๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

จะบอกอธิบายถึงตราชาดและตราครั่ง ตามที่ส่งไปให้ดูโดยหนังสือนำลงวันที่ ๕ มิถุนายน แต่จะบอกได้เปนลางดวงเท่าที่รู้และคาดได้ ดังต่อไปนี้

ตราพระเกี้ยว ๓ องค์ ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงเลข ๔ เปน ตราสยามมกุฎราชกุมาร (พระนามนี้ทีหลังตัดคำ สยาม ออก คงเหลือแต่ มกุฎราชกุมาร) ตรานี้คิดผูกขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ ท่านจงเข้าใจเถิด ว่าที่มีขนนกการเวกแผ่อยู่ข้างหลังพระเกี้ยวนั้น เปนตรา (สยาม) มกุฎราชกุมาร เอาอย่างมาแต่ตรา ปรินศ์ ออฟ เวลส์ แห่งเมืองอังกฤษ ซึ่งเปนกำขนนกออสตรีตอยู่นั้น ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงเลข ๓ เปนฝีมือฝรั่งทำ สันนิษฐานว่าราชทูตสยามคงทำส่งเข้ามาถวายแต่เมืองนอก จะเปนครั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณทิศก็ได้ หรือจะเปนครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อดำรงพระยศเปนมกุฎราชกุมารอยู่ก็ได้ ส่วนองค์ที่หมายเลข ๔ นั้น เปนตราแกะในนี้ เพื่อให้เปนตราไท คงจะได้ประทับฎีกาเบิกเงินด้วยตราดวงนี้ ท่านควรทราบว่า ฎีกาเบิกเงิน นั้น เปนสิ่งซึ่งต้องประทับตราอยู่ทีหลังสิ่งอื่นหมด

ตราวชิร (อาวุธ) องค์ใหญ่ (หมายเลข ๖) เปนตราชาดประจำพระองค์สำหรับใช้การในพระองค์ ฉันเขียนถวาย ถ่ายขนาด และเอาท่าทางอย่างตราประจำพระองค์ สำหรับการในพระองค์ แห่งรัชชกาลที่ ๔ และที่ ๕

ตราวชิร (อาวุธ) องค์น้อย ซึ่งเปนตราประจำชาด ประทับไว้สองดวง หมายเลข ๗ กับเลข ๘ เข้าใจว่าเปนพระตราต่างองค์กัน ด้วยสังเกตเห็นลายในผิดกันอยู่บ้าง ช่างเขาทำถ่ายขนาดจากพระตราในพระองค์ องค์น้อยในรัชชกาลที่ ๔ ที่ ๕ และถ่ายลายข้างในจากพระตราองค์ใหญ่ซึ่งฉันเขียนถวาย

ตราวชิร (อาวุธ) ประจำครั่ง มีถึง ๗ องค์ ตั้งแต่หมายเลข ๗ (ซ้อน) เลข ๘ (ซ้ำ) เลข ๘/ก เลข ๙ เลข ๑๐ เลข ๑๑ และเลข ๑๑/ก อยู่ข้างจะฟุ่มเฟือยเกินใช้ เข้าใจว่ามีใครทำมาถวาย ด้วยมิใช่ต้องพระราชประสงค์อยู่บ้างในนั้น

พระตราครุฑพ่าห์ ประจำรัชชกาลที่ ๖ หมายเลข ๑๔ เห็นที่ขอบมีหนังสือว่า พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ ทำให้แจ้งได้ว่า ตราองค์นี้ทำขึ้นเปลี่ยนองค์เก่า เมื่อเปลี่ยนพระนามมีคำ รามาธิบดี นำ ลายกลางนั้น เอาอย่างองค์ที่ฉันเขียนถวายเมื่อรัชชกาลที่ ๕

ตรานารายน์มัศยาวตาล ซึ่งหมายเลข ๓๐ โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๕ พระราชทานแก่ผู้บัญชาการทหารเรือ ฉันคิดเขียนรูปถวายและถวายความเห็นให้เรียกว่า ตรามัตสยาวตาร

ตรานารายน์ทรงระมาด หมายเลข ๓๒ เปนตราเก่า ไม่เห็นควรเรียกว่า นารายน์ เพราะมีแต่สองกร เมื่อรัชชกาลที่ ๕ โปรดพระราชทานไปแก่กระทรวงธรรมการ เวลานั้นเรียกกันว่า ตราพระเพลิงทรงแรด ที่กลับตกมาอยู่ในกองอาลักษณ์ ต้องเข้าใจว่ากระทรวงธรรมการส่งคืน แต่จะคืนด้วยเหตุใด หาทราบไม่ เปนแต่คิดคาดว่า คงโอนเอาตราเสมาธรรมจักร ตำแหน่งเจ้ากรมธรรมการมาใช้ จึงส่งตราพระเพลิงทรงแรดคืน

ตรานารายน์ทรงสุบรรณ หมายเลข ๓๓ ดูผิด เรียกผิด ที่แท้เปนตราเทพดาทรงพระนนทิการ เปนตราเก่าประจำตำแหน่งเสนาบดีวังในกาลหนึ่ง จะเปนด้วยเหตุใดหาทราบไม่ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์รับพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๖ มาสั่งให้ฉันคิดเขียนตราใหม่ เปลี่ยนตราเทพดาทรงพระนนทิการเก่า ทั้งให้คิดเขียนตราน้อยด้วย ฉันก็ทำไปให้ ดังจะเห็นแจ้งต่อไปข้างหลัง

ตรานารายน์ทรงปืน ซึ่งหมายเลข ๓๕ สร้างขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ คู่กับตรามัตสยาวตาร แล้วพระราชทานไปประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ฉันเขียนถวายตามพระราชดำริ เอาตราพระลักษณ์ทรงหนุมานกับตรานารายน์ทรงปืนเข้าระคนกัน ส่วนชื่อนั้น ทรงกำหนดสวมตราเก่าทีเดียว ตราดวงนี้ต้องเขียนถวายสองหน หนแรกเขียนเปนนารายน์แผลงศรอยู่กับพื้นดิน ไม่โปรด โปรดให้เขียนแผลงบนรถ ให้ทำรถเห็นแต่พอรู้ เพื่อองค์นารายน์จะได้ใหญ่เห็นชัด

ตราเสมาธรรมจักรน้อย ซึ่งหมายเลข ๓๙ เปนตราเสมาธรรมจักรนั้นถูกแล้ว แต่ที่ว่าเปนตราน้อยนั้นสงสัย ด้วยตราน้อยนั้นน่าจะเปนของใหม่ จะเกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๔ หรือเกิดก่อนนั้นก็ไม่เกินรัชชกาลที่ ๓ ขึ้นไป ตราเสมาธรรมจักรดวงนี้ ดูจะเก่ากว่ารัชชกาลที่ ๓ ไม่น่าจะเปนตราน้อยได้ แม้เปนตราปลัดกรมธรรมการ หรืออะไรพวกนั้น ว่าไม่ถูก

ตราพระยมทรงสิงห์ หมายเลข ๔๐ เปนตราเก่าสำหรับเสนาบดีเวียง (ตำแหน่งยมราช)

ตราสิงห์น้อย หมายเลข ๔๑ คู่ด้วย ตราพระยมทรงสิงห์

ตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ หมายเลข ๔๒ ฉันเขียนให้ไปแทนตราเก่า ดังได้บรรยายมาข้างต้นแล้ว ที่เปลี่ยนชื่อซึ่งเรียกตราเก่าว่า เทพดา เปน พระมหาเทพ นั้น เพราะฉันเห็นเรียกพลาดอยู่ จึ่งขอให้เปลี่ยนเรียกเปน มหาเทพ ด้วยทางสํสกฤตเรียกพระอิศวรว่า มหาเทว ก็มี ไม่สู้ไกลกันมากนัก

ตราพระนนทิการยืนแท่น หมายเลข ๔๓ ฉันเขียนและคิดชื่อให้ไปแต่มีเพียงว่า ตราพระนนทิการ ไม่มีคำ ยืนแท่น เปนตราน้อยคู่ด้วยตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ แต่เดิมไม่มีตราน้อย คิดขึ้นใหม่ทีเดียว นอกจากนั้นได้เขียนผูกตราเล็กลงไปอีก โดยคำขอของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ในภายหลังทำเปนรูปหน้าวัว ฉันให้ชื่อเรียกตรานั้นไปว่านนทิมุข ดูเหมือนท่านจะเอาไปแกะเปนตราประจำครั่ง แล้วเห็นเอาไปทำเปนตราติดหน้ารถยนตร์ หมายอนุญาตให้เข้าวังด้วย

ตราพระจันทร์ดั้นเมฆ หมายเลข ๔๔ พอเห็นก็รำลึกได้ ว่านี่คือ ตราจันทรมณฑลน้อย แท้ทีเดียว แต่กลับหัวเอาแผ่นดินเปนแผ่นฟ้า ตรารถอุณาโลม ที่ให้ไปดูก่อน ซึ่งสงสัยว่าจะเปนตราจันทรมณฑลน้อยนั้น สงสัยผิด จะวิจารณใหม่ต่อไปข้างหลัง

ตราเทพดานั่งแท่น (ถือพระขรรค์ถือจักร) หมายเลข ๕๕ พอเห็นก็ชื่นใจ เปนตราหลวงเก่า ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ถืออยู่ก่อน เมื่อฉันเปนเด็กเรียนหนังสืออยู่กับท่าน ได้เห็นตรานั้นนับหนไม่ถ้วน จนจำได้แม่นยำ พระยาศรีสุนทรโวหารมีตำแหน่งเปนเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ต้องเข้าใจว่า ตรานั้นสำหรับตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์

ตราราชสีห์เผ่นดวงใหญ่ หมายเลข ๔๗ กับ

ตราราชสีห์เผ่นดวงเล็ก หมายเลข ๔๘ คิดว่าจะเปนตรามหาดไทยฝ่ายเหนือ คือพิษณุโลก ซึ่งในกฎหมายว่าหลวงมหาอมาตย์ถือ ควรจะมีชื่อเรียกว่า ราชสีห์อะไร ให้ผิดกับตราราชสีห์เมืองหลวงทางใต้ ดูเหมือนชื่อจะมีเรียกต่างกัน รู้อยู่ แต่ลืมสนิท นึกไม่ออกทีเดียว

ตราราชรถ หมายเลข ๔๙ นี่คือ ตราจันทรมณฑล (ใหญ่) ทีเดียวแล้ว เมื่อเห็นตราดวงนี้ก็ทำให้วิจารณตราที่ส่งไปให้ดูก่อน ซึ่งเรียกว่า รถอุณาโลม นั้นได้ตราดวงนั้นคงเปนจันทรมณฑลเก่า ท่านเห็นว่ามีอุณาโลมนั้นเกินไปจึ่งทำใหม่ คือดวงนี้ เปนจันทรมณฑลใหม่ ท่านจะสังเกตได้ว่าไม่มีอุณาโลมอยู่ในบุษบก ความสงสัยก็มีอีกต่อไป ที่ว่าตราจันทรมณฑลนั้นพระราชทานกระทรวงยุติธรรมไป เหตุใดจึ่งกลับคืนเข้ามาอยู่ในกองอาลักษณ์ ทั้งตราใหญ่ ตราน้อย เดี๋ยวนี้กระทรวงยุติธรรมถือตราอะไร

ตรามหาสารทูลธวัช หมายเลข ๕๑ ตราดวงนี้สงสัยอยู่ คำ ธวัช แปลว่า ธง รวมกับคำ มหาศารทูล (ตามบัญชีเขียนผิด ศ เปน ส) ก็แปลว่า ธงเสือใหญ่ เปนธงไป หาใช่ตราไม่ หรือจะหมายความว่าตราอย่างธงก็ไม่ทราบ อนึ่ง ใครเปนผู้ถือตราดวงนี้ ดูหนังสือซึ่งมีอยู่ที่ขอบตราก็เปนคาถาพาหํุ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณ ทรงแปลงคำท้าย ไม่ทราบอะไรได้ เหลือแต่ความสงสัย แต่ตราดวงนี้สร้างขึ้นไม่นานนัก ท่านอาจสืบหาผู้รู้ที่สามารถจะบอกให้ทราบได้

ตราเสือป่า อีก ๑๔ ดวง ตั้งแต่หมายเลข ๕๒ ถึง ๖๕ นั้น มีหนังสือบอกตำแหน่งอยู่แล้วในตรา ไม่มีที่สงสัยอะไร มีสิ่งที่จะพึงทักแต่อย่างเดียว ในบัญชีเขียน พายัพ เปน พยัพ แม้ในดวงตราก็เขียน พายัพ ถูกต้อง

ตราคชสีห์ใหญ่เล็กสองดวง ซึ่งหมายเลข ๑๓๐ เปนตรากลาโหมฝ่ายเหนือ คู่กับตราราชสีห์ฝ่ายเหนือ ในกฎหมายระบุว่าพระธรรมไตรโลกเปนผู้ถือ ตำแหน่งพระธรรมไตรโลกเลิกแล้ว ในกาลหลังที่สุดจำได้ว่าพระยามนตรีสุริยวงษ์ (ชื่น บุนนาค) เปนผู้ถืออยู่

ตราข้าหลวงต่างพระองค์ มณฑลฝ่ายเหนือ หมายเลข ๑๓๑ มีหนังสือในดวงตราบอกแจ้งอยู่แจ่มแล้ว เหลือข้อสงสัยอยู่แต่ว่าข้าหลวงต่างพระองค์นั้นเคยมีมาหลายแห่ง เช่น เชียงใหม่ หนองคาย และอุบล แต่มีตรามาดวงเดียว หนังสือว่ามณฑลฝ่ายเหนือ จะหมายถึงที่ไหนเพียงไหนก็จำนน

ตราตำแหน่งผู้อำนวยการศึกษา ๓ ดวง ตั้งแต่หมายเลข ๑๓๒ ถึง ๑๓๔ มีหนังสือบอกแจ้งอยู่แล้วในตรา ไม่มีปัญหา

ตราพระยาอิศรานุภาพ ๒ ดวง ซึ่งหมายเลข ๑๓๖ นั้น ไม่มีอะไรนอกจากเห็นขัน ดวงหนึ่งรูปสัตว์ในนั้นหัวเปนมังกรตัวเปนนาค อีกดวงหนึ่งเปนนาคหมด แต่มีดวงแก้วอยู่เบื้องหน้า ซึ่งเปนลักษณของมังกร เจ้าของคงตั้งใจให้เปนรูปมังกร แต่ช่างผู้เขียนมีความรู้แยกไม่ออก ว่านาคกับมังกรผิดกันอย่างไร เห็นจะไม่ใช่ตราหลวงช่างหลวงทำ คงเปนตราเจ้าตัวทำเอง ช่างตลาดเขียน

ได้ส่งตัวอย่างตราประทับแล้วด้วยชาดด้วยครั่ง ๓ แหนบด้วยกันกลับคืนมาพร้อมกับคำอธิบายตามที่รู้ และวิจารณตามที่จะพึงเห็นได้นี้ด้วยแล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ