- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๘๒
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือฉะบับนี้ ตั้งใจจะบอกท่านให้ทราบถึงอะไรต่าง ๆ ซึ่งฉันได้เคยพูดกับท่านมาแล้วบ้าง ไม่ได้พูดบ้าง แต่ได้พบหลักฐานเข้าใหม่ และได้ทราบมาใหม่ จึ่งจะบอกแก่ท่านเพื่อให้ทราบไว้ดังต่อไปนี้
๑. ตราเทพดาทรงพระนนทิการ (ดวงเก่า) ฉันฟังตามที่คนในกระทรวงวังเขาเรียกกัน แต่ใช้อักขรเอาตามชอบใจ ก่อนที่จะเขียนมาให้ท่าน ฉันได้ตรวจดูกรมศักดิ์ในกฎหมายเพื่อสอบแล้ว แต่หามีชื่ออยู่ในนั้นไม่ บัดนี้ไปพบในลักษณพระธรรมนูญ (กฎหมายเล่ม ๑ ฉะบับหมอบรัดเล ตีพิมพ์ จ.ศ. ๑๒๓๐ หน้า ๕๐) มีชื่อไว้ว่า ตราเทพดาขี่พระนนธิการ มีคำผิดกันแห่งหนึ่ง อักษรผิดกันแห่งหนึ่ง ที่อักษรผิดกันนั้นไม่ต้องวิจารณ เพราะที่เขียน นันธิ ในพจนานุกรมไม่มี ที่คำผิดกันนั้น วิจารณว่า ทีคนชั้นหลังจะเห็นคำ ขี่ เปนหยาบ จึ่งเปลี่ยนเสียเปน ทรง ความก็อันเดียวกัน
๒. ตราบุษบกตามประทีป ทราบมาภายหลังว่า เปนตราประจำตำแหน่ง หรือตราประจำพระองค์ ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส แต่ตราซึ่งท่านประทับไปให้ดูอย่าง จดชื่อว่า บุษบกตามประทีป นั้นเห็นมีแต่รูปตะเกียงอยู่ในบุษบก ไม่มีดวงประทีป ทั้งสังเกตเห็นฝีมือเก่ามาก กลัวจะไม่ใช่ตราบุษบกตามประทีป สำหรับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
๓. ตราเสมาธรรมจักรน้อย ซึ่งท่านประทับตัวอย่างไปให้ดู ดูก็มีลักษณเปนตราเสมาธรรมจักรโดยตรง แต่ไม่เชื่อว่าตรานั้นมีตราน้อย จึ่งเดามาให้ท่านว่า อาจเปนตราปลัดก็ได้กระมัง ภายหลังนึกขึ้นมาได้ว่าประกาศนียบัตรนักเรียน ประทับตราเสมาธรรมจักรทุกฉะบับ ลูกหลานได้กันมาถมไป จึงเรียกเอามาดู เห็นเปนตราทำใหม่อย่างถอดด้ามทีเดียว ทีจะทำขึ้นในรัชชกาลที่ ๖ พระราชทานเปลี่ยนตราพระเพลิงทรงรมาด เมื่อดั่งนั้นก็ตระหนักในใจได้ว่าตราดวงที่ท่านประทับไปให้ดูเปนอย่างนั้น คงจะเปนตราเสมาธรรมจักรดวงเก่า
๔. ตราดวงที่ฉันว่า ฉันจำได้ ว่าพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย) ถืออยู่นั้น พบในลักษณพระธรรมนูญ หน้า ๕๓ (แห่งกฎหมายฉะบับหมอบรัดเล ตีพิมพ์ เล่ม ๑ จ.ศ. ๑๒๓๐) มีปรากฏอยู่ดีทีเดียวว่า ตราเทพยุดาถือจักร ถือพระขรรค์ สำหรับตำแหน่งพระศรีชมภูรียปรีชาธิราช เสนาบดีศรีสาลักษณ์ (เจ้ากรมพระอาลักษณ์)
๕. ท่านเคยกล่าวสงสัย ถึงคำ สัศดี กับ คำ พระสุรัศวดี ซึ่งใช้ปะปนกันอยู่ ฉันเคยบอกท่านว่า ฉันเคยเห็นตราพระสุรัศวดี เปนเทวดาชายไม่ใช่หญิง ยืนถือสมุดมือละเล่ม บัดนี้ได้พบเข้าในลักษณพระธรรมนูญ หน้า ๕๔ (ในกฎหมายฉะบับซึ่งอ้างถึงข้างต้นนั้น) เขาจดชื่อไว้ว่า ตราพระสุภาวดี ไม่ใช่ พระสุรัศวดี ฉันพิเคราะห์คำที่ท่านสงสัย ชอบคำ สัศดี ว่าจะเปนถูก สงสัยว่าจะมาแค่คำ สสฺสต ซึ่งแปลว่า เปนไปเสมอ แล้วประกอบอะไรต่ออะไรเข้าจะเปน สสฺสติ ไปได้ดอกกระมัง แต่ความรู้ฉันไม่พอจะคิดให้สำเร็จตลอดไปถึงนั่นได้ คำ พระสุรัศวดี ใกล้ไปทางชื่อเทพธิดาสรัสวตี เห็นมาเข้ากับคำ สัศดี ไม่ได้ กลัวจะเปนการเดาลากเอามาเหลว
๖. เมื่อวันที่ ๒๔ เดือนนี้ ฉันเข้าไปนั่งอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการบวชนาคหลวง ได้ดูสังเกตเบญจาที่ตั้งบุษบกพระแก้วมาถี่ถ้วน จะบอกรายงานแก่ท่านต่อไปนี้ อันชั้นเบญจาซึ่งต่อด้วยไม้ตั้งขึ้นบนฐานชุกชี ซึ่งก่อด้วยอิฐนั้น ทำเปนสามชั้น แล้วมีฐานบัลลังก์ซ้อนบนรองบุษบกพระแก้วอีกชั้นหนึ่ง จึงเปนสี่ชั้น ถ้านับรวมทั้งฐานชุกชีด้วยก็เปนห้าชั้น สำเร็จเปนเบญจา อันชั้นซึ่งต่อด้วยไม้นั้น ชั้นต้นและชั้นสองย่อเปนกระเปาะ มุมกระเปาะกลางอย่างหนา เปนชาลตั้งของบนกระเปาะนั้นได้ และก็มีของตั้งอยู่ โดยมากเปนพระพุทธรูป ส่วนชั้นสามมีย่อ แต่กระเปาะกลางอย่างแขระ ๆ พอให้รับกันกับชั้นต้นและชั้นสอง แต่ไม่มีชาลกว้างพอที่จะตั้งอะไรได้ ส่วนฐานบัลลังก์ซึ่งตั้งซ้อนขึ้นไปรับบุษบกเปนชั้นสี่นั้น ไม่ได้ย่อกระเปาะ และไม่มีชาลกว้างพอจะตั้งอะไรได้เหมือนกัน คงเปนอันมีที่ตั้งของได้อยู่สองชั้น คือชั้นต้นกับชั้นสอง ส่วนชั้นสามกับชั้นสี่นั้นตั้งอะไรไม่ได้เลย ตามที่บอกแก่ท่านทั้งนี้เพื่อท่านจะได้ดูสอบกับหนังสือเรื่องซ่อมพระอุโบสถ ซึ่งมีกล่าวถึงชั้นเบญจาด้วยนั้น เขาว่าเดิมทีมีฐานชุกชี บุษบกพระแก้วตั้งอยู่กลาง พระพุทธรูปต่าง ๆ ตั้งล้อมบุษบกอย่างไม่มีระเบียบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้ทำชั้นไม้นั้นขึ้น ยกบุษบกพระแก้วตั้งเบื้องบน แล้วจัดตั้งพระพุทธรูปต่าง ๆ ตามชั้นให้เข้าเปนระเบียบเรียบร้อย จะจริงหรือไม่ ฉันรับรองด้วยไม่ได้ เปนแต่ได้ยินเขาบอก อาจผิดไปก็ได้