๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๖ และที่ ๒๒ มีนาคม รวม ๒ ฉะบับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ที่ข้าพระพุทธเจ้าลงไม้ตรีในคำมีอักษรต่ำ เป็นความผิดของข้าพระพุทธเจ้าโดยแท้ ข้าพระพุทธเจ้าประสงค์เพียงจะจดเสียงอักษรต่ำ ซึ่งมีเสียงผันเป็นสูงกว่าลงไม้โทเล็กน้อย ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่าจะจดเป็นเครื่องหมายอย่างไร จึ่งได้ใช้ตรีลงกำกับ แต่ไม่ได้กราบทูลข้อนี้ให้ทรงทราบ

เวลานี้คำว่า note ในภาษาอังกฤษ มักถอดเป็นหนังสือไทยว่า โน้ต สอบถามก็ได้ความว่ากระทรวงธรรมการบัญญัติไว้เช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเคยเขียนว่า โนต เมื่อเวลาตีพิมพ์มักถูกเติมไม้โทให้เสมอ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในพระดำริที่เคยตรัสประทานข้าพระพุทธเจ้าไว้ ว่าคำต่างประเทศถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรลงวรรณยุต จะอ่านเป็นเสียงวรรณยุตไรก็ได้ คำว่า โนต ในภาษาอังกฤษเองก็อ่านได้หลายเสียง สุดแล้วจะเน้นคำในรูปประโยคชะนิดไร ในหนังสือไทยใหญ่ คำ นด โนด ก็เขียนเป็น นุด จะอ่านเป็น นุด นด และ โนด ก็แล้วแต่คำ หรือจะออกเสียงระหว่าง นด กับ โนด ก็สุดแล้วแต่คนพูด ข้อสำคัญอยู่ที่ผู้ฟังเข้าใจความหมายหรือไม่ สระ อา อี อู ของเขา ใช้ประกอบแต่คำที่เป็นแม่ ก กา ถ้าเป็นแม่อื่นไม่ใช้ เช่น นัน หรือ นาน ก็เขียนเป็น นน เท่านั้น สระ อี และ อู ก็ใช้ อิ และ อุ เท่านั้น

ในตำราอักขรวิธีภาษาไทยกำหนดให้ออกเสียง อะ ในคำที่ประกอบขึ้นจากภาษาบาลีหรือสํสกฤต เช่น กาญจะนะบุรี ราชะบุรี จุฬาลงกะระณะมะหาวิทะยาลัย เพชะระบุรี แต่เป็นฝืนการอ่านการพูดของคนสามัญ เพราะที่พูดกันเป็นปกติก็เป็น กานบุรี ราดบุรี จุฬาลงกอน และ เพดบุรี ครั้นถึงคำว่า ธนบุรี ชลบุรี ก็ฝืนให้อ่านเป็น ธะนะบุรี ชะละบุรี ไปไม่ไหว แต่ถึงคำซึ่งประกอบกับคำไทย เช่น ราชวัง ผลไม้ ก็ออกเสียงตัวสกดในคำหน้า

ที่ทรงพระเมตตาตรัสประทานเรื่องเพลงและเรื่องประโคมมานั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้ ความรู้เรื่องตำนานเพลง รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่าเรียวลง ข้าพระพุทธเจ้าได้มีโอกาศซักถามผู้รู้ทางกรมศิลปากร ก็รู้เท่าที่จำสืบ ๆ กันมา คงเป็นด้วยผู้รู้ ๆ แต่การบรรเลงอย่างเดียว การที่จะค้นคว้าจึงหย่อนไป

เต้าฮู่ ตามที่เขาบอกข้าพระพุทธเจ้าว่าไม่ได้ใส่แป้งหิน เพราะมีลักษณะค่นกว่า เต้าฮวย และไม่จำเปนให้ขาวมาก คงใส่แต่น้ำเกลือเท่านั้น

ที่ทรงพระเมตตาประทานข้อทรงสันนิษฐานเรื่องหนังสือไทยนั้น เป็นหลักแนวคิดแก่ข้าพระพุทธเจ้าดีที่สุด เรื่องตัวหนังสือไทยยุ่งยาก เกิดจากต้องการถ่ายเสียงภาษาอริยกะซึ่งในลางเสียงไทยพูดไม่ได้ และทั้งต้องการจะรวมเอาเสียงของไทยไว้ด้วย เรื่องจึงปนกันใหญ่

ฝรั่งคนหนึ่งมีความเห็นว่าภาษาไทยเดิม คำประกอบนามที่เรียกว่าคุณศัพท์ (เดี๋ยวนี้เลิกใช้ เปลี่ยนเป็นวิเศษณ์หมด) อยู่หน้านามอย่างภาษาจีน เมื่อไทยยกลงมาถึงตอนใต้ประเทศจีนหลายพันปีล่วงมาแล้ว ไปผสมเข้ากับภาษาของชนชาติที่เป็นบรรพบุรุษของพวก มอญ-เขมร ซึ่งใช้คุณศัพท์ประกอบหลังนาม ภาษาไทยจึงมาเป็นอย่างภาษาตระกูลมอญ-เขมร แต่เหตุผลที่เขาให้ไว้ยังไม่กระจ่างพอ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเป็นแต่สังเกตไว้ ในภาษาไทยอาหม คุณศัพท์อยู่หน้านามก็มีอยู่หลายคำ ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังคิดไมออกว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในภาษาจีนก็มีอยู่คำหนึ่ง คือคำว่า ไฮน้ำ ในภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าทะเลใต้ ตรงกับคำว่า ไหหลำ (น่าจะเป็นเสียงชาวฮกเกี้ยน) แต่ตามปกติคำว่าทะเลใต้ ในภาษาจีนเป็น น่ำไฮ้ ซักถามจีนผู้รู้ถึงต้นเหตุคำที่กลับกันนี้ ก็ไม่ได้ความ

คำว่า เอา ในไวยากรณ์ไทยว่าเป็นกิริยา แต่ฝรั่งอธิบายว่าในภาษาไทยคำตี้ว่า เอา เป็นบุรพบท เช่น นายมาเอาดินสอเขียนหนังสือ ถ้าเป็นสำนวนสมัยนี้ก็เป็น นายมาเขียนหนังสือด้วยดินสอ

ที่ตรัสเรื่องสอนอ่านว่า กน กั๋น กาน เป็นถูกเสียงเก่าแน่ เพราะไทยถิ่นอื่นออกเสียงคำที่ไม่มีผันให้เป็นเสียงวรรณยุตจัตวาทั้งนั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี สิ่งที่ทำให้ข้าพระพุทธเจ้าเพลินคือฟังเสียงชาวชนบทพูดกัน รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่าคำไม่มีผัน เขาออกเสียงเป็นเสียงจัตวาโดยมาก นานๆ ก็มีเสียงเพี้ยนเป็นไม้ตรีกลาย ๆ ที่เสียง กน กั๋น กาน ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยได้ยิน เป็น กน กั้น กาน ก็คงเคลื่อนมาจากเหตุนี้ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าเสียงสั้นในภาษาไทยเดิม จะเป็นเสียงไม้จัตวา เพราะเสียงอ่านใน กน กัน กาน มีเสียงจัตวาแต่ตัวที่สองเรื่อยไป

เรื่องถือซ้ายขวาตามที่ทรงพระดำรินั้น ข้าพระพุทธเจ้าเชือว่าเดิมไทยถือซ้ายแน่ ที่มาเปลี่ยนเป็นขวา เพราะเอาอย่างประเพณีชาวอริยกะ ที่การบวชนาคถือซ้ายเป็นใหญ่ มีผู้อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า เพราะจะได้เข้าตรงทางเบื้องขวาของพระประธานได้ทีเดียว ไม่ต้องไขว้กัน

เมื่อวันจันทร์นี้ ข้าพระพุทธเจ้าไปในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาวิเชียรคิรี เห็นเขาทำฐานเผายาวตามขนาดโลงไว้ช่องเผาตรงกลางไม่มีหลังคา ไม่มีดอกไม้ประดับ มีแต่หยวกประกอบตามขอบฐาน คิดด้วยเกล้าฯ ว่า นี่เองคือร้านม้า เพราะตรงลักษณะที่มีผู้อธิบายให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง หากแต่ทำขาเป็นทึบ ไม่เป็นเสาตามธรรมดา

มีผู้บอกข้าพระพุทธเจ้าว่า หมวกของเจ้านาย เรียกว่า พระตุ้มปี่ หมายความว่าหมวกทั่วไป ไม่ฉะเพาะหมวกชะนิดใด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ตุ้มปี่ คำนี้น่าจะตรงกับ topi ในภาษาฮินดูสตานี และภาษามลายู ซึ่งแปลว่าหมวก แต่ภายหลังหมายความถึงหมวกเฮลเมต หรือหมวกกันแดดโดยฉะเพาะ ซึ่งในเวลานี้ฝรั่งก็เรียกว่า โตปี

ในดิถีขึ้นศกใหม่ พ.ศ. ๒๔๘๓ ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญคุณพระรัตนไตรจงดลบรรดาลให้ใต้ฝ่าพระบาท จงทรงพระเจริญ ทรงพระเกษมสำราญ ตลอดไปชั่วกาลนาน ข้าพระพุทธเจ้ามีความหวังอยู่อย่างนี้เสมอ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ