๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๒ เดือนนี้ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ

ปราสาทที่วังเพชรบุรี ในทำเนียบนามให้ชื่อไว้ว่า พระที่นั่งเวชยันตวิเชียรปราสาท ข้าพระพุทธเจ้าได้จดชื่อพระที่นั่งที่พระนครคิรีถวายมาด้วย คือ เพ็ชรภูมิไพโรช ปราโมทย์มไหศวรรย์ เวชยันตวิเชียรปราสาท ราชธรรมสภา สันถาคารสถาน พิมานเพ็ชรเทเวศร์ จตุเวทปริตพรต กับยังมีพระที่นั่งที่พระรามราชนิเวศน์อีกองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท

บุษบง บุษบัน ตามที่ตรัสว่าจะเป็นดอกไม้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยในพระดำริ แต่คำว่า บุษบง อาจหดมาจากคำว่า บุษปบงกช ก็ได้ ส่วน บัน บุษบัน จนด้วยเกล้า ฯ สอบถามผู้รู้ภาษาบาลีและสํสกฤตก็ว่าไม่เคยพบในภาษานั้น จะว่าเป็นภาษาทมิฬ เพราะลงปัจจัยว่า อัน ก็ไม่สนิท เพราะ อัน ในภาษาทมิฬเป็นเพศชาย ส่วน บัวผัน กับ บัวเผื่อน ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าได้รับคำบอกเล่ามาว่า บัวเผื่อน ดอกแดง บัวผัน ดอกเขียวสีฟ้า มีกลิ่นหอมทั้งสองอย่าง ลำต้นและดอกทั้งสองชนิดเหมือนกับบัวสาย (เรียกอีกชื่อว่า บัวขม เพราะเหง้ามีรสขม) แต่เล็กกว่ามาก ข้าพระพุทธเจ้ากำลังสอบถามพระยาวินิจวนาดรอยู่และจะได้กราบทูลไปทีหลัง

สาน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ที่เขียนว่า ศาล จะเป็นลากเข้าหาบาลี ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นในภาษาไทยต่าง ๆ ก็ไม่พบ เพราะเป็นคำไม่ใช่สามัญ จึงค้นหายาก ในอาหมมีคำว่า สานตาน แปลว่า บริเวณในวัง ไม่ได้แยกแปลคำว่า สาน และ ตาน อาจเป็นคำมาจาก สถาน ก็ได้ ในภาษาจีนมีคำว่า ส่าน ในเสียงกวางตุ้ง เป็น ซิ้น ในแต้จิ๋ว แปลว่า พระราชวัง ห้องประทับที่ระโหฐานของพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าใช้คำ ส่าน ประกอบกับคำอื่น มีความหมายไปในเรื่องอาคารสถานที่ในพระราชวัง หรือสถานที่หวงห้ามทั้งนั้น ถ้าจะใกล้กับคำไทยก็ในความหมายว่า ศาลเจ้า ไม่ตรงกับ ศาลชำระความ อนึ่ง ศาล ที่แปลว่าต้นรัง มีผู้บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ต้นศาลไม่มีในเมืองไทย และไม่ใช่ต้นรัง ข้าพระพุทธเจ้ายังสอบถามอยู่

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ