๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๙ เดือนนี้ ทรงพระเมตตาตรัสด้วยเรื่องจิ้มก้อง เรื่องภาษีอากร และเรื่องอื่น ๆ ประทานมายังข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

คำ ก้อง ข้าพระพุทธเจ้าสอบพจนานุกรมภาษาจีน อังกฤษ หลายฉะบับ แปลความไปในทำนองเดียวกันหมดว่า to offer to a leige lord things for service; contributions from fiefs to their proper rulers; taxes in kind levied in early days; presents from nations given in homage; to present as a tribute to a superior, to bestow, to offer, to present ตามคำอธิบายนี้ ก้อง ในภาษาจีน เป็นคำที่มีใช้มาแต่โบราณสมัยเลียดก๊กราว ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว มีหลักฐานอยู่ในคัมภีร์ซู้เกง ได้แก่สิ่งของซึ่งเมืองประเทศราชนำมาบรรณาการผู้เป็นนายคุ้มครองตน แทนการเกณฑ์กำลังมาใช้งานหรือช่วยเหลือผู้เป็นนาย เมื่อรวมความ ก้อง ก็เท่ากับส่วยในความหมายข้างไทย ที่แปลว่า กำนัล จะเป็นความหมายที่เลือนมาเสียแล้ว

คำว่า ภาษี ที่ทรงสันนิษฐานว่า จะหมายความว่าใหญ่ ว่ามาก ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยกับกระแสพระดำริ เพราะในพระบรมราชาธิบาย ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เรื่องเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครอง ว่าภาษีคือ เป็นอากรที่เกินที่เรียกมาแต่ก่อน เป็นของเกิดขึ้นใหม่เหมือนหนึ่งเป็นกำไร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะให้เห็นว่า เงินเก่าเท่าใด เกิดขึ้นในรัชชกาลของท่านเท่าใด ในภาษามลายูมีคำว่า basi แปลว่าเงินที่ตั้งไว้ให้เกินหรือสูงกว่าที่กะไว้ เพื่อเผื่อเหลือเผื่อขาด an allowance over or above the calculated amount; a small extra allowance to allow for contingencies or to keep on the safe side in matters of expenditure คำในภาษามลายูคำนี้ ที่แปลร่วมกันหลายฉะบับว่า ขุ่น ก็มี อาจเป็นคำของมลายูโดยแท้ ส่วนที่แปลว่า เงินจำนวนเกิน มีแปลไว้ในพจนานุกรม มลายู-อังกฤษ ของวิลกินสันเล่มเดียว จึงน่าจะเป็นคำมาจากภาษาอื่นอีกต่อหนึ่ง และอาจมาจากภาษาอาหรับก็ได้ เพราะคำที่เกี่ยวกับการปกครองและภาษีอากร ในภาษาอินเดียและมลายูมักยืมเอาคำอาหรับมาใช้ เช่น อาสิน ในภาษามลายูว่า hasil แปลว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากที่ดิน ก็เป็นภาษาอาหรับ นายแลงกาต์รับจะค้นหาคำว่าภาษีในภาษาอาหรับให้ข้าพระพุทธเจ้า

เรื่องคำ ชา พระยาอุปกิตค้นในภาษาเขมร พบแปลว่าเป็น ว่าดี ชา ที่แปลว่าเป็น น่าจะเป็นบาลี ส่วนชาที่แปลว่าดี ให้ตัวอย่างว่า นักชา คือคนดี ถ้าเช่นนั้น เด็กชา ก็น่าจะเป็นเด็กดี

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายเรื่อง ใบหนาด และเรื่องขมิ้น ซึ่งพระยาวินิจวนาดรจดมาให้ข้าพระพุทธเจ้า และเรื่องตำนานศุลกากร ตอน ๑ ถึง ๓ มาในซองนี้ การจะควรสถานไรแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

----------------------------

หนาด

หนาดใหญ่ พิมเสน (ไทย) หนาดหลวง

กำพอง (พายัพ) จะบอ (ไทยปัตตานี)

ตั้วโฮงเซ้า (จีนกรุงเทพ ฯ)

(Blumea balsamifera)

หนาด เป็นพันธุ์ไม้ของถิ่นหิมพานต์ตอนนีปอล แลตอนติดต่อลงมาทางอัสสัมพม่า แหลมอินโดจีน (รวมทั้งประเทศไทย) ชะวา แลฟิลิปปินส์

ทุกส่วนของหนาดมีกลิ่นการบูร ใบใช้ทำยาแก้ไข้ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ โรคเหน็บชา ยาขับเหื่อ และใช้ภายนอกสำหรับเป็นยาห้ามเลือด แก้ปวดศีร์ษะ ม้ามบวม โรคขัดข้อ ฯลฯ ในประเทศไทยใช้ใบหนาดเป็นยาสูบ แก้ริดสีดวงจมูก ใบหนาดใช้กลั่นการบูรได้ ซึ่งเรียกในวงการค้าว่า Ngai Camphor และพวกจีนถือกันว่า การบูรชะนิดนี้ดีกว่าการบูรญี่ปุ่นมากในการใช้ทำยา

เรื่องที่ว่าผีกลัวต้นหนาด และเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เท่าที่ทราบ หามีปรากฏกล่าวไว้ในตำราต่างประเทศเลย คงมีกล่าวแต่เพียงว่าในประเทศฟิลิปปินส์ถือกันว่า ถ้านำใบหนาดไปกับตัว จะทำให้ปลอดภอันตรายต่าง ๆ ได้อย่างศักดิ์สิทธิ์ แลในมลายูก็ถือกันว่าป้องกันตัวได้ในเมื่อออกทำการล่าช้างป่า

เหตุที่ผีไม่เข้าดงหนาดอย่างที่นิยายว่า ถ้าจะเดากันเล่นสนุก ๆ ก็ว่าได้ว่า คงเป็นเพราะกลิ่นการบูรของต้นหนาดนั่นเอง สัตว์แมลงต่างๆ เกลียดกลิ่นการบูรเช่นเดียวกัน

ขมิ้น

ขมิ้น (ไทย) เข้ามิ่น (พายัพ)

(Curcuma longa)

เชื่อกันว่า ขมิ้น เป็นพันธุ์ไม้ของทวีปอาเซียภาคตะวันออกเฉียงใต้ และชั้นในภูมิประเทศที่มีอากาศร้อนชื้น แต่ไม่เป็นที่ทราบได้ว่า มีเกิดขึ้นเองในประเทศใดบ้าง คงมีแต่ที่ปลูกกันขึ้น บางทีอาจเป็นพันธุ์ไม้ที่อุบัติขึ้นในไร่สวนก็เป็นได้

ในประเทศอินเดีย มีขมิ้นปลูกกันมากกว่าประเทศใดๆ แลประเทศอินเดียปลูกแลรู้จักใช้ขมิ้นกันมากกว่า ๑๐๐๐ ปี แต่ขมิ้นพันธุ์ดีที่สุด ถือกันว่าเป็นพันธุ์ที่เอาเข้าไปในประเทศอินเดีย จากประเทศจีนหรือโคชินไชนา ในประเทศจีนได้มีความสนใจในเรื่องพันธุ์ขมิ้นกันขึ้นมาก ในแผ่นดินถังซึ่งก็อยู่ในยุค ๑๐๐๐ ปีเศษ เหมือนกัน ขมิ้นมิใช่เป็นพันธุ์ไม้ของประเทศจีน แม้ขมิ้นจะขึ้นได้ดีในลุ่มน้ำยูนนานแลเสฉวน แลปลูกกันทั่วไปในประเทศจีนภาคใต้

Hammerstein กล่าวไว้ว่า ขมิ้นเริ่มเข้าไปในอาฟริกาภาคตะวันออกในศตวรรษที่ ๘ แห่งคฤศศักราช แลเข้าไปในอาฟริกาภาคตะวันตก ในศตวรรษที่ ๑๓ และฉะเพาะอาฟริกาภาคตะวันตก Dalzeil กล่าวไว้ว่า ชาวอาหรับเป็นผู้แรกนำเอาเข้าไป และที่นั้นใช้ขมิ้นฉะเพาะแต่เป็นสีย้อมเท่านั้น

ชาวจีนใช้ขมิ้นเป็นสีย้อมผ้า เครื่องปรุงอาหารให้ชูรส แลใช้เป็นเครื่องยา ในประเทศอินเดียแลประเทศใกล้เคียงก็ใช้ขมิ้น เพื่อประโยชน์เช่นเดียวกัน ในประเทศอินเดีย การใช้ขมิ้นเป็นสีแต้มทาในพิธีกรรมต่างๆ ได้แพร่หลายมาก แลขมิ้นเป็นสิ่งหนึ่งที่ประกอบเครื่องสังเวยเทวดา แลผู้ที่ควรสักการะบูชา เจ้าสาวชาวฮินดูแลชาวมลายูใช้ขมิ้นทาตัว ในเมื่อหาหญ้าฝรั่นไม่ได้ ชาวฮินดูใช้ขมิ้นเป็นเครื่องเจิมหรือทาในพิธีวิวาห์มงคล ในบางส่วนของอินเดีย หญิงฮินดูที่มีสามีแล้ว ใช้น้ำขมิ้นลูบไล้แก้มเมื่อเสร็จงานประจำวันแล้ว ในประเทศชะวา ขมิ้นใช้เป็นเครื่องสำอาง เด็กๆ ที่จะเข้าพิธีสุหนัดทาตัวด้วยขมิ้น เจ้าภาพแห่งการเลี้ยงแขกก็มักทาตัวด้วยขมิ้น ผู้หญิงชาวมลายูบางแห่งอาบน้ำขมิ้น บางแห่งใช้หัวขมิ้นร้อยเป็นพวงห้อยคอเด็กที่เกิดใหม่เป็นเครื่องกันภัย ในนิยายมลายูกล่าวว่า ขมิ้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ป้องกันภัยจากจรเข้ เพราะว่าจรเข้สำนึกได้ว่า ครั้งหนึ่งมันเคยมีตาซึ่งประดิษฐ์ขึ้นด้วยขมิ้น เรื่องจรเข้กล้วขมิ้นนี้ ดูเหมือนก็มีในนิยายของชาวไทยเหมือนกัน ขมิ้นยังมีที่ใช้อีกหลายอย่าง ทั้งในทางป้องกันภัย แลในทางทาบำบัดโรค และโดยที่ใช้เป็นยาทาเช่นนี้ จึงไม่เป็นการยากที่การใช้ขมิ้น กลายมาเป็นการใช้เป็นเครื่องสำอาง

ในประเทศไทยทั่วไปในกาลก่อนแลตามชนบทในเวลานั้ นอกจากเป็นสีย้อมผ้าแลเครื่องยาแล้ว ขมิ้นใช้ทาตัวทำนองเป็นเครื่องสำอางอยู่เหมือนกันในบรรดาผู้หญิงแลเด็ก ๆ

ขมิ้นจะเข้ามาเมืองไทยเมื่อใด และใครเป็นผู้แรกนำเอาเข้ามานั้นไม่ทราบ แต่เดาเอาว่า คงเข้ามาแต่ครั้งชาวฮินดูเข้ามาแพร่อิทธิพลในทางวัฒนธรรมในเมืองไทย

ชื่อขมิ้น ของประเทศอื่นไม่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับชื่อไทยเลย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ