๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

ท่านมีหนังสือไปให้ ๒ ฉะบับ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พร้อมทั้งหนังสืออื่นอีก ได้รับแล้ว จะรวมตอบในฉะบับเดียวนี้

ท่านส่งสมุดมหาทิพมนต์ไปให้อ่าน ดีเต็มที ขอบใจท่านเปนอันมาก ขออ่านให้ถ้วนถี่ก่อน แล้วจะส่งคืนมาทีหลัง

ป้าด ในภาษามอญที่สอบได้มา แน่ใจว่าเปนคำเดียวกับ ปัตยา พาทย วาทย นั้นเอง สิ่งใดที่ออกเสียงได้ ก็เปนพาทยได้ทั้งนั้น ขอให้ท่านเข้าใจไว้อีกอย่างหนึ่ง ว่าภาษามอญนอกกับมอญในนี้ไม่เหมือนกัน พวกมอญที่เขาไปเมืองมอญมา เขาว่าพูดเกือบไม่เข้าใจกัน ตามที่ว่านั้นก็เข้าใจได้ เพราะภาษาย่อมเดินเลื่อนไปเสมอ พวกมอญนอกกับมอญในนี้ต่างอยู่ไกลกัน คำจึงผิดกัน ตามพจนานุกรมของหมอฮัลลิเด ที่ว่ากลองหน้าเดียว กลองสองหน้า กลองหนังทั้งตัว เครื่องเป่า เครื่องตีนั้น เปน ปัญจตุริย ข้างอินเดียทีเดียว กลองหนังหน้าเดียวเรียก อาตต กลองหนังสองหน้าเรียก วิตต กลองหนังทั้งตัวเรียก อาตตวิตต เครื่องเป่าเรียก สุสิร เครื่องตีมีต้นว่าฉิ่งฉาบเรียก ฆน กลองหนังทั้งตัวฉันไม่เข้าใจเหมือนกัน เคยนึกคลุมเอาว่าเปนพวกตะโพนสองหน้าหรือเปิงมางอะไรพวกนั้น คำว่า รนาดแก้ว ก็สงสัย มีทั้งคำไทย คำมอญ คิดว่าจะไม่ใช่รนาดกระจก ด้วยแต่ก่อนกระจกหายาก แล้วจะเอากระจกมาทำเปนรนาดก็ทำยาก และถ้ามีอยู่ก็คงจะเหลือมาให้ได้เห็น แต่ไม่เห็นเลย กลัวจะเปนอื่น หากเรียกว่าแก้วเท่านั้น อาจเปนว่าของดีก็ได้

เรื่องแต่งศพนั่ง ท่านค้นได้มาใหม่นั้นสบใจเปนอันมาก ด้วยเปนแบบทางอินเดีย สมนึกที่ว่าเราคงได้ประเพณีทางอินเดียมา แม้เครื่องแต่งศพนั่งของเราก็เปนภาษาอริยกอยู่มาก ย่อมเปนพยานอยู่ได้ดั่งได้เคยบอกแก่ท่านมาแล้ว ทั้งการแต่งศพนั่งก็ถือกันว่าเปนการกระทำอย่างสูง สมกับที่เราถือทำกันอยู่ด้วย ที่ว่าเปนประเพณีใหม่นั้นเปนของแน่ เพราะที่ปรากฏในเมืองเราก็ดูเปนว่ามีขึ้นทีหลัง

อิเหนาเวียนพระศพนั้นเปนเวียนเพื่อเคารพ ต้องเปนเวียนขวา ท่านวินิจฉัยถูกแล้ว แต่การเวียนสามหาบนั้นทำผิดด้วยความหลง ความจริงนั้นจัดของไปทำบุญเพื่อการรวมอังคารซึ่งเผาศพในป่าช้าฝังเสียในที่อันควร เปนการเดินจากบ้านเข้าป่าช้าลัดแลงไปเท่านั้น ท่านจะเห็นได้จากการที่เดินเวียนกันอยู่ บัดนี้มีกู่เรียกด้วย นันหมายความว่ากู่เรียกกันเพื่อไม่ให้หลงกันไป โดยที่ละเมาะพุ่มไม้ในป่าช้าจะบังตาเสีย ครั้นมาทำเมรุเผากันอย่างงดงามในสนาม ไม่มีท่าทีจะเดินลัดแลง จึงจัดเปนให้เดินเวียน เอาเวียนซ้ายขึ้นเปนหลัก แปลว่าเขลา

ตามที่ท่านได้สังเกตการพลี ในพิธีหล่อพระนั้น เปนการสังเกตปลายเหตุอย่างยับย่อย อันทำกันผิด ๆ ถูก ๆ มานานแล้ว กลัวจะไม่มีประโยชน์แก่การรู้ จึ่งจะลองบอกความเดิมโดยที่สังเกตเห็น ประกอบกับคิดเดาเอาด้วยดังต่อไปนี้ อันธรรมดาคนเราย่อมเชื่อผีกลัวผีกันอยู่ทั่วไป เมื่อจะทำอะไร กลัวผีจะมาขัดขวางให้ไม่สำเร็จ จึงจัดการให้กินเสียเปนสินบน เพื่อไม่ให้เข้าขัดขวาง ทางเมืองเรานี่ดีเสียอีก ที่พลีกันแต่งานมีฤกษ์ ส่วนทางชวานั้นแม้แต่ตั้งบ่อนชนไก่ อันไม่ใช่งานฤกษ์ ก็ตั้งสานพลีกันที่ในโรงบ่อน การทำสานนั้นสังเกตได้ว่าทำกันเปนสองอย่าง คือ สานชั่วคราว จะเรียกว่า สานเครื่องสด อย่างหนึ่ง กับสานประจำที่ จะเรียกว่า สานเครื่องแห้ง อีกอย่างหนึ่ง สานเครื่องสดนั้นเปนของทำขึ้นโดยปัจจุบัน ได้อะไรที่อยู่ใกล้มือก็เอามาผูกทำขึ้น เรียกกันว่า สานเพียงตา เห็นจะหมายว่าให้ทำสูงควรเปนที่เคารพเท่านั้น ตามที่โหรหรือช่างเขาทำด้วยไม้จริง ๆ ยกไปตั้ง ก็เปนการทำไว้เพื่อหยิบใช้ง่ายด้วยต้องใช้บ่อยๆ ส่วนสานเครื่องแห้งนั้นเปนสานเจ้า ทำเอาอย่างดี ปลูกไว้ประจำที่ บรรดาสานอย่างใดก็ดี ย่อมทำพื้นเปนสองชั้นลดกันทั้งนั้น เข้าใจว่าพื้นชั้นบนตั้งใจให้เปนที่นั่งที่อยู่ของผี โดยสังเกตเห็นสานเครื่องแห้งเขาไว้เจว็จ จะมีหลังคาเปนรูปใด ๆ หรือเปนปรำหรือปักกลด หรือไม่มีสิ่งกันเบื้องบนอย่างไรเลยก็ได้ ส่วนพื้นชั้นลดนั่นแหละ สำหรับวางเครื่องพลี อันเครื่องพลีนั้นมีอยู่สองประเภท คือ เครื่องบูชาประเภทหนึ่ง มีดอกไม้ธูปเทียนหรือเครื่องหอมอย่างอื่นอีกด้วยก็ได้ กับเครื่องสังเวย คือ ของกิน อีกประเภทหนึ่ง มีหัวหมู บายศรี กล้วย อ้อย มะพร้าว น้ำตาลเปนต้น บายศรีก็คือกระทงของกิน หัวหมูก็คือหมูทั้งตัว ท่านคิดวินิจฉัยถูกแล้ว มาแต่ประเพณีบูชายัญทางอินเดีย แต่เปนธรรมดาที่หลอกผีนั้นง่าย ให้แต่หัวหางกับตีนสี่ซึ่งกินไม่ได้เท่านั้นก็พอแล้ว ส่วนตัวที่กินได้ ตัดเอาไปกินเสีย

นึกขำในใจที่ท่านก็ทราบว่าตารางเผาศพเดิมเปนหกเสา ในการที่มันมีหกเสานั้นแหละ มันฟ้องตัวเองอยู่ว่ามันเคยเปนสองห้อง ยาวรีเหมาะแก่หีบศพ ที่มาร่นปักเปนสี่เหลี่ยมนั้นสำหรับเผาศพโกศ แล้วที่พวกสัปเหร่อจะอวดเก่งว่าศพหีบเผาด้วยตารางสี่เหลี่ยมก็เผาได้ หีบจึงยื่นออกไปเยิ่นเย้ออยู่นอกตาราง ในการที่ตารางเหลี่ยมมีหกเสานั้น เห็นกันว่ามีเสามากเกะกะไป จึ่งแก้กันเสียให้เปนสี่เสา สี่เหลี่ยมหกเสานั้นไม่สมควรจริง แต่จะเปนพยานได้หรือไม่ ว่าศพหีบมีมาก่อน ศพโกศมีมาทีหลัง

ขัดข้องเรื่อง ซ ส ฉันก็เห็นขัน ไม่ใช่ความขัดข้องนั้นจะเพิ่งรู้สึกกันขึ้น รู้สึกกันมานานแล้ว อาจารย์ศรีสุนทร (น้อย) แต่งกลอนสอนเด็กไว้ เรียกชื่อว่าอะไรฉันก็เคลิบเคลิ้มไปเสียแล้ว จำได้แต่คำกลอนว่า หนึ่งซ่มส้มเซื่อเสื้อเหลือจะบอก ซ้ำ ทร อ่านเปนเสียง ซ ก็มีแถมเข้ามาด้วย ทำให้ยากยิ่งขึ้นไปอีก ในเรื่องนี้จะหวังเอาความเห็นฉันเข้าช่วยก็จะช่วยไม่ได้เลย เพราะความเห็นฉันดำเนินไปห่างไกลมาก คือเห็นว่าหนังสือไทยไม่ได้คิดขึ้นสำหรับภาษาไทย ไปเอาหนังสือขอมมาใช้เปนหลัก และหนังสือขอมเล่าก็ไม่ได้คิดขึ้นด้วยภาษาเขมร ไปยืมเอาหนังสือทางพวกอริยกมาใช้อีกต่อหนึ่ง เพราะเหตุดังนั้น หนังสือไทยจึงเขียนภาษาไทยไปไม่ได้ทั่วถึง ต้องเติมอะไรต่ออะไรเข้าอีก ในการเติมนั้นก็เห็นได้ว่า ไม่ใช่เติมด้วยตั้งใจจะให้เปนอักษรสูง กลาง ต่ำ แต่อย่างเดียว เติมเพราะขัดข้องอย่างอื่นก็มี เช่น ตัว ฟ ไม่มี จะเขียน ฟ้า ก็ไม่ได้ จึงต้องเติมตัว ฟ เข้า ส่วนตัว ฝ นั่นแหละเห็นได้แน่ว่าเติมเข้าเพื่อให้เปนอักษรสามหมู่จริง อันอักษรสามหมู่และวรรณยุตนั้น ก็เปนสิ่งประกอบกัน เห็นจะเปนข้อแก้ขัดข้องซึ่งสร้างขึ้นทีหลัง ติดจะคับแคบมาก สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณเคยตรัสว่า เสด็จไปนครศรีธรรมราช ได้ทรงฟังคนพูดเสียงไม่เหมือนชาวบางกอก แต่เมื่อเขาเขียนหนังสือมาถวายแล้วถูกทั้งนั้น ทำให้เกิดสงสัยในพระทัย จึงตรัสถามว่าเขาสังเกตอะไร เขาทูลว่าจำเท่านั้นเอง คำไหนชาวบางกอกเขาเขียนอย่างไรก็เขียนตามไป เปนเหตุให้ทรงพระดำริเห็นว่าที่เราเขียนกันอยู่นั้น เปนเสียงชาวบางกอกเท่านั้นเอง ไม่ใช่เปนภาษาทั่วไปทั้งพระราชอาณาเขตต์ ในเรื่องตัว ซ นั้น ฉันได้เคยเขียนความเห็นมาให้ท่านคราวหนึ่งแล้ว พร้อมทั้งตัว ฮ ด้วย เห็นไม่ได้ตั้งใจจะจัดให้เปนอักษรต่ำ กรรมการจะจัดขึ้นอย่างไรก็ได้โดยใจ ฉันก็คอยอยู่แต่ที่จะทำตามเท่านั้นเอง

ชื่อชะนิดปืนต่าง ๆ เช่น จ่ารงค์มณฑก นกคุ่ม ขานกยาง อะไรเหล่านั้น ฉันได้เอาใจใส่ใคร่จะรู้ ได้สืบสวนถามผู้ที่ควรรู้ก็ไม่รู้ มาท่านได้บอกถึง ปืนบาเหรี่ยม ก่อน แล้วบอกถึง ปืนมณฑก เข้าครั้งนี้อีก เห็นเข้าทีมาก จะถูกหรือไม่ถูกก็จะจำไว้เพื่อสอบสวนต่อไปในภายหน้า ชื่ออะไรที่เปนคำโบราณนั้นมีมาก เช่นพวกช้าง ค่ายคำ พังคา โคด แล่น โจม ทัพ อะไรเหล่านี้เปนต้น ไม่ทราบแน่ว่าอะไรต่ออะไรเกือบสิ้น

พรหมาศตร์ ทราบทางพระบรมราชาธิบายแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเปนมนตร์ของพระพรหม จะเสกอะไรใช้เปนอาวุธก็ได้ เช่นเสกดอกหญ้า ใช้แผลงเปนลูกศรไปก็ได้ แต่นี่เปนลิ้นของพวกพราหมณ์ ที่ว่าศรแผลงไปแล้วกลับเข้าแหล่ง ทั้งอาวุธของชาวออสตราเลีย ที่ว่าพุ่งนกแล้วกลับเข้าแหล่งนั้นก็เคยได้ยิน ที่ว่าพรหมาศตร์ หมายถึงอาวุธเหล่านั้น ก็เปนคำที่คิดปรับเข้าให้นั่นเอง ใครปรับก็ไม่ทราบ ทีจะเปนฝรั่ง

หนังสือเรื่องเกิด ขออ่านให้ตลอดก่อน แล้วจึงจะพูดแก่ท่านทีหลัง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ