๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ประทานพระวิจารณ์เรื่อง พระบาง เป็นที่จับใจข้าพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง

พระวิจารณ์เรื่อง พระร่วง กับ พระบาง และพระอธิบายเรื่องคำว่า หลวง ย้ายความหมายมาเป็น Royal ดีที่สุด เพราะเป็นความรู้ให้ความสว่างแก่ข้าพระพุทธเจ้าสำหรับคิดค้นเรื่องได้ต่อไป ในขณะนี้กรรมการจัดทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ทำถึงจังหวัดสุโขทัย ได้เล่าตำนานหรือพงศาวดารของจังหวัดนี้ โดยให้พระร่วงองค์แรกมีเป็นสององค์ คือ พระร่วงอรุณราชกุมาร และ พระร่วงส่วยน้ำ ตามหลักฐานที่มีอยู่ในพงศาวดารเหนือ ข้าพระพุทธเจ้าไม่สู้จะเชื่อถือเรื่องในพงศาวดารเหนือนัก เพราะมีเรื่องสับสนปนๆกัน เมื่อจับเอาฉะบับตัวเขียนหลายฉะบับมาสอบกันดู ลางฉะบับเรืองก็สับกัน เมื่อเรื่องสับกัน ศักราชที่จดไว้ก็ต้องคลาดเคลื่อน จะเรียงลำดับกันไม่ได้ ทั้งหาหลักฐานทางอื่นมาประกอบแวดล้อมเรื่องก็ไม่ได้ ถ้าพ่อขุนบางคือพระร่วงองค์แรกแน่ พระร่วงอรุณ ซึ่งมีศักราชเหนือขึ้นไป ก็เป็นพระร่วงไม่ได้ นอกจากผู้แต่งพงศาวดารเหนือยืมคำว่า ร่วง ซึ่งเป็นมงคลนามไปถวายให้กษัตริย์องค์อื่น ที่เหนือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นไปก็ได้ ในตำนานต่าง ๆ ตลอดจนหนังสือราชาธิราช ก็มีกล่าวถึงพระร่วงเป็นหลักฐานอยู่ แต่จะเป็นกษัตริย์องค์ไหนบ้าง ข้อความในลางตำนาน เช่นในชินกาลมาลินีก็ออกจะยุ่ง ๆ จับเค้าได้ในลางแห่งว่าหมายเอาพระร่วงพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่ในลางแห่งก็ออกจะเลือนไปเป็นว่าไม่ใช่ ส่วนคำว่า ร่วง ซึ่งแปลว่า รุ่ง เหตุไรจึงหายไปในภาษา คงเหลือเค้าแต่คำว่า ผู้รุ่งฟ้า ใช้เป็นสร้อยพระนามกษัตริย์ในบทกลอนอยู่เท่านั้น พระร่วง เป็นเรื่องชวนให้น่าคิดนึก แต่ข้าพระพุทธเจ้าก็คิดนึกไปไม่ได้ตลอด

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ