๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๒ ตุลาคม ได้รับแล้ว

คำ จิ้มก้อง ทำให้สดุดใจสงสัยว่าจะแปลว่ากะไร ครั้นได้พบพระเจนจีนอักษรจึ่งถามดู ได้ความว่า จิ้ม แปลว่า ให้ ก้อง แปลว่าของกำนัล ซ้ำแกได้อธิบายให้ฟังอีก ว่าถ้าแกจัดของอะไรมาให้ฉัน ก็เรียกว่าจิ้มก้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นในคำว่าจิ้มก้อง ไม่เปนความร้ายแรงอะไร เว้นแต่คำ ขอหอง นั้น อาการหนัก เพราะ หอง แปลว่า แต่งตั้ง เขาจึ่งตั้งมาให้เปน เซียมโล ก๊กอ๋อง ตกเปนเมืองประเทศราชขึ้นเมืองจีน จิ้มก้องจึงตกเปนส่งบรรณาการมีกำหนด ๓ ปีต่อครั้ง จนถึงทวงกันขึ้น หากเปนความเข้าใจกันไปนอกคำเท่านั้น ถ้าไม่ได้ขอหองเปนช่องที่สมควรแล้วจัดของไปจิ้มก้อง ก็ไม่มีโทษอะไร

ท่านคิดจะแต่งตำนานศุลกากรนั้นดี แต่ฉันจะช่วยท่านไม่ถนัด ด้วยเปนเรื่องที่ไม่เคยคิดไม่เคยค้น ได้แต่จะบอกเค้าคำและความเท่าที่เคยทราบและคิดเห็น พอเปนเครื่องประดับปัญญาบารมีของท่านเท่านั้น ดังต่อไปนี้

คำ ศุลกากร เปนคำที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ผูกตั้งขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ ชี้ตัวได้ทีเดียว ก่อนนี้ดูเหมือนจะเรียกว่า ภาษีขาเข้าขาออก

ชื่อกรมท่านั้น คงได้เปลี่ยนมาถึงสามยก สังเกตชื่อเสนาบดี เห็นเปนว่าเดิมกรมนั้นคงมีชื่อว่ากรมพระคลัง ทีจะมีหน้าที่เก็บเงินทุกอย่างในแผ่นดิน แล้วหลุดไปคงเหลือแต่เก็บภาษีขาเข้าขาออก จึงได้ชื่อว่ากรมท่า แล้วภาษีขาเข้าขาออกก็หลุดไปอีก แต่เพราะรู้จักกับพวกต่างประเทศ ซึ่งเดินเรือเข้ามาค้าขายมาก จึงให้ทำธุระติดต่อกับชาวต่างประเทศ ชื่อกรมก็กลายเปนกรมต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ เปนที่สุด

กรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งมีพระยาราชภักดีเปนเจ้ากรม คิดว่าแต่ก่อนเห็นจะไม่มีหน้าที่เก็บส่วยสาอากร จะมีหน้าที่แต่เปนผู้รักษาเงิน ซึ่งกรมพระคลังเก็บส่งมาให้ ทั้งมีหน้าที่แต่จ่ายตามรับสั่งพระเจ้าแผ่นดิน ทีหลังแก้ไขให้อำนาจพระยาราชภักดีเก็บส่วยสาอากรลางอย่างได้ด้วย

คำว่า ด่าน เห็นเดิมจะไม่ใช่ที่เก็บเอาเงิน เปนที่ตั้งกองรักษาเขตต์แดน มีคำอยู่ว่า เมืองหน้าด่าน หรือชื่อเมืองก็มี เช่น เมืองด่านซ้าย แล้วเอาพนักงานเก็บเอาเงินไปฝากเข้า ด้วยเปนการง่าย ไม่ต้องปลูกที่พักอีกต่างหาก แต่การเก็บเอาเงินแรงกว่า เพราะมีการทำทุกวัน จึงลากเอาด่านมาเปนที่พักเก็บเอาเงินไปเสีย

คำว่า ภาษี เปนภาษาอะไรก็ไม่ทราบ เห็นจะไม่ใช่หมายความว่าเงินที่เก็บเอา คงจะแปลว่าใหญ่ ว่ามาก มีอย่างในกฎมณเฑียรบาลว่า ทรงพระกรุณาให้เอาช้างใส่งาด้วยพระที่นั่งไซ้ ช้างนั้นมีภาษี ช้างพระที่นั่งต่ำตาให้ทูลขอถวายชีวิตร อีกบทหนึ่งว่า อนึ่งพระที่นั่งเสดจ์เข้าต่อเถื่อน และเถื่อนมีภาษี พระที่นั่งต่ำตาอย่าควาน ๆ อย่าให้ขอ อนึ่งจะทรงบาศแลเถื่อนมีภาษีก็ดี ตรัสเรียกบาศอย่ายื่น ที่มาเข้าใจว่าเปนเงินเก็บเอานั้น น่าจะหลงเลื่อนความหมายมาจากคำ ประมูลภาษีอากร ประมูล ก็คือประมวล เปนความหมายว่ารวบรวมอาการส่วนใหญ่หรือส่วนมาก

การเก็บอากร ถ้าว่าตามรูปการก็เปนสองอย่างเท่านั้น คือ อากรภายใน ได้แก่การเก็บค่านาเปนต้นนั้นอย่างหนึ่ง กับ อากรภายนอก ได้แก่ภาษีขาเข้านั้นอย่างหนึ่ง แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาล ตามเอกสารที่ท่านพบนั้นเปนเรื่องผันแปรแก้ไขไปให้สมควรแก่การแล้วทั้งสิ้น ถ้ารู้ตลอดไปได้ทุกระยะก็ดี แต่กลัวจะไม่ได้ ด่านภาษีที่ตั้งอยู่ตามแม่น้ำลำคลองก็คือด่านภาษีขาเข้าที่ชายแดนนั้นเอง แต่ทำไมจึงเลื่อนเข้ามาข้างในไม่ทราบ เก็บภาษีภายในขึ้นเปนสองซ้ำ ไม่เห็นดีอะไร ส่วนอากรผูกขาดนั้นเจ๊กเขาขอ เช่น อากรรังนก เปนต้น แต่ก่อนเราก็ไม่เคยได้ เขาขอผูกไปเราก็ได้เงินขึ้นเปนอติเรกลาภ จึ่งอนุญาตให้ผูกขาดไป เหล่านี้เปนเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมทั้งนั้น

คำ จังกอบ พบมาแต่ก่อนก็ผ่าน ๆ ไป จนกระทั่งเห็นเอาใช้ที่หัวหินจึ่งสดุ้งใจขึ้น ครั้นไปเฝ้าเยี่ยมกรมพระนราธิป ที่ฉอำ ก็ไปงัดขึ้น ท่านตรัสบอกว่าเปนคำมลายู หมายถึง พังงา คือคันที่ถือหางเสือเรือ เห็นไกลมาก ควรจะดูสอบพจนานุกรมภาษามลายู แต่ฉะบับที่บ้านไม่มีก็เลยระงับ ครั้นพบคำ จกอบ เข้าในหนังสือจารึกศิลา จำหน่ายว่าเปนภาษาเขมร ก็ได้พลิกพจนานุกรมภาษาเขมรดู แต่ไม่มี การที่ไม่มีก็ไม่ประหลาดอะไร อาจเปนคำเก่าซึ่งตายแล้ว เขาไม่เอามาลงไว้ในพจนานุกรมก็ได้ แต่นั้นก็ได้ตั้งหน้าสังเกตคำ จังกอบ ว่าจะหมายความว่ากะไร แต่จับไม่ได้นอกจากว่าเปนการเก็บเงินอย่างหนึ่ง กลัวจะเปนคำเดียวกับอากร อากร เปนภาษามคธ จังกอบ เปนภาษาไทย หรือเขมร อะไรก็ตามที

ขนอน มีคนบอกว่าคือ ตลาด แต่ฉันไม่สู้เชื่อ เพราะยังจับหลักว่าเปนเช่นนั้นไม่ได้แม่น ให้สงสัยไปว่าจะเปนอันเดียวกับที่เรียกว่า ด่าน คือที่เก็บอากรนั้นเอง ทั้งนี้ก็ต้องกับความเห็นของท่าน ซ้ำท่านค้นคำ ขอน มาได้ ว่าหมายถึงอากรต่าง ๆ เมื่อยืดคำนั้นก็เปน ขนอน ก็เปนที่เก็บอากรสบกันเข้าด้วย อย่างเดียวกับ เกย = เขนย

ส่วย ฉันเคยคาดมาแต่ก่อนว่า จะเปนคำเดียวกับ ชำร่วย=ชร่วย คือช่วย แต่ท่านมาค้นพบว่า ส่วย เปนคำจีน ที่ฉันคาดไว้แต่ก่อนก็เปนล้มไป

ข้าวเม่า เอาเปนตกลงว่า เม่า แปลว่าทำให้แบน จะทำด้วยวิธีไรก็ตามแต่จะทำได้ แดก แปลว่า ทำให้แหลก ตรงกับคำ ตำ แน่

เสื้อครุย แต่ก่อนข้าราชการจะใส่กันอย่างไรไม่ทราบ ทราบว่า ข้าราชการเฝ้ากันตามปกตินั้น เนื้อเถะ และทราบว่าหมอช้างที่ขี่ช้างผัดพานหน้าพลับพลาก็ใส่เสื้อครุยดันเข้าไปกับเนื้อ มีพวงมาลัยสวมข้อมือ จะว่าข้าราชการทั้งปวงใส่เสื้อคลุยกับเนื้อเหมือนกันก็สงสัย จะไม่มีเสื้อในใส่ชั้นหนึ่งก่อนทีเดียวหรือ เสื้ออย่างน้อยก็มีมานานแล้ว นี่แหละเขียนรูปเรื่องพงศาวดารจึงยากนัก ฉันกลัวเต็มที ด้วยเราไม่รู้ว่าเวลานั้นเขาแต่งตัวอย่างไรกัน

ว่าถึงส่วนเมืองเรา อันเสื้อครุยนั้นจัดว่าเปนยนิฟอม ใช้อยู่สามวิธี สวมสองแขนแสดงว่าอยู่ในหน้าที่ ม้วนคาดพุงแสดงว่าอยู่นอกหน้าที่ สวมแขนเดียวอีกแขนหนึ่งพาดเฉียงบ่า แสดงว่าอยู่ในหน้าที่เข้ากรรม

ธรรมเนียมปลดผ้าโพก ที่ท่านเล่าก็เท่ากับลดร่มหุบ การถอดเสื้อออกคาดพุงที่ท่านเล่า ก็เท่ากับลดผ้าขาวม้าพาดบ่าลงคาดพุง ไม่ผิดไปจากทางข้างไทย ที่ผิดไปตรงกันข้ามนั้นมีพม่า ฉันไปเห็นก็นึกขัน ด้วยปกติของพวกพม่าเขานุ่งลอยชายกัน ถ้าใครโจงกระเบนแล้วเปนว่าเตรียมตัวจะชกต่อยตีรันฟันแทง ตกว่าเปนนักเลง ถ้ามีผู้มีอำนาจวาสนามาพะเข้าก็ต้องปลดชายกระเบนเปนเคารพ ตรงข้ามกับทางเรา ถ้านุ่งลอยชายอยู่ผู้มีอำนาจวาสนามาพะเข้า ก็ต้องรวบชายโจงกระเบน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ