๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม และวันที่ ๔ สิงหาคม รวม ๒ ฉะบับ ทรงพระเมตตาประทานพระอธิบายเรื่องตราต่าง ๆ ลางดวงเพิ่มเติม และเรื่องชั้นเบญจารองบุษบกพระแก้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้รับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

พระอธิบายเรื่องเบญจา ข้าพระพุทธเจ้าอ่านเข้าใจได้แจ่มแจ้ง อ่านแล้วนึกเห็นภาพของเบญจาได้ดี ครั้นเทียบเข้ากับที่อธิบายไว้ในหนังสือจดหมายเหตุเรื่อง ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็อ่านข้อความในจดหมายเหตุไม่สู้ซึมซาบ เพราะมีคำที่ใช้ฉะเพาะการช่างอยู่มากคำ เมื่อไม่ทราบคำแปลเหล่านั้น อ่านแล้วก็นึกเห็นภาพไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าได้คัดตอนที่ว่าด้วยเบญจาถวายมาดั่งต่อไปนี้

แลมีท่ามกลางพื้นพระอุโบสถ มีฐานบัดกว้างรี ๕ วา สี่เหลี่ยมสูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว มีรัตนไพทีสูงศอกหนึ่ง ตั้งต่อบนฐานบัดอัฒจันท์ ประดับกระจกทั้งสี่ทิศ เดิมมหาบุษบกประดิษฐานท่ามกลางระวางพระพุทธสัฏฐารสห้ามสมุท อันองค์สมเด็จพระบรมมหาพุทธางกูรเจ้า ผู้ดำรงภพศรีอยุธยาลำดับแผ่นดินมา มีพระราชศรัทธาทรงสร้างประดิษฐานไว้โดยรอบเสมอพื้นเดียว บังพระมหาสุวรรณบุษบกอยู่ จึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงธรรม์ถวัลยราชดิลกโมฬีศรีอยุธยา ยิ่งด้วยพระบวรปรีชามหากฤษฎาธิการ ประกอบกับพระราชศรัทธาธรรม์อันอุกฤษฐ์ ทรงคิดจะยกพระสุพรรณ์บุษบกทรงองค์พระแก้วมรกฎอันประเสริฐขึ้นให้สูง มีบัวบัลลังก์ลดเป็นชั้นๆ สำหรับรับรองฐานพระสุวรรณปฏิมา แลตั้งเครื่องบูชามหาสการะโดยลำดับ กับจะมิให้บังลับที่ตั้งพระสุวรรณบุษบกยกเป็นเชิงชั้นหลั่นลดให้งดงาม จำเริญพระราชศรัทธา จึงทรงพระกรุณาโปรดสั่งช่างต่ออย่างฐานรองสุวรรณบุษบก ต้องตามพระราชประสงค์ แล้วสั่งให้ระดมช่างทหารในไทย ญวน เขมร อันชำนาญการวิชาช่างปากไม้ ให้ระดมทำฐานรองรับสุวรรณบุษบก โดยสูง ๖ ศอกถึงที่ตั้งบุษบก แล้วลดชั้นอันดับลงมา ชั้นต้นนั้นกว้าง ๒ วา ศอกคืบ ๕ นิ้ว ยาว ๒ วา ศอกคืบ ๕ นิ้ว เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมุมทั้งสี่ชั้นต้นนั้น จำหลักเป็นดอกบัวบานสำหรับรองฐานที่ตั้งพระพุทธปฏิมาสัฏฐารส ที่ระวางเก็จย่อกลาง ทำฐานบัว เป็นบัลลังก์ ด้านละสอง สำหรับรองรัตนบัลลังก์ตั้งที่พระพุทธสมาธิ แล้วลดชั้นถัดขึ้นไปเป็นสองชั้น ทำบัวทองรับฐานที่ตั้งพระพุทธห้ามสมุทมีทั้งสี่มุม ที่ระวางเก็จย่อกลางเป็นกลีบบัวบานรับบัลลังก์ ตั้งที่พระพุทธปฏิมาสมาธิด้านละฐาน ทั้งสี่ทิศ แล้วลดเป็นชั้นสามตามลำดับชั้นไป ไว้เป็นที่ตั้งเครื่องบูชามหาสการะอันวิเศษต่าง ๆ กึ่งฐานบัว ชั้นบนเป็นที่ตั้งมหาบุษบก ครั้นคลุมปากไม้เสร็จแล้วลงรักทับแห้งสนิท จึงยกพระสุวรรณมหารัตนบุษบกอันทรงองค์พระแก้วมรกฎ ขึ้นสถิตย์ที่ฐานรัตนประทุมแท่นชั้นบน

แลพระมหาบุษบกนั้นย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูงแปดศอกคืบ แผ่แผ่นสุวรรณธรรมชาติหุ้มตั้งแต่เชิงฐานบัดขึ้นไปตลอดถึงยอดสุด ประดับด้วยบันใหญ่บันแถลงล้วนทองทั้งเจ็ดชั้นๆ ต้นนั้นห้อยข่ายทองรอบทั้ง ๔ ด้าน มีทวยทองคำประดับพลอยเป็นนาคคดหกห้อย ติดประเสา เอาหางยันรับเชิงเต้าสุวรรณชั้นต้นทั้ง ๔ มุม ภายในบุษบกบนเพดานดาษด้วยกระจกเงา มีดอกจอก ๓ ชั้นซ้อน ๆ ดูดังดารารายล้อมรอบระยะกัน แลภายในพื้นสุวรรณถัมภานั้น ดาษด้วยกระจกเงางามเลื่อม แลดูดุจดังแก้วผลึกตลอดลงมากระทั่งถึงเชิงเสา ๔ มุมมหาบุษบบก ภายนอกสุวรรณถัมภาย่อเหลี่ยมไม้ ๑๒ ประดับด้วยพลอยรัตนมณีสีต่าง ๆ มีดอกประจำยามทุกเหลี่ยม เสากนกกาบพรหมสร ประกอบเชิงเสาทั้ง ๔ แลองค์พระแก้วมรกฎ ซึ่งสถิตย์ในบุษบกนั้น น่าตัก ๒๑ นิ้ว ทรงนั่งสมาธิบนรัตนบัลลังก์ประดับพลอยต่างสี มีสุวรรณฉัตร ๕ ชั้นกั้นเบื้องบน มีเครื่องประดับพระองค์ทรงผลัดเปลี่ยนตามระดูทั้งสาม แลพนักทั้งสามด้านจำหลักลายก้านแย่งประดับพลอย ถัดลงมามีช่อตั้งบังพนัก แลมีน่ากระดานฐานบัดเป็นกนกก้ามปูฉลุล่องช่องกระจกเขียว ดูดุจแก้วมรกฎ ถัดน่ากระดานฐานเบื้องบนมามีบัวหงาย กลางกลีบบัวประดับด้วยกระจกขาว ดูดุจแก้วผลึก ต้นกลีบบัวมีกระจังห้อยท้องไม้ ประดับกระจกเขียว งามดุจแก้วไพฑูรย์ มีเทพนมหุ้มทองคำ ๒๔ รูป ถัดลงมาชั้นสองมีน่ากระดานกนกก้ามปูบนปลายบัวท้องไม้ มีครุธอัดหุ้มด้วยทองคำ ๒๔ รูป ยืนเหยียบวาสุกรีตรีเศียร มือยุดหางนาค ตั้งเรียงโดยรอบมหาบุษบก ถัดลงมามีน่ากระดานบัวหงายรายกระจัง ต้นบัวทับหลังสิงห์ ครีบสิงห์ท้องอัษฎงค์ ถัดลงมามีลายรูปมังกร กระจังบนน่ากระดานฐานบัดเชิงบุษบกนั้น จำหลักรายกุดั่นเป็นกนกเครือแย่ง ฉลุพื้นด้วยกระจกเขียวแก่ สีดังแก้วมรกฎ แลฐานบัวบานรับเชิงสุวรรณบุษบกนั้น จำหลักเป็นบัวหงายกลีบทองปิดทอง กลางกลีบประดับกระจกต่างสี มีกนกน้อยปลายบัว ต้นกลีบบัวมีกระจังห้อย แล้วมีอกไก่ทรงมันประดับกระจกเป็นริ้ว ๆ ถัดลงมามีกระจังประจำต้นกลีบบัวคว่ำ น่ากระดานรับบัวคว่ำจำหลักเป็นกนกดอก ในลำดับลงมามีกระจังทรงเครื่องชักลวดน่ากระดานบัวทรงเครื่อง แล้วมีกระจังห้อยท้องไม้จำหลัก เป็นดอกสี่กลีบ ฉลุลายพื้นกระจกแดง ดูดังสีแก้วทับทิมรอบทั้งสี่ทิศ

ถัดฐานบัวหงายรับเชิงบุษบกลงมามีฐานบัวสี่มุม เชิญพระพุทธสัฏฐารสขึ้นประดิษฐานบนฐานบัวทั้งสี่ทิศ เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์ทรงเครื่องประดับพลอยต่างสี แต่ละพลอยล้วนมีราคามาก มีฉัตรทอง ๕ ชั้นกั้นเบื้องบน แลฐานบัวหงายสำหรับรองรับรัตนบัลลังก์ พระพุทธสมาธิอยู่เก็จย่อระวางกลางข้างบุรพทิศ เชิญพระพุทธสิหิงค์จำลองสมาธิ น่าตักศอกห้านิ้ว ขึ้นตั้งบนฐานบัวเก็จ พระพุทธสิหิงค์พระองค์เดิมน่าตักศอก ๕ นิ้วนั้น ตั้งบนบัวเก็จเบื้องทิศทักษิณ พระพุทธสมาธิน่าตักศอก ๕ นิ้ว ตั้งฐานบัวเก็จทิศอุดรพระองค์หนึ่ง มีฉัตรสุวรรณ ๕ ชั้น กั้นเบื้องบนทุกพระองค์

ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านข้อความข้างบนนี้หลายกลับ สำนวนฟังเพราะดี แต่ได้ความไม่ซึมชาบ คงได้ความรวมกันว่าเหมือนกับที่ทรงอธิบาย คำในนั้นมีอยู่หลายคำซึ่งเป็นคำฉเพาะ เช่น รัตนไพที บันใหญ่ บันแถลง กาบพรหมสร และ ทรงมัน เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าฯ เพียงเขาเขียนรูปให้ดู แต่จะแปลเอาความในคำไม่สู้ได้ คำว่า ไพที ได้ความจากปทานุกรม อธิบายไว้ว่าเป็นคำเดียวกับ เวที แลว่าในสํสกฤตก็เป็น เวที เหมือนกัน ถ้าเช่นนั้น ไพที ก็คงจะแผลงลงมาจาก เวที อีกต่อหนึ่ง ถ้า เวที กับ ไพที เป็นคำเดียวกัน ไฉนจึงใช้ ไวที ฉเพาะแท่นที่บูชา ไม่ปรากฏว่าเคยใช้ เวที แทน

เรื่องคำแผลง ข้าพระพุทธเจ้าสงสัยว่าจะไม่ใช่เป็นคำแผลงเสมอไปทุกคำ อาจเป็นคำที่ชาวอินเดียลางถิ่นใช้พูดเป็นปรกติ ภาษาไทยได้คำเหล่านี้เข้ามา เมื่อเอาเข้าปรับกับคำในภาษาสํสกฤตและภาษาบาลีไม่ได้กัน ก็บอกว่าเป็นโบราณแผลง ข้าพระพุทธเจ้าเคยสืบสาวที่มาของเรื่องรามเกียรติ์ พบชื่อบุคคลในรามเกียรติ์ หลายชื่อลงท้ายคำว่า อัน เช่น กุเปรัน สุมันตัน สอบถามผู้รู้ อธิบายไม่ได้ เพราะไม่ใช่รูปคำของสํสกฤตหรือบาลี จนได้ความจากพราหมณ์ ป.ส.ศาสตรี ว่า เป็นคำสํสกฤต ใช้ในภาษาทมิฬ ถ้าคำเป็นเพศชายในภาษาทมิฬต้องลงท้ายคำว่า อัน เช่น สุริย-สุริยัน ชีว-ชีวัน ถ้าเป็นเพศหญิงก็เป็น ไอ เช่น อภิธา-อภิธัย ประพา-ประไพ มาลา-มาไล ถ้าไม่มีเพศเป็น อัม เช่น ปุร-ปุรัม ปวาฬ -ปวาฬัม (ปวหล่ำ) กลศ-กลยัม (กละออม) ในภาษาทมิฬไม่มีเสียง ค์ ต้องใช้เสียง ย แทน คำ กลด ในภาษาอังกฤษเป็นแปลว่าหม้อน้ำมนต์ ยังใช้อยู่ในพิธีของบาดหลวง ว่าเป็นคำมาจากธาตุเดียวกับ กลศ คำว่า จรนำ มีผู้อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า เพี้ยนมาจากคำว่าจารึกนาม เพราะใช้จารึกในช่องนั้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่เชื่อ เกรงจะเป็นเรื่องอธิบายลากเข้าความ สอบถามพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ก็ว่าในภาษาทมิฬมีคำว่า จรพัม หมายถึงช่องประตู หรือหน้าต่างเตี้ยๆ เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงสงสัยคำว่า ไพที ว่าจะไม่ใช่คำแผลง อาจเป็นภาษาทมิฬก์ได้ แต่ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีโอกาศจะสอบถามพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ