- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๒
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือ มหาทิพมนต์ ชัยมงคล มหาชัย อุณหิสวิชัย และ มหาสาวัง ฉันได้อ่านตลอดแล้ว เห็นเปนเถาด้วยเกือบหมดนั่น เว้นแต่ อุณหิสวิชัย บทเดียวเปนผู้รู้แต่ง กล่าวความเปนเรื่องเปนราว ตอนต้นกล่าวถึงพระเจ้าเทศนาโปรดสุปติฏฐเทวดาซึ่งจะตายใน ๗ วัน ให้มีอายุยืนอยู่ต่อไป ตอนท้ายเอา สักกัตวา เข้าประกอบ และว่าการทำลายชีวิตสัตว์ทำให้อายุสั้น การไม่ทำลายชีวิตสัตว์ทำให้อายุยืน ปรุงดี เห็นได้ว่าผู้แต่งมีความคิดอยู่มาก ส่วนบทอื่นนั้นเห็นได้ว่าเปนครูคร่ำแต่ง เปนผู้รู้น้อย ฉวยได้อะไรก็ใส่เข้าไป ล้วนแล้วไปด้วยขอพร เอาเทวดาปนกับพระรัตนตรัย ทั้งสิงสาราสัตว์อะไรต่ออะไรเลอะเทอะ ได้ส่งต้นฉะบับกลับคืนมาให้บัดนี้แล้ว
ที่ฉันว่า มหาชัย สังเกตว่าเปนภาษาสํสกฤตนั้นผิด ที่แท้เปนภาษามคธสํสกฤตอันตั้งใจให้อ่านอย่างไทย มีสัมผัสด้วย พวกเดียวกับพระปรมาภิไธย ตัวอย่างเช่น บรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยพิเศษ เปนอาทิ แต่ผู้เขียนเขียนคัดให้เปนภาษามคธสํสกฤตโดยตรง ก็ทำให้เปนทางเขวไป และที่ฉันสงสัยว่าถ้าเปนภาษาสํสกฤตแล้วจะมาต่อกับ ชยนฺโต ซึ่งเป็นภาษามคธได้อย่างไรนั้นก็ผิดอีก ในมหาชัยไม่มีชยันโต ไปมีอยู่ที่มหาทิพมนต์กับชัยมงคล ที่แท้พวกนักสวดเขาตั้งใจจะตัดเอาท้ายบททั้งสองนั้น บทใดบทหนึ่งมาสวดก็ได้ หากฉันเข้าใจผิดไป ตามที่คนเข้าใจกันผิดก็เปนได้
แต่นี่ก็เปนเรื่องที่บอกรายงานให้ท่านทราบเท่านั้น ข้อสำคัญอยู่ที่พระยาอรรคนิธินิยม ชื่อเดิมชื่อ สมุย นั้นให้ติดใจมาก เพราะเกาะสมุยเปนชื่อที่ฉันแปลไม่ออก พระยาอรรคนิธินิยมทำไมจึ่งชื่อสมุย หรือจะเปนผู้ที่เกิดในเกาะสมุย ความในประวัติก็ไม่มีปรากฏ ปรากฏแต่ว่าเปนบุตรนายเฮง เฮงเปนภาษาจีน จะว่าสมุยเปนภาษาจีน รูปคำก็ไม่เปนจีนเลย
เรื่องเติมหนังสือไทย ยิ่งพิจารณาไปก็เห็นยิ่งไกลจากเพื่อคิดจะผันเสียงไปมาก ตรวจพยัญชนอันเปนหลักที่จะพึงจัดแบ่งเปนอักษรสามหมู่ พบว่ามีเติม ๙ ตัว คือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ ฮ พิจารณาก็เห็นได้แต่ ฝ ตัวเดียวเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นให้เปนอักษรสูง นอกนั้นดูเปนเพิ่มด้วยเหตุอื่น ฃ ฅ เพิ่มทำไมไม่ทราบ ไม่มีใครคิดเห็น และบัดนี้ก็ตัดทิ้งเสียแล้ว ซ น่าจะเติมขึ้นเพื่อใช้คำที่เสียงเคลื่อนไปจาก ช เช่น ช้าง ซ่าง เชื้อ เซี่อ เปนต้น ย่อมเห็นได้ว่าแก้จากตัว ช นั้นเอง หากหยักหัวเสียเท่านั้น ฎ ด แก้เพราะเขมรเขาใช้ ฏ ต แต่เขาอ่านเปน ดอ (ลางคำคงอ่านเปน ตอ ก็มี) แก้เติมก็เอาหยักเปนไม่หยักเท่านั้น บ ก็เหมือนกัน แต่แก้ ป เปนไม่ให้มีหาง ฟ แก้สำหรับใช้เขียนคำภาษาไทย ฮ สำหรับใช้เขียนคำที่คนออกเสียง อ เปน ฮ เช่น เอย เปน เฮย หรือที่พวกพายัพ ออกเสียง ร เปน ฮ
อนึ่ง วรรณยุต คือ ไม้เอกโทตรีจัตวา อันเปนเครื่องประกอบกับอักษรสามหมู่ ไม้เอกไม้โทนั้นมีมาแล้วแต่ในหลักศิลาหนังสือไทยของขุนรามคำแหง แต่ไม้ตรีไม้จัตวานั้นไม่มี ได้เคยตรวจหนังสือเรียนแบบเก่า เช่น ปฐมมาลา และ ปฐมกถา เปนต้น ก็ไม่มี เกรงว่าจะคิดขึ้นภายหลังหนังสือนั้น ทั้งชื่อกับรูปก็ไม่ลงกัน ไม้ตรีแปลว่า ๓ ก็เปนเลข ๗ ไม้จัตวาแปลว่า ๔ ก็เปนกากบาท ซ็ำกับไม้โทในหลักศิลาของขุนรามคำแหง อันกากบาทที่ใช้ในหลักศิลาของขุนรามคำแหง เปนไม้โทนั้นควรอยู่ เพราะเปนสองขีด ถึงไม้โทที่เขียนกันอยู่บัดนี้ก็ออกจากกากบาทนั่นเอง แต่เขียนลากเส้นให้สำเร็จไปในจังหวะเดียวอย่างตีนครุะ + = ฯ ฉนี้
อนึ่ง ที่สอนอ่านกันมาแต่ก่อนว่า กอ ข้อ ฃอ ค่อ ฅอ เฆาะ งอ นั่นก็เปนผันเสียง แต่หามีวรรณยุตไม่ นี่จะโปรดว่ากะไร
อนึ่ง คิดจัดอักษรสามหมู่ ก็จัดไม่เรียบร้อย พวกพยัญชนที่ไม่มีคู่สูง ทำไมแบ่งเปนอักษรกลางบ้าง เปนอักษรต่ำบ้าง ถ้าจะทำคู่สูงเติมเข้าให้หมด หรือจะจัดให้เปนอักษรกลางหมด จะไม่ดีกว่าหรือ ทั้งการผันอักษรสูงต่ำก็มีโดนกัน เช่น ซ่ม ส้ม เซื่อ เสื้อ จนไม่รู้ว่าจะเขียนอย่างไรถูก ที่สุดการจัดผันอักษรก็สำหรับเขียนเสียงชาวบางกอกเท่านั้นเอง คับแคบมาก