๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

ฉันแต่งหนังสือถึงท่าน จะให้ความเห็นเรื่องพระตราอักษรจีน เหตุด้วยรู้เรื่องก้องเมืองจีนมาพอที่จะเดาเรื่องต่อไปได้ แต่ยังไม่ทันให้ดีดพิมพ์ ลูกชายยาใจก็เอาหนังสือของท่าน ซึ่งลงวันที่ ๒๒ กันยายน พร้อมทั้งสำเนาต่าง ๆ ไปส่งให้ อันเปนเรื่องก้องเมืองจีนเหมือนกัน จึงจำต้องงดหนังสือซึ่งแต่งไว้ก่อน เพื่ออ่านหนังสือซึ่งท่านส่งไปให้เสียก่อน บัดนี้อ่านหมดแล้ว จึ่งจะรวมความให้เนื้อเห็นแก่ท่านดั่งต่อไปนี้

เรื่องก้องเมืองจีน ในสมุดชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ก็มี อยู่ที่หน้า ๕๙ เปนต้นไป ประกอบสำเนาเรื่องก้องเมืองจีน ซึ่งท่านส่งไปให้ดูคราวนี้ ปรากฏความว่า ผู้คุมก้องของเราไปเมืองจีน ต้องไปขึ้นที่เมืองกวางตุ้ง และต้องมีหนังสือนำถึงใครต่อใครอีก ยังผลให้เกิดความเข้าใจผิดกันขึ้นในเรื่อง หนังสือ และ ตรา

ตามเหตุอันนั้นพาให้นึกเห็นไปว่า บรรดาพระตราซึ่งเปนอักษรจีน จะเปนของใช้สำหรับประทับไปเมืองจีนแต่โดยจำเพาะ ในเมืองไทยไม่เห็นมีที่จะใช้ประทับอะไร องค์ที่มีคำ เก่า-เม่ง จะสำหรับใช้ประทับหนังสือนำถึงจงต๊กเมืองกวางตุ้งและลิปูตาทั่งกระมัง องค์ที่มีแต่คำ เซียม-ก๊ก-แต้-เจี่ย จะใช้ประทับคำแปลพระราชสาส์นดอกกระมัง องค์ที่มีคำ ยี-อ๋อง เปนแน่ว่าสำหรับวังหน้า สืบมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน ลางทีครั้งโน้นจะได้แต่งบรรณาการไปก้องด้วยส่วนหนึ่งกระมัง การขนานพระปรมาภิไธยเปนจีนนั้นดูก็เปนการจำเปน ด้วยหนังสือจีนเขียนภาษาต่างประเทศไม่ได้ อาศรัยเรื่องซึ่งกรมพระนเรศรตรัสเล่าให้ฟัง ว่าเมื่อครั้งประทับเปนราชทูตอยู่ ณ เมืองอังกฤษ ถึงวันประสูติก็ทรงเชิญราชทูตเมืองต่าง ๆ มาเลี้ยงดู ราชทูตเมืองจีนเขียนคำถวายพระพรลงในพัดด้ามจิ้วมาถวาย ลงพระนามว่า นา-ลี-แฉ ทูลว่าหาคำซึ่งใกล้พระนามได้ที่สุดเพียงเท่านั้น อันพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ของเรา ซึ่งบัญญัติเปนแซ่แต้ เหมือนพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น จะสมมตว่าเปนแซ่อะไรก็ได้ ด้วยเราไม่มีแซ่เหมือนอย่างจีน แต่เราชอบกันว่า ถ้ากษัตริย์ผู้ครองแผ่นดินเปนวงศ์เดียวต่อกันยืดยาวแล้วเปนดี จึ่งได้บัญญัติให้พระเจ้าแผ่นดินของเราทุกพระองค์เปนแซ่แต้ เหมือนหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าก็นับว่าเปนวงศ์พระเจ้าอู่ทองตลอดมา แต่ที่จริงหาใช่ไม่ เปลี่ยนไปเปนหลายพระวงศ์ อันพระนาม ฮุด นั้น หมายเอาทรงพระผนวชในพระพุทธศาสนาแน่ แต่เห็นจะมีความหมายอยู่พระนามเดียวเท่านี้ ส่วนพระนาม ฮั้ว หรือ ฟ้า นั้น เห็นจะไปได้แก่พระนาม พระพุทธยอดฟ้า เข้าโดยบังเอิญ เพราะพระนาม พระพุทธยอดฟ้า นั้น บัญญัติขึ้นภายหลังเมื่อในรัชชกาลที่ ๓ เอาพระนามพระพุทธรูปสนองพระองค์ ซึ่งได้ทรงสร้าง แล้วประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเปนนิมิตร โดยได้ยินพูดกันว่าในเวลาโน้น คนเรียกรัชชกาลที่ ๑ กันว่าแผ่นดินต้น เรียกรัชชกาลที่ ๒ ว่าแผ่นดินกลาง เปนเหตุให้ทรงพระราชวิตกว่า แผ่นดินของพระองค์จะมิตกเปนแผ่นดินปลายไปหรือ จึงทรงบัญญัติให้ใช้พระปรมาภิไธยตามพระพุทธรูปสนองพระองค์ รัชชกาลที่ ๑ ให้เรียก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอฟ้าจุฬาโลก รัชชกาลที่ ๒ ให้เรียก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย จะได้เรียกพระนามเช่นนั้นมาแต่ปัจจุบันสมัยแห่งรัชชกาลทั้งสองนั้น ก็หามิได้ เสียดายที่พระตราอันเปนอักษรจีนซึ่งท่านส่งไปให้ดูแต่ก่อน หย่อนความเอาใจใส่ไปเสียหน่อย ไม่ได้ส่งไปไห้พระเจนจีนอักษรช่วยพิจารณา แต่ไม่ไปไหนเสีย ถ้าท่านอยากรู้ จะเลือกหยิบเอาพระตราซึ่งเปนอักษรจีนส่งไปอีกทีก็ได้ ฉันจะให้พระเจนจีนอักษรช่วยตรวจดู หรือท่านจะส่งไปเองก็ได้เหมือนกัน ลำบากหน่อยที่พระตราเหล่านั้นโดยมากเปนอักษรตัวยี่ แต่พระเจนมีตำรา อาจค้นคว้าเอาได้มาก จะขาดบ้างก็น้อย คงดีกว่าไม่รู้อะไรเสียเลย

ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่มีเมตตาส่งสำเนาคำปรึกษา ในเรื่องส่งก้องเมืองจีนในรัชชกาลที่ ๕ ไปให้ดู ฉันไม่เคยเห็น เปนแต่เมื่อเล็กๆ เคยได้ยินโจษกันถึงเรื่องจีนทวงก้อง และได้ปรึกษาเกาซิลกันเปนการใหญ่ แต่คำปรึกษาจะเปนประการใดหาทราบไม่ ในปึ๊งที่ ๒ ซึ่งมีจดไว้ข้างหน้าว่าใครเห็นควรไปไม่ควรไปและควรรอนั้น ฉันอ่านข้อความในความเห็น เห็นเปนว่าจดผิดอยู่ ๒ ชื่อ คือพระดำริสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์กับความเห็นพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี จดว่าไม่ควรไป แต่อ่านข้อความเห็นเปนว่าควรรอฟังหนักเบาดูก่อน ในการที่มีทวงก้องจนถึงได้ปรึกษาหารือกันนั้น เปนเหตุพอที่ส่องให้เห็นว่า การขนานพระปรมาภิไธยและทำพระตราเปนอักษรจีนเตรียมขึ้นไว้นั้น เปนการกระทำด้วยมีมูล ไม่ใช่เหลวไหล อนึ่ง ในปึ๊งที่ ๓ จดนามสกุลพระยาอภัยรณฤทธิลงไว้โดยคาดคะเนว่า ยมาภัย นั้นผิด ที่แท้พระยาอภัยรณฤทธิเปนลูกเจ้าพระยาภูธราภัย ชื่อ แย้ม นามสกุลต้องเปน บุญรัตพันธ์ ได้ส่งหนังสือทั้งนั้นกลับคืนมานี้แล้ว

มณฑป ทางบาลีว่าเปนโรงกำมลอ ปราสาท เปนเรือนชั้น หลังคาตัดก็ได้ บุษบก ชื่อเปนทำด้วยดอกไม้ รถซึ่งทศกรรฐชิงมาได้จากกุเปรันเรียกว่า บุษบกเกสร สมเปนว่าแต่งที่นั่งด้วยดอกไม้ ดูล้วนแต่ไม่จำต้องเปนยอดทั้งนั้น คำเรือนยอดในภาษาบาลีกี คือ กูฎาคาร แต่ไม่ได้เอามาใช้

ถะ ที่ว่าเปนคำเดียวกับ ถูป ไม่สมัครลงเนื้อเห็นด้วย เกรงว่าเห็นเสียงใกล้กันก็จะลากเอาไปใส่กันเข้า ถะ ไปทางปราสาท ถูป เปนกองดิน ผิดกันมาก ดูเหมือน ถูป คือ พระสถูป ข้างจีนก็มี แต่เขาจะเรียกอะไรไม่ทราบ

ข้าวจ้าวข้าวเหนียว เคยคิดมาทีหนึ่งแล้ว ถามทางลาวเขาก็มีคำ ข้าวจ้าวข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งคือข้าวเหนียว นึกว่าข้าวจ้าวเปนข้าวที่จ้าวชอบกิน แต่ท่านบอกให้คราวนี้ว่า ข้าวจ้าว เปนคำอาหม หมายความว่าข้าวที่ใช้หุงต้ม ดีกว่าที่คิดคาดมาแต่ก่อนมาก พูดถึง ข้าว จะขอความช่วยแต่ท่านต่อไปอีก ได้เห็นหนังสือแจกงานศพเจ้าแก้วนวรัฐ ว่าด้วยพิธีต่าง ๆ ทางเมืองอุบล ในนั้นมีคำว่า ข้าวพอเม่า ก็มาสดุดใจ ด้วยแต่ก่อนร่อนชะไรเข้าใจแต่เผินๆ ว่า ข้าวเม่า เปนชื่อข้าวชะนิดเม็ดแบน ๆ บัดนี้มารู้สึกขึ้นว่า เม่า นั้นเปนการกระทำ จึ่งนึกไปว่า ข้าวเม่า นั้นเขาตำ น่าจะเปน เม่า แปลว่า ตำ แต่ทราบมาก่อนนั้นว่า ตำ เขาว่า แดก จึ่งพาให้สงสัย ทราบแน่อย่างไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านพบคนที่เขาอยู่ทางลาวกาว ก็ช่วยถามเขาบอกให้ทราบด้วยว่า เม่า หมายว่ากะไร แดก หมายว่ากะไร

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ