๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือลงวันที่ ๓ มกราคม ได้รับแล้ว ดีใจที่ท่านใฝ่ฝันถึงเรื่องศพโกศ เปนการช่วยฉัน เพราะฉันก็ใฝ่ฝันอยู่มาก ถ้าได้หลักฐานอย่างไรบอกให้ฉันทราบด้วย จะขอบใจมาก

ตามที่สอบสวนได้มาแล้วนั้น เปนอันปรากฏว่าแต่ก่อนเปนศพหีบทั้งนั้น แม้พระศพพระพุทธเจ้าอันสูงสุดอยู่แล้วก็เห็นทำใส่หีบกันทั้งนั้น พระบรมศพสมเด็จพระชัยราชา ซึ่งฉันบอกท่านมา ดูทีก็เปนว่าใส่หีบ ศพใส่โกศน่าจะมีมาทีหลังแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชา แต่จะมีมาเมื่อไรได้ประเพณีมาแต่ไหน นั่นแหละเปนสิ่งที่พึงจะไต่สวน

ท่านสงสัยว่าจะได้ประเพณีมาแต่บ้านเมืองที่ใกล้กัน มีจีนเปนต้นนั้น เปนความคาดคะเนอันชอบที่สุด ฉันก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เที่ยวเดินเล่นไปเห็นที่วัดเล่งเน่ยยี่เขามีงาน แวะเข้าไปดู เห็นเปนงานศพพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร ผู้เปนสมภารแห่งวัดนั้น แต่เขาจะเรียกท่านว่ากะไรนั้นไม่ทราบ เห็นเขาทำเปนลุ้งตั้งประดิษฐานไว้บนชั้นในโรงทึม จึ่งนึกว่าประเพณีแต่งศพนั่งใส่โกศเปนประเพณีจีน แต่ทีหลังไปถามพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร ผู้เปนสมภารวัดนั้นที่หลัง (ซึ่งเขาเรียกกันว่าอาจารย์แมว) ว่าการแต่งศพใส่ลุ้งนั่ง กับแต่งศพใส่หีบนอน ทำต่างกันโดยแบ่งยศอย่างไร ท่านบอกอธิบายไปเสียอย่างหนึ่งว่าไม่ได้แบ่งด้วยยศ แบ่งด้วยอาการเมื่อตาย คือถ้านั่งตาย (คือนั่งสมาธิไปจนตาย) เขาก็แต่งศพนั่ง ถ้านอนตายเขาก็แต่งศพนอน เพราะเขาไม่อยากจะถูกต้องศพให้มากนัก ส่วนการประดิษฐานศพนั่งไว้เปิดๆ ตามที่ท่านว่าทำศพให้แห้งนั้น ฉันก็เคยได้ยินมาเนือง ๆ เปนศพพระญวน ตามที่ว่านั้นเปนไปในทางปาฏิหาริย์ว่าศพไม่เน่า แต่ฉันก็ไม่เคยไปดู ในเรื่องแต่งศพนั่งใส่โกศนั้นฉันเคยไปหาพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ เมื่อเธอเข้ามากรุงเทพ ฯ ปีกลายนี้ เธอแนะนำให้รู้จักกับฝรั่งซึ่งมาอยู่กับเธอ เธอบอกว่าเปนครูของเธอ เขาเปนพหูสูตร จึ่งถามเขาถึงการแต่งศพนั่งว่าเขาได้อ่านพบอะไรมาบ้าง เขาบอกว่าดูเหมือนทางมงโกเลียแต่งศพนั่ง แต่เขาอ่านนานมาแล้ว เห็นเข้าทีมากด้วยมาทางจีนและใกล้กับเรา หรือเปนต้นกำเนิดพวกเราด้วย จึ่งขอให้เขาอ่านอีกทีหนึ่ง แล้วจดบันทึกมาให้ แต่ก็ยังไม่ได้รับบันทึกนั้น อีกทางหนึ่งขอให้ท่านดูเรื่องสิบสองเหลี่ยม ดูเปนแต่งศพนั่งไว้เปิดๆ จะเปนเรื่องของพวกไรก็สงสัย เพราะนิทานที่จารึกไว้คิดจะไม่มาทางเราๆ นี้ แต่ที่ตั้งไว้เปนทีว่ามณฑปนั้นเข้าที เพราะโกศของเราก็ทีมณฑปนั้นเอง แต่เล็กลง อาจย่นย่อลงมาทีหลังก็เปนได้

คำ ตัดหน้าฉาน นั้นชอบกลอยู่ ฉันเคยคิดมาคราวหนึ่งแล้ว สำคัญที่คำ ฉาน จะหมายความว่าเปนอะไร ตามที่ฉันรู้สึกมา คำว่า ตัดหน้าฉาน ดูเปนว่าผ่านหน้าพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ใช่ผ่านหน้าสถานที่ เช่น เวลาเสด็จออกพลับพลาสูง คือพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ใครจะผ่านไม่ได้ เว้นแต่ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผ่านจึ่งผ่านได้ มีกระบวนแห่เปนต้น ตัดหน้ากระบวนเรียกกันว่า ตัดหน้าฉาน ก็เคยได้ยิน แต่คิดว่าควรจะเปนกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน แต่ไม่ว่าแห่อะไร การตัดหน้ากระบวนนั้นเปนจรรยาที่ไม่ดีอยู่แล้ว หน้าพลับพลาสูงนั้น ถ้าเปนเวลาที่ไม่ได้เสด็จออก ก็เห็นผ่านกันได้ไม่ขัดข้อง แม้พระที่นั่งในพระราชวัง ถึงจะเสด็จประทับอยู่ในพระที่นั่ง ถ้าไม่ทอดพระเนตรเห็นออกมาถึงหน้าพระที่นั่ง ก็เห็นเดินผ่านหน้าพระที่นั่งกันได้ ไม่มีขัดข้องเหมือนกัน แต่ที่ว่านี้อาจเปนประเพณีใหม่ ซึ่งเคลื่อนคลายลงแล้วก็เปนได้ ได้ลองแสวงหาคำเก่าดู เคยพบว่า ธงไชย ธงชาย ธงฉาน อันธงฉานที่ว่านั้น รูปร่างจะเปนอย่างไรก็ไม่ทราบ เปนคำกวีเหมือนกับ กลิ้งกลดจามรไสวไพโรจน์ จะเอาความหมายว่าเปนอะไรนั้นยากนัก ที่เก็บเอามาพูดกลัวจะเปนกลอนพาไปเท่านั้น ธงฉานนั้นจะต้องมีแน่ แต่รูปร่างจะเปนอย่างไร และจะใช้ ณ ที่ใดไม่เคยเห็น อีกนัยหนึ่งเคยพบคำว่า ฉานคลี คำนี้ดูเปน ฉาน ว่าสนาม หรือสนามคลีนั้นจะอยู่หน้าพลับพลาก็ไม่ทราบ แต่ไม่ได้บอกไว้ว่าผ่านได้หรือไม่ได้ ค้นไปอีกก็พบคำเช่น แตกฉาน ตบหัตถ์ฉาดฉาน พรรณรายฉายฉาน เปนต้น ซึ่งเปนไปรูอื่น จะเปนคนละคำหรืออย่างไรไม่ทราบ เมื่อพบฝั้นเฝือไปต่างๆ ก็สิ้นความเพียรที่จะวินิจฉัย เลยระงับไป ตามที่ท่านคิดว่า ฉาน จะเปน สาน นั้นเข้าทีมาก แต่ขัดอยู่ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น

เมื่อวันที่ ๙ เดือนนี้ พระองค์เจ้าธานีมาหา เอาหนังสือที่เธอแต่งมาให้ จะอ้างถึงแต่เรื่องเดียว คือเรื่องคำว่า กระลาโหม ศาสตราจารย์ฟิโนต์แปลว่าอาจารย์บูชาไฟ เถียงไม่ได้ คำว่า กระลา หมายความว่าไฟมีหลายแห่ง โหม หมายความว่าใส่ว่าสุมก็มีหลายแห่ง แต่ไม่เข้าท่าเลย เขียนชื่อนั้นทุกวันนี้เอา ระ ออก คงเหลือแต่ กลาโหม ว่ามาแต่ กลห ดูเปนขอไปที เกินอะไรไปหลายอย่าง เช่น อา ก็เก้อ โอม ก็เก้อ ไม่เปนหลักอันดี ชื่อนี้ยังไม่เคยคิด

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ