- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๓ และวันที่ ๒๗ เดือนก่อนไว้แล้ว
ที่ตรัสถึงลักษณะ เมรุ กับ โรงทึม ผิดกันอย่างไร เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบเกล้า ฯ จากพระอธิบายนี้ นายสุดเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า การเผาศพพระผู้ใหญ่ภาคอีศาน เขากั้นเป็นชั้นหลายชั้น อยู่ข้างนอกมองไม่เห็นที่เผา ก็สมด้วยเป็น เมรุ ข้าพระพุทธเจ้า ได้ขอให้นายสุดเรียบเรียงลักษณะที่ว่านี้อยู่ ส่วน ทึม ข้าพระพุทธเจ้าได้พบในพจนานุกรมมอญ-อังกฤษครั้งหนึ่ง แต่ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาสมุดที่จดไว้ยังไม่พบ
ข้าพระพุทธเจ้าเห็นรายการเมรุที่กำลังจะสร้าง มีคำว่า เกษตร์ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยพบคำนี้มาก่อน จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ เขาอธิบายว่าเป็นระเบียงที่ต่อจากสำซ่าง แต่จะแปลว่าอะไรเขาก็จน ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบแต่ ทับเกษตร์ ว่าเป็นที่พระนั่งทับของพุทธรูป แต่ทำไมจึงเรียกว่า เกษตร์ ขอประทานทราบเกล้า ฯ ด้วย
เมื่อวันเสาร์ที่ล่วงมานี้ การชำระปทานุกรมไปถึงคำว่า เช็ดหน้า แปลไว้ว่า “กรอบประตูหน้าต่าง” แต่ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าจดไว้ ว่ากรอบประตูหน้าต่าง เรียก บานกบ ส่วนประตูหน้าต่างโบราณไม่มีกรอบเพราะเปิดเข้าข้างใน ไม่มีบานพับ จึงไม่จำเป็นต้องทำบานกบ เป็นแต่ทำเช็ดหน้าเป็นบัวคว่ำบัวหงาย เพื่อกันเคอะเท่านั้น กรรมการลางท่านเห็นว่า จะเป็นกรอบด้านนอกที่ติดต่อกับผนัง แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะนั่นไม่เกี่ยวกับบานประตู ครั้นเมื่อไปดูประตูที่จะเข้าไปในพระอุโบสถวัดมหาธาตุ ก็เห็นแต่บานประตูไม้ทั้งแผ่น ไม่มีกรอบหรือลวดลายอะไรที่โปน ลางท่านว่า อาจเป็นลายสลักที่อยู่เหนือและใต้บานหน้าต่างเรือนฝากระดาน แต่ก็ได้ทราบเกล้า ฯ ว่า ที่ตรงนั้นดูเหมือนจะเรียกกันว่า สะพานหนู ข้าพระพุทธเจ้าขอพระบารมีปกเกล้า ฯ ขอประทานทราบเกล้า ฯ คำว่า เช็ดหน้า ด้วย
พระยาราชโกษาบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า การชักศพทางเชียงใหม่เขาเอาเท้าศพไปก่อน ส่วนด้ายที่ลอดมาจากหัวโลง รั้งย้อนไปทางท้ายโลงสำหรับจูงโยง พระยาราชโกษา ได้ถามเขาว่า ทำไมจึงเอาเท้าไปก่อน เขาบอกว่าเป็นประเพณีดังนั้น ไม่ได้เหตุผลอะไรอีก คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ประเพณีชักศพเอาเท้าไปก่อน มีพ้องกันมากชาติทั้งฝรั่งและอินเดีย อ้างเหตุว่า เพื่อไม่ให้ผีจำทางกลับบ้านได้ ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามพวกทมิฬถนนสีลมว่า เวลาศพออกจากบ้าน เอาศีรษะไปก่อน พอจะเข้าเขตต์ป่าช้าจึงกลับโลงให้เท้าไปก่อน ที่ในกรุงเทพ ฯ ใช้ชักหัวโลงไปก่อน ก็น่าจะมาเปลี่ยนกันทีหลังเมื่อมีการจูงโยงศพขึ้น
คำว่า อุทุมพร เลื่อนเป็น ชุมพร ข้าพระพุทธเจ้าพบคำในภาษาอินเดีย ที่ใช้พูดกันในปัจจุบันว่า ทุมพร ไม่มี อุ เพราะเสียงเน้นมาอยู่ที่ ทุม เสียง อุ ก็หายไป ที่เพี้ยนจาก ทุมพร เป็น ชุมพร ก็คงเนื่องด้วยเสียงอุลากเสียง ซึ่งเกิดแต่ฟันให้หดเข้าไปหาที่เกิดของเสียงอุ แต่เข้าไปไม่ถึง จึงเกิดเป็นเสียงเกิดที่เพดานแข็งไป
ที่ตรัสว่า การถ่ายตัวอักษรสำหรับภาคสามัญ ควรจะใช้ตัวเกลี้ยงๆนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริเป็นอย่างยิ่ง ที่ฝรั่งใช้กันอยู่ก็เป็นอย่างที่ตรัส ไม่มีความลำบากอย่างไรในเรื่องอ่าน เพราะการอ่านต้องเรียนกันอีกส่วนหนึ่ง ดังที่ตรัสเป็นของถูกต้องที่สุด ที่มาเกิดแก้ตัวผสมยุ่งกันอยู่ในเวลานี้ ก็เพราะนึกถึงเรื่องจะอ่านออกเสียงให้ตรงตัวอักษร จึงทำความลำบากในเรื่องเขียนคำยุ่งอยู่ในเวลานี้
เรื่องตาร้อยปม เจ้าคุณสุเมธาวัดชนะสงครามเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ในตำนานมอญ มีบุรุษชื่อ มังปลาย (พลาย) กะโต๊ก (หูด) หรือมาณพหูด ทำไร่ปลูกมะนาวนมยานไว้ ถ่ายปัสสาวะรดต้นมะนาวเสมอ มะนาวเกิดผลงาม ศิษย์ของโหราจารย์ขอมะนาวจากมาณพหูด และตามโหราจารย์เข้าไปในวัง พระราชธิดาพระมหากษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นผลมะนาว ตรัสขอจากเจ้าของหลายครั้งจึงได้ไป ครั้นเสวยมะนาวนั้น ก็ทรงครรภ์คลอดโอรส พระเจ้าแผ่นดินตรัสให้ตีฆ้องร้องป่าว มาณพหูดเอาข้าวก้นหม้อก้อนหนึ่งไปให้กุมาร ๆ ก็รับ พระเจ้าแผ่นดินจึงตรัสให้ลอยแพพระธิดาโอรสและมาณพหูดไป ภายหลังไปได้กลองวิเศษจากลิง ตีเป็นบ้านเมืองและได้เป็นกษัตริย์ต่อมา เรื่องนี้เชื่อด้วยเกล้า ฯ ได้แน่ว่าเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องแสนปมในพระราชพงศาวดาร ข้าพระพุทธเจ้าได้คอยระวังดูเรื่องชะนิดนี้ทางอินเดียอยู่เสมอ เพราะเชื่อด้วยเกล้า ฯ ว่าจะมาจากเรื่องของชาติใดชาติหนึ่ง แต่ยังไม่พบ เรื่องนางส้อยดอกหมากอีกเรื่องหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าพบเรื่องมีเค้าคล้ายคลึงกัน คือในพงศาวดารของแขกจาม ว่า พระเจ้าศรีหริวรรมเทพ ครองแคว้นทํยํวิษณุมูรติ มีราชสกุลทางฝ่ายพระราชบิดาจากวงศ์ตระกูลมะพร้าว ฝ่ายพระมารดาสีบมาแต่ตระกูลหมาก ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า เจ้าเมืองเพ็ชรบุรีได้ชายาชื่อนางจันทรเทวีศรีบาทราชบุตรีศรีทองสมุทร ว่าเป็นราชธิดาพระเจ้าร่มฟ้ากรุงจีน กับนางจันทรเมาลีศรีบาทนาถสุริวงศ์ ๆ เกิดในจั่นหมาก ณ เมืองจัมปาธิบดี ในหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่งว่าด้วยเรื่องมะลายู อ้างไว้ว่าต้นสกุลกษัตริย์จามองค์หนึ่งเกิดในขันหมาก แต่ไม่ได้เล่าเรื่องไว้ให้ละเอียด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเรื่องของมะลายูกับของเราที่ใกล้กันคงมีอีกมาก เช่น เรื่องศรีทนนไชย ของมะลายูก็มี แต่หาฉะบับแปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ พระยาสมันต์เล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่าเหมือนกันมาก
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์