับอยู่แล้ว ส่วนเสียงไม้ตรีอักษรกลางไม่ปรากฏมีใช้ แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรวจอย่างถ้วนถี่ ตัวพยัญชนะทางภาคอีศาน ตามที่นายสุดชี้แจงให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง ว่ามีเป็นสองอย่าง คือไทยน้อยอย่างหนึ่ง หนังสือธรรมอย่างหนึ่ง หนังสือไทยน้อยมี ๑๐ ตัว คือ ก ข ง: จ ส ญ: ต ถ น: ป ผ ม: ย ล ว ห (อ) ตรงกับของไทยใหญ่ดั่งกราบทูลมาข้างต้น การออกระดับเสียงเป็นอย่างกรุงเทพ ฯ แต่ในลางถิ่นหรือพวกผู้ไทยหรือพวนคงออกเสียง ก เป็น ก๋ อยู่ แสดงว่าเสียงไม้จัตวาน่าจะเป็นเสียงเดิมของไทย ที่ไทยกรุงเทพฯมาเป็นเสียง ก โดยปรกติก็คงถูกเสียงต่างชาติปนเสียแล้ว ถ้าเดาก็น่าจะเป็นเสียงของเขมร ส่วนเครื่องหมายสำหรับผัน พระสารประเสริฐว่านำมาจากตัวเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ของเทวนาครี แต่จะนำเข้ามาทางไหนและเมื่อไร ยังหาหลักฐานสนับสนุนไม่ได้ ในปฐมมาลาแห่งหนึ่ง ว่า พินทุเอกโทตรี จัตวาวาที เป็นที่สำคัญ ไม้มลายไม้ม้วน ใคร่ครวญใฝ่ฝัน ฝนทองฟองมัน วิสัญชนี แต่สำนวนนี้ดูเป็นใหม่ ไม่เก่าพอจะยึดถือได้แน่นอนว่า ไม้ตรีและไม้จัตวามีมาแล้วแต่ครั้งโบราณ อีกอย่างหนึ่ง การอ่านแจกลูกครั้งก่อนอ่านเป็น กน กัน กาน กิน กีน จะเนื่องมาจากเสียงเดิมของคำปรกติที่ออกเสียงเป็นไม้จัตวา แต่ทำไมจึงกลายเป็นเสียงไม้ตรี เช่น กิ๊น ควรจะออกเสียงเป็น กิ๋น ทั้งนี้จนด้วยเกล้า ฯ

ตัวพยัญชนะที่มีเติมขึ้น คือ ฃ ค ฅ ฆ ฉ ช ซ ฌ ฏ ทั้งวรรค ด ท ธ บ ฝ พ ฟ ภ ร ศ ษ ฮ ฬ

ค ซ ท ฟ ฮ คงตั้งขึ้นเพื่อแยกเสียงของคู่อักษรสูง คือ ข ส ถ ผ ห และเพื่อใช้แทนเสียงในบาลี (ยกเว้นตัว ซ) เสียง ฉ ช จะเติมขึ้นเทียบเสียงบาลี

ก จ ต ป ใช้ไม้จัตวาแทน ก๋ จ๋ ต๋ ป๋ อยู่แล้ว ไม่ต้องแยกเป็นอีกชุดหนึ่ง เพราะเอาเสียงไม่มีผันใช้แทนเสียงบาลีได้

ฃ ฅ ซ เมื่อปรับ ข ค ช เข้าเสียงบาลี จึงหยักหัว ข ค ช เพื่อสำหรับใช้ในคำไทย แต่ภายหลังจะเกิดปนกันขึ้น ฃ ฅ จึงหายไป เพราะใช้เสียง ข ค ได้เท่ากัน แต่ ซ คงอยู่ เพราะไม่มีเสียงตัวอื่นแทน

ส่วนตัว ฆ ธ ภ มีค่าของเสียงเท่ากับ ค ท พ แต่ยังมีเค้าอยู่ว่าต้องการจะให้เป็นเสียงหนักก้อง จึงได้อ่านว่า เฆาะ เธาะ เภาะ

ง ญ น พ ย ร ล ว มีคู่สูงโดยใช้ ห นำ ผิดกับ ค ช ท พ ซึ่งใช้ ห นำไม่ได้ เพราะมี ก๋ จ๋ ต๋ ป๋ เป็นคู่สูงอยู่แล้ว ญ เสียงขึ้นนาสิกของกรุงเทพ ฯ หายไป คงมีค่าของเสียงเท่ากับ ย แต่ยังมีเค้าอยู่ในตัวเขียนอยู่บ้าง เช่น ญี่ ญิบ หญ้า นอกนั้นเอาไปใช้ปรับกับ ญ ในบาลีหมด

ด บ สองตัวนี้มาแปลก เพราะนอกจากอรรธสระและอนุนาสิกแล้ว ก็มีสองตัวนี้ที่เป็นเสียงก้อง ในภาษาไทยใหญ่ไม่มีสองเสียงนี้ ใช้ ล น และ ม ว แทน ภาคอิศานใช้ ต และ ป แทนเสียง ด บ ได้ สุดแล้วแต่คำพูด ไม่มีตัวอักษร ด บ ไว้ต่างหาก คงรวมอยู่ใน ต ป นั่นเอง

เสียงญวนและไหหลำใช้ ด บ แทนเสียง ต ป ในจีนพวกอื่น แสดงว่าสองเสียงนี้มีดื่นอยู่แต่แถบตะวันออกและออกเหนือของแหลมอินโดจีน

ฝ ฟ สองตัวนี้ทางไทยใหญ่ไม่มีใช้ แต่ใช้เสียง ผ พ แทน ในอิศานมีเสียง ฝ ฟ แต่ลางถิ่นก็ออกเสียงได้แต่ ผ พ ส่วน ฝ ฟ ว่าไม่ได้คงจะปนเข้ากับพวกข่า และส่วย ซึ่งเป็นภาษาอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร ไม่มีเสียง ฝ ฟ ไหหลำและญวนก็ออกเสียงได้แต่ ผ พ

โดยเหตุที่นำเสียง ต ป ในบาลีมาเป็นเสียง ด บ เสียง ตะบะ ในบาลีจึงต้องเอาเสียง ฑ พ มาใช้ แต่ออกเสียงอย่างไทยเป็นอย่างไม่ก้องเสียงจึ่งสับสนกันขึ้น กินไปถึงวรรค ฏ และออกเสียง ฑ เป็น ด ก็มี ท ก็มี ส่วนอิศานเสียง ฑ อ่านเป็น ด เสมอไป หนังสือธรรมของอิศานมี ก ข ค ฆ ง: จ ฉ (ออกเสียงเป็น ส) ช (ออกเสียงเป็น ซ) ณ ญ: ฏ ฐ ฑ (ออกเสียงเป็น ด เสมอไป) ฒ ณ: ต ถ ท ธ น: ป ผ ภ พ ม: ย ร ล ว ส ห ฬ อํ

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายคำอธิบาย เรื่องช้างกระบวนศึก ซึ่งขุนธนกิจวิจารณ์ข้าราชการในสำนักพระราชวังส่งมาให้ข้าพระพุทธเจ้าฉะบับ ๑ มาในซองนี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ดูภาคผนวก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ