๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ได้รับแล้ว จะตอบตามวิถีจิตต์ ผิดถูกอย่างไรท่านก็วินิจฉัยเอาเถิด

คำพายัพที่ว่า เผี่ยน นั้น มาพ้องกับทางเราที่ว่า เพี้ยน

อันชื่อคนนั้นฉันก็เคยตรวจคิดมาคราวหนึ่ง แต่ไม่ถึงจด ชื่อที่เอาสัตวเดียรฉานมาตั้ง เห็นจะเปนไปได้หลายทาง เปนต้นว่าตั้งชื่อตามสัตวปี มีพระองค์เจ้าเสือ พระองค์เจ้ากระต่ายเปนต้น นั่นหมายถึงประสูติ ปีขาน ปีเถาะ เด็กที่ชอบคลานไปไม่หยุด มีอาการประดุจเต่าเลยเรียกชื่อว่าเต่าก็มี ที่ชื่อเขียดชื่ออึ่งนั้นเห็นจะเปนคติมาทางพายัพ พวกที่เขาไปพายัพมาเล่าให้ฟังว่า เด็ก ๆ มักให้ชื่อให้ผีเกลียด เช่นกบและห่าน เปนต้น เมื่อผีเกลียดแล้วจะได้ไม่เอาตัวไปเสีย ต่อเมื่อมีอายุสมควรบวช ไปบวชเปนเณร อาจารย์ก็ตั้งชื่อเปลี่ยนให้ใหม่หรูมาทาทีเดียว เช่น น้อยสุริยะ เปนต้น ชื่อที่ท่านให้ตัวอย่างว่าแปลไม่ออก เช่น สี สา มั่ง นั่นย่อมจะแปลได้ เช่น สี ก็หมายถึงสีดำสีแดง สา ทีจะเปนชื่อนก คือนก(ะ)สา มั่ง แปลว่าสมบูรณ มีคำตัวอย่างใน ชูชกบรรพ ว่า เราก็มั่งขึ้นถึงเพียงนี้ดีกว่าออเจ้า ชื่อ เผื่อน ชื่อ ผัน อาจว่าได้ว่าถ่ายเอาชื่อดอกบัวมาตั้ง แต่ชื่อที่คิดไม่เห็นจริง ๆ ก็เช่น อ่วม ไม่มีคำใช้ทางเรา ไม่ได้เค้าว่าหมายถึงอะไรเลย

ท่านบอกว่าท่านคิดจะแต่งเรื่องประเพณีการเกิด ฉันอนุโมทนา เห็นเปนการดีมาก ที่ท่านว่านอกเรื่องก็เปนนอกเรื่องจริง แต่นอกเรื่องนั้นแหละเปนหลักที่ให้มีหนังสือแลกเปลี่ยนความรู้แก่กัน ถ้าไม่พูดนอกเรื่องเลย ก็ต้องงดหนังสือที่มีไปมาถึงกัน

เรื่องแม่ซื้อ ฉันได้เคยคิดเหมือนกันว่า ควรจะเปนคนที่รับร่อน ไม่ควรจะเปนผี แต่ที่มีคำว่าซื้อควรจะมีเบี้ยด้วยเช่นการศพ แต่ก็ไม่มี หรือแต่ก่อนจะมีก็ไม่ทราบ ข้าวย้อมสีต่าง ๆ เคยคิดว่าเปนแบบของพราหมณ์ ด้วยเคยเห็นเขาทำภัทรบิฐ มีการโรยแป้ง คือเขามีแผ่นหนังสี่เหลี่ยมฉลักเปนลาย มีท่วงทีเปนลายผ้าลาดเปนแม่พิมพ์ วางหนังลงเอาแป้งโรยบนหนัง แล้วเปิดหนังออกเสียแป้งก็เปนลาย แล้วเอาข้าวสารย้อมสีหลายสี แต่ไม่ได้นับว่ากี่สี กองลงตามช่องลายแป้ง ดูหรูราวกับว่าพรมที่ทอเปนดอกดวง เข้าใจว่าการย้อมข้าวสารนั้นเองเอามาย้อมข้าวสุกขว้างให้แม่ซื้อ รูปท้าวเวสวัณซึ่งเขียนแขวนเปลเด็ก แต่แรกก็ไม่รู้ว่าเขียนทำไม ทีหลังไปพบในพจนานุกรมสํสกฤตบอกว่า พาหนะท้าวเวสวัณคือคน จึ่งได้เข้าใจว่าเขียนรูปท่านแขวนไว้เพื่อให้ปกปักษ์รักษาเด็กซึ่งเกิดใหม่ แผ่นผ้ารูปท้าวเวสวัณนั้น ที่ใช้ในราชการเขียนรูปแม่ซื้อไว้ด้านหลังด้วย มีรูปเปนนางหน้าเปนม้า ทำให้ติดตันด้วยขาดความรู้ในเรื่องผีแม่ซื้อ ผูกใจที่จะเรียนจนกระทั่งมาทราบจากท่าน บอกตำรายันเกี่ยวด้วยยันตร์ ว่าแม่ซื้อนั้นหัวเปลี่ยนไปตามสัตวซึ่งเทวดาสัตตเคราะห์ทรง คงเปนไปตามวันซึ่งเด็กคลอด แต่ช่างเขียนไม่รู้ก็เขียนลอกของเก่าซึ่งมีหน้าเปนม้าสะพัดไป ที่ผีแม่ซื้อเปลี่ยนหน้าตามสัตว์ ซึ่งเทวดาสัตตเคราะห์ทรง ก็เห็นได้ว่าพวกโหรคิดกันขึ้นใหม่ ไม่ใช่ของเดิม รังควาน เปนผีโดยตรง มีคำกวีปรากฏอยู่ว่า ผีสางปรางควาน ใช้แก่ช้างซึ่งจับมาแต่ป่าได้ใหม่เปนพื้น มีเหตุอะไรขึ้นเช่นเจ็บไข้เปนต้น ก็ปัดรางควานกัน เรียกว่า ปัดแถลง (ทีจะเปนคำนี้ที่เราพูดกันว่าแสลง) พิธีปัดแถลงนั้น อย่าว่าแต่ใครเลยที่จะเห็นว่าเหลว แม้สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งพระองค์ทรงเปนใหญ่อยู่ในกรมช้าง ก็ทรงรู้สึกเห็นเหลว ตรัสประทานตัวอย่างคำประกอบด้วยทรงพระศรวล ว่าเขาว่า อีแม่แถลงเอย นมมึงยานอยู่จ้ำม่ำ ก็ดีดอกที่ทำให้รู้ได้ว่า รางควาน นั้นเปนผีผู้หญิงเหมือนกัน การกลัวผีนั้นเข้ากระดูกดำ ภัยอะไรซึ่งจะพึงมีมา ผีย่อมนำมาให้ทั้งนั้น ยิ่งการออกลูกซึ่งอาจจะตายได้ทั้งลูกทั้งแม่ จึงต้องทำการกันผีกันอย่างแขงแรง ใช่จะมีแต่สะหนามบนกองฟืนที่อยู่ไฟอย่างท่านว่าเท่านั้นก็หาไม่ ที่ออกลูกก็ต้องวงสายสิญจน์แขวนยันตร์กันผีกันไว้รอบด้วย อีกอย่างหนึ่งเด็กคลอดออกมาตายใช้ว่างแหคลุมไว้ เข้าใจกันว่าทำเพื่อกันผีลูกไม่ให้ไปทำอันตรายแก่แม่ แต่เมื่อไปเห็นปฐมสมโพธิ ตอนกล่าวถึงพระเจ้าประสูติ ว่าพระอินทร์พระพรหมเอาข่ายทองรองรับพระองค์ กลายไปเปนอย่างอื่น เพื่อประโยชน์ไม่ให้เจ็บพระองค์ เช่น ฝรั่งกระโดดจากชิงช้าแต่หลังคาเต็นต์เซอคัสลงตาข่ายฉะนั้น แต่ความเข้าใจเคลื่อนนั้นเปนของห้ามไม่ได้ ทั้งเรื่องฝังรกฉันก็ยังไม่สู้เข้าใจไปตลอด รกนั้นควรแล้วที่จะฝัง แต่ปลูกต้นมะพร้าวปลูกทำไมไม่ทราบ หรือเพื่อจะให้เปนที่หมายว่าฝังรกไว้ที่ตรงนั้น ถ้าเช่นนั้นทำไมจะต้องใช้ต้นมะพร้าว เอาต้นอื่นไม่ได้หรือ แล้วก็ไม่มีใครใส่ใจว่ารกของตนฝังไว้ที่ไหน ฉันเองทุกวันนี้ก็ไม่ทราบเลยว่ารกของตัวอยู่ที่ไหน ไม่ใช่แต่แก่ตัวฉัน แม้คนอื่นก็เข้าใจว่าไม่ทราบเหมือนกัน ฉันถูกถามว่ารกเจ้านายเรียกอะไร ฉันควรจะรู้ แต่ไม่รู้ เที่ยวได้วิ่งถามท้าวนางก็ไม่ได้เรื่อง เพราะท่านเปนท้าวนางใหม่ เข้ารับตำแหน่งภายหลังมีการประสูติเสียทั้งนั้น ไปได้ความทางสำนักสมเด็จพระพันวัสสา ว่าเรียก พระตระกูล

ท่านนึกไม่ออกในคำ ชะ เปล่าๆ ฉันจะลองพุ่งให้ท่านฟังเล่น ไฉน ฉะนี้ ฉะนั้น จะเปน ฉันไหน ฉันนี้ ฉันนั้น หรือมิใช่ ถ้าถูกต้องเขียนด้วยตัว ช เปน ชะไหน ชะนี้ ชะนั้น ก็ควรจะได้เหมือนกัน เปน เช่นไหน เช่นนี้ เช่นนั้น

ลาวกาว มาแต่ ลาวกว นั้นเข้าทางที่ถูก พระพรหมมุนีท่านเดาว่า ลาวเก่า ก็ไปถูกทางมณฑลพายัพ แต่ไม่ถูกทางชื่อตำบลลาวเดิม ซึ่งท่านยกเอามาเปรียบ ในเรื่องนี้ฉันเฉไปจับใจเอาที่คำ ลาวไส ไส จะเปนคำเดียวกับที่เราใช้อยู่ว่า ไซร้ ไส้ หรือมิใช่

คำ ขุขัน นั้นชอบกล ฉันได้ยินมาก่อนเรียก เมืองกุขันธ์ ได้นึกว่าเหมือน กุขันพรานไพรใจกล้า ในเรื่องรามเกียรต์ แล้วไปเห็น คุหะ ในเรื่องรามยณะ ก็รู้สึกว่าลงกันได้ แล้วมาเห็นเขียนกันเปนเมืองขุขันธ์ ก็ชาๆ เห็นว่าไม่ผิดอะไรกันไปมาก จนพระพรหมมุนีท่านมาเดาขึ้นว่าเปน คูขัณฑ์ เห็นได้ความจึ่งชอบ แล้วท่านมาทักขึ้นถึงคูเมืองว่าไม่ควรเปนชือเมืองก็เห็นถูก แต่ที่จะว่าเขมรเอาชื่อกุขันมาให้ชื่อเมือง เพราะเปนเมืองปลายแดนของเขมรก็สงสัย ด้วยที่นั่นไม่ใช่ปลายแดนเขมร มีปราสาทพนมวันและปราสาทพิมายซึ่งสังเกตได้ว่าเปนที่ตั้งเมืองใหญ่ ไกลออกมาอีกเปนอันมาก นิทานชาดกนั้นยกเสียเถิด ท่านผู้แต่งฉวยอะไรได้ก็ใส่ลงไป ลางทีนิทานนั้นจะแต่งเมื่อวานซืนนี้เองก็ได้

หนังสือลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒ ฉะบับก็ได้รับแล้ว จะเขียนตอบมาภายหลัง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ