๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องคำฝรั่งเขียนถ่ายเป็นคำไทย ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกลำบากใจอยู่จนขณะนี้ เพราะเขียนเป็นต่าง ๆ กัน ตามแบบของฝรั่งมีอยู่สองวิธี วิธีหนึ่งสมมตตัวหนังสือของภาษาหนึ่งให้มีเสียงเท่ากับของอีกภาษาหนึ่ง เช่นเทียบ ษ ของสํสกฤตเท่ากับ Sh เป็นต้น วิธีนี้เรียกว่า Transliteration มีประโยชน์ให้ทราบถึงตัวเขียนของอีกภาษาหนึ่งว่า ประกอบด้วยพยัญชนะตัวใดบ้าง เป็นอย่างที่เขียนคำว่า กษัตริย์ แต่อ่านในไทยเป็น กะสัด วิธีนี้ดีแต่เวลาถ่ายคำเป็นตัวหนังสือ เช่นถ่ายตัวอรรถในภาษาบาลีจากตัวโรมัน แต่ลำบากเมื่ออ่านเอาเสียงเพราะไม่ตรงกัน เช่นเขียน Know เป็น โคฺนว์ Order เป็น ออรเดอร์ ซึ่งถ้าตัด ร ออกเสีย เสียงก็เท่ากันในของเดิม หรือเขียนคำว่า คน เป็น Gon โดยให้ ค เท่ากับ G อีกวิธีหนึ่งใช้ถ่ายเสียงให้ตรงกัน เรียกว่า Transcription วิธีนี้ดีที่ได้เสียงใกล้กัน แต่ติดขัดที่เสี่ยงตัวพยัญชนะในภาษาต่าง ๆ มีไม่เหมือนกันทุกตัว จึงต้องคิดทำพยัญชนะขึ้นอีกพวกหนึ่ง ให้ใช้ได้ทั่วกัน เรียกว่า Phonetic Alphabet แต่ก็ลำบากที่ใช้ไม่ได้ทั่วไปนอกจากผู้ที่ได้เรียน เพื่อแก้ลำบากในข้อนี้ เมื่อจะให้เป็นที่เข้าใจในเรื่องเสียง จึงต้องบอกตัวอักษรที่ใช้เทียบเรียงไว้ข้างหน้าเล่ม อย่างในหนังสือจำพวกพจนานุกรมเป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าสมัคใช้วิธีที่สอง แต่ก็ไม่ได้สดวกเสมอไป แม้ในภาษาอังกฤษเองก็ยุ่ง เช่น Paris อ่านออกเสียงตามตัว หาได้อ่านเป็น ปารี อย่างฝรั่งเศษไม่ ส่วน Calais กลับอ่านเป็น กาเล อย่างฝรั่งเศษ ถ้าจะถือการถ่ายอย่างวิธีที่สองว่า ปารี ก็จะแปลกหูและแปลกตาคนไทย เพราะเขียน ปารีส แต่อ่านว่า ปารีด มาชินแล้ว จึงเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าจะใช้วิธีที่ ๒ จะต้องมีข้อยกเว้นในคำที่เคยเขียน หรือเรียกกันมานาน รู้จักกันดีแล้ว เช่น เมืองพาราณสี ถ้าเขียนตามเสียงเป็น ปินารีส ก็ไม่มีใครรู้จัก นอกจากคนรุ่นใหม่ แต่กัลกัตตา ถ้าไปเขียนเป็น กาลีฆาต ตามเสียงเดิมก็ยุ่งอีก ไม่มีใครรู้จัก Bengal จะเขียนว่า พังค์ บังคะ พังคัล มังกะหล่า เบงคอล ก็เป็นอย่างเดียวกับ กัลกัตตา แต่เมื่อถึงคำว่า Indrapore ถ้าเขียนเป็น อินทรปุระ กลับดีกว่า อินดราโปร์ ครั้นถึงคำว่า Singapore เขียนว่า สิงคโปร์ เข้าใจดีกว่า สิงหปุระ การถ่ายเสียง ถ้าเป็นคำของชาติที่อยู่ห่างไกลออกไป ก็ไม่สู้ลำบาก มาลำบากอยู่ที่ชาติใกล้บ้าน เพราะเคยติดต่อกันมานาน เช่นอินเดีย จีนเป็นต้น คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าคงจะเป็นลำบากในเรื่องเหล่านี้ การประชุมปรึกษาจึงได้เริดร้างไป แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้มีส่วนร่วมประชุม จึงไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าเป็นเพราะเหตุไรจึงค้างอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าหมดอึดอัดใจ ในเรื่องที่ทรงพระเมตตาประทานข้อทรงสันนิษฐานเรื่องคำ พู ภู พง ป่ง ว่าน่าจะเกิดเพราะการถ่ายเสียงของเขมร ข้าพระพุทธเจ้าสันนิษฐานไม่ออกว่า คำไทยแท้ๆ ไฉนจึงได้เขียนด้วย ภ ธ เช่น สไภ้ สำเภา เฉภาะ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ฆ้อง เฆี่ยน ฆ่า ระฆัง ก็จะเป็นอย่างเดียวกัน ลางทีจะเกิดเพราะถ่ายเสียงไทยลงเป็นตัวขอม ต้องการอ่านให้ตรงเสียงของเขมร จึงต้องเขียนเช่นนั้น ทั้งนี้เป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าล้นเกล้าฯ

คำว่า ไม้ไล่ ในพจนานุกรมมีคำว่า ไล่ อธิบายว่าเป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่า ไล่ จะต้องเป็นไม้ที่มีอยู่ดื่นดาด ความจึงมากลายเป็นว่า ไม้ทั่ว ๆ ไป แต่ ไล่ ก็ไม่สู้มีใครรู้จัก เมื่อค้นดูในภาษาไทยต่างๆ มีแต่ ไล่ ในไทยขาวว่าเป็นต้นไม้ชะนิดหนึ่ง ให้ชื่อเป็นภาษาลาติน จึงไม่ทราบเกล้าฯ ว่าเป็นไม้อะไร ส่วน ไร่ ไฮ่ ในความว่าไม้ ไม่พบเลย จึงทำให้ข้าพระพุทธเจ้าพิสวงอยู่

ที่ทรงพระเมตตาประทานเรื่องสีแก่ข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าสุดซึ้ง เพราะได้ความรู้จากที่ทรงอธิบายหลายอย่าง ลางอย่างทราบเกล้าฯ แต่เงา ๆ และลางอย่างก็เข้าใจผิด พึ่งมาได้ทราบเกล้า ฯ ในคราวนี้เอง

ฝุ่น กวางตุ้งเรียกแป้งว่า ฝุ่น (แต้จิ๋วเป็น ฮุ้น) ส่วนขนมทำด้วยแป้งเรียก เป๊ง (แต้จิ๋วเป็น เปี๊ย เช่นขนมเปี๊ย) คิดด้วยเกล้าฯ ว่าฝุ่นของไทยกับฝุ่นของจีน ที่แปลว่า แป้ง มีลักษณะใกล้กันมาก

กะบัง คำนี้ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้ยิน ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงตำบลลาดกะบัง ว่าลางทีจะเป็นคำเดียวกัน เพราะมีความหมายชวนไปในทางว่า กะบัง เป็นดินชะนิดหนึ่ง

ตัวเปี๊ย ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงตัวแมลงชะนิดหนึ่งของฝรั่งว่า (Cochineal) ซึ่งเอามาทำเป็นสีแดง แต่ข้าพระพุทธเจ้าค้นหา เปี๊ย ยังไม่พบ เพราะคำว่า โคจินนิล ในพจนานุกรมอังกฤษจีน แปลว่า เอี๊ยงอั๊ง เป็นสีแดงเทศไป ไม่ใกล้มาในคำ เปี๊ย

ชาดจอแส ข้าพระพุทธเจ้านึกไม่ออกว่า จอแส เป็นเมืองอะไร

สีลิ้นจี่ที่ใช้แต้มริมฝีปาก จีนเรียกว่า อินจี (rouge) เสียงใกล้กับลิ้นจี่มาก ส่วนลูกลิ้นจี่ จี่นเรียกว่า ลี่จี่

ชาด ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในภาษาจีน มีคำใกล้ที่สุดก็คือ เฉ้ก แปลว่าสีดินแดง ประเทศไทยแถวลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยเมื่อพันปี จีนเรียกว่าประเทศ เฉ้กโท้ แปลว่าประเทศดินแดง ข้าพระพุทธเจ้าตรวจดูเสียงอ่านของคำนี้ในภาษาจีนชาวต่างๆ ตลอดจนเสียงเก่าของจีน ไม่ปรากฏว่ากลายเป็นเสียงแม่กดได้สักแห่งเดียว จึงทำให้ไม่แน่ใจ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ค้นหาในภาษามลายู เพราะภาษามลายูชอบคำสองพยางค์มากกว่าคำพยางค์เดียว จึงคิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะไม่มาทางนั้น

เสน ในภาษาจีนมีคำว่า ซั้น (แต้จิวเป็น ซิน) แปลว่า สีเนื้อ สีดินแดงอย่างแขง ม้าสีเนื้อ เป็นใกล้กับคำ เสน ในภาษาไทยมาก

ในภาษาจีน ต้นคราม และ สีคราม เรียกว่า หล่ำ ในเสียงกวางตุ้งเป็น หนำ ในเสียงแต้จิ๋ว สีมอคราม ไทยนุงเรียกว่า ลำ ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกสงสัยไปถึงคำว่า น้ำเงิน เพราะคำว่า หล่ำ ที่แปลว่าคราม แต้จิ๋วอ่านเป็น หนำ ก็ได้ ใกล้คำว่า น้ำ มาก ถ้าเช่นนั้น เงิน ในภาษาจีนที่แปลว่า สี ในจำพวกนี้จะมีบ้างหรือไม่ เมื่อค้นดูก็ปรากฏมีคำว่า หงั่น แปลว่า สี ใกล้กับเสียงเงินมาก หงั่น มักเข้าคู่กับคำว่า เซ้ก เป็นคำซ้อน แปลว่าสี หรือเข้าคู่กับคำว่า ลิว เป็น หงั่นลิว แปลว่า สีน้ำ เข้าคู่กับคำว่า แดง เป็น หั่งหงั่น แปลว่าสีเนื้อ เลยไปถึงคำว่า หั่ง ในภาษากวางตุ้งแปลว่า สีแดงอ่อน (แต้จิ๋วเป็น อั๊ง) ก็ไปใกล้กับคำว่า หั่ง ด้วยอีกคำหนึ่ง ถ้าเป็นสีแดงจัด ก็เติมคำว่าใหญ่เข้าไปข้างหน้าคำว่า หั่ง ภาคอีศาน ชาด หรือสีชาด เรียกว่า หาง สีแดง ว่าน้ำหาง ส่วนสีน้ำเงินหมายเอาสีเงินที่กำลังละลายอยู่ในเบ้า

หงสบาท ข้าพระพุทธเจ้าพบฝรั่งแปลคำ สุวรรณหงส์ ว่า นก Flamingo ซึ่งเป็นนกขาและคอยาว รูปร่างโก้งเก้ง ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นนกชะนิดนี้ทำด้วยกระเบื้องตัวหนึ่ง ที่วังวรดิศ ปรากฏว่าที่ขาเป็นสีแดงตลอด คิดด้วยเกล้าฯ ว่า หงสบาท จะเป็นสีออกมาจากสีขานกชะนิดนี้

เขียวตั้งแช เป็นคำแต้จิ๋ว กวางตุ้งเป็น ถ่งเช้ง ถ่ง แปลว่าโลหะที่เป็นทองเหลือง ทองแดงเป็นต้น คิดด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นคำเดียวกับทอง ไทยถิ่นต่าง ๆ จึงไม่เรียกสุวรรณว่า ทอง แต่เรียกว่า คำ ก็คงเป็นเพราะเหตุนี้ และทองที่แปลไว้ในพจนานุกรมไทยถิ่นต่างๆ ก็เป็นอย่างความหมายในภาษาจีน เช้ง หรือ แช (เทียบ เซงแซ่ เน่งแน่) แปลว่าเขียว ถ่งเช้ง แปลว่าสีเขียวหรือสีเขียวอ่อน ถ้ากลับคำเป็น เช้งถ่ง แปลว่าจุนสี แสดงว่าสีอย่างนี้จะทำมาจากถนิมโลหทอง

ขาบ ถ้าแปลงเสียงครามเป็นอย่างเสียงพายัพและอีศาน ซึ่งออกเสียงกล้ำเป็นเสียงหนัก เช่น นกกะเรียน เป็น นกเขียน ตรา เป็น ถา ครามก็คงเป็น ขาม ถ้าแปลงตัวสกดใช้ตัวต้นในวรรค เช่น รวม เป็น รวบ ยอม เป็น ยอบ ขาม ก็เป็น ขาบ ได้ คำกล้ำลางคำแยกพยัญชนะออกเป็นคำๆ ความก็ยังใกล้เคียงกัน เช่น กล่าว-เล่า-คราว-ข่าว-(เรื่อง)ราว

เขม่า ในแผนที่แหลมอินโดจีน ตอนที่ยื่นออกไปในทะเลรูปเหมือนจงอยนก ถัดเมืองฮาเตียนไป แผนที่ไทยเขียนว่าแหลมกาเมา เพราะเขมรเรียกนางกาลีของอินเดียว่า นางเขมา คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นแหลมเขมา คงเป็นคำเดียวกับเขม่า เพราะคำเหมือนกัน

เมืองระนอง มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นเมืองแร่นอง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็นแปลลากเข้าความ พระสารศาสตร์พลขันธ์ (เยรินี) ว่าเดิมเมืองระนองเรียกว่า ตะกั่วไทย ก็ไม่ได้หลักฐานอะไรไว้ ทั้งไม่ได้แปลคำว่าระนอง ในท้องตราครั้งเจ้าพระยาบดินทรฯ (สิงห์เสนี) มีกล่าวถึงเมืองระนองซึ่งอยู่ทางแคว้นหลวงพระบาง แต่ในพระราชพงศาวดารรัชชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เขียนว่า เมืองนอง ในพระราชพงศาวดารเล่มนี้มีเมืองชุมพรอีกเมืองหนึ่งอยู่ในแคว้นหลวงพระบางด้วย ทั้งเมืองระนองทางปักษ์ใต้เมื่อแรกตั้งเป็นเมืองขึ้นก็ว่าขึ้นเมืองชุมพร ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าแปลกใจว่าไฉนจึงมาพ้องกัน คงมีเหตุการณ์อะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบ ชุมพร จะมาจาก อุทุมพร เสียงก็ห่างกันมาก เป็นเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบเหมือนกัน

ยังมีเมืองหลังสวนอีกเมืองหนึ่ง มักแปลกันว่าเพราะมีสวนผลไม้มาก แต่ความไม่สู้ได้กัน สมัยโบราณเมื่อพันกว่าปี มีเมืองหนึ่งอยู่ในแถบนี้ จีนเรียกชื่อว่า ลั่งยะสิว หรือ หลิ่งเง่เซ้า ส่วนนครศรีธรรมราช จีนเรียกว่า ตันม้าหลิ่ง ซึ่งศาสตราจารย์เซเดส์ ว่าเป็นเมืองตามพรลิงค์ในศิลาจารึก ซึ่งเดิมเป็น ตามพรลิงเคศวร ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำว่าหลิงเง่เซ้า จะเป็น ลิงเคศวร ได้บ้างกระมัง เพราะในจดหมายเหตุจีนว่า ถ้ามาจากตันมาหลิ่ง ถึง หลิ่งเง่เซ้า ในราว ๖ วัน ๖ คืน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องหาหลักฐานมาประกอบอีกมาก จึงเป็นแต่เรื่องเดาทางเสียงเท่านั้น

ที่ทรงพระกรุณาประทานแบบข้าวย้อมสีแป้งโรยทำภัทรบิฐนั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นรูปแล้ว การที่จะค้นหาที่มาก็สดวกขึ้น ไม่เป็นอ่านพบแล้วผ่านเลยไปเสีย เพราะไม่ทราบเรื่องมาก่อนก็ไม่ได้สังเกตเห็น

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ