- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๒
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๐ และวันที่ ๒๒ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
ข้าวย้อมสี ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในหนังสือต่าง ๆ ที่ว่าด้วยอินเดีย ก็ไม่พบเรื่องที่กล่าวถึงข้าวย้อมสี พอดีสวามีสัตยานันทบุรีมาหา ข้าพระพุทธเจ้าจึงซักถาม สวามีชี้แจงว่าประเพณีอินเดียถือว่า เด็กคลอดได้ ๖ วันต้องทำพิธีบูชาเทวดาผู้หญิงซึ่งประจำตัวเด็ก เรียกว่า ษัษฐี โดยเอาข้าวสุกบดเป็นแป้งปั้นเป็น ๔ ก้อน เป็นสีขาวก้อน ๑ คลุกกับขมิ้นเป็นสีเหลืองก้อน ๑ คลุกกับปูนแดงเป็นสีแดงก้อน ๑ คลุกกับเท่าแกลบเป็นสีดำก้อน ๑ ข้าว ๔ ปั้นนี้วางในภาชน์บูชา ระหว่างบูชา มีการเล่านิยายเกี่ยวกับเรื่องของษัษรี แล้วกล่าววาจาเรียกให้เด็กนั้นกินข้าว ข้าวนั้นหมายความถึงข้าวปั้นที่ถวายษัษฐี ตอนนี้ข้าพระพุทธเจ้าลืมซักไปว่าข้าว ๔ ปั้นนั้นทำอย่างไรต่อไป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคงขว้างทิ้ง เพราะในการพลี ในมนูศาสตร์กล่าวไว้ ๒ แห่งว่า เมื่อพลีบูชาแล้วให้ขว้างอาหารพลีไปทุกทิศ เริ่มแต่ทิศตะวันออก ใต้ ตะวันตกและเหนือ (เวียนขวา) เป็นการบูชาพระอินทรพระยมพระวรุณและพระโสม กับรวมทั้งบริวารเทพเหล่านี้ อีกแห่งหนึ่งว่า ให้ขว้างพลีขึ้นไปในอากาศบูชาเทวดาและภูตดังนี้ เหตุไรข้าว ๓ ปั้นนั้นจึงต้องย้อมสี สวามีไม่ทราบ ตามที่สวามีอธิบายนี้ ษัษฐีกับแม่ซื้อก็มีลักษณะคล้ายกัน ที่เล่านิยายเรื่องษัษฐีและเรียกเด็กให้กินข้าวก็ใกล้กับเรื่องทำขวัญ เรื่องษัษฐีข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านพบในหนังสือฝรั่ง ว่าเด็กที่เกิดได้ ๖ วัน มักตายด้วยโรคลอกยอว์ (โรคคางแขง กล้ามเนื้อกระตุก ลักษณะคล้ายอาการของโรคหละของเด็กแดงๆ) เพราะการรักษาป้องกันมาแต่แรกไม่ดี ชาวอินเดียกลัวมากในระยะ ๖ วันนี้ ถือว่าษัษฐีเป็นผู้มาทำเด็กให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือแปลงเป็นแมว ไก่หรือสุนัข เข้ามากินหัวใจและกะโหลกเด็ก ต้องอยู่ยามตามไฟกันตลอดคืน ระวังไม่ให้แมวหรือสัตว์อื่นๆ เข้ามา แมวนั้นเป็นพาหนะของษัษฐี ในคัมภีร์อายุรเวท ของสุศรุต กล่าวว่าผีรังควาน เรียกรวมว่าครหะ มีอยู่ ๙ ตน เป็นชาย ๔ หญิง ๕ ผีผู้หญิงเรียกว่า ปูตนา อีกคัมภีร์หนึ่งผู้แต่งชื่อจักรทัตด ว่าผีรังควานมี ๑๒ ตน เรียกชื่อว่า มาตฤกา ประจำวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๒ ของเดือนหรือปี อาจมาทำให้เด็กเป็นโรคได้ แต่เรื่องข้าวย้อมสีไม่ได้กล่าวถึง
เรื่องข้าวย้อมสี ข้าพระพุทธเจ้าพบในหนังสือเรื่องของอินเดียอยู่หลายแห่ง ส่วนมากเป็นย้อมขมิ้นหรือหญ้าฝรั่น แต่ไม่อธิบายเหตุผลที่ย้อม ข้าวคลุกกับโลหิตก็มี แต่เป็นเรื่องบูชายัญ ส่วนย้อมสีดำไม่เคยพบ ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งว่า คติของอินเดีย ถือว่า สีเหลือง แดง และดำ ผีเกลียด ถ้ายิ่งเป็นสีแดง ใช้ขับผีได้ดี ส่วนเขียวเป็นสีสวรรค์ หมายถึงฟ้า เป็นสีป้องกันภัย ประเพณีญวน เมื่อเด็กอายุได้เดือนหนึ่ง มีการโกนผมไฟ ต้องนึ่งข้าวเหนียว แล้วปั้นเป็น ๓ ก้อน ข้าวก้อน ๑ ย้อมสีแดงก้อน ๑ เหลืองก้อน ๑ และมีถั่วเขียวต้มน้ำตาลถ้วยหนึ่ง สำหรับเซ่น บ้าหมู่ หรือผีเกี่ยวข้องกับเด็ก (บ้า แปลว่ายาย แต่ หมู่ แปลไม่ได้) คำว่า หมอตำแย ในภาษาญวนก็เรียกว่า บ้าหมู่ เหมือนกัน ถ้าจะเทียบ หมอตำแย ในตอนที่ร่อนเด็ก สมมตว่าเป็นแม่ซื้อ กับ บ้าหมู่ ของญวนที่เป็นทั้งหมอตำแยและผีเกี่ยวข้องกับเด็ก ก็ใกล้กันมาก ขนมบูชาของธิเบตก็ใช้ย้อมสีต่าง ๆ แต่ไม่ได้ให้เทตุผลที่ย้อม ดังนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงสงสัยว่า ข้าวย้อมสี คงจะไม่มีเหตุผลอะไร ยิ่งไปกว่าให้มีสีสันดูงามเท่านั้น ถ้าจะมีเหตุผลอย่างอื่นอีก ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่คิดขึ้นประกอบในทีหลัง
วิธีขว้างข้าวแม่ซื้อ ขว้างข้ามหลังคาเรือน ๓ ก้อน อีกก้อนหนึ่งที่เป็นสีดำ ขว้างลงไปใต้ถุน เห็นจะขว้างให้แม่ซื้อใต้ที่นอน ส่วน ๓ ก้อนแรก เห็นจะขว้างให้แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเมืองล่าง และ แม่ซื้อเดินหน เพราะขณะเอาข้าวไปวนที่ตัวเด็ก ก็กล่าวชื่อแม่ซื้อทั้ง ๔ นี้
เรื่องบัตร์ และ บายศรี ที่ทรงพระเมตตาประทานมา กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจเรื่องได้ตลอด เป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าล้นเกล้า ฯ ความขัดข้องในเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้ามีมาแต่เดิมในเรื่องเหล่านี้ก็หมดไป นับว่าข้าพระพุทธเจ้าได้รับความรู้อันมีค่ามากที่สุด เพราะเป็นแสงสว่างให้คิดค้นเรื่องต่อไปได้สดวก
เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ ข้าพระพุทธเจ้าได้หนังสืออภิธานภาษาลาวพวน ซึ่งกระทรวงธรรมการรวบรวมตีพิมพ์มาเล่ม ๑ ในนั้นมีคำว่า กรรม แปลว่า ถือมั่น หญิงอยู่กรรม แปลว่าหญิงอยู่ไฟ ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยคำนี้ ได้สอบถามพระยาวิจิตร์ธรรมปริวัตร์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจหนังสือเรื่องนี้ว่า เขาเขียนเป็น กำ หรือ กรรม ก็ไม่ได้ความ ที่ข้าพระพุทธเจ้าถาม เพราะประเพณีชาติต่าง ๆ มีเรื่องห้ามซึ่งเกี่ยวกับการคลอดบุตรอยู่มากชาติ เช่น ห้ามไม่ให้ใครเข้าไปในที่อยู่ เป็นต้น ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า ตาบู อันเป็นคำของชาวออสเตรเลีย หมายความถึงการห้ามที่เกี่ยวกับเรื่องหาเหตุผลไม่ได้ นอกจากเป็นการห้ามซึ่งเกี่ยวกับการถือ เช่น ถือว่าศีรษะเป็นของสูง ห้ามจับห้ามถูก ก็เรียกว่าศีรษะ เป็น ตาบู ถ้าดูคำแปลของกรรมในภาษาลาวพวนที่ให้ไว้ว่าถือมั่น ความก็ได้กัน มาเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าอ่านกฎมณเฑียรบาล พบข้อความตอนหนึ่งว่า เมื่อสมเด็จพระอรรคมเหษีทรงครรภ์....มหาเทพ มหามนตรี ตั้งรักษากำ ดังนี้ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกถึง กรรม ในภาษาลาวพวนขึ้นมาอีก สอบถามนายสุด ชี้แจงว่าภาคอีศาน หญิงอยู่ไฟก็เรียกว่าอยู่กรรม แต่เขาเขียนว่า กำ สอบภาคพายัพก็ได้ความเช่นเดียวกัน ในภาษาไทยคำที่มีคำว่า KAM แปลไว้ว่า ตาบู ความก็ได้กัน สอบไทยนุงในความว่า ตาบู ใช้ว่า เกียม และให้ตัวหนังสือจีนไว้ด้วย ซึ่งอ่านในเสียงกวางตุ้งว่า ข่ำ และอ่านว่า กัน ก็ได้ แต้จิ๋วเป็นกิม หรือ กิน แปลว่า ห้าม ระวัง ป้องกัน ความก็ตรงกับห้าม และกัน (ข่ำ เสียง ข เกิดด้วย ก ห ถ้าเน้นเสียง ห หนัก เสียง ก ก็หายไป เหลือแต่เสียง ห เช่น ไปเถอะ เป็น ไปเหอะ) ในกฎมณเฑียรบาล มาตรานี้ตอนสุดท้ายมีคำว่า ทำงานยอดศรีได้แหวนเนาวรัตน์ ๙ ดวง ยอดศรี ในที่นี้ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าหมายถึงบายศรีหรือเป็นอะไร
เรื่อง ๑๒ พระกำนัล ก่อนที่ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบทูลถามไป ได้สอบค้นหลักฐานทางหนังสือต่าง ๆ มาแล้วก็ไม่พบ เจ้าหน้าที่ในหอคนหนึ่งว่าเคยเห็นมีกล่าวไว้ในหนังสือเรื่องหนึ่ง แต่ก็หาไม่พบ มาเมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่คนนั้น จึงนำข้อความที่กล่าวถึง ๑๒ พระกำนัล ในหนังสือกาพย์ขับไม้เรื่องพระรถ มาให้ข้าพระพุทธเจ้าดู ดังสำเนาซึ่งได้คัดถวายมาพร้อมกับหนังสือนี้ฉะบับ ๑ ข้อความที่กล่าวไว้ดูเป็นเรื่องจำแนกหน้าที่นางพระกำนัล ตามที่อาจมีหน้าที่ต้องกระทำ เป็นหลักฐานที่พบแห่งเดียวเท่านั้น อาจเป็นความคิดที่เกิดจากกวีพรรณนาก็ได้ หาใช่เป็นหลักฐานทางแบบแผนไม่
เรื่องสัตว์และต้นไม้ประจำตัวเทวดาและมนุษย์ทางคติอินเดีย ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นอยู่
เรื่องโรยแป้งภัทรบิฐ ข้าพระพุทธเจ้าพบเรื่องโรยแป้งเป็นรูปต่างๆ ของประเพณีอินเดียภาคใต้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเรื่องโรยแป้งภัทรบิฐ คือกล่าวว่า ประเพณีอินเดียจะต้องทำความสอาดเคหสถาน เพื่อขจัดมลทินอย่างน้อยเดือนละ ๒ ครั้ง ชั้นแรกให้เอามูลโคละลายน้ำลาดพื้นให้ทั่ว เช็ดแห้งแล้วให้เอาแป้งข้าวเจ้ามาโรยเป็นรูปต่าง ๆ เรียกว่า โกลัม เพื่อเป็นสวัสดิมงคล อีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า ในหมู่บ้านของชาวฮินดู หรือในเมืองตอนที่ชาวฮินดูอาศัยอยู่ เวลาเช้าตรู่ทุกเช้า จะมีพวกหญิงสาวแต่งตัวงาม ๆ มาโรยผงสีขาวเป็นรูปต่าง ๆ เรียกในภาษาทมิฬว่า โกลัม ลงบนพื้นตอนหน้าบ้านทุกๆ บ้าน และตามถนน ใช่แต่เท่านั้น ภายในเรือนในห้อง ก็ทำเช่นเดียวกัน ประเพณีนี้ทำเป็นปรกติ และโรยแป้งเป็นรูปต่างๆ กัน เป็นการป้องกันทฤษโทษ (Evil eye) รูปที่โรยเป็นรถเทียมด้วยม้า ช้าง หรือโค ที่โรยเป็นรูปสระมีบัวก็มีบ้าง ที่เป็นรูปโค ม้า ช้าง และอื่นๆ ก็มี เป็นรูปนกเช่นนกยูง หรือเป็นรูปบ้านเมืองตึกราม บรรได และอื่นๆ ก็มี การโรยนี้ชาวฮินดูครั้งโบราณใช้แป้งข้าวเจ้า ว่าความประสงค์จะเลี้ยงมด มิฉะนั้นมดจะเข้าไปในที่อื่นในเรือน รบกวนทำความรำคาญ [การโรยแป้งจึงเป็นแผ่เมตตาแก่สัตว์ เหตุผลนี้ เกรงด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นของผู้กล่าวเอง ซึ่งเป็นแขกชาวอินเดียภาคใต้ เมื่อหาเหตุผลอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะในเรื่องประเพณีอื่นก็ให้เหตุผลแก้ไปในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ เป็นชะนิดแก้ให้เข้าเหตุผลทางสมัยใหม่ และได้กล่าวต่อไปว่า แต่ก่อนนี้ใช้โรยเป็นรูปต่าง ๆ ด้วยมืออย่างชำนาญ แต่มาบัดนี้เสื่อมลง ต้องใช้เอาสิ่งอื่นมาเจาะให้เป็นลวดลายแล้วโรยลงไปตามช่องที่เจาะ ให้เกิดเป็นรูปลวดลายขึ้น ส่วนแป้งข้าวเจ้าของเดิม ก็เปลี่ยนเป็นใช้ปูนขาวไป เพราะไม่รู้ความประสงค์เดิม เรื่องโรยเป็นสีต่าง ๆ อย่างโรยภัทรบิฐ ในที่นี้ไม่กล่าวถึงการโรยนั้น นอกจากทำเป็นกิจวัตร์ ในมณฑลพิธีแต่งงานหรือในสถานที่บูชา ก็ใช้โรยแป้ง โกลัม เวลาเด็กเกิดหรือเด็กหญิงบรรลุวัยเดียงสา ก็มีการโรยที่ตรงประตูและทางที่จะเข้าไปในสถานที่ทำพิธี ตลอดจนในพิธีมงคลอื่น ๆ ส่วนพิธีเกี่ยวกับอวมงคล เช่น พิธีศพหรือพิธีศราทธเปตพลี ไม่ทำพิธีโรยแป้งโกลัม ในสุดท้ายของเรื่องโรย โกลัม ผู้แต่งสรุปความว่า หญิงทุกคนในอินเดียมีหน้าที่อันพึงทำ กล่าวคือ ให้ลุกขึ้นจากที่นอนเมื่อไก่ขัน กิจชั้นแรกที่ต้องทำ คือ กวาดเรือนตอนหน้าประตูทางเข้า แล้วเอาน้ำพรมเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งขึ้นมา และประดับพื้นตอนนั้นด้วยโกลัม คือ ทำเป็นรูปลวดลายศิลปด้วยแป้งข้าวเจ้า เสร็จแล้วเข้าไปในเรือน เอามูลโคใหม่ ๆ ละลายน้ำเช็ดล้างทำความสอาดพื้นห้อง และประดับพื้นด้วยโกลัม เช่นเดียวกัน ปัจจุบันนี้ ผู้ที่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพิธีประเพณีมีน้อยเสียแล้ว เพราะมีสิ่งสมัยใหม่เข้ามาแซกเปลี่ยนแปลงไป ทำไม่ให้เห็นหลักของเดิมว่าที่ทำกันมีความมุ่งหมายอย่างไร และยกตัวอย่างเรื่องภาพยนต์ขึ้นมาเปรียบว่าทำให้นาฏศาสตร์ของเดิมเสื่อมไป
เรื่องโกลัมนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยอ่านมาแต่ก่อนครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้เอาใจใส่ ต่อเมื่อประทานเรื่องโรงแป้งภัทรบิฐมา ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้นึกถึงเรื่องโกลัมขึ้นได้ คิดด้วยเกล้าฯว่าจะเป็นเรื่องมีเค้าอย่างเดียวกัน
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์