๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ เดือนนี้ พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องปรุงหลังคา เป็นความโง่เขลาของข้าพระพุทธเจ้า เมื่อได้อ่านพระอธิบายขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้สติว่า วิธีปรุงเรือนจะต้องเป็นเช่นนั้นโดยธรรมดา

ตามพระอธิบายเรื่อง เมรุ และ โรงทุม ข้าพระพุทธเจ้ายึดถือเป็นแนวมาไตร่ตรองดู ชื่อสำหรับเรียกที่เผาศพจะเป็นดังนี้ ที่เผาศพทั่วไปเรียกว่า เชิงตะกอน (ข้าพระพุทธเจ้าไม่พบแปลของ ตะกอน) ถ้ามีหลังคาแบนเป็น ปรำเผาศพ ถ้ามีหลังคาคุ่มจะต่อปีกออกมาอีกหรือไม่ก็ตาม เป็น โรงทึม ถ้าก่อเชิงตะกอนในศาลา เป็นศาลาโรงทึม ถ้ามีหลังคายอดแหลมและมีอะไรล้อมเป็น เมรุ แต่ยังจนด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้ามีหลังคายอดแหลมไม่มีอะไรล้อม จะควรอนุโลมเข้าเป็น เมรุ หรือ โรงทึม คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ควรจะเป็น โรงทึม ที่ทำเป็นโรงมีหลังคาอย่างที่เผาศพอนาถาเป็น โรงเผาศพ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลไปในหนังสือฉะบับอื่นว่าโรงทึมมีธงติดที่ยอดนั้น เป็นโรงทึมทางกรุงเก่านี้เอง หาใช่ทางอีศานไม่ เป็นความผิดของข้าพระพุทธเจ้าที่กล่าวปะปนไปกับเรื่องของอีศาน ทำให้เข้าพระทัยผิด ทั้งนี้พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ

ตูบ ทางอีศานและพายัพใช้เป็นสามัญว่า กระท่อม หรือโรงเตี้ยๆ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะมาจากภาษาเขมร เพราะไทยถิ่นอื่น เช่น ไทยขาว ไทยดำ และไทยโท้ ไทยพวน ใช้ว่า เถียง ซึ่งในอีศานก็ใช้คำนี้เป็นสามัญเหมือนกัน คิดด้วยเกล้า ฯ ตูบ กะต๊อบ กะท่อม ทับ กรรถอบ จะมีที่มาจากคำเดียวกัน แล้วแปลงเสียงให้มีความหมายแผกออกไป ตามหลักในนิรุกติศาสตร์ที่ว่า ความหมายคล้ายคลึงกัน ย่อมทำให้รูปเสียงคล้ายคลึงกัน เพราะการที่จะคิดหาคำให้แก่ความหมายใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับคำที่มีอยู่แล้ว สดวกที่สุดก็คือ ใช้แปลงเสียงคำที่มีอยู่แล้วดีกว่าคิดทำขึ้นใหม่ เช่น คำว่า กอม ค่อม ค้อม ก้ม นบ คำนับ นอบ น้อม ยอบ ยอม ระยอบ พินอบ เจ่า เฉา เซา เศร้า แจก แฉก แซก แสก แยก แตก

เสียง อิ และ อี ไทยหลายพวกมีแต่เสียง อิ เท่านั้น แต่ก็ไม่แน่นัก ลางพวกก็มี อี ข้าพระพุทธเจ้าจับเค้ายังไม่ได้ ในภาษาจีนก็สับสนกัน ในภาษาอริยกะ เดิมก็เห็นจะไม่มีเสียงอี เพราะในสํสกฤต พราหมณ์ศาสตรีว่า ถ้าต้องการออกเสียงอี ก็ต้องเติมเสียง ร ล ลงไปด้วย เป็น ฤ ฦ แต่กระนั้นก็ออกเสียงเป็น อิ ก็มี ตกมาถึงภาษาไทยก็อ่าน ฤ ฦ เป็นหลายอย่าง

มโหรี มโหรทึก และ มโหรศพ ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่ได้ความ มโหรศพ นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเคยถามพระสารประเสริฐ ก็ว่ามาจาก มหุสว แปลง อุ เป็น ร อย่าง อุชุ เป็น อรชร ถ้าถือว่า มโหรศพ ออกจาก มหุสว แปลว่า เสียงสูงใหญ่ คือ การครึกครื้นอึกทึก คำว่า มโหรี มโหรทึก ก็อาจเป็นคำสํสกฤตแต่ มโหร- ส่วนเสียงพยางค์หลังอาจเป็นภาษาพื้นเมือง เป็นศัพท์ผสมกัน ที่ข้าพระพุทธเจ้าเดาเช่นนี้ เพราะคำว่า มโหรทึก เสียงคำหลังเป็นเสียงดังของกลองชะนิดนั้น เป็นพวกอึกทึก และกลองอย่างนั้นก็เป็นของชนชาติที่อยู่ทางทิศใต้ของจีน นับถือใช้มาแต่โบราณ จีนเคยอ้างถึงชนชาตินับถือกลองบรอนส์ ในสมัยเลียดก๊กอยู่บ่อย ๆ และโดยเหตุที่ มโหรี มโหรทึก มีลักษณะในจำพวกมโหรศพ (ถ้าในที่นี้ถือว่าออกมาจาก มโหตสว) คำว่า อี (อาจเป็นเสียงซอ) และ ทึก (อาจเป็นเสียงกลอง) ซึ่งเป็นเสียงของสิ่งที่ชื่อนั้น ถูกคำว่า มโหรศพ ลากมาเข้าพวกให้เข้าเทียบเป็นแนวเดียวกัน จึงเกิดเป็น มโหรี มโหรทึก ขึ้น เป็นอย่างเดียวกับ วสันต์ เหมันต์ ลากเอา คิมหาน เป็น คิมหันต์ เตโชธาตุ อาโปธาตุ ลากเอา วายธาตุ เป็น วาโยธาตุ เกตุ ลากเอา สังเกต เป็น สังเกตุ บาตร ลากเอา บิณฑบาต เป็น บิณฑบาตร ไปเข้าแนวเทียบด้วยกัน ในภาษาอังกฤษ พหูพจน์ของ cow เดิมเป็น kine แต่โดยเหตุที่พหูพจน์โดยมากใช้เติม s โดยไม่แปลงรูปเดิม ก็เลยลาก kine ให้เข้าแนวเทียบเป็น cows ไป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า มโหรี มโหรทึก อาจเป็นเพราะเหตุนี้ได้อีกทางหนึ่ง แต่เป็นเรื่องเดาตามหลักที่อาจเป็นได้เท่านั้น

เรื่องถือซ้ายขวาและถือทิศ ที่ทรงพระเมตตาประทานให้ทราบเกล้า ฯ เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ เพราะเป็นความรู้ซึ่งถ้าไม่ตรัสเล่าให้ทราบเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าคงหลงงมงายอยู่เรื่อยไป ในภาษาอังกฤษคำว่า right แปลว่า ขวาหรือถูกต้อง แสดงว่าอังกฤษถือขวามานาน จนแปล ขวา ว่า ถูกต้องด้วย

เรื่องแต่งศพ นายไซเดนฟาเดน ตอบข้าพระพุทธเจ้ามาว่า ประเพณีแต่งศพนั่งมีอยู่ในชาติโบราณหลายแห่ง แต่ของไทยน่าจะเป็นประเพณีเขมร ไม่เชื่อว่าจะมาทางจีนและมงโกเลีย รับว่าจะค้นดูในหนังสือชุดที่ว่าด้วยมนุษย์วิทยา หนังสือชุดนี้ ที่หอสมุดแห่งชาติก็มี เป็นหนังสือขนาดใหญ่หลายสิบเล่ม ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยค้นหามาก่อนแล้ว ก็ไม่พบเรื่องแต่งศพตามที่ต้องการ ต่อมานายไซเดนฟาเดนมาหาข้าพระพุทธเจ้า ปรารภเรื่องจะทำหนังสือว่าด้วยชนชาติในภาคอีศาน ซึ่งนายไซเดนฟาเดนได้เสาะหาความรู้รวบรวมไว้นานแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ายินดีอนุโมทนา เพราะในกระบวนเรื่องชนชาติต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีน คิดด้วยเกล้าฯ ว่า หาผู้รู้เสมือนายไซเดนฟาเดนเห็นจะยาก ข้าพระพุทธเจ้าจึงปรารภเรื่องแต่งคนนั่งขึ้นอีก ว่าตามที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านหนังสือว่าด้วยเรื่องเขมร ก็ยังไม่เคยพบเรื่องแต่งศพนั่ง นอกจากเรื่องปัจจุบัน ซึ่งเขมรอาจได้แบบอย่างไปจากไทยก็ได้ เขาตอบว่า ยังไม่เคยพบเหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าจึงมีหวังน้อยในที่จะค้นหาทางเขมร นึกได้หนังสืออีกเล่มหนึ่งว่าด้วย พระราชพิธีไทย ซึ่งนายเวลล์เป็นผู้แต่ง ในตอนที่ว่าด้วยพระบรมศพ นายเวลล์ว่าการแต่งศพนั่งเป็นของฮินดู ไทยได้มาจากเขมร มีต้นเค้ามาจากลัทธิเทวราช คือถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นเทพในมนุษย์ แต่นายเวลล์ไม่ได้อ้างหลักฐานที่มาจากหนังสือต่างประเทศ และพูดไว้ย่อๆ แสดงว่านายเวลล์คงไม่เคยพบหลักฐานอะไร เป็นแต่อ้างหนังสือ ตำนานสุสานหลวงวัดเทพศิรินทรฯ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ ในนั้นกล่าวว่า การจัดทำเรื่องศพของไทยเป็นสองอย่าง คือทางพุทธมีการบรรจุอัฐิธาตุในพระสถูปเจดีย์ อีกอย่างเป็นของพราหมณ์ มีการลอยพระอังคาร ที่แต่งพระศพเจ้านายก็เป็นเรื่องสมมติให้เป็นเทพเสด็จขึ้นสวรรค์ และทรงอ้างถึงลักษณะ ปักษีจำกรง ว่าคล้ายเป็นอย่างพระโกศ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านข้อความตอนนี้ ความคิดก็เลื่อนลอยหวนไปถึงเรื่องพระลออีก ที่ในนั้นกล่าวแต่โลงอย่างเดียว จะเป็นเพราะเหตุที่พระลอเป็นกษัตริย์ฝ่ายเหนือ ซึ่งประเพณีของเขมรไปไม่ถึงกระมัง ทั้งได้มีผู้แต่งหนังสือออกความเห็นว่า มหาราช นั้นเป็นชื่อของกวีเอกคนหนึ่งในลานนาไทย จะเป็นหนังสือแต่งในแดนนั้นกระมัง แต่เพื่อนข้าพระพุทธเจ้าคนหนึ่งแย้งว่าเป็นไม่ได้ เพราะในหน้าต้นของพระลอ ก็กล่าวว่า รอนลาวกาวตาวตัดหัว ตัวกลิ้งกลาดดาษดวน ฝ่ายข้างยวนแพ้พ่าย ฝ่ายข้างลาวประไลย และคำที่ใช้ในพระลอก็ฟังออกได้มาก ผิดกับสำนวนที่ใช้ทางพายัพ ความคิดข้าพระพุทธเจ้าก็ไปอัดอั้นอยู่เพียงนั้น

ข้าพระพุทธเจ้าลืมอ่านเรื่อง ๑๒ เหลี่ยม เมื่อได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับนี้จึงนึกได้ เมื่อค้นเอามาอ่านแล้ว คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ที่แต่งพระศพพระเจ้าเนาวสว่านไว้ในมณฑป ชวนให้สงสัยไปว่าแต่งพระศพเข้าโกศ ส่วนนิยายที่มีอยู่ในนั้น ข้าพระพุทธเจ้าบันทึกไว้แต่เดิม ๒ เรื่องว่าเป็นของอาหรับ เช่น เรื่องมหาติม ตรงกับเรื่องฮาติมเตย ของอาหรับ อันเป็นนิยายเรื่องใหญ่แตกเรื่องย่อยอย่างชะนิดเรื่อง นนทุกปกิรณัม ลางนิยายที่มีอยู่ในนั้น กล่าวไปถึงแดนทางอาเซียกลาง ตลอดไปถึงจีนก็มี ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องเพียรอ่านอีกสักครั้ง เพราะยังไม่สิ้นสงสัยในเรื่องที่มาของการแต่งศพนั่ง เรื่องนิยายเป็นอย่างเดียวกับภาษา ถ่ายเทยืมกันไปได้ไกล ไปถึงไหนก็กลายเรื่องกลายชื่อ จนลางเรื่องผิดออกไปมาก ฝรั่งถือว่า การศึกษาเรื่องนิยายเป็นวิชาสาขาหนึ่ง เพราะส่องให้ทราบความคิดเห็นและขนบธรรมเนียมของคนโบราณ ตลอดจนที่ชาติต่าง ๆ ติดต่อกัน แม้แต่ประวัติพระสิทธารถ ก็ยังกลายไปเป็นประวัติของนักบุญโยสฝัดในศาสนาคฤสตังได้

พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ข้าพระพุทธเจ้าไปเข้าใจแต่เรื่องเสด็จออกประภาษราชการถ่ายเดียว หาได้เฉลียวนึกถึงคำวินิจฉัยไม่ การเสด็จออกประภาษราชการ ก็รวมถึงทรงชำระความด้วย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เดิมจะไม่ได้ยกพื้นเหมือนอย่างพระที่นั่ง จึงได้เรียกว่า โรง

ที่ทรงสันนิษฐานว่า คาด เดิมจะใช้คำว่า เกี๊ยว ตรงกับที่ใช้อยู่ในโคลงแช่งน้ำ ที่ว่า เอาเงือกเกี้ยวข้าง ในภาษาอาหมมีคำว่า คาดผูก แปลว่า เอาสัตว์เข้าเทียม และ กิว ว่าล้อมให้รอบ ไทยขาว คาด และคำว่า ผูก ว่า ทำให้ติดต่อ มัด พัน เช่น คาดขอบด้ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าผูกมัดพุง ก็เป็น คาดพุง ได้ ผูกมัดหมัดให้แน่น ก็เป็น คาดหมัด ถ้าเป็นแต่พันไว้รอบพออยู่หรือเพียงแก่เกี่ยวไว้ ก็เป็น เกี่ยวพุง ขัด ขัน คัด คาด คั้น คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเป็นพวกเดียวกัน

ระนาด ข้าพระพุทธเจ้าลองเก็บคำที่ใกล้เคียงดู มี ระนาด ระนาด ระเนน = ล้มกันเป็นแถว ระนาว = เป็นแถว ระเนียด = เสาตั้งเรียงกัน? ระแนง = ไม้พาดเรียงกันเป็นแถว ระเบียง = เรียงราย ระเบียบ = เป็นแถวเป็นแนวเรียบร้อย สายระยาง ระโยง ระเดียง คำเหล่านี้มี ระ อยู่หน้าและมีความไปในทางว่าเป็นแถว แนว ทุกคำ ระ น่าจะหดหรือเสียงกร่อนมาจาก ราว ซึ่งแปลว่า แถว แนว ในภาษาอาหม ยาง แปลว่า แถว ราว แปลว่า ที่สำหรับเกาะยึด อย่างราวลูกกรง ระยาง น่าจะเป็นคำซ้อนของราวยาง แปลความเดียวกัน ถ้า ระ มาจาก ราว แล้ว นาดก็มีคำที่ใกล้กัน ก็คือ (ด-ล-น) ดาด ลาด ระนาด อาจแปลว่า สิ่งที่ปูลาดหรือขึงเป็นราวเป็นแถว

ทวาราวดี ทรงเห็นว่า จะตั้งขึ้นเมื่อขุดคลองขื่อน่าแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าสมเหตุผล แล้วยังได้ชื่อเมืองของพระกฤษณเข้ามาต่อกับชื่อเมืองอโยธยาของพระรามด้วยอีกชั้นหนึ่ง เพราะพระนารายณ์อวตารสองปางนี้ เป็นขึ้นชื่อฦๅนามมากกว่าปางอื่น

มหาดไทย และ กลาโหม ข้าพระพุทธเจ้าจนปัญญา แต่เมื่อมีอะไรมากระทบขึ้น ก็ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าอดคิดไม่ได้ ที่ตรัสถึงเรื่องตำแหน่งศักดินา พลเรือน และทหาร ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ข้าพระพุทธเจ้านึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อสักสองเดือนที่ล่วงมานี้ นายบูรเนบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้าว่า ตำแหน่งศักดินาที่ว่าตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถน่าสงสัย เพราะในบาญแผนกก็กล่าวแต่ตำแหน่งศักดินาพระราชวงศ์และท้าวนาง และพระสนมเท่านั้น พอหมดตอนนี้ ก็กล่าวถึงศักดินาเจ้าพญาจักรี ฯ ต่อเป็นลำดับไป ดูประหนึ่งว่าเอาเข้ามาต่อกันเฉย ๆ ไม่มีอะไรบอกให้ทราบว่าทรงตั้งศักดินาข้าราชการด้วย จะเป็นการเติมขึ้นภายหลัง ซึ่งนายบูรเนว่า ได้มีผู้ค้นพบแล้ว แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทันจะได้ซักไซ้ไล่เลียงให้ตลอด เพราะนายบูรเนมีธุระจะต้องเข้าสอนหนังสือ แต่นั้นก็ไม่ได้พบกัน

เรื่องนกหัสดีลึงค์ ที่ทรงพระเมตตาประทานอธิบาย เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าอ่านเพลิน และได้ความรู้กว้างขวางออกไปอีก หัสดิน กับ หัสดีลึงค์ ผู้รู้ภาษาบาลีมีคำว่า หตฺถิลิงฺคสกฺโณ แปลว่านกมีเพศเหมือนช้าง

เมืองอุตตรกุรุ ทรงคิดเห็นว่าคงจะเป็นบ้านเมืองแห่งหมู่มนุษย์นี้เอง พระดำริห์นี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องเป็นที่สุด ในวรรณคดีอินเดียกล่าวถึงเมืองกุรุเป็นสองแห่ง คือ อุตตรกุรุ และ ทักขิณกุรุ กุรุหลังได้แก่แคว้นกุรุ ของพวกกษัตริย์ปาณฑว ดังที่ตรัส ส่วนกุรุแรกมีกล่าวอยู่ในคัมภีร์พระเวทและคัมภีร์พราหมณะว่า อยู่ที่ไหนแห่งหนึ่งทางแคว้นกาษมีรหรือแคชเมีย คิดด้วยเกล้าฯ ว่าอุตตรกุรุ ควรจะอยู่เหนือของทักขิณกุรุ แต่เหนือแคว้นนั้นก็เป็นเขาหิมาลัย ที่เขาสันนิษฐานว่าอยู่แถวกาษมีร ก็คงจะถือเอาเหตุที่ว่า ในพระเวทมีกล่าวถึงแคว้นกุรุ ๆ จะต้องอยู่ทางตกเหนือของอินเดีย เพราะชาวอริยกะสมัยพระเวทยังไม่ยกลงมาถึงมัธยมประเทศ คงอยู่แถวลุ่มน้ำสินธุเป็นอย่างมาก ต่อเมื่อลงมาถึงมัธยมประเทศแล้ว คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คงจะเอาชื่อกุรุเดิมมาตั้งให้ใหม่ในมัธยมประเทศ จึงได้เกิดเป็นกุรุเหนือและใต้ โดยเหตุที่ อุตตรกุรุ เป็นแดนซึ่งยังไม่ทราบกันได้แน่ จึงมีนักปราชญ์สันนิษฐานเป็นต่าง ๆ กัน คนหนึ่งว่าอุตตรกุรุเป็นดินแดนตอนเหนือของหูณเทศ หรือประเทศของชาติฮั่น ซึ่งอยู่ทางปาญจัป มีเมืองศากลเป็นราชธานี เป็นเมืองเดียวกับสาคลของพระเจ้ามิลินท์ และกล่าวต่อไปว่าอุตตรกุรุนั้น เดิมหมายเอาประเทศต่างๆ ที่อยู่พ้นเขาหิมาลัยขึ้นไป อีกคนหนึ่งว่า อุตตรกุรุ ได้แก่ธิเบต ที่ว่าเป็นแดนแถวเขาคุนหลุนก็มี เป็นแคว้นเตอรกิสตานก็มี และว่าประเทศเกาหลี หรือโคเรีย ก็มีเค้าเป็นคำเดียวกับ กุรุ (พวกตาด ในทางรูปภาษาฝรั่ง แบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ ๑ ฟินแลนด์ แลปแลนด์ เอสโทเนีย ฮังการี ฯลฯ ๒ ตาดตะวันตก ได้แก่ ฮั่น ตุรกี มงกล ฯลฯ และ ๓ ตาดตะวันออก ได้แก่ แมนจู เกาหลี และ ญี่ปุ่น) ตามข้อความที่กราบทูลมาข้างต้นนี้ คงได้ความรวม ๆ ว่า อุตตรกรุ คือดินแดนที่อยู่ถัดเขาหิมาลัยขึ้นไป ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาติตาด ที่ในไตรภูมิว่า ชาวอุตตรกรุ ใช้ผ้าแดงห่อศพเอาไปทั้งให้นกหัสดินคาบเอาไป ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ากลับนึกไปถึงวิธีปลงศพของชาวธิเบต ซึ่งนำศพไปทั้งไว้ให้แร้งกิน ว่าเป็นวิธีปลงศพที่เป็นสามัญของชาวธิเบต ข้าพระพุทธเจ้าจึงค้นดูในหนังสือที่ว่าด้วยธิเบตว่าเขาใช้ผ้าสีอะไรห่อศพ ก็ได้ความแต่ว่า เขาใช้ผ้าขาวคลุม แล้วห่อเฝือกนำไปให้แร้งกิน ที่ชาวธิเบตปลงศพโดยวิธีทิ้งให้แร้งกิน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเกิดจากความจำเป็น เพราะแผ่นดินเป็นหินหรือดินแข็งส่วนมาก ฟืนสำหรับเผาก็หายาก ส่วนใช้ผ้าขาวคลุมศพผิดกับของชาวอุตตรกุรุก็ไม่แปลก อาจเป็นเรื่องแก้ไขขึ้นทีหลังก็ได้ ถ้าจะเทียบแร้งกับนกหัสดินของอุตตรกุรุก็ใกล้กันมาก

เรื่องมหาทวีปทั้ง ๔ ของไตรภูมิ ทวีปบุพพวิเทห และอมรโคยาน ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่พบว่ามีใครสันนิษฐาน แต่เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกันในคัมภีร์ปุรานของพราหมณ์ก็ผิดกับของพุทธ ของพราหมณ์เป็นทวีปชมพูทวีป อยู่กลาง ถัดไปโดยลำดับก็มีทวีป ปลักษ ศาลมลิ เกราญจ ศัก และ ปุษกร แต่ละทวีปมีทะเลล้อมโดยลำดับ เป็นทะเลน้ำเค็ม น้ำอ้อย เหล้า เนยใส เนยข้น น้ำนม และน้ำจืด เขาสุเมรุอยู่ใจกลางชมพูทวีป ผิดกับในไตรภูมิ ที่ว่าเขาสุเมรุอยู่ท่ามกลางจักรวาฬ เรื่องทวีปทั้ง ๗ ของพราหมณ์ ได้เคยมีนักปราชญ์ชาวอินเดียหยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่าอยู่ที่ไหน แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังตกอยู่ในการสันนิษฐาน อย่างเดียวกับชะวาอยู่ที่ไหน ดังได้กราบทูลไปแล้ว เรื่องปากสัตว์ที่เป็นต้นทางแห่งแม่น้ำสำคัญในอินเดีย ไตรภูมิกับของพราหมณ์ก็ผิดกัน ในไตรภูมิว่าด้านตะวันออกของสระอโนดาดเป็น ปากสีห์ ของพราหมณ์เป็นคอม้า ว่าเป็นยอดน้ำพรหมบุตรด้านใต้ว่าปากโค ของพราหมณ์ว่าปากนกยูง เป็นยอดน้ำกรรณลิ ไตรภูมิเป็นคงคา ด้านตะวันตกปากม้า ของพราหมณ์เป็นโค ว่าเป็นยอดน้ำศตทรุ ไตรภูมิว่าสินธุ ด้านเหนือปากช้าง ของพราหมณ์ว่าปากสีห์ เป็นยอดน้ำสินธุ ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นปากสัตว์ทั้ง ๔ ที่นาคเบียนนครวัด แต่ไม่ได้เฉลียวนึกถึงข้อแตกต่างกันนี้ ว่าของเขมรโบราณจะเหมือนพราหมณ์หรือพุทธ

เพื่อนของข้าพระพุทธเจ้าคนหนึ่ง ถามข้าพระพุทธเจ้าว่า โคลง กลอน ร่าย และ ลิลิต เป็นภาษาอะไร และแปลว่าอะไร เขาว่าโคลงเห็นจะเก่ากว่าเพื่อน เพราะใช้คำ เช่น กู พู้น ไซ้ ลี้ เมือ ข้อย และนิยมระดับเสียงเอก โท ส่วนลิลิตอาจมาจาก ลลิต ในสํสกฤต ซึ่งแปลว่า งาม ร่าย ก็มีคำใช้ในภาษา เช่น ร่ายมนต์ รำร่าย ร่ายร้อง แต่ก็แปลไม่ได้ความชัดตามลำพัง ในอาหมมีคำ ไร หรือ ราย แปลว่า ส่องแสง รุ่งเรือง โค้ง ออกไป ร้าย คำแปลคำแรกพอเทียบกันได้กับ ลลิต ที่แปลว่า งาม ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นคำในภาษาไทยถิ่นต่างๆ ก็ไม่พบคำเหล่านี้ ไทยลางถิ่นใช้เป็นอย่างจีน ลางถิ่นก็อ่านตีความไม่ออก ห่างไกลจากที่จะเดาได้ ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เพื่อทราบเกล้า ฯ คำเหล่านี้ด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ