๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ได้รับแล้ว จะตอบลางข้อต่อไปนี้

คำ ตะกอน มีเพื่อนอยู่ที่ ขี้ตะกอน อันอยู่ในน้ำ ตามคำเพื่อนนั้น ก็ส่องให้เห็นว่า คำ ตะกอน ในชื่อ เชิงตะกอน หมายความถึงผงสกปรก คือ ขึ้เท่า คำ เชิงตะกอน ก็ตรงกับ ฐานเผา

ท่านจะต้องทำความเข้าใจแยกออกเปนสองภาค ตามที่เปนอยู่บัดนี้ คือ ที่เผาภาคหนึ่ง กับหลังคาครอบที่เผาอีกภาคหนึ่ง ที่เผานั้น ร้านม้า ฐานเผา ตารางเชิงตะกอน จิตกาธาร อะไรเหล่านี้เปนสิ่งเดียวกันภาคหนึ่ง หมายถึงกองฟืน หากยักเรียกไปต่าง ๆ กลายเปนยศ กับหลังคาครอบที่เผาอีกภาคหนึ่ง ท่านเข้าใจว่าหลังคาแบนเปน ปรำ หลังคาอย่างใดๆ แต่ปลูกโดดเดี่ยวเปน โรงทึม และถ้ามีอะไรล้อมก็เปน เมรุ นั่นเปนถูกแล้วตามลักษณ แต่คำเหล่านั้นมากลับกลายใช้กันเปนยศไปเสียแล้ว จะเรียกตามลักษณก็ขัดข้อง เช่นประเพณีแห่งพระบรมศพ เคยทำพระจิตกาธารตั้งในพระเมรุทอง และพระเมรุทองอยู่ในพระเมรุใหญ่อีกทีหนึ่ง เข้าใจว่าเพื่อกันแดดฝนไม่ให้ทำอันตรายแก่พระเมรุทองเสียไป ที่จริงพระเมรุทองนั้นแหละคือพระเมรุ มาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า พระบรมศพแห่งพระองค์ไม่ต้องทำพระเมรุใหญ่ ให้ทำแต่พระเมรุทอง โดยพระราชดำรัสสั่งเช่นนั้นก็เพื่อจะตัดการใช้จ่ายให้น้อยลง และไม่ให้เปลืองแรงแก่ผู้คนด้วย ครั้นถึงงานพระบรมศพเข้าจริงก็ได้ปฏิบัติกันตามพระราชดำรัสสั่ง แล้วเปนธรรมเนียมทำต่อมา ถึงครั้งพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ก็การที่มีแต่เมรุทองไม่มีอะไรล้อมนั้น จะเรียกตามลักษณะว่า พระโรงทึมทอง เห็นจะขัดข้องเปนไปไม่ได้ ต้องเรียกไปตามยศตามสมัยที่คนทั้งหลายเขาเรียกกัน คำว่า โรงทึม ต้องปล่อยให้ตายหายสูญไป อย่าลืมว่าที่เราพูดกันถึงอะไรเปนอะไรนั้นเปนพูดกันถึงมูลเหตุแห่งสิ่งนั้น แต่แล้วทีหลังคำเหล่านั้นเลื่อนมาเปนยศไปหมด จะหันกลับไปเรียกตามมูลเหตุเห็นจะขวางโลก

ขอบใจท่านที่บอกชี้แจงเพิ่มเติมไปให้ทราบว่า โรงทึมยอดธงเปนแบบทางกรุงเก่านี้เอง ไม่ใช่ทางอีศาน ทำความเข้าใจให้แก่ฉันชัดขึ้น แต่เห็นว่า แม้เมรุทางอีศานจะทำยอดเปนธง ก็จะเปนไรไป ดูเปนประเพณีที่ดีอยู่

ตูบ ที่ฉันเคยทราบว่าเปนปะทุนนั้น ลางทีเขาถือเอาปะทุนเรืออันหนึ่ง ซึ่งยกขึ้นจากเรือด้วยไม่ต้องการแล้วมาใช้ก็เปนได้ อย่างไรก็ดี การทำตูบก็คือทำห้องอย่างหนึ่งซึ่งจะทำอย่างไรก็ได้สุดแต่จะสดวก จะถือเอาเปนหลักหาได้ไม่ หลักอยู่ที่แคบเล็กนั้นเปนแน่นอน อันการทำอะไรที่เปนปะทุนนั้นเห็นจะมีหลัก ฉันเคยได้ยินชาวโคราชเขากล่าวโทษชาวบางกอก ที่ไปให้อย่างการแก้ปะทุนเกวียนเปนเก๋งอย่างรถเก๋งในกรุงเทพ ฯ เขาว่าไปเข้าบุกป่าก็พังหมด เหตุที่เกวียนทำปะทุนนั้นก็เพื่อจะฝ่าแขนงไม้ให้ลัดลู่ไปได้ คิดดูก็เห็นจริง สิ่งที่ทำเปนปะทุนมี เกวียน กูบช้าง เรือ ก็ล้วนแต่เปนสิ่งเดินทาง ที่ระรานกับแขนงไม้ทั้งนั้น อันคำอะไรที่ผิดแผกกันไปแต่ความลงกันนั้น ย่อมเปนไปด้วยเหตุหลายอย่าง มีเสียงซึ่งมาต่างถิ่นมากกว่าอื่น ที่แต่งแก้ในถิ่นเดียวกันก็มี เช่น เอา กะ เปน กระ เอา กระ เปน กรร เปนต้น แต่ก็แก้กันไปด้วยความเข้าใจผิดเปนพื้น ไม่ได้ตั้งใจจะผูกแก้ให้ต่างกัน

ภาษาอริยก เดิมมีสระน้อยนั้นเปนแน่ ดั่งเช่นฉันได้เล่าให้ท่านฟังแล้วในเรื่องสลิล ที่มีสระมากออกไปนั้นเกิดเติมเข้าทีหลัง

คำ อรชร มาแต่ อุชุ นั้นสงสัย ไม่สู้ลงใจเชื่อ

เรื่องแต่งศพนอนใส่หีบ กับ แต่งศพนั่งใส่โกศ เชื่อว่าประเพณีทางเมืองเราแต่งนอนใส่หีบมาก่อน แต่งนั่งใส่โกศมาทีหลัง คิดว่าแน่ที่อ่านหนังสือเก่าก็พบแต่ใส่หีบ และที่ใส่โกศก็ถือกันว่าเป็นศักดิสูง จึงสันนิษฐานว่าใส่โกศเปนของมาทีหลัง แต่เปนปริศนาอยู่ทีว่ามาเมื่อไร จำอย่างใครมา ซึ่งเปนทางต้องการรู้อยู่บัดนี้

ข้อที่ว่าการประจุอังคารในสถูปเปนแบบไทย การลอยอังคารเปนแบบพราหมณ์นั้น เห็นว่าพูดถูก แบบลอยอังคารนั้นคิดลากเอาไปเข้าแบบเผาศพแล้วกวาดอังคารลงแม่น้ำคงคา อย่างที่ทำกันอยู่ในอินเดีย ขอให้ท่านสังเกตชื่อวัดปทุมคงคา จะเปนตั้งใจลากเอาแม่น้ำที่ตรงลอยอังคารหน้าวัดนั้นให้เปนแม่น้ำคงคาไปหรือไม่

ร่ายต้นเรื่องพระลอ อันมีคำ รอนลาวกาว เปนอาทินั้น เขาแต่งสรรเสริญไทยว่าชนะลาวต่างหาก เรื่องพระลอ เปนเรื่องในท้องถิ่น จะมีมาแต่เก่าก่อนเมื่อไรก็ได้ เขาจะเก็บเอาเรื่องบรมสมกัลป์มาแต่งก็จะเปนไรไป ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องอะไรกับร่ายเบื้องต้นซึ่งแต่งปะหน้าไว้เลย คำในเรื่องพระลอที่ว่า จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์ คิดว่าเติมต่อเข้าทีหลัง เปนการคาดคิดของผู้เขียน ว่าใครเปนผู้แต่ง คำ มหาราชเจ้า จะหมายถึงใครก็ไม่ทราบ แต่ที่ว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่คนสามัญ ดูก็ชอบกลหนักหนา ถ้าแต่งอะไรเปนลิลิตแล้ว ขึ้นต้นจะต้องกล่าวชมเมือง ถ้าแต่งเปนฉันท์แล้ว ขึ้นต้นจะต้องไหว้เทวดา ทำไมจึ่งเปนเช่นนั้น พิจารณาก็ไม่เห็นมีจำเปนอย่างไร นอกจากเอาอย่างกันเปนแฟแช่นเท่านั้นเอง อันคำฉันท์นั้นไม่ควรแก่จะนำมาใช้ในภาษาไทยเลย

ท่านถามถึง โคลง กลอน ร่าย ลิลิต ในทางที่จะแปลเอาความนั้นขัดข้อง โคลง ถ้าแปลก็ว่าโยกเยก ไม่ได้เรื่องอะไร มาแผลงกันเปนครโลง ก็มี ครรโลง ก็มี ก็ไม่ได้ความอะไรทั้งนั้น ฉันคิดเห็นแต่ว่า โคลง ที่จะใช้เปนบทร้องจึงมีที่บังคับเอกโทไว้ เพื่อไม่ให้ขัดกับเสียงเพลง แต่สังเกตโคลงเก่า ๆ ก็ไม่สู้แน่ ที่ขาดเอกไปก็มี เช่นบาทสามแห่งโคลงบทหนึ่งในเรื่องพระลอว่า สองศรีสมบูรณบง กชมาศ กูเอย นั่นก็ไม่มีเอก กับที่โทเปนคำตายไปก็มี เช่นโคลงสุภาษิต เรียกเรื่องนั้นว่าอะไรก็ลืมเสียแล้ว ในบาทสองมีว่า สงฆ์สวดวินัยปัติ ปาติโมกข์ แต่ก็เปนคำที่เสียงต่ำเหมือนถูกโท ยิ่งสนับสนุนความเห็นที่ว่าเปนบทร้องหนักขึ้นเสียอีก กลอนถ้าจะเทียบกับคำที่มีใช้อยู่ก็เปนสลักขัดประตูหน้าต่าง ไม่ได้เรื่องอะไรอีก เหมือนกัน แต่ตามที่เข้าใจกันทั่วไปก็เป็นว่ามีคำคล้อง ร่าย ท่านเทียบว่าได้แก่ ราย คือ คำราย เห็นว่าถูกแล้ว ที่จริงกลอนหรือร่ายก็เปนอย่างเดียวกัน ลิลิต ท่านคิดว่ามาแต่ ลลิต นั้นงามแล้ว ลิลิต ก็คือแต่งโคลงกับร่ายปนกัน ไม่แปลกอะไรไป จะว่าที่แท้ในสี่ชื่อนั้นก็เปน โคลง กับ ร่าย สองอย่างเท่านั้น ส่วนที่ว่าอะไรมาแต่ไหน และอะไรมาก่อนมาหลังนั้นเอาไว้ให้คนชำนาญพงศาวดารเขาพูด

ท่านพูดถึงนิทานในเรื่อง ๑๒ เหลี่ยม ท่านจับได้ว่าเปนนิทานอารับ พอดีกันกับที่ฉันได้พระดำรัสชี้แจงของสมเด็จกรมพระยาดำรงมา ว่าได้เคยโปรดให้ศาสตราจารย์เซเดส์สอบนิทานในเรื่อง ๑๒ เหลี่ยมนั้น พบว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินในนิทานนั้น โดยมากต้องกันกับพระนามพระเจ้าแผ่นดินเปอเซีย และวงศ์กษัตริย์เปอเซียก็เคยครองอินเดียมาด้วย ฉันรู้มาอย่างไรก็บอกมาให้ท่านทราบอย่างนั้น เพื่อการพิจารณา อันนิทานในหนังสือใด ๆ จะถือว่านิทานเปนของประเทศไหน แล้วหนังสือจะเปนของประเทศนั้นไม่ได้ แท้จริงนิทานที่เอามาแต่งหนังสือใด ๆ ย่อมจะหยิบเอาที่ใกล้มือ ถ้าจะสังเกตแต่เพียงว่านิทานเปนของทางแขวงไหน ต้นหนังสือก็คงใกล้กันกับแขวงนั้นย่อมพอจะเปนได้อยู่ พระศพพระเจ้าเนาวสว่านที่กล่าวว่าตั้งเผยพระองค์อยู่นั้น มาต้องกันกับศพพระจีนพระญวนเข้าสมาธิตายที่เขาตั้งเผยไว้ ตามที่ท่านว่าเขาทำด้วยวิธีใดให้ศพแห้งไปฉนั้น

โรง มีความหมายว่าปลูกกับพื้นดิน เรือน มีความหมายว่ายกพื้นขึ้นสูง โรงที่เปนอย่างดีก็ถมพื้นสูงขึ้นนิดหนึ่งแต่พอกันน้ำไหลเข้าไปแฉะ เหมือนพระที่นั่งอมรินทร์ก็ถมพื้นสูงขึ้นนิดหนึ่ง ขึ้นเพียงสองก้าวก็ถึงพื้น เขาว่าพระที่นั่งอมรินทร์นั้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ เปนเสาโปร่ง เพิ่งมาทำฝาขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เขาว่าท้องพระโรงในประเทศอินเดียก็โปร่ง และมีพื้นเตี้ยๆเหมือนกัน

คาด กับ เกี้ยว ท่านสอบได้เปนมีความหมายว่าผูกเหมือนกัน ประกอบทั้งคำอื่นอีกด้วย ฉันก็พอใจแล้ว แต่คำ คาด ไม่เปนไปในความหมายว่าตี

รนาด ท่านวินิจฉัยว่าเปนของเรียงของลาด ฉันก็พอใจแล้วเหมือนกัน ทั้งทำให้สมนึกเข้าด้วยว่า รนาดปี่พาทย์นั้นได้ชื่อมาแต่รนาดเครื่องลาด มีที่จะทักอยู่นิดเดียวแต่ที่ท่านเข้าใจว่า ระแนงเปนอันเดียวกับกลอน แต่ที่จริงเปนของคนละอย่าง กลอนนั้นเขาพาดตั้งตามจันทัน ไม้ตัวที่ประกับไว้ตีนกลอน จึ่งเรียกว่า เชิงกลอน ส่วนรแนงนั้น เขาพาดยาวไปตามแป ทับบนกลอนอีกทีหนึ่ง เปนคนละทิศคนละทาง ไม่ใช่อันเดียวกัน รแนงก็สำหรับแต่หลังคามุงกระเบื้องเท่านั้น ถ้ามุงจากหรือมุงแฝกก็ไม่ต้องมีรแนง ใช้ผูกกับกลอนทีเดียว กลอนก็มีลักษณที่เรียงกันเปนแถวไปเหมือนกัน ลางทีคำว่ากลอนจะหมายเปรียบด้วยกลอนหลังคานั้นก็ได้ คือเปนคำเรียง ฉันลืมบอกแก่ท่านไปว่าฉันได้คำมาแต่พวกมอญ ว่าตะโพนมอญนั้นพวกมอญเขาเรียกว่า ปัตยา เขาอธิบายให้ฟังเสร็จว่า คือพาทย คำว่า พาทย เห็นว่าจะมาแต่ วาท คือ คำร้อง ร้องจะมาก่อนอื่นหมด สิ่งอื่นได้ชื่อตามหลังร้อง

คำ กลาโหม ซึ่งฉันว่าตั้งขึ้นในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนารถนั้น ก็ว่าไปตามที่พบหนังสือครั้งนั้น แต่หนังสือนั้นจะเก็บความมาแต่ไหนอีกต่อหนึ่ง หรือใครจะเติมต่ออะไรเข้าอีกทีหลัง ก็ย่อมเปนได้ทั้งนั้น ฉันไม่เถียงเลย

ชื่อมหาทวีปในไตรภูมินั้นน่าสงสัย ชื่อ อุตตรกุร แปลว่าเหนือกุรุนั้นก็อันหนึ่งแล้ว ซ้ำมี บุพพวิเท่ห์ แปลว่า ตะวันออกแห่งวิเท่ห์ เข้าอีกด้วย ทางพราหมณ์ก็พูดไถลไปอีกทางหนึ่ง แบบไหนก็เปนคำกวีแต่งพูดเล่นตามสบายใจทั้งนั้น ใครไปหลงคิดตามเพื่อวินิจฉัยก็ทีจะเปนบ้า ที่เนียคเบียนในนครธม ฉันก็เคยไปดู ที่อาบน้ำสี่ทิศจำได้ว่ามีผิดจากหัวสี่สัตว์อยู่อย่างหนึ่งที่เปนหัวคน แต่จะแทนหัวสัตว์อะไร และทิศไหนเปนหัวอะไรนั้นจำไม่ได้

วิธีปลงศพด้วยเอาไปให้แร้งกิน นั้นติดจะไม่ประหลาด ศพพวกแขกฟาซีก็ทำอย่างนั้น แม้ป่าช้าในเมืองเราแต่แรกก็ทำศพเปนสามอย่าง คือเอาไปทิ้งแล้วแต่อะไรจะกินนั้นอย่างหนึ่ง เอาไปฝังอย่างหนึ่ง เอาไปเผาอย่างหนึ่ง ที่ป่าช้าวัดสระเกษมีแร้งมาอยู่ประจำทีเดียว แปลว่ามาคอยกินศพทิ้ง ประเพณีอย่างนี้เห็นจะเปนมาหลายประเทศ

ทีนี้เรื่องสวดมหาชัย ฉันเคยได้ยินว่ากรมหลวงวงษาทำบุญวันประสูติ สวดสองเตียง มหาชัย เตียงหนึ่ง อุณหิศวิชัย เตียงหนึ่ง อุณหิศวิชัยนั้นรู้ เพราะเคยได้เห็นหนังสือ แต่มหาชัยนั้นไม่รู้ เคยได้ฟังมาก่อนก็เปนสวดเล่น เขาตั้งต้นด้วย ชยันโต ว่าเปนคำท้ายของสูตมหาชัย แล้วร้อง ทัพใครยกมาเวลาดึก ต่อไปก็เล่นตลกหัวแหลกหัวแตกเอาแต่หัวเราะกันเท่านั้น ฟังไม่ได้เค้าในคัมภีร์ เห็นจะได้ฟังแต่เช่นนั้นมามากด้วยกัน จนครั้งหนึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงจัดคนที่เคยสวดมหาชัยตามคัมภีร์ เข้าไปสวดถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงฟังนิดหนึ่ง ฉันก็พลอยได้ฟังด้วย สังเกตว่า คำสวดเปนภาษาสํสกฤต จะเดินรูปเปนอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ทั้งสงสัยด้วยว่าเปนภาษาสํสกฤตแล้วจะมาต่อกับ ชยันโต ซึ่งเปนภาษามคธได้อย่างไร ฉบับมหาชัยในหอสมุดมีหรือไม่ ถ้ามีท่านจะช่วยให้มหาบาเรียนเขาตรวจดูแล้วบอกไปให้ทราบได้ จะขอบใจเป็นอันมาก

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ