- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ไว้แล้ว
ที่ตรัสว่า เผื่อน มีในชื่อคนอยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าได้สติ จากพระดำรัสนิ้ว่า ผัน ก็มีในชื่อคนอยู่มากเหมือนกัน สองคำนี้จะต้องมีความหมายว่าอะไรโดยตรง และคงจะไม่ใช่ตัดคำมาจาก บัวเผื่อน บัวผัน เพราะตามปกติชื่อคนครั้งเดิมน่าจะเปนคำโดดโดยมาก แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นหาความหมายของคำทั้งสองนี้ไม่ได้ชัด เผอิญมีผู้รู้ภาษาพายัพมาหาข้าพระพุทธเจ้า เขาอธิบายว่า เผื่อน เป็นคำเก่า นาน ๆ จึงจะได้ยินใช้สักครั้งหนึ่ง แปลว่า เลือน เห็นไม่ชัด เช่น ผ่อเผื่อน คือจ้อง มองดู เห็นไม่ชัด เห็นคล้าย ๆ กัน เสียงเดิมเปน เผี่ยน มาเปน เผื่อน เพราะได้เสียงสระอือไปจากล่าง และว่าทางพายัพตอนที่ต่อกับเมืองเหนือเรียกควายสีมอ ๆ มัวๆ ไม่เผือกชัดหรือคำชัดว่า ควายเผื่อน ถ้าเช่นนั้น เผื่อน กับ เผือด ก็มีความหมายใกล้กันมาก
ข้าพระพุทธเจ้าเคยเก็บชื่อคนที่เปนคำโดด ๆ มาแยกออกเปนพวกตามลักษณะที่เห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน ปรากฏว่าชื่อส่วนมากมีความหมายไปในทางลักษณะของบุคคล เช่น เล็ก ใหญ่ ขาว ดำ สุด หงิม พวกหนึ่ง ที่ติดมาจากลักษณะซึ่งเรียกร้องมาแต่เด็ก เช่น แป๋ว ติ๋ว จ้อย พวกหนึ่ง ที่เอาชื่อสัตว์มาตั้งชื่อเช่น เขียด นก เสือ พวกหนึ่ง ที่เอาชื่อมาจากสิ่งมีค่าเช่น แก้ว เงิน ทอง พวกหนึ่ง เมื่อเอามาเรียงเข้าพวกกันดู ก็เห็นแปลก เช่น เอาชื่อสัตว์มาตั้งให้ แต่สัตว์ลางชะนิด เช่นม้า ก็ไม่มีใครชื่อ และมีชื่อเป็นอันมากที่แปลไม่ออก เช่น สี สา มั่ง เป็นต้น ที่ชื่อเหล่านี้มีหลายชื่อแปลไม่ได้ จะเป็นเพราะไม่ใช่คำในภาษาไทยทั้งหมด อาจเป็นคำในภาษาต่างๆ ซึ่งเกิดจากคนหลายชาติหลายเหล่าผสมกัน เมื่อข้าพระพุทธเจ้ามานึกอย่างนี้ ก็หมดพยายามที่จะค้นหาต่อไป ครันข้าพระพุทธเจ้ามาศึกษาวิชานิรุกติศาสตร์ขึ้น ก็สันนิษฐานความในชื่อเหล่านั้นออกได้หลายคำ แต่ค้นโน้ตที่จดชื่อคนเป็นพวก ๆ ไว้เมื่อก่อน ก็ไม่พบ เมื่อทรงแนะถึงคำว่า เผื่อน ว่ามีในชื่อคนอยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความหมายในคำต่างๆ ที่นำมาตั้งชื่อคนขึ้นอีก คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะเอาเรื่องการตั้งชื่อนี้มาผนวกเข้ากับเรื่องประเพณีการเกิดของไทย ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ากำลังรวบรวมอยู่ แต่เรื่องประเพณีการเกิด ยากกว่าเขียนเรื่องประเพณีทำศพ เพราะหาเหตุผลไปไม่ได้ตลอด เช่น ปั้นข้าวแม่ซื้อเป็นสีต่างๆ ๕ สี ปัดรังควานเด็กเมื่อตัวร้อนเป็นไข้ ว่าทำไมจึงต้องใช้ข้าวเป็นสีต่าง ๆ สอบทางอินเดียก็มีแต่สีแดงสีเดียว คือใช้ข้าวชุบน้ำหญ้าฝรั่น เรียกว่า ข้าวอักษตะ และไม่บอกเหตุผลว่าทำไมจึงทำเช่นนี้ เปิดดูในพจนานุกรมภาษาสํสกฤต ก็แปล อักษตะ ไว้ว่าข้าวที่ยังไม่ได้เอาเปลือกออก ความไม่ได้กัน แม้ถึงคำว่า แม่ซื้อ ก็ทราบเกล้าฯ แต่เงา ๆ ว่า เป็นพวกที่ฝรั่งเรียกว่า Guardian Spirit และทำไมจึงเรียกว่า แม่ซื้อ นอกจากแปลว่า ซื้อเด็ก ตอนที่เอาเด็กใส่กระด้งและร้องว่า สามวันลูกผีสี่วันลูกคน แต่ผู้ซื้อในตอนนี้เป็นคน หาใช่ผีไม่ ข้าพระพุทธเจ้าลองแยกลัทธิต่าง ๆ ที่ทำในเวลาเกิด ก็น่าจะแยกได้เป็นสามส่วนใหญ่ ๆ คือ ป้องกันผีหรือเวทมนต์ที่มีคนกระทำ เช่นสะหนามไว้บนกองฟืนสำหรับอยู่ไฟ ต้องการให้คลอดง่าย เช่น เปิดประตูหน้าต่าง และเพื่อให้เป็นความเจริญแก่เด็ก เช่นพิธีฝังรกเป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลออกนอกทางมามากเช่นนี้ เพราะเมื่อตรัสถึงเรื่องชื่อคน กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าอดทนอยู่ไม่ได้ ทั้งนี้การจะควรสถานไร ขอพระเมตตาบารมีเป็นที่พึ่ง พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ
คำ งอน ในความว่า วัดโอบได้รอบหัว นายสุด ศรีสมวงศ์ ซึ่งเป็นชาวเมืองนครจำปาสัก และทำงานอยู่กับข้าพระพุทธเจ้า ชี้แจงว่า จะเป็นคำเดียวกับ หง่อน ในภาษาทางอีศาน(พายัพ-ง่อน) แปลว่าท้ายทอย เพราะประเพณีอีศาน ถ้าภิกษุได้รับตำแหน่งเป็น สำเร็จ ได้สุพรรณบัตร มีขนาดแผ่นทองคำแผ่ให้ยาวจดเท่าหางคิ้วทั้งสอง ถ้ารับตำแหน่ง ซา ขนาดแผ่นทองแผ่ให้ยาวถึงหูทั้งสอง ถ้ารับตำแหน่ง ครู ต้องแผ่แผ่นทองให้รอบศีรษะจด หง่อน คือท้ายทอย หง่อน นั้นลางทีเรียกว่า กะด้น ซึ่งคงจะตรงกับ กำด้น ในภาษาไทยโบราณ ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมอาหม พบคำ งอน แปลว่า โขดเขาเล็ก ๆ หรือเนิน ถ้าเช่นนั้น ท้ายทอย ก็น่าจะเป็น ท้ายดอย คือบั้นท้ายของส่วนที่นูนของศีร์ษะ และ หง่อน คงเกี่ยวข้องกับคำหลายคำ เช่น ชะง่อน ชะงอก ชะโงก ชะง้ำ ชะเงื้อม ชะงุ้ม ชะ จะกร่อนเสียงมาจากคำไร ข้าพระพุทธเจ้ายังนึกไม่ออก
คำว่า ลาวกาว ที่เจ้าคุณพรหมสันนิษฐานว่าจะเป็น ลาวเก่า คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะเป็นลากเข้าความให้เข้ากับคำว่า เก่า เพราะในภาษาอาหมมีคำว่า เกา แปลว่าเก่า ว่าอื่น ถ้าจะแปล ลาวกาว ว่า ลาวอื่น ก็น่าจะได้เหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้า ได้ทราบจากนายสุด ศรีสมวงศ์ ว่าชาวอีศานมีประเพณีเรียกหมู่คนไทยที่มีคำพูดในภาษาลางคำซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ออกเสียงเป็นคนละอย่าง เช่นเรียกชาวไทยที่อยู่แถบอุบลว่า ลาวไส เพราะลาวพวกนั้นใช้คำว่า ไส ในความหมายว่า ไหน หรือ ยัง เช่น ไปไส กินแล้วไส ไทยเวียงจันทน์ตลอดลงไปจนถึงนครจำปาสักใช้ กว่า แทนคำว่า ไส เช่น ไปกว่า กินแล้วกว่า เพราะฉะนั้นไทยพวกที่ใช้คำ กว่า จึงเรียกว่า ลาวกว่า พวกไทยเขินลางพวกใช้คำในความหมายว่า ไหน หรือ ยัง เป็น ตี้ ลางแห่งเป็น ก้อ ก็เรียกว่า เขินตี้ เขินก้อ ข้าพระพุทธเจ้าได้ซักถามว่า กว่า เขียนอย่างไร นายสุดชี้แจงว่า เขียน กว แล้วมาภายหลังเขียนมีลากข้างเป็น กวา ขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า กาว กับ กว อาจเป็นคำเดียวกันเพราะเมืองอุบลตามพงศาวดารก็ว่า พวกชาวนครจำปาสักมาตั้ง พวก ลาวไส ที่อยู่ก่อน อาจจะเรียกนครจำปาสักที่ยกมาตั้งเมืองอุบลว่า ลาวกว หรือ ลาวกาว ก็ได้ ทางพายัพ คำว่า ไปไหน ใช้ว่า ไปเก่า และใช้อยู่เป็นปกติในคำพูด ถ้าเทียบ กว ของอีศานและ เก่า ของพายัพ รูปเสียงยิ่งใกล้เข้ามาในคำ กาว มาก
ขุขัน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า อาจเป็นคำเดิมก็ได้ จะไม่เพี้ยนไปจากคำว่า คูขัณฑ์ เพราะ ขุขัน มีชื่ออยู่ในรามเกียรติ์ เป็นคำของชาวอินเดียตอนใต้ คือพวกทมิฬ เพี้ยนไปจากคำว่า คูหะ ในภาษาสํสกฤต โดยเหตุที่แดนตอนนี้เคยเป็นอาณาเขตต์ของเขมร และเขมรได้รับวิชาความรู้มาจากอินเดียตอนใต้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงสงสัยว่า ขุขัน จะเป็นคำมาทางนั้น แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นหาหลักฐานทางพงศาวดารไม่ได้ ถ้าเมืองขุขันมาจากคูขัณฑ์ ก็จะต้องมีตำนานที่กล่าวถึงเรื่อง คู ซึ่งแปลกหรือพิเศษกว่าเมืองอื่นๆ จึงได้ตั้งชื่อเช่นนั้น ตาที่นายสุดบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ชาดกเมืองอื่นๆ จึงได้ตั้งชื่อเช่นนั้น ตามที่นายสุดบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ชาดกของอีสานเรื่องหนึ่งว่า ขุขันเป็นเมืองหน้าด่านของท้าวคชทัตโพธิสัตว์ ซึ่งเกิดในรอยเท้าช้างเท่านั้น
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า