๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๔ ประทานข้อสันนิษฐานคำ ป่า ดง เถื่อน มานั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้รับแล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ที่ทรงสันนิษฐานว่า ป่า จะใช้ได้กว้างกว่า เถื่อน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ถูกทีเดียว ป่า บอกลักษณะที่ซึ่งอยู่นอกเมืองหรือนอกชุมนุมชน ถ้าต้องการให้ทราบลักษณะว่าเป็นป่าชะนิดไร ก็เติมคำอื่นประกอบลักษณะขึ้น เป็น ป่าพง ป่าหญ้า ป่ารก ป่าดง ป่าเถื่อน สัตว์หรือสิ่งใดซึ่งมาจากป่า ก็เติมคำว่า ป่า ลงไป เป็น ไก่ป่า หมูป่า โจรป่า คนป่า เป็นคำกว้าง ๆ ถ้ามาแต่ ป่าดง คือ ป่าารก หรือมาแต่ ป่าเถื่อน คือป่าสูง จึงใช้ ดง และ เถื่อน โดยฉะเพาะ เป็น คนดง คนเถื่อน หมูเถื่อน ช้างเถื่อน ส่วนม้าชอบอยู่ใน ป่า ที่ไม่ใช่ ดง ไม่ใช่ เถื่อน จึงมีแต่ ม้าป่า งูชอบที่รก จึงมี งูดง มากกว่า งูป่า งูเถื่อน

ดง คือ ป่ารก ซึ่งมีของพวกใดพวกหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากมายจึงมีคำว่า ดงไม้ ดงรัง ดงโจร ในไทยขาวมีคำว่า ดงหิน ไก่ดง หมูดง ไทยนุง มี ควายดง คำว่า ป่าผ้า ป่าตะกั่ว ก็คงหมายความถึงดงแห่งของเช่นนั้น ส่วน พง ก็คือดงชะนิดหนึ่ง น่าจะใช้แก่ดงต้นไม้จำพวกหญ้าโดยฉะเพาะ ทางอีศานไม่มีคำว่า พง ใช้แต่ ป่า อย่างเดียว ข้าพระพุทธเจ้าค้นคำว่า ปง พง ในไทยต่าง ๆ ก็ยังไม่พบ

เถื่อน คือป่าสูงและเปลี่ยว ห่างไกลจากประชุมชนไปมาก ดังที่ทรงสันนิษฐาน จะมีลักษณะเป็นป่าขนาดใหญ่กว้างขวางและรกร้าง จึงไม่จำเป็นต้องใช้คำอื่นประกอบเหมือนอย่างป่าและดง เช่น ป่าใหญ่ ดงใหญ่ ป่ารก ดงรก เพราะ เถื่อน มีลักษณะใหญ่และรกอยู่ในตัวแล้ว คนและสัตว์ที่อยู่ในเถื่อน จะเป็นชะนิดดุร้ายเปรียวมาก ในพจนานุกรมไทยถิ่นต่าง ๆ ฝรั่งจึงแปลคำ ดง ในความว่า ดุร้าย อยู่ด้วย

ถ้าเทียบกับบาลี ป่า น่าจะได้กับ วัน ดง ได้แก่ ชัฏ สัณฑ์ อตาวี ซึ่งนำเอาคำ วัน มาประกอบเข้าข้างหน้าของคำได้ เถื่อน คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะเป็น อรัญญ เทียบอังกฤษ ก็มีคำว่า wood, forest, jungle (มาจาก ชางคล ใน สํสกฤต)

คนป่า คนดง คนเถื่อน เทียบอังกฤษน่าจะได้กับ barbarian, lower barbarian และ savage

สวน ในอาหมหมายความว่า ที่เพาะปลูกซึ่งกันเป็นขอบเขตต์มีเจ้าของ ถ้าไม่มีขอบเขตต์เห็นจะเป็น ป่า แต่มี ไร่ อีกคำหนึ่ง ในภาษาไทยทุกถิ่น แปลว่า นาข้าวที่ทำบนเขาหรือเชิงเขา คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าความหมายนี้จะขยายตัวมาถึงที่ซึ่งเพาะปลูกอย่างอื่นด้วย ซึ่งอยู่ในที่สูง เวลานี้มีคำว่า สวนอ้อย ไร่อ้อย สวนผัก ไร่ผัก เห็นจะผิดกันที่ สวน มีร่องน้ำหล่อเลี้ยงตลอดไป แต่ ไร่ ไม่มีร่องเช่นนั้น และจะปลูกได้ฉะเพาะไม้ล้มลุกชั่วฤดูฝนเท่านั้น ถ้าปลูกในที่เชิงเขา ก็เรียกแยกไปว่า ไร่กง (กง ภาษาไทยใหญ่ว่า เขาเตี้ย ๆ)

ภูผา ไทยอีศาน ไทยขาว ไทยนุง เรียก เขา ว่า ปู ทุกแห่ง อีศานเขียน พู ไม่ได้เขียนว่า ภู จะเป็นเพราะเหตุไรไม่ทราบเกล้า ฯ ฟังนายสุด ศรีสมวงศ์ ออกเสียง พู ก็เป็นอย่างเสียง พ ไม่ปรากฏมีเสียงหนักเหมือน ภู ในบาลี ส่วนคำว่า เขา ไม่สู้ใช้ ถ้าใช้ต้องเข้าประกอบกับ ภู เป็น ภูเขา

ไทยพายัพและอาหม เรียก เขา ว่า ดอย ไทยใหญ่เป็น ลอย ไทยคำที่เป็น นอย ไม่ใช่ ภู หรือ เขา ตกมาถึงไทยกรุงเทพ ฯ ดอย และ ภู ไม่มี แต่คำ ดอย ภู และ เขา ทั้งสามคำนี้ น่าจะเป็นคำไทยทั้งหมด เพราะไทยย้อยมีทั้ง ภู และ ดอย ไทยโท้มีทั้ง เขา และ ภู ญวนมีคำว่า nui แปลว่า ภูเขา คำทั้งสามนี้ จะเป็นคำกว้าง ๆ อย่าง ป่า จึงได้มีคำว่า ภูผา ภูหิน และ ภูดง (ไทยย้อย) เพื่อจำกัดลักษณะให้แคบเข้า แต่โดยเหตุที่ เขา ส่วนมากเป็นหิน พูดภูเฉยๆ ก็หมายถึงเขาหินได้ เว้นแต่ต้องการความใกล้ชิด จึงต้องเติม ผา หรือ หิน ลงไป

เขาเล็ก ๆ ที่เป็นเนินสูงขึ้นไป ก็เรียกกันต่าง ๆ กัน พายัพเรียกว่า ม่อน (ใกล้กับ หมอน มาก) อีศานเรียกว่า โนน เช่น โนนลาว-เนินใหญ่ ปักษ์ใต้เรียกว่า ควน

หิน กับ ผา ในภาษาไทยต่าง ๆ ใช้ผิดกัน ถ้าเป็นหินติดกันเป็นพืดจึงเรียกว่า ผา เห็นจะเทียบได้กับ rock ในภาษาอังกฤษ ถ้าหมายความถึงหินทั่วไป ตลอดจนเป็นก้อนใหญ่ ก้อนเล็ก ใช้ว่า หิน จะตรงกับ stone ในภาษาอังกฤษ ก้อนหินใน เตลงพ่าย ใช้ว่า ผลา

เรื่องชื่อสีของช่างเขียน มีประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก ในทางแปลคำในวรรณคดี ขอรับพระบารมีประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยแล้วแต่จะทรงพระเมตตา การจะควรสถานไรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ