- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๔๘๒
พระยาอนุมานราชธน
หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๓ ฉะบับ กับคำแต่งเรื่องทำการศพอีก ๒ ฉะบับ ได้รับแล้ว ดีมากทีเดียว ขอบใจท่านเปนอย่างยิ่ง หนังสือเหล่านี้ท่านมีให้ไปนานแล้ว แต่ฉันเพิ่งได้รับ จะรวมตอบในที่นี้เปนฉะบับเดียว
ในการที่กองอาลักษณ์ประทับพระราชลัญจกรให้ท่านมานั้น เปนเคราะห์ดีเต็มทีอย่างได้ลาภ ฉันอยากทราบอยู่ทีเดียว ว่าพระราชลัญจกรนามกรุงนั้น มีหนังสือในนั้นว่ากะไร ตั้งใจจะบอกมาให้ท่านขอ แต่ไม่ทันบอก ก็ได้มาเสียแล้ว ฉันได้คัดไว้แล้ว
พระราชลัญจกรนามกรุง สยามโลกัคคราช กับ พระบรมราชโองการ องค์สี่เหลี่ยมตัดมุมนั้น สร้างในรัชชกาลที่ ๔ เปนฝีมือทำในเมืองนี้
พระราชลัญจกรไอยราพต องค์ใหญ่ทำด้วยโลหะสีเงิน มีด้ามไม้ดำต่อ องค์กลางทำด้วยโมราสีน้ำผึ้ง แกะสองด้าน ด้านหน้าเปนไอยราพต อย่างที่เห็นในตัวอย่างนั้น ด้านหลังเปนหนังสือฝรั่งหลายบรรทัด แต่จะว่ากะไรฉันไม่เคยอ่าน มีด้ามโลหะสีทองกุดั่น มีควงขันคาบโมราไว้ เปนฝีมือฝรั่งทำ แต่จะทำในรัชชกาลที่ ๔ หรือที่ ๕ ฉันไม่ทราบ
พระราชลัญจกรมหาโองการองค์กลาง กับ พระราชลัญจกรจักรรถ ฉันเขียนถวายในรัชชกาลที่ ๕ เคยให้อธิบายไว้ก่อนแล้ว พระราชลัญจกรครุฑพาห องค์ใหญ่ กับ หงสหิมาน ฉันก็เขียนถวาย สัญญาในใจว่าในรัชชกาลที่ ๕ แต่มีหนังสือประกาศเปนรัชชกาลที่ ๖ หนังสือจะต้องแม่นกว่าความจำ แต่อาจเปนเขียนถวายแต่ในรัชชกาลที่ ๕ เพิ่งมาประกาศในรัชชกาลที่ ๖ ก็ได้เหมือนกัน อย่างไรก็ดี พระราชลัญจกร ๒ องค์นี้ทำขึ้นพร้อมกันเปนแน่นอน ด้วยเดิมมี พระราชลัญจกรครุฑพาห องค์กลาง (รูปมนรี) ใช้อยู่ ครั้นสร้างครุฑพาหองค์ใหญ่ขึ้นใช้ประทับพระปรมาภิไธยแทนอามแผ่นดิน ก็ซ้ำกันกับครุฑพาหองค์กลาง จึงสร้างหงสพิมานขึ้นเปลี่ยนแทนครุฑพาหองค์กลางนั้น
พระราชลัญจกรสำหรับประทับประกาศนียบัตร เครื่องราชอิสสริยาภรณ ๕ องค์นั้น สร้างในรัชชกาลที่ ๕ แต่ฉันไม่ทราบอะไรมากไปกว่าที่บอกไว้นี้
พระราชลัญจกรดุนกระดาษ เคยเห็นมีมาตั้งแต่ฉันยังไม่เปนภาษาอะไร แต่เปนในรัชชกาลที่ ๕ แน่ เรียกกันว่า ตราพระบรมราชโองการ ถ้าจะคิดคาดก็คงเปนดำริที่จะตีสองหน้า คือพระราชหัตถเลขาแต่ก่อนใช้ประทับพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการเปนสำคัญ แล้วเก็บเอาเครื่องหมายซึ่งมีในพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการเก่านั้นแต่ลางอย่าง มาทำเปนตรากระดาษอย่างฝรั่ง เพิ่มเติมอะไรเข้าลางอย่าง ที่มาเปนตรากระดาษ มีกระจัดกระจายอยู่มากมายนั้น ก็เพราะความสำคัญเลื่อนไปอยู่ที่ทรงเซนพระปรมาภิไธยเสียแล้ว พระราชลัญจกรไม่เปนสิ่งสำคัญเหมือนแต่ก่อน
สำเนาประกาศ ๔ ฉะบับซึ่งคัดส่งไปให้ดูนั้นดี แต่มีผิดอยู่หลายแห่ง จะเปนผิดที่ต้นฉะบับหรือสำเนาที่คัดไม่ทราบ ได้ตกตัวดินสอแก้แต่ลางคำ ส่งกลับคืนมาให้นี้แล้ว สำเนาฉะบับ ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๒๗) นั้น ก็คือฉะบับที่ฉันจดมาให้ท่านนั้นเอง แต่ฉันจดมาก็ผิด ร.ศ. ๑๑๓ เปน ร.ศ. ๑๓๐ ไป และที่แสดงความไม่รู้แน่มา ว่าตราบุษบกตามประทีปกับตราพระเพลิงทรงรมาต จะพระราชทานตราดวงไหนไปก่อนนั้น ท่านก็ค้นได้ประกาศ ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๒๘) มา มีความปรากฏชัดอยู่แล้ว ว่าพระราชทานตราบุษบกตามประทีปไปก่อน แล้วพระราชทานตราพระเพลิงทรงรมาดเปลี่ยนไปทีหลัง ทำให้ปรากฏขึ้นอีกด้วย ว่า ตรานารายน์ทรงปืน กับ ตรามัตสยาวตาร นั้น ก็พระราชทานไปเปลี่ยนทีหลังเหมือนกัน
พงศาวดารเหนือนั้น ที่จริงเปนนิทานพื้นเมือง คือได้ฟังผู้ใหญ่เล่ามาแล้วก็เก็บเอามาเขียนขึ้นเปนหนังสือ ความหลงอยู่ที่ธรรมดาคนแต่ก่อนย่อมเชื่อผีถือผี จะให้ใครมีบุญก็ต้องเอาผีเข้ามาประกอบ นิทานเช่นเรื่องพระร่วง พระสี่เสา พญาแกรก พญาโคตรบอง อะไรเหล่านี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่มีแต่เมืองเรา แม้ในต่างประเทศที่ใกล้เคียงเขาก็มี สาใจเต็มที่ที่ท่านว่าเรื่องพระร่วงได้มาแต่อินเดีย เปนเรื่องของกษัตริย์ปัลลวะ ฉันเชื่อทีเดียว เขาเอาผีกับคนซึ่งต้องการจะให้เปนผู้มีบุญปนกันมานานแล้ว จึ่งพาให้หลงไปว่า นิทานเรื่องผีปนคนนั้นเปนพงศาวดาร เลยให้ชื่อว่า พงศาวดารเหนือ เปนการผิดไปมาก ถ้าให้ชื่อว่านิทานเมืองเหนือแล้วจะเปนสิ้นถ้อยร้อยความอะไรหมด
ท่านเขียนชื่อท้าวภัณฑสารรักษานั้นผิด ที่ถูกเปน ท้าวภัณฑสารนุรักษ์
เรื่องพื้นถาก ท่านคิดว่าเพราะไม่มีเครื่องมือนั้นถูกแล้ว ฉันเคยได้ยินเขาพูดกัน เปนเสียงมาทางเหนือ ว่าอะไรๆ ก็สำเร็จไปด้วยพร้า (ขัดหลัง) คนละเล่มทั้งนั้น เขาว่ากระดานพื้นก็เอาไม้ซุงมาผ่าจักเปนกระดาน เอาพร้าฟันนำทางแล้วเอาลิ่มตอก เมื่อแตกออกเปนกระดานอย่างหนา ๆ แล้ว ก็เอาพร้าถากปู ตำหนักแตงซึ่งท่านเอามาอ้างเปนอย่างนั้น เปนของที่รื้อย้ายไปปลูกซ่อมทำหลายแห่งหลายทอดมาแล้ว ฉันเกรงว่าเวลานี้จะมีของเก่าเหลืออยู่แต่ชื่อเท่านั้น
ได้ทราบคำเล่าบอกของท่าน ในเรื่องมีความเห็นแย้งกันถึงการเขียนคำในปทานุกรม ทำให้นึกถึงคำที่เขาลงหนังสือพิมพ์เคยอ่านพบ เขาว่าอ่านผิดนั้นเปนความโง่ของคนอ่าน ไม่ใช่ความผิดของคนเขียน แต่คนเขียนเองก็เต็มปล้ำ ฉันชอบใจเสียเหลือเกิน เห็นถูกที่สุด
ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่ส่งคำแต่งเรื่องประเพณีทำศพไปให้อ่าน ฉันขอเอาไว้อ่านก่อน แล้วจะส่งคืนมาให้ท่านในภายหลัง
เขาว่า อาว เปนปุงลึงค์ อา เปนอิตถิลึงค์ ความจริงมีเพียงไร ท่านจะบอกได้หรือไม่ คำเหล่านี้อยู่ข้างจะประหลาด ลุง เปนปุงลึงค์ ป้า เปนอิตถีลึงค์ ใช้เหมือนกันทั้งพี่ของพ่อและพี่ของแม่ แต่ส่วน อา กับ น้า ไม่กำหนดลึงค์ แต่กำหนดว่า อา เปนน้องของพ่อ น้า เปนน้องของแม่ ยักกั๊กกันไป ถ้าเชื่อว่า อาว กับ อา เปนปุงลึงค์กับอิตถีลึงค์ คำ น้า ก็เหิรเห่อ ทั้งขัดกับทางฝ่ายพี่ด้วย อนึ่ง คำที่เรียกกันว่า หลาน เหลน เปนต้นนั้น ก็เรียกกันแต่ปาก ครั้นถึงเขียนหนังสือเข้า จะเลื่อนไปกี่ชั้นก็เรียกว่าหลานทั้งสิ้น นี่เปนเพราะอะไร