๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๕ ประทานพระดำรัสในเรื่องคำ มหาด และคำ ชา ที่ทรงอ่านพบ และเรื่องตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านเรื่องวินิจฉัยคำว่า มหาดไทย ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ว่า มหาด มาจากคำสํสกฤต ว่า มหัตร แปลว่ายิ่งใหญ่ หรืออย่างไร ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ เพราะไม่ได้เอาใจใส่ ด้วยยังไม่สู้ลงเนื้อเห็นด้วย ถ้าจะเทียบคำ มหัตร (จะเขียนอย่างนี้หรืออย่างไร ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้และไม่ได้สอบ) กับคำ มหาราช ซึ่งพระสารประเสริฐว่าสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ ทรงวินิจฉัยว่า เพี้ยนมาเป็น มหาด คำ มหาด ดูแนบเนียนดีกว่า มหัตร คำว่า มหาราช แม้จะมีใช้อยู่ดกดื่นในแคว้นลานนา แต่สำเนียงที่เขาออกเสียงไม่เป็น มหาฮาด คงออกเสียงเป็น มหาราช โดยตรง ผิดกับคำ อุปราช ซึ่งออกเสียงเป็น อุปฮาด ถึงแม้ว่า มหาด จะมาจาก มหาราช คำว่า นายมหาด คือ นายมหาราช ก็ยังฟังดูขัดๆ เข้ากันไม่ได้เลย จะพอแปลเข้ากันได้แต่คำ มหาดเล็ก ว่าเป็น เลก หรือ เลข หรือเป็นเด็กของมหาราช แต่ก็ยังตกอยู่ในแนวนึก ยังหาหลักฐานทางอื่นมาประกอบไม่ได้ เป็นอย่างเดียวกับคำ ชา ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในภาษาไทยถิ่นอื่นยังไม่พบ

ที่ทรงสันนิษฐานเรื่องตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ที่สุดข้าพระพุทธเจ้าได้สติจากพระดำรัสว่า หนังสือเรื่องนี้เป็นเครื่องมือของใครคนหนึ่งที่คิดจะแต่งตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ข้าพระพุทธเจ้าเคยรวบรวมเรื่องอย่างนี้มาครั้งหนึ่ง คือเก็บเอาข้อความในหนังสือต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน มารวมไว้ในเล่มเดียว แต่ทำไปไม่ได้ตลอด เพราะหาผู้พิมพ์ยาก บอกว่าไม่สนุก ไม่รู้เรื่อง คำว่า วัดเจ้าพญาไท ทรงอาศัยคำ เจ้า ) เป็นแนวเทียบว่าจะแปลว่าวัดสังฆราช ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถูกต้องที่สุด ข้าพระพุทธเจ้าพยายามค้นหาคำว่า ไท ไท้ ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ ไม่พบ ที่แปลว่า ใหญ่ หรือในความอื่น นอกจากแปลเป็นชื่อชาติเท่านั้น ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเกิดความคิดว่า คำว่า ไท ไท้ และ ชาติไทยอาจจะเป็นคำเดียวกัน ทางอีศานใช้ ไทย ขยายความไปถึงความหมายว่า คน จะเป็นคนภาษาใดชาติใด ก็เรียกไทยได้ แต่มักเรียกวนเวียนในหมู่ชนชาติที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งโดยมากเป็นพวกในตระกูลมอญ-เขมร มีพวกข่า เป็นต้น คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะเป็นเพราะรู้สึกหยิ่งในชาติ เห็นมนุษย์พวกอื่นเลวกว่า อย่างจีนเรียกชาติอื่นว่า ฮวน และ กุ๊ย หรือชาวอินเดียเรียกพวกตนว่า อริยกะ แปลว่าประเสริฐ เรียกพวกอื่นว่า เมลจฺฉ ฝรั่งได้สืบสาวความหมายเดิมในตัวธาตุของคำว่า อริยกะ คงได้ความว่าหมายถึงการเพาะปลูก ภายหลังความหมายจึงได้ย้ายที่มา แปลว่า ประเสริฐ ส่วน ไทย ความหมายเดิมจะแปลว่าอะไร ยากที่จะทราบได้ คำว่า เจ้าไท ที่แปลว่าใหญ่ ก็น่าจะมาจากคำเดียวกับ ไท ซึ่งเป็นชื่อชาติ คำว่า ข้าไท จะแปลว่า ข้าของคนไทย และ เจ้าไท จะแปลว่าเจ้าคนไทย หรืออย่างไรไม่ทราบเกล้าฯ ทางแคว้นลานนา ท้าวไท หมายถึงเจ้านายด้วย แต่ความคงวนเวียนอยู่ในความหมายที่แปลว่า ใหญ่ มีผู้เห็นพ้องกันมากว่า ไท หรือ ไทย จะมาจากหรือเป็นคำเดียวกันกับ ไต้ และ ไท้ หรือ ไถ่ ในภาษาจีน ซึ่งแปลว่า ใหญ่ ใหญ่ยิ่ง ตัวหนังสือจีนเขียนเป็นรูปคนกางมือ ดูก็เข้ากับความหมายในคำว่า ไทย ซึ่งแปลว่า คน น่าจะรับเอาคำจีนคำนี้มาไว้ เพราะมีความหมายไปในทางที่ดี แต่ก็เป็นเรื่องเดาด้วยกันทั้งนั้น เป็นที่น่าเสียดายอยู่หน่อย ที่เมื่อเปลี่ยน สยาม เป็น ไทย ก็น่าจะเอา ย ออกเสีย ให้เหลือแต่ ไท ทั้งคำว่า ท้าวไท ไท้ และ ไท้ ในภาษาจีน ก็มีแนวอยู่แล้ว

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ