- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๘๒
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ได้รับแล้ว
เรื่องเขียนหนังสือฝรั่งเป็นไทย ไทยเป็นฝรั่ง ฉันอยากให้มีกำหนดแน่ก็สำหรับใช้ในเมืองไทยเรานี้เท่านั้น ด้วยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักนำการเขียนหนังสือฝรั่งเปนภาษาบาลี ก็เปนไปได้มาก จึ่งคิดว่า แม้อาจารย์ผู้ใหญ่ (เช่นราชบัณฑิตยสถานเปนต้น) หากได้ประชุมกันตั้งบัญญัติลงแล้ว น่าจะมีคนใช้ตามเปนอันลงรอยกันได้มาก ที่ต่างคนต่างเขียนเอาตามใจนั้นลำบากเต็มที การเขียนเคลื่อนคลาดนั้นจะต้องเปนอยู่เอง แต่จะคลาดอย่างไร ก็ให้เปนไปเหมือนๆ กัน จะสังเกตได้ง่ายขึ้น ในการที่ต่างคนต่างเขียนไปตามใจนั้น สังเกตยาก ในการใช้หนังสือฝรั่งเขียนภาษาบาลีนั้น ถ้ากำหนดให้ใช้ตัวเปล่าได้จะเปนดี เพราะโรงพิมพ์ที่เขาตีแต่ภาษาอังกฤษ เขาไม่มีตัวซึ่งมีเครื่องหมายใช้ เขาก็เอาตัวเปล่าใช้ไป ทำให้งงได้มาก ทางอินโดจีนใช้ nh เปนตัว ญ แบบโปรตุเกศ ทางฝรั่งเศสและอิตาลีใช้ gn แทนตัว ญ เช่น โคญัก เราอ่านว่า ค็อกแนก เปนต้น ny แทนตัว ญ นั้น ควรที่สุด เพราะใกล้ที่สุด ที่อ่านผิดนั้นเปนการช่วยไม่ได้ นักเรียนภาษาไรก็ต้องอ่านไปตามภาษาซึ่งตนเรียนรู้มา เช่น นักเรียนภาษาอังกฤษเขียน a ตัวเดียว ก็อ่านเปน แอ หรือเขียนสองตัวก็อ่านเปน แอ อย่างเดียวกัน ไปเห็นวิลันดาเขียนหนังสือในชวา ล เขาอ่านเปน อะ aa อ่านเปน อา e เขาอ่านเปน เอะ ee อ่านเปน เอ เข้าทีมาก
ญ ย่อมมาได้หลายทาง เหมือนคำว่า ใหญ่ ก็เปนคำไทยแท้ ๆ ฟังพวกตะวันตกพูดยังรู้สึกปรากฏอยู่ แต่เราพูดไม่ปรากฏเลย การปล่อยเสียงให้ออกทางปากกับทางจมูกฟังผิดกันมาก พวกนักร้องเขาเล่น เช่น สวดภาณยักษ์ เมื่อสวด นโม เขาปล่อยเสียงออกทางปากล้วน ครั้นถึง สรณคม เขาปล่อยหางเสียงให้ออกทางจมูก ฟังผิดกันไปไกลมาก
โรงเรียนดัดจริต ฉันได้ทราบแต่แรกตั้ง ทั้งรู้ตัวผู้ตั้งชื่อนั้นด้วย และรู้ว่าตั้งโดยปรารถนาจะให้เข้าใจความจริง แต่ฝืนความชินไปไม่ได้ก็ต้องเลิก
เบี้ย ในกฎหมายพูดถึงเบี้ยทั้งนั้น และใช้อยู่จนกระทั่งถึงรัชชกาลที่ ๔ ที่ทำอัฐขึ้นก็เพื่อจะตัดความลำบากในการนับ ดูเหมือนจะไม่ได้ห้ามการใช้เบี้ย หากแต่มีอัฐขึ้นใช้สดวกกว่า เปี้ยก็เลิกไปเอง
เก๊ ฉันรู้จักดี ผิดกับอัฐจริงที่บางกว่า และเนื้อเปนตะกั่ว อัฐจริงนั้นเนื้อเปนดีบุกมาก หลอมดื้อไฟจึ่งใช้ตะกั่วล้วนที่หลอมง่ายทำปลอม เวลาโน้นไม่มีโปลิศ หรือมีแล้วก็ยังอ่อน จึ่งไม่มีใครจับคนทำปลอม แต่แรกก็ใช้กันดาษดื่น ทั้งรู้อย่ด้วยกันดีว่าเปนของปลอม เพิ่งจะรับซื้อกันเปนราคาตะกั่วทีหลัง เมื่อมั่นจวนจะสิ้นอายุเพราะต้องเลิกอยู่แล้ว
ข้าวแม่ซื้อ ซึ่งยอมเขม่า ทางอินเดียไม่ได้ใช้คลุกก้นหม้อนั้น ท่านคเนการชอบแล้ว ฉันเชื่อตาม
แผด ฉันอ่านผิดด้วยไม่ทันได้เห็นหนังสือขอม ถ้าได้เห็นแล้วจะผิดไม่ได้ ด้วยเขาเขียนตัวซ้อน ต้องเปนตัวควบ ชิวหา ทราบนานแล้วว่าทางบาลีสํสกฤตเขียนกลับตัวผิดกัน จนมีผู้รู้ทางสํสกฤตเขาให้ชื่อหนังสือพิมพ์ว่า ชิหวาไทย แต่ก็มีความหมายว่าลิ้นเหมือนกัน เจ้าดวงยิหวาเอย นั่นเปนดวงชีวา ห เข้ามาอยู่เพื่อชักให้เสียงสูง ทางชวาเขาก็ไม่สูง เราเห็นจะได้คำชวามาแต่ชาวตะวันตก ประหลาดหนักหนาที่ชวาพูด ช เปน ย แล้ว วิลันดาก็ใช้ j เปน ย สบเหมาะกันเข้าด้วย วิลันดาเขียนภาษาชวาใช้ tj เปน จ ใช้ di เปน ช ช่างรู้สึกซึมซาบเสียจริง ๆ คำ ประเล่ห์ ดูพจนานุกรมหลายฉะบับก็ไม่ได้ความพอใจ กลัวจะเปนคำไทย หากหลงลากเอาเข้าไปสู่ภาษาบาลีสํสกฤตจึงเข้ารูปไม่ได้
คำว่า สวย ซึ่งใช้ในข้าวก็เห็นจะหมายถึงงามนั้นเอง คือเปนเมล็ดงาม คู่กับเปียก ซึ่งเปนเมล็ดไม่งาม
พิธีที่มีการบูชาพระอุปคุต ได้พบกล่าวอยู่บ่อย ๆ ฉันคิดว่าพระอุปคุตนั้น ได้แก่ที่เราเรียกว่า พระบัวเข็ม มีสัณฐานแกะด้วยไม้เปนแท่งทึบ ที่ได้พบไม่มีสูงกว่า ๑๐ เซนติเมตร ท่าเปนมารวิชัย นั่งบนฐานดอกบัวพลิกขึ้นแล้วใต้ฐานมีรอยคร่ำลึกเข้าไป ปั้นเปนรูปสัตว์น้ำไว้เช่นปลาเปนต้น แสดงว่าน้ำ บนพระเศียรทำเปนจุกมีขั้ว ดุจรูปนารีผลฉะนั้น เปนแน่ว่าที่ไหล่ทั้งสองข้างมีรอยฝังหมุดโปนขึ้นมา (อันนี้เองที่ได้ชื่อว่า เข็ม) ทีเหมือนหนึ่งจะประจุอะไรไว้ในนั้น เห็นจะมีรอยหมุดฝังนอกจากแห่งที่ว่านั้นอีก แต่จำไม่ได้ เราใช้บูชาในการพิธีขอฝนหรือพืชมงคลอะไรก็จำไม่ได้แม่น อันเปนพิธีที่ต้องการน้ำ ในว่าเปนพระมาแต่เมืองมอญ แต่ท่านพรรณนาอาการพระอุปคุตต่างกันไปกับที่เข้าใจนี้ ก็เปนอันว่าคิดคาดผิด
พิธีเหยียบดิน เห็นจะเปนพวกเดียวกับ พิธีลงท่า ซึ่งเลิกกันมาเสียนานแล้ว พิธีลงท่าได้ทำอยู่บ้าง แต่พิธีเหยียบดินนั้นเลิกขาดทีเดียว
ขอบใจท่านเมื่อได้ทราบแน่อีกครั้งหนึ่ง ว่าท่านส่งหนังสือเรื่องขุนช้างขุนแผน กับเรื่องภูมิฐานกรุงศรีอยุธยา ไปให้ด้วยความเมตตา
ตามที่ท่านได้ส่งร่างหนังสือซึ่งท่านเรียบเรียงเรื่องทำศพไปให้ดู ฉันจะสารภาพว่าตั้งใจแต่ที่จะเรียนข้อที่ยังไม่รู้ให้รู้ กับข้อที่เห็นเคลื่อนคลาศก็ทัก หาได้คิดที่จะปฏิสังขรณ์ให้หนังสือเรื่องนั้นมีความกว้างขวางออกไปอีกไม่ มาถึงบัดนี้จึ่งมานึกได้ ว่าฉันมีความปรารถนามานานแล้วที่อยากให้มีใครแต่งหนังสือเรื่องการทำศพตามประเพณีในพื้นเมืองแห่งตนทางข้างไทย ตามที่ท่านแต่งขึ้นนั้นก็เปนอันได้สมปรารถนาส่วนหนึ่ง แต่เปนไปในทางต่างประเทศเสียมาก เพราะท่านเก็บมากล่าวตามที่ท่านได้อ่านพบ ส่วนทางข้างไทยท่านก็กล่าวแต่เท่าที่ท่านรู้ ย่อมไม่กว้างขวางพอ แต่ฉันจะบอกอะไรแก่ท่านให้ละเอียดไปในประเพณีของพวกใดพวกหนึ่งก็ข้ดข้อง ด้วยไม่ทราบพอเหมือนกัน จึ่งได้แต่จะบอกหัวข้อให้ท่านพยายามไต่สวนดั่งต่อไปนี้
ได้ยินมาว่าประเพณีทางเชียงใหม่ ถ้าเปนศพไพร่ เขาเอาศพตัวเปล่าวาง บนกองฟืนอันสุมกันอยู่จนสูง แล้วจุดไฟเผา ว่าไม่มีกลิ่นเลยเพราะไฟแรงมาก ทางหนองคายก็เห็นจะทำอย่างเดียวกัน ด้วยมีข้าราชการเมืองนั้นเข้ามาเยี่ยมกรุงเทพฯ แล้วไปช่วยงานเผาศพ เมื่อกลับไปที่พักก็บ่นว่า ไทยปิ้งผี ไม่ใช่เผาผี เหม็นจะตาย ทางอินเดียมีผู้ไปเห็นการจัดเตรียมเผาศพว่าเอาฟืนกองจนสูงเหมือนกัน แล้วซ้ำเอาฟืนกองทับศพเสียด้วย เห็นศพไม่ได้นอกจากท้าว ถ้าฝ่าท้าวศพทาแดงแล้ว ก็รู้ได้ว่าเปนศพผู้หญิง ทางเชียงใหม่ถ้าเปนผู้ดีมีเงินมากพอ เขามีตะเฆ่ตัวหนึ่ง จัดฟืนกองบนตะเฆ่แต่งหุ้มกองฟืนเปนอะไรงาม ๆ ไม่ให้เห็นฟืน และบนกองฟืนนั้นผูกเปนรูปนกหัสดีลึงค์ (ตรงกับที่เราเรียกว่านกหัสดิน ทำไมจึ่งได้ทำเปนรูปนกชะนิดนั้นก็ไม่ทราบ) บนหลังนกทำเปนเรือน ควรจะเรียกว่าวอ เหมือนบุษบกอะไรอย่างหนึ่ง ในนั้นตั้งศพบนหลังคาเรือน แต่งดอกไม้ไฟล่ามชะนวนลงมาถึงกองฟืนฐานนก ในลิลิตเรื่องพระลอก็มีกล่าวถึง แต่ไม่ได้กล่าวละเอียดว่าทำเปนอย่างไร สันนิษฐานว่าจะเปนอย่างเดียวกัน เรียกว่า พนมศพ เมื่อแต่งเสร็จแล้วก็ชักตะเฆ่เข้าเมรุ ซึ่งปลูกไว้ในทุ่ง คำว่า ทุ่งเมรุ ก็เห็นจะเกิดแต่ แบบนี้ และคำว่าชักศพ ก็เห็นจะเกิดแต่แบบนี้ ที่พวกญาตช่วยกันชักตะเฆ่เข้าไปเข้าเมรุ แต่ศพใหญ่ที่ทำกันอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ มีญาต ๒ คน โปรยข้าวตอกคนหนึ่ง ถือผ้าโยงคนหนึ่งเรียกว่า โยงโปรย เห็นจะแต่งให้ไปเข้ากระบวนแห่ชักโยงแทนตัวญาตทั้งหลาย ในหนังสือฝรั่ง เดอปินโต กล่าวถึงพระบรมศพสมเด็จพระชัยราชาก็มี อ่านนานแล้ว จำได้ว่านั่นเปนชักทางเรือ กล่าวว่า แต่งเรือเปนรูปคางคก (ไม่เข้าทางไทย) มีกุมารนั่งหัวเรือสมจะเปนโยงโปรย ชักไปเข้าเมรุในทุ่งเหมือนกัน พระบรมศพสมเด็จพระชัยราชานั้น ดูเปนทีว่าใส่หีบจึ่งเปนเหตุให้สงสัยขึ้น ว่าการแต่งศพนั่งใส่โกศนั้น มาจากไหนแต่เมื่อไร ได้เคยเห็นรูปพนมศพ พระสมภารเมืองพะม่า นั่นทำเปนรูปช้างไม่เปนนก และตั้งอยู่ในทุ่งเปล่าๆ ไม่มีเมรุ ทางเกาะบาหลีประเทศชวา เห็นรูปทำที่ใส่ศพ เป็นเรือนบนหัวนาคก็มี เปนเรือนเปล่าๆก็มี แต่ไม่ได้ตั้งบนตะเฆ่ใช้คนหาม ศพนั้นห่อผ้า ไม่ได้ใส่หีบใส่โกศอะไรหมด ในการเผาศพนั้น ทราบว่าทางมอญใช้จุดดอกไม้ไฟ ชนิดที่เราเรียกว่า ลูกหนู ให้ไต่สะพานอันขึงด้วยสายเชือกเข้าไปสู่พนมศพ แต่ทางเชียงใหม่ใช้ดอกไม้ไฟประกอบด้วยล้อ เมื่อจุดดอกไม้ไฟก็แล่นเข้าไปสู่พนมศพเหมือนกัน แล้วไฟที่ดอกไม้ก็คิดชะนวนที่ฐานรูปสัตว ฝักแคแล่นขึ้นไปติดดอกไม้ไฟอันแต่งไว้บนหลังคาวอ แล้วทั้งหมดนั้นก็ไหม้ไฟตลอดสิ้นทั้งเมรุด้วย การที่ทรงจุคฝักแค พระราชทานเพลิงศพของเรา ก็ไปเข้ารูปจุดลูกหนูนั้นเอง แต่เรามาถือกันเปนยศ ศพที่เสด็จเข้าเมรุได้ ไม่มีการทรงจุดฝักแค ต่อศพซึ่งไม่ควรเสด็จเข้าเมรุจึ่งทรงจุดฝักแค แต่ทางเขมรไม่เปนเช่นนั้น พระศพพระเจ้าศรีสวัสดิทีเดียวได้ทำเปนสองตอน ตอนแรกเสด็จเข้าทอดหรือจุดเทียนทรงขมาพระศพก็มีความไม่ชัด แล้วจุดฝักแคทีหลังเปนการถวายพระเพลิง สมเปนได้แก่จุดลูกหนูขึ้นอีกเปลาะหนึ่ง ทางเขมรนั้นเขาจัดทำที่ถวายพระเพลิงบนชั้นเบญจาที่ตั้งพระศพนั้นเอง แต่ชักชั้นออกเสีย ลดให้เตี้ยลง ใช้คำว่า บันถอย ฟังก็เข้าใจ แต่ประเพณีต่าง ๆ นั้นสังเกตยาก ย่อมเปลี่ยนแปลงไปเสมอด้วยเอาอย่างกัน ศพเจ้านายในเชียงใหม่ชั้นหลังนี้ เห็นรูปทำเปนรถรับศพไปสู่เมรุเสียแล้ว เข้าใจว่าเอาอย่างมาจากกรุงเทพ ฯ รูปสัตวหิมพานซึ่งใส่ผ้าไตรเข้ากระบวนแห่ไปสู่เมรุนั้น ก็เข้าใจว่าย่นย่อมาจากทำพนมศพ เปนรูปสัตวอย่างเก่านั้นเอง
ทางเมืองอุบล ฟังดูแต่ก่อนก็ดูเหมือนจะทำคล้ายทางพายัพ แต่ในสมัยนี้ เปนทำแต่เรือนใส่ศพบนตะเฆ่ชักไปเข้าเมรุ ตั้งในเมรุทั้งเรือนนั้น มีชื่อเรียกว่าอะไรก็ลืมเสียแล้ว ท่านอาจซักเอาได้ที่นายสุด แต่การเผาเขาก่อเตาอิฐกระเดียดไปทางประเพณีพะม่าซึ่งเขาขุดหลุมบรรจุฟืนเผา แต่เขาไม่ได้เผาเรือนและเมรุด้วย เรือนนั้นว่ารื้อเอาไปถวายวัด จะเปนแบบใหม่ก็เปนได้ ข้อสำคัญว่ามีพระสวดพระอภิธรรม ทั้งสำหรับติดไปบนตะเฆ่ที่ชักศพด้วย จะเปนร้านเดียวหรือสองร้านก็ไม่ได้ใส่ใจจำ แต่เห็นได้ว่าการที่เราเอาพระองค์หนึ่งอ่านพระอภิธรรมแห่นำศพไปนั้น เข้าทางที่เอาพระสวดไปตั้งร้าน เปนการย่นย่อลง
อีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อว่า ร้านม้า เปนที่ทำขึ้นใช้เผาศพของเราเหมือนกัน แต่รูปร่างเปนอย่างไรไม่เคยเห็นสักที ติดจะเปนของเก่าเกินสมัยมาแล้ว ท่านควรจะสืบเอามาพรรณนาไว้เสีย ต่อไปจะไม่มีใครรู้ว่าเปนอย่างไรกันเปนแน่