- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
กรมศิลปากร
วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๘๒
ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๒ รวม ๒ ฉะบับ ทรงพระเมตตาประทานพระอธิบายหลายอย่างมายังข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้
ทับเกษตร์ ข้าพระพุทธเจ้าเข้าใจตามพระอธิบายได้แจ่มแจ้งดี ถ้าจะเทียบด้วย โรงทึมเผาศพ ก็น่าจะได้กับที่ต่อยื่นออกมาเป็นปีกของส่วนกลาง ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังผู้อธิบายถึงการปลูกโรงทึมในชนบท ว่าเขาเอาไม้ไผ่ที่ยาว ๔ ลำ มาบากปลายหักพับเพื่อสอดไม้ขื่อเครื่องผูก แล้วติดจันทัน ๔ ตัว พนมขึ้นไป เอาไม้ไผ่ท่อนหนึ่งผ่าข้างหนึ่งเป็นรูปกากะบาด ถ่างให้เป็น ๔ ขา ผูกเข้ากับจันทัน แล้วทำธงผ้าขาวรูป ๓ เหลี่ยมมีคันเล็กๆ เสียบปีกในท่อนไม้ไผ่ซึ่งเป็นอย่างเสาธง ปรุงเสร็จแล้วจึงยกขึ้น มีคนเท่าไรก็ช่วยกันยก ต้องยกทะแยงมุมกันคนละที ถ้าไม่ทราบวิธีก็ยกไม่ขึ้น ที่ปรุงไว้ก่อน เพราะถ้าปักเสาแล้วขึ้นไปต่อขื่อทำหลังคาไม่ได้ เพราะสูงมาก ตรงที่ยกขึ้นนี้เป็นที่ตั้งม้าร้านเผาศพ ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่า เรียกอะไร จะเรียกว่า ปรำ ก็ไม่ถนัด เพราะไม่ใช่ชะนิดหลังคาแบน แล้วต่อปีกจากที่เผานี้ออกมาเป็น ๔ ด้าน ว่าลางทีก็กว้างขวางใหญ่โตมาก ใช้เป็นที่พระสวด และกิจอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวกับการทำศพ หมดนี่รวมเรียกว่า โรงทึม ที่ใช้เป็นศาลาด้วยอย่างวัดจักรวรรดิ์เรียกว่า ศาลาโรงทึม ส่วนธงผ้าขาวว่ามีผู้ต้องการ เพราะถือว่าเอาไปลงยันตร์เป็นผ้าประเจียด ขลังมาก ที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยกราบทูลว่า ทึม มีในภาษามอญ แต่ค้นไม่พบ นายสุดว่าที่เผาศพมีหลังคา ทางอีศานเรียกว่า ทึม ลางทีอาจเป็นคำเดียวกัน แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่ได้ซักไซ้นายสุดให้ตลอด
คำว่า ทับ มีพวกเดียวกัน คือ ตูบ ในภาษาภาคอีศาน ซึ่งมักเข้าคู่กับ ปรำ ว่า ตูบผำ หรือ ตูบผาม และคำว่า กะต๊อบ และ กะท่อม คำ ตะโก๊ะ เลือนมาเป็น ตะโก สนิทจนดูเผิน ๆ ก็ไม่เฉลียว คำที่มีความหมายเลือนจนแปลได้อีกทางหนึ่ง นอกจาก ไห้ช้าง ยังมีอีก ๒ คำ คือ พอดู และ ดูถูก ดู ในคำแรก ในอีศานออกเสียงว่า ดุะ แปลว่า พอ ในภาษาไทยขาวคำว่า กินดุะ หมายความว่า กินพอ ถูก ในภาษาจีนมีคำว่า ดุก แปลว่า ทำให้เขาเปื้อนดำ หมิ่นประมาท ส่วนคำว่า ดู ในคำว่า ดูถูก อาจเป็นคำเดียวกับ หลู่
เรื่องเครื่องเรือน ข้าพระพุทธเจ้าเคยวานเขาชี้ส่วนต่างๆ ที่ตำหนักแดง ในพิพิธภัณฑสถานให้ดู แต่แล้วก็จำสับสนหมด จะเป็นเพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่ใช่ช่าง และนาน ๆ จะได้เห็นหรือใช้เขียน จึงทำให้จำไม่ได้แม่นยำ
ที่ทรงเห็นว่า การชักศพที่เอาเท้าไปหน้า จะหมายให้เดินไปอย่างคนเป็น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริ
หนังสือประชุมศิลาจารึกภาค ๒ ที่ต้องพระประสงค์ ที่หอสมุดแห่งชาติมีอยู่มากเล่ม ขอประทานถวายมากับหนังสือฉะบับนี้เล่ม ๑ เป็นของหอสมุดแห่งชาติถวาย
แบบโรยแป้งตั้งรูปเทวดานพเคราะห์ที่ทรงพระเมตตาประทานมาเป็นประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าสำหรับเป็นเค้าเมื่ออ่านเรื่องฝรั่ง ถ้าพบเรื่องเช่นนี้ก็ระลึกได้ไม่ผ่านไปเสีย พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ที่ทรงใช้คำว่า ตกใต้ ตกเหนือ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าเหมาะที่สุด เพราะกระทัดรัดและเข้าใจได้ทันที ดีกว่าเขียนว่า ตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งถ้าต้องจำเป็นเขียนซ้ำหลายครั้งก็เสียเวลามาก ความคิดในเรื่องทิศของไทยและจีนตรงกันที่ขึ้นต้นด้วยตะวันออกตะวันตกก่อน แต่ตรงข้ามกับฝรั่งที่ขึ้นต้นด้วยเหนือและใต้ก่อน ถ้า ตกใต้ ฝรั่งก็เป็น ใต้ตก เข็มชี้ทิศของจีนชี้ใต้ตรงข้ามกับของฝรั่งซึ่งชี้เหนือ จีนถือซ้ายเป็นใหญ่ แต่ฝรั่งถือขวา ในภาษาไทยก็พูดว่า ซ้ายขวา ดูเป็นทีว่าไทยเดิมจะถือซ้ายมาก่อน
เรื่องเซ่นแม่ซื้อ ที่ทรงพระเมตตาประทานข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ เมื่อพิจารณาดูวิธีที่ทำ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ข้าว ๔ ปั้นเข้าเรื่องกันดีกว่า ๓ ปั้น เพราะได้จำนวนกับ แม่ซื้อเมืองบน แม่ซื้อเดินหน แม่ซื้อเมืองล่าง และ แม่ซื้อใต้ที่นอน ที่มี แม่ซื้อหัวกะได จะเกินจำนวนไป คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า แม่ซื้อเมืองล่าง จะเป็นเมืองมนุษย์ เพราะในภาษาไทยลางถิ่นเรียกว่า เมืองล่าง คู่กับ เมืองบน ถ้า แม่ซื้อเมืองล่าง เป็นแผ่นดิน แม่ซื้อเดินหน อาจเป็นที่อยู่กลางอากาศอย่าง อันตลิเข ในบาลีหรือ อันตริกษ ของพราหมณ์ ที่วางก้อนข้าวสีดำลงใต้ถุน จะหมายสำหรับแม่ซื้อใต้ที่นอนหรือแม่ซื้อหัวกะได ก้อนข้าวสีขาวจะหมายถึงแม่ซื้อเมืองบน แต่ก้อนข้าวเหลืองและแดงกับแม่ซื้อเดินหนและแม่ซื้อเมืองล่าง ไม่ได้สนิท ตามที่กราบทูลมานี้ จะผิดถูกสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ
ที่ทรงแนะเรื่องแต่งศพนั่งว่าจะมีเค้ามาจากพวกตาด คิดด้วยเกล้าฯ ว่าจะถูกทาง เพราะพวกตาดได้พุทธศาสนาไปจากอินเดีย คงได้อะไรจากอินเดียหลายอย่างไปดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะกับของตน ข้าพระพุทธเจ้ามีเรื่องเวตาล และเรื่อง ท้าววิกรมาทิตย์ ซึ่งฝรั่งแปลจากภาษาตาด เค้าเรื่องยังบอกให้ทราบว่าเป็นของอินเดีย แต่เนื้อเรื่องและชื่อเสียงในเรื่องแก้เข้ารูปตาดหมด ลางทีเรื่องแต่งศพพวกตาด จะได้แบบอย่างการแต่งศพนั่งของพวกสันยาสีไปดัดแปลงเข้ารูปกับความเป็นไปของตน แล้วไทยได้มาอีกที เรื่อง ๑๒ นักสัตว์ ซึ่งเคยค้นหากันดั่งมีอยู่ในหนังสือวรรณคดีสมาคม ข้าพระพุทธเจ้าเคยสงสัยมาแต่แรกว่าจะเป็นของตาด แต่หาหนังสือค้นที่เกี่ยวด้วยพวกตาด ซึ่งมีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ก็ไม่พบ ภายหลังจึงได้ทราบเกล้า ฯ ว่านักปราชญ์ฝรั่งเศสคนหนึ่งได้วินิจฉัยเรื่อง ๑๒ นักสัตว์ ไว้นานแล้วว่า มีต้นเค้ามาจากตาด อยู่ในหนังสือชื่อ ตองเปา เรื่อง ๑๒ เหลี่ยม ที่ทรงแนะนำให้ข้าพระพุทธเจ้าอ่าน ข้าพระพุทธเจ้าจะได้อ่านสอบดูอีกหนหนึ่ง ท่วงทีจะเป็นเรื่องของตาด เพราะตามพงศาวดารว่าตาดเคยมาเป็นใหญ่อยู่ในเปอร์เซียคราวหนึ่ง เป็นพวกฮั่นขาวที่เคยยกเข้ามาตีอินเดีย ในสํสกฤตเรียกว่า หูณ เป็นตาดคนละพวกกับพวกพระเจ้ากนิษก ต่อมาตาดฮั่นขาวเมื่อหลุดอำนาจจากเปอร์เซียแล้ว ก็ไปตั้งอยู่ในแดนต่อกับอินเดีย เพราะฉะนั้น จึงเชื่อด้วยเกล้าฯ ว่า เรื่อง ๑๒ เหลี่ยมจะมีต้นเค้ามาจากตาด อันอาจสาวไปถึงเรื่องแต่งศพนั่งได้ด้วย ฝรั่งในนี้ซึ่งอาจทราบเรื่องเหล่านี้มีคนหนึ่ง คือ นายไซเดนฟาเดน นายกสมาคมค้นวิชาแห่งประเทศไทย เพราะมีความรู้ในเรื่องวิชาว่าด้วยเชื้อชาติมนุษย์ทางตะวันออก คงจะได้อ่านพบอะไรบ้าง ข้าพระพุทธเจ้าจะสอบถามเขาไป
ข้าพระพุทธเจ้าเคยสอบภาษาตาดกับภาษาไทยอยู่พักหนึ่ง เพื่อหาต้นเค้าคำลางคำ ถ้าหากตาดกับไทยสืบเค้ามาแหล่งเดียวกัน แต่ไม่พบพ้องกันแม้แต่คำที่ต้องมีมาแล้วแต่เดิม เช่น การนับเครือญาติ ส่วนร่างกาย กิริยาที่เป็นอาการสามัญ และคำที่มีประจำโลก เช่น ดินน้ำลมไฟ แต่ที่ฝรั่งเขาเอาหลักการกลายเสียงเข้าจับ ปรับให้เห็นเป็นคำเดียวกันในลางคำก็มี ก็ยังไม่แน่นแฟ้น เพราะภาษาคำโดดอย่างไทยและจีน อาจพ้องกันด้วยบังเอิญได้ง่าย ทั้งหลักภาษาตาดก็เป็นชะนิดต่อคำ มีอุปสรรคปัจจัยอย่างเขมร แต่จะไม่เชื่อเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะที่เด็กมีปานดำปานเขียวที่ก้น เมื่อเด็กโตขึ้นปานนั้นก็หายไป ฝรั่งว่าพวกตาดก็มี ส่วนชาวอริยกะไม่มีเลย
เรื่องฉาน เมื่อ ๒-๓ วันมานี้ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เสด็จมาที่หอสมุด ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลเรื่องฉานนี้ ตรัสว่ามีคำว่า พระโรงฉาน อยู่คำหนึ่งซึ่งดูเค้าจะเป็นพระโรงเปิดเผย เทียบกับศาลชำระความซึ่งเป็นที่เปิดเผยก็ได้ แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังค้นหาคำ ฉาน ซึ่งแปลว่าเปิดเผยไม่พบ พระธรรมนิเทศทวยหาญว่า ฉาน น่าจะหมายความว่า กระบวน แปลไปในทางว่า แตกขบวน แต่ก็ยังเป็นความลำบากเพราะเป็นคำโดด เพียงสันนิษฐานแต่เสียงและความหมายโดยไม่มีทางสืบสาวเรื่องราวของคำได้แล้ว ก็ได้แต่บันทึกไว้ทีเท่านั้น ข้าพระพุทธเจ้าลองค้นดูคำว่า Shan San และ Chan ในภาษากวางตุ้ง ก็พบคำที่มีเสียงและความหมายคล้ายกับคำไทยอยู่หลายคำ แต่ที่จดถวายอาจผิดระดับเสียง เพราะยังไม่ได้สอบเสียงอ่านกับคนจีน
คำว่า Shan มีคำที่แปลว่า
(๑) อีก ทำซ้ำ ต่อไป - ซ้ำ
(๒) ตนเอง ตัว - ฉัน
(๓) ที่ระโหฐาน พระราชวัง - สาน
(๔) คนรับใช้ คนบำเรอ เจ้าพนักงาน เสนาบดี ถ้าเป็นจางวางมหาดเล็ก เรียกว่า นอยใต้ซ้าน (ในใหญ่คนใช้) คำนี้ใกล้กับชื่อ นายจัน หรือ นายฉันหาดเล็ก
(๕) เฉือน ฝาน
(๖) ร้องไห้ เหลืองมักซ้าน ๆ แปลว่า สองแก้มน้ำตาอาบ คล้ายคำว่า โศกศัลย์
(๗) จาน
(๘) นินทา ทำให้เขาเสียชื่อ คล้ายคำประจาน
คำว่า San มีคำแปล
(๑) กระจาย แผ่ไปทั่ว พูดเลอะเทอะ ปล่อยไป-ซ่าน
คำว่า Chan มีคำแปล
(๑) ผ่า แตกออก - แตกฉาน
(๒) สั่น หวั่นกลัว - สั่น
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ตรัสอีกเรื่องหนึ่งว่า กรรมการชำระปทานุกรมคนหนึ่ง ไปทูลถามคำแปลว่า คาดกลอง นอกจากแปลว่า ตี จะหมายความว่าขึ้นกลองบ้างไม่ได้หรือ เพราะในพระราชนิพนธ์ รามเกียรติ์ แห่งหนึ่ง มีคำว่า คาดกลอง ในความที่ส่อไปว่า ยังไม่ทันได้ตี กรมหมื่นพิทย์ ฯ ทรงดำริถึงคำว่า ปี่พาทย์คาดกลอง ปี่พาทย์ราดตะโพน ความว่า คาด และ ราด ในที่นั้นจะแปลว่าอะไร ดูจะเป็นเรื่องตีกลอง ส่วนคำว่า ปี่พาทย์ ว่าเดิมใช้เป็น พิณพาทย์ แล้ว ใต้ฝ่าพระบาททรงแก้เป็น ปี่พาทย์ เพราะเราไม่ได้เล่นพิณอย่างอินเดีย แต่เราใช้ปี่ ส่วนคำว่า พาทย์ กรมหมื่นพิทย์ ฯ ทรงคิดเล่นว่าจะเป็นคำไทยบ้างไม่ได้หรือ จะหมายความว่าพัด อย่างลมพัด ก็คือลมเป่าได้บ้างกระมัง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าถ้าว่าโดยเสียงก็อาจเป็นได้ และเราก็มีคำว่า ปัดเป่า ปัด กับ พัด หรือ พาด ก็ใกล้กัน แต่ในภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ เท่าที่พบใช้แต่เป่า พัดยังไม่เคยพบ ในไตรภูมิพระร่วงตอนที่ว่าด้วยสวรรค์ ใช้คำว่า เป่ากลอง อยู่หลายแห่ง แต่ที่เป็น ตีกลอง ก็มี เป่า คำนี้อาจเป็นคำเดียวกับ โป่ ในภาษาไทยใหญ่ ซึ่งแปลว่า ตี คำในภาษาไทยซึ่งใกล้กับคำนี้ก็มีแต่คำว่า โบย ส่วน ราด ในคำว่า ราดตะโพน พระสารประเสริฐว่าจะมาจาก ระนาด กระมัง ดูก็เข้าที เมื่อพูด ระนาด เร็วเข้าก็เป็น ราด ได้ ความก็ไปกันได้
พระองค์เจ้าธานี ฯ ได้ประทานหนังสือที่ทรงแต่ง เรื่อง กลาโหม และ ทวาราวดี มาให้ข้าพระพุทธเจ้าอย่างละเล่ม คำว่า กลาโหม จะมาจากอะไร ข้าพระพุทธเจ้าเคยคิดไม่ตก พระยาอินทรมนตรีว่าจะมาจากคำ ตละ ในภาษามอญ แปลว่า เจ้า ส่วน โหม คือโรมรัน รวมกันหมายความว่า เจ้าแห่งรบ ในคำอธิบายของพระองค์เจ้าธานี ฯ ทรงกล่าวถึงคำว่า กะลามะพร้าว กะลา คำนี้ในภาษาชวาใช้ว่า กะลาปา หรือ กะหลาป๋า ถ้า กลาโหม เกี่ยวข้องกับ กะลา ก็น่าจะเป็นอย่างที่ในพิธีต่าง ๆ ของอินเดียมีมะพร้าวซึ่งเรียกว่า ศรีผล ใช้เข้าพิธีเสมอ แต่ตกในเรื่องเดาอย่าง ตละโหม คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า มหาดไทย กับ กลาโหม ต้องมาด้วยกัน แต่ก็แปลกันไม่ออกทั้งคู่ ถ้า มหาดไทย เลื่อนมาจาก มหาราชอุไทย กลาโหมก็น่าจะเป็น พระจันทร เข้าคู่กัน เพราะมีคำว่า กลา อยู่ด้วย
เรื่องทางเชียงใหม่ทำนกหัสดีลึงค์ในการเผาศพ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ลางทีจะเลียนอย่างมาจากอุตตรกุรุ ซึ่งคนในทวีปนั้น เมื่อตายแล้วก็เอาผ้าแดงห่อศพไปทิ้ง เพื่อให้นกหัสดินเฉี่ยวเอาไปกิน เป็นการพาเอาเสนียดมลทินแห่งศพไปเสีย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้า
ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์