๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๕ กับที่ ๑๐ ได้รับแล้ว จะตอบบ่นตุบตับไปตามประสาคนแก่ ตามแต่จะได้

ในการสอบคำ ท่านขมักเขม้นสอบหนักเข้า กลัวจะยิ่งไม่รู้หนักเข้า เพราะคำทั้งหลายมันย่อมเคลื่อนไปมาเสมอ จะกล่าวจำเพาะแต่คำเขมรพอเปนตัวอย่าง โปรเฟสเสอเซเดส์เคยพูดว่า คำที่กลับไปกลับมานั้นมีมาก ตั้งกองจดไว้ได้มากแล้ว ตามที่ว่านี้หมายถึงคำเขมรที่เรารับเอามาใช้ แต่เขียนอ่านเคลื่อนคลาศไปบ้าง แล้วเขมรสำคัญว่าเปนคำไทย กลับรับเอาไปใช้อีกทีหนึ่ง ถ้าท่านไปโดนคำที่มันวนเปนก้นหอยเช่นนั้นเข้า ท่านจะหลง เท่ากับเดินเข้าเขาวง

คำว่า นางกำนัล ฉันก็เคยคิด นึกว่าจะหมายความว่า นางให้ คือท้าวพระยาเมืองออกส่งลูกสาวหลานสาวมาถวาย นึกเทียบเอาคำ ของกำนัล เปนหลัก ข้อที่ท่านคิดว่า การให้มีหลายอย่าง จึ่งต้องจัดหาคำใช้ให้ต่างกันไปนั้น กลัวจะเปนทางคิดดีเกินไป แต่ก่อนนี้ยังไม่ศรีวิลัยพอที่จะมีใครเสาะหาคำมาปรับปรุงใช้ดอก ย่อมเปนไปเองทั้งนั้น การให้ยิ่งนานเวลาเข้าก็มีเพิ่มหลายอย่างขึ้น คำใช้ก็ได้ภาษาโน่นมาบ้างนี่มาบ้าง อย่างนั้นใช้คำนั้น อย่างนี้ใช้คำนี้ โดยมากคำมักจะติดมากับอาการ

เสดจ์ ที่เขาเขียนลงทัณฑฆาต ฉันก็แปลไปตามหลักที่เห็นเขาเขียนกันมาแต่ก่อน จริงอยู่ เขาไม่ได้ลงทัณฑฆาตทุกตัวสกด เพราะการเขียนหนังสือแต่ก่อนไม่ได้บังคับกันกวดขัน แต่ตัวสกดที่เขาลงทัณฑฆาตนั้นก็มีมาก เดี๋ยวนี้ทัณฑฆาตไปถือมั่นให้ลงที่ตัวการันต์ แต่ฉันก็เปนความว่าไม่ควรลงทุกคำไป ละไว้ให้คนอ่านเขาเลือกอ่านได้ตามใจดีกว่า ใครเขาอยากอ่านก็ให้เขาอ่านได้ เขาไม่อยากอ่านก็ข้ามไป แต่ข้อที่ว่านี้ ถูกลูกหญิงคัดค้านว่าไม่ได้ ถ้าไม่ลงทัณฑฆาตเปนถูกเขกโต๊ะทีเดียว (ที่ว่านี้เปนการหาครูมาสอนที่บ้าน ไม่ใช่ไปเข้าโรงเรียน)

สิ่งใดที่ฉันบอกท่าน เปนการที่ฉันคิดเห็นโดยลำพังใจ หรือได้เห็นได้ฟังมาแต่ไหน โดยเจตนาจะให้เพื่อนผู้ซุกซนด้วยกันรู้ไว้เท่านั้น หาได้ตั้งใจจะให้ไปฝืนโลก ให้โลกน้อมมาในความเห็นแห่งตนไม่เลย พูดถึงโลกฉันก็เห็นเปนของประหลาด บทที่เขาจะไปทางไหนก็ไปกัน ผู้ที่อยากเปนคน แม้จะรู้ว่าผิดก็ต้องวิ่งตามเขาไป ไม่ฉะนั้นก็ไม่เปนคน เว้นแต่คนบ้า ซึ่งยอมตัวไม่เปนคนนั้นแหละจะคัดค้านเหนี่ยวรั้งบ้าง แต่ก็ไม่เห็นไหวสักที

ตัว ฑ อ่านเปนเสียง ด มีคติอยู่อย่างหนึ่ง ที่ทางหนังสือขอมมักเขียนตัว ฑ ในที่เสียง ด มีอยู่มาก อาจเปนไปในทางเขมรนั้นบ้างกระมัง ฉันอยากจะพูดให้ยาวไปอีก ในเรื่องเขียนกับอ่านเปนคนละวิชา ดังจะให้ตัวอย่าง เช่นเขียน กุ หรือ สุ เปนต้น เขียนเหมือนกันแต่อ่านไม่เหมือนกัน เช่น กุศล กล้วยกุ กุหลาบ คำต้นอ่าน กุ เป็นเสียงกลาง คำกลางเปนเสียงถูกเอก คำหลังเปนเสียงถูกโท สุวรรณ สุบรรณ สุขุมาล นี่ก็ไปอีกไม้หนึ่ง คำต้นเสียง สุ เปนสูง คำกลางเสียง สุ เปนกลาง คำหลังเสียง สุ เปนต่ำ ฟังเด็กสมัยนี้อ่านหนังสือเข้าใจยาก เช่นคำ วิเศษ เราอ่านกันแต่ก่อน วิ เปนเสียงต่ำ ดุจ วี่ เดี๋ยวนี้เปนเสียงสูงดุจ วี้

คำ อุปโยราช ฉันก็เคยพบ แต่เข้าใจเปนว่าวังหลัง ผิดทางไปกับที่มหาฉ่ำเข้าใจ

มาง ที่เคยได้ยินคนบอกว่า เรือ นั้นเปนเหลว

พระสตัน ไม่เคยได้ยินมาแต่ก่อนเลย เข้าใจโดยทางเคยสังเกตว่าของสูงแล้วเรียกเปนภาษาไทยไม่ได้ ต้องเรียกเปนภาษาต่างประเทศจึ่งจะสูง พระสตันจะเขียนอย่างไรไม่ทราบ ได้ลองหาสุ่มไปในพจนานุกรมสํสกฤต พบคำ สตล ซึ่งจะเปน สตัล ได้ แปลให้ไว้ว่า having a bottom จะเปนคำนี้ใช่หรือไม่ก็ไม่ทราบ

เรื่อง รอหัน นั้นชอบกลอยู่มาก คำว่า หัน นั้นสันนิษฐานว่าหมายถึง หันอากาศ คือ ร หันอากาศ ให้อ่านเหมือนไม้ผัด เชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายหลัง ด้วยเห็นคำที่อ่านคงเดิมก็มีอยู่ ท่านคงเคยได้ยิน เช่น มรคา มหรณพ เจ้าพระยาธรมา ที่ไม่ใช่ หัน ก็มี เช่น บูรณ บูรพ เปนต้น

นิคหิต นั้นไม่ทราบทางบาลีสํสกฤต พอที่จะพูดให้ถูกได้ สังเกตเห็นแต่เพียงเปนเงา ๆ ว่า ทางบาลีจะอ่านนิคหิตเปน อัง ทางสํสกฤตอ่านเปน อัม จะเปนด้วยอะไรก็ตามที การบวชนาคของเรา แต่ก่อนก็เอาทั้งสองอย่าง ให้ว่า พุทธัง ก่อน แล้วให้ว่า พุทธัม ทีหลังซ้ำอีกทีหนึ่ง เข้าใจว่าไม่แน่ใจว่าอย่างไรถูก การลงนิคหิตกับพยัญชน เช่น สํสกฤต ให้อ่านได้ตามชอบใจนั้น ควรจะใช้ได้เปนปกติ เพราะในแบบเรียนมูลบทบรรพกิจ ก็มีบอกไว้ให้ใช้ ทางเขมรเขียนนิคหิตในที่เราเขียนตัว ม มีมากทีเดียว สิมฺท วมฺส ทางฝรั่งเขียนภาษาบาลี เห็นจะยึดเอาเปนหลักไม่ได้ เปนแต่เขาคิดปรับว่า จะเอาตัวโรมันตัวไรใช้แทนตัวไร ในหนังสือที่เขียนภาษาบาลีเท่านั้น ที่บัญญัติเอาตัว เอม มีจุดข้างบนเปนนิคหิตนั้น คงเปรียบเทียบด้วยทางภาษาสํสกฤตมา แล้วมียักตัว เอน จุดบนหมายเปนตัว ง อีกด้วย ทั้งนี้เปนเพราะตัวหนังสือโรมันมีไปคนละอย่างกับหนังสือที่ใช้เขียนภาษาบาลีเปนเหตุ

สิบเอด เปน สิบเบด นั้นเห็นจะเปนโดยธรรมดาที่เสียง อ ต้องหายไป ตัวสกดข้างหน้าต้องถอยมาเข้าแทนที่ มลิลา กลัวจะเปนด้วยหลงเอาเข้าคู่กับ มลิเลื้อย เพราะ มนิลา ไม่ได้ความเปนภาษา แต่ ทีเดียว เปน เทียว นั้น เปนลากเสียงกลมกลืนกันแน่

นิทานเรื่อง พญาโคตรบอง ท่านรู้มามากกว่าฉันรู้ อันนิทานซึมๆ เรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่อง พญาโคตรบอง พระสี่เสา พญาแกรก เรื่อง ลูกนาค (คือพระร่วง) อะไรเหล่านั้น มันเห็นจะมีมานมนาน และมีอยู่ทั่วกันทุกภาษาบันดาที่ตั้งบ้านเมืองอยู่ใกล้ๆ กัน ชื่อ เพลงพระทอง และ เพลงนางนาค นั้น ก็เข้านิทานพวกนี้ ทางเขมรมีเรื่องว่าลูกกษัตริย์ ชื่อ พระโถง ไปได้สมจรกับนางนาคแปลง เกิดลูกเปนผู้มีบุญ ได้แก่เรื่องพระร่วงของเรานี้ แล้วนามนั้นก็เข้ามาสู่เพลง มาถึงเรา พระโถง ก็เลือนเปนพระทองไป ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบว่า เมืองท่าแขกเปนเมืองโบราณ มีพระธาตุ ฉันอ่านหนังสือพิมพ์เขาลงเล่าถึงเมืองเวียงจันทน์ ว่ามีสิ่งสำคัญคือ พระแทต ฉันอดหัวเราะไม่ได้ คำนั้นจะต้องแปลมาจากหนังสือฝรั่งซึ่งเขาเขียนตามใจเขา ผู้แปลเปนสกูลอังกฤษอ่าน เอ เปน แอ และไม่รู้สึกเลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร ทำให้รำลึกถึงท่าน แต่จะบอกรายงานมาโดยจำเพาะ มันก็สวะเต็มที

ท่านพบประกาศเรื่องตรานารายน์บัลลังก์นาคนั้นดีเต็มที แต่ฉันไม่สามารถให้การได้ ว่าตราดวงนั้นทำด้วยอะไร และมีรูปช้างอยู่ที่ไหน เพราะไม่เคยเห็นแม่ตรา เห็นแต่เส้นชาดซึ่งประทับแล้ว และที่เรียกกันว่า นารายน์ประทมสินธุ์ เห็นจะเปนชื่อเถื่อน เรียกกันเอาเอง ที่ฉันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงเปลี่ยนชื่อใหม่นั้น คงไม่ใช่ทรงพระราชดำริผูกคำขึ้นเปลี่ยน คงได้ทอดพระเนตรเห็นประกาศซึ่งท่านอ้างถึงนั้น และทรงรู้สึกว่าเรียกกันผิด จึงทรงเรียกเสียใหม่เท่านั้น ตราที่มีรูปช้างฉันจะให้การยืนยันได้แต่ ๒ องค์ ด้วยได้เคยเห็นทั้งแม่ตรากับทั้งเส้นชาด ทั้งตนเองได้เคยประทับด้วย คือ ตราสยามโลกัคคราช องค์หนึ่ง ทำด้วยทอง เปนรูปสี่เหลี่ยม มีช้างหมอบอยู่บนหลังตราเปนที่จับประทับ เรียกกันว่า ช้างหมอบ กับอีกองค์หนึ่งทำด้วยทองเหมือนกัน เปนรูปสี่เหลี่ยมรี มีรูปช้างยืนเป็นที่จับอยู่บนหลังตรานั้น เรียกกันว่า ช้างยืน แต่ชื่อที่ถูกจะเรียกว่าอะไร หาทราบไม่ สำหรับใช้ประทับบนใบพระราชทานที่วิสุงคามสีมา

ทีนี้จะแจ้งรายงานเรื่อง สัศดี และ พระสุรัศวดี โดยได้คิดต่อมา เห็นว่า สัศดี จะต้องเป็นคำเก่า พระสุรัศวดี จะเปนคำยัดเข้าให้ใหม่ ได้ตรวจดูชื่อเทวดา ในทางสํสกฤตก็มี สรัสวดี เปนใกล้ที่สุด แต่ก็เปนนาง เปนชื่อแม่น้ำก็ได้ เปนชื่อเทพธิดารักษาแม่น้ำก็ได้ สมมติขึ้นแต่เดิมจะให้เปนเมียเทวดา ซึ่งชื่อ สรัสวัต แล้วก็หลงเอาไปให้เปนเมียใครต่อใครมากหลาย แต่ล้วนที่เปนเทวดาเก่ง ๆ เหลวเปนขี้อ้ายอูไปตามเคย อย่างไรก็ดี จะว่าคำ สัศดี คือ สรัสวตี หาควรไม่ คำ สัศดี เห็นคล้ายกับคำ สสฺสต ทิฏฺิ และ สสฺสโต โลโก ในภาษาบาลี ได้เปิดสมุดพจนานุกรมภาษาบาลีดู มีคำ สสฺสต กับ สสฺสติก แปลให้ไว้ว่า เปนไปเสมอ และให้คำสํสกฤตเปน ศาศฺวต และ ศาศฺวติก ถ้าจะถือเอาคำนี้ว่า คือ สัศดี ก็พอจะไปได้ ในภาษาสํสกฤต มีคำ ศาศฺวตี แต่แปลว่า พื้นดิน ติดจะไม่เข้ารูป

ขอบใจท่านที่มีเมตตาให้พรปีใหม่ ความเจตนาดีของท่านมีเพียงไร ขอให้ท่านได้รับพรของฉันเช่นนั้นเหมือนกัน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ