๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน และวันที่ ๒ ธันวาคมแล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องเขียนหนังสือฝรั่งเป็นไทย ไทยเป็นฝรั่ง เขียน ñ แทน ญ เป็นแบบใช้กันมาก ส่วน nh ข้าพระพุทธเจ้าเห็นใช้ในหนังสือภาษาโปรตุเกสมาก gn ก็เคยพบมีผู้ใช้แต่ว่าน้อย เพราะเสียงกระเดียดไปข้างเสียง ง อีกอย่างหนึ่งใช้ ny ใกล้เสียง ญ มาก แต่มีที่เสียอยู่ที่อยู่ท้ายของคำ อาจอ่านเป็น นี้ ได้

ข้าพระพุทธเจ้าเคยนึกผิดไปว่า คำไทยที่สกดด้วย ญ จะมาแต่ภาษาเขมรทั้งนั้น เมื่อไปเห็นคำของอาหมและไทยขาวที่สกดด้วย ญ ก็มีมาก จึงคิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเดิมในภาษาไทยจะมีเสียง ญ ขึ้นนาสิกอยู่มาก หากภายหลังเสียงนี้สูญไป กลายเป็นเสียง ย หมด แต่ยังทิ้งเค้าไว้ให้ในตัวหนังสือ และในเสียงของภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ

การถ่ายเสียงต่างประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าเคยลำบากใจในเรื่องภาษาบาลีที่พม่าถ่ายเอามา ฝรั่งถ่ายจากพม่า แล้วเราได้เสียงจากฝรั่งมาอีกต่อหนึ่ง คำบาลีที่อาจทราบได้ก็กลายรูปไปหมด ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเขาแปลชื่อของพม่า จากหนังสือฝรั่ง เช่น ซักย่า กาลอน เซนเซ ก็งงอยู่นาน ภายหลังจึงได้ความว่า ซักย่า คือสักระ เพราะพม่าออกเสียง ร เป็น ย กาลอน ก็คือครุฑ ซึ่งคงจะถ่ายเสียง ครุฑ ในบาลี เซนเซ ก็คือราชสีห์ คำนี้ไกลเสียงเดิมมาก ในพงศาวดารพม่า มีพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์หนึ่งที่ถ่ายมาเป็นภาษาไทยว่า พระเจ้าเสนกราช ภายหลังได้เค้าว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้เคยบวชเป็นพระภิกษุ และในภาษาพม่าเรียกสงฆ์ว่า เซนก้า จึงได้ความว่า เสนกราช คือ สังฆราช นั้นเอง ประเทศยะไข ฝรั่งเรียกว่า Arracan เสียงห่างไกลกันมาก ฝรั่งอธิบายว่า พม่าออกเสียง อยักเขี่ยง (เสียง ย ร ล ว และ ส ลางภาษาขึ้นต้นออกเสียงไม่ได้ ต้องเอาเสียงสระอะหรืออิเข้าช่วย) ส่วนเขี่ยง ออกเสียงขึ้นนาสิกมากก็เหลือแต่เสียงสระอย่างตองกิง-ตังเกี๋ย อยักเขี่ยง ก็กลายเป็น ยะไข ไป โดย อะ ข้างหน้าคำกร่อนหายไป เพราะเสียงหนักมาอยู่ที่เสียง ข ข้าพระพุทธเจ้าได้คำพม่าที่เขาให้เสียง และแปลเป็นภาษาไทย เมื่อตรวจดูก็พบคำที่เพี้ยนเสียงไปจากคำเดิมอยู่หลายคำ เช่น นะค้า-นาคะ เฮนซ่า-หงส์ เยสะ-ฤษี ยทา-รถ (เขมรว่าออกเสียงเป็น ระแทะ เป็นอันว่าภาษาไทยได้มาทั้ง รถ และ ระแทะ) มอตอก๋า-รถยนต์ ลันเชีย-รถเจ๊ก (ภาษาจีน ลั่น หรือ ลั่นเชีย แปลว่ารถรุน หรือเลื่อนไป เป็นอย่างคำว่าล้อเลื่อนในภาษาไทย ญี่ปุ่นไม่มีเสียง ล ใช้ ร แทน เพี้ยนเป็น ริกชอ ฝรั่งได้ไปจากญี่ปุ่น เขียนเป็น Rickshaw)

ชื่อเมืองของไทยใหญ่ พม่าเรียกเพี้ยนไปตามเสียงพม่า ฝรั่งได้จากพม่า แล้วคำที่ฝรั่งจดไว้ตกมาถึงไทย ชื่อเมืองที่เป็นคำไทยแท้ๆก็กลายเสียงเป็นว่าไม่ใช่ไทย เช่น Bhamo-บ้านหม้อ Mone-เมืองใน Mohwyen-เมืองยาง Momeik-เมืองมีด

พิสวง ซึ่งแปลว่าทั่วโลก ข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งทราบเกล้า ฯ พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ คำสํสกฤตและบาลีที่ย้ายความหมายเห็นจะมีมาก เช่น มาลา อาชา ดัษกร หิรัญเทวี คงคา สุดา อาราม คำ จันฑาล ในภาษามลายูว่าไม่มีความละอาย สกปรกโสมม ตกถึงไทยหมายความว่าพาลก็มี เช่น จันฑาลหาญทำให้ช้ำนัก เมื่อไม่นานมานี้มีโรงเรียนผู้หญิงตั้งอยู่แถวบางกระบือ ตั้งชื่อว่าโรงเรียนดัดจริต ผู้ตั้งคงประสงค์จะให้ความหมายว่า ดัดจริตกิริยา แต่แพ้ความหมายซึ่งย้ายที่มา เป็นทางกิริยาเกินดี อยู่ไม่ช้าก็ต้องเลิกชื่อนี้

วิ๊ก หมายความว่าโรงมโหรศพที่เล่นประจำ ได้ทราบเกล้าฯ ว่าต้นเหตุเกิดจากลครเจ้าพระยามหินทรฯ เขียนบอกไว้ที่หน้าโรงว่า วิ๊ก นี้จะเล่นเรื่องนั้น ๆ ชาวบ้านไม่รู้จักคำว่า วิ๊ก ก็เข้าใจผิดว่า วิ๊กนี้ นี้ก็คงหมายความว่าโรงนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยเข้าไปดูลครลิง แถวหน้าเป็นราวไม้ไผ่สำหรับนั่งดู ซึ่งเขาเรียกว่า นั่งบอกส์ เสียค่าดูแพงหน่อย เก๊ ในภาษาจีนว่าของไม่แท้ แต่มีคำในภาษาไทยว่า ขายไม่ได้สักเก๊ ว่าเกิดจากเรื่องมีคนปลอมอัฐตะกั่วครั้งปลายรัชชกาลที่ ๕ กันมาก มีกลาดเกลื่อนในท้องตลาด ในที่สุดพวกจีนยอมรับอัฐตะกั่วเก๊ โดยคิดให้เท่าราคาตะกั่วที่ซื้อขายกัน คนจึงยอมรับอัฐเก๊เพราะเอาไปขายได้ ว่าเวลาไปจ่ายตลาดต้องเอาใบตองห่ออัฐเก๊ อย่างข้าวต้มมัดใต้ใส่กระจาดไปหลาย ๆ มัดเพื่อซื้อของ คำว่า เก๊ จึงกลายเป็นเงินดีไปในความว่า ขายไม่ได้สักเก๊ เบี้ยก็อีกคำหนึ่งซึ่งติดมาเป็น เบี้ยบำนาญ เบี้ยปรับ อยู่จนทุกวันนี้ เรื่องคำมีความหมายย้ายที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยรวบรวมไว้ ที่จะทราบได้ว่าย้ายความหมาย ก็ต้องอาศัยสืบสาวเรื่องราวหรือพงศาวดารของคำ ฝรั่งจึงว่าการเรียนความหมายก็คือการเรียนพงศาวดารนั่นเอง เวลานี้กำลังมีคำที่กำลังจะกลายความหมายอยู่อีกคำหนึ่ง แต่ยังเป็นภาษาตลาดอยู่ คือคำว่า กระเป๋า ข้าพระพุทธเจ้าเคยนั่งรถยนต์ประจำทาง ได้ยินพูดกันว่า กระเป๋ามีธุระ กระเป๋าไม่ระวัง ซึ่งหมายความถึง คนกระเป๋า หรือ คนเก็บสตางค์ค่าโดยสาร

เรื่องคำว่าหงส์หรือท่าน ในภาษาลาติน ห่าน เรียกว่า Anser ก็เป็นคำเดียวกับ หงส์ ในภาษาเยรมัน ห่าน ว่า Gans ตกมาในภาษาอังกฤษตามกฎของการกลายเสียงในภาษาแองโกล-แซกซัน ถ้า n อยู่หน้า s ก็ตก n เสีย กลายเป็น Gas แล้วเพี้ยนเป็น Gos และ Goose โดยลำดับ รัสเซียเป็น Gus ชาวโบหิเมียเป็น Hus ซึ่งเป็นคำเดียวกับ Hansa หรือ หงส์ ภาษาจีนเป็น หงัน งู้ ไทยเป็น ห่าน แสดงว่ามนุษย์คิดคำตั้งชื่อห่านตามเสียงที่ห่านร้อง

สัมฤต ที่ทรงสันนิษฐานว่าจะตรงกับคำว่าทองคำ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องตามกระแสพระดำริ เคยแปล Bronze กันว่าสัมฤต แต่คำ บรอนส์ จะหมายความเพียงว่าเป็นทองผสม ส่วนสัมฤตจะเป็นทองผสมชนิดหนึ่งที่มีสีดำเท่านั้น

ข้าวแม่ซื้อ ที่ชาวอินเดียคลุกด้วยเท่าแกลบ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะเป็นเพราะคติของอินเดียห้ามใช้ภาชนะทำด้วยดินถือว่าเป็นมลทิน ต้องใช้ภาชนะทำด้วยโลห แต่กระนั้นเมื่อใช้แล้วต้องขัดทันที ทิ้งไว้เป็นบาปเพราะฉะนั้นจึงหามินหม้อไม่ได้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้ามีก้นหม้อ คงใช้ก้นหม้อเป็นแน่ เรื่องทาสีดำที่ทรงเมตตาประทานมา มีประโยชน์เป็นความรู้แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก เพราะทำให้ข้าพระพุทธเจ้าสว่างขึ้นในเรื่องที่ใช้สีดำทาเรือนกัน

ที่ตรัสอธิบาย เรื่องหน้าที่นางกำนัล เป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมาก คำที่กลับกันอย่าง ผแด เป็น แผด ในภาษาไทย ที่นำมาจากสํสกฤต มีคำว่า ประเล่ห์ และ ชิวหา

คำว่า สวย ไม่ปรากฏว่ามีอยู่ในพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ สอบถามชาวพายัพและอีศาน ว่าไม่เคยใช้คำ สวย ใช้แต่ งาม เท่านั้น แต่ สวย ไปอยู่ดกดื่นทางปักษ์ใต้ ที่ทรงเห็นว่า สวย ควรจะใช้แก่คนและข้าว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องกับกระแสพระดำริ ข้าวสวย ชาวอีศานเรียกว่า ข้าวหง (หุง) แขง

หมอตำแย ข้าพระพุทธเจ้าพยายามค้นมานักก็ยังไม่ได้ความชัด ทราบเกล้า ฯ แต่ว่าเป็นชื่อของมหาเถรผู้แต่งคัมภีร์ปฐมจินดา ตำราว่าด้วยการคลอดและเรื่องทารก สอบมอญก็ว่าแพทย์ผดุงครรภ์เรียกว่าตำแยเหมือนกัน ถ้าคำนี้ไม่ใช่เป็นคำของอินเดียภาคใต้ ก็น่าจะเป็นคำมาทางมอญหรือพม่า เพราะในโองการแม่ซื้ออีกแห่งหนึ่ง ไหว้พระอุปคุตอรหันต์ด้วย ได้ทราบเกล้าฯ ว่าพระอุปคุตนี้ พม่านับถือมาก มีงานอะไรต้องนิมนต์มาเข้าพิธีด้วยเสมอ รูปพระอุปคุตของพม่า เป็นท่านั่งขัดสมาธิหงายฝ่าเท้า มือซ้ายอุ้มบาตร์ มือขวาอยู่ในท่าเปิบข้าว หลังรูปเจาะรูสำหรับบรรจุแผ่นทองจารึกคาถา ฝรั่งว่าพระอุปคุตกับพระโมคคัลลีติสสเป็นองค์เดียวกัน

ข้าพระพุทธเจ้าจับใจเรื่องบายศรีที่ทรงพระเมตตาประทานมาอย่างยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้ามีข้อความว่าด้วยเรื่องเกิด ซึ่งมีผู้จดจากปากคำหญิงชราคนหนึ่งมาให้ข้าพระพุทธเจ้าไว้นานแล้ว ในนั้นมีข้อความลางแห่งตรงกับที่ตรัส เช่น การโกนผมไฟ ถ้าชั้นผู้ดีมีหน้า ต้องมีใบสี ๓ ชั้น และมีใบสีปากชามอยู่บนยอดใบสี ๓ ชั้น ตรงกันกับที่ตรัสเรื่อบายศรีขัน ดั่งเขียนไว้ที่ผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้ไปดูแล้ว อีกแห่งหนึ่งว่า เมื่อเด็ก ๓ เดือนเอาลงเหยียบดิน ที่ดินนั้นต้องมีหินลับมีโกน มีเงินมีทองเกลี่ยที่ดิน แล้วเอาเด็กลงเหยียบ เพื่อให้เป็นสวัสดิมงคลกับเด็ก พิธีเหยียบดินนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยได้ยินมาจากที่ไหน นอกจากมีระบุไว้ในหนังสือว่าด้วยพระราชพิธีจรดปฐพี ซึ่งได้ทราบเกล้าฯ ว่าเลิกทำมานานแล้ว

หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และเรื่องภูมิฐานพระนครศรีอยุธยา เป็นของหอสมุดแห่งชาติถวาย ประจวบกันวันนั้นนายสมบุญนำลายพระหัตถ์มาให้ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจึงถือโอกาศฝากนายสมบุญไปถวาย ไม่ทันจะได้เขียนหนังสือกราบทูลไป ทั้งนี้พระอาญาไม่พ้นเกล้าฯ แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า <พระยาอนุมานราชน>

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ