๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม และวันที่ ๒ พฤศจิกายน รวม ๒ ฉะบับ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับแล้ว รู้สึกในพระเมตตากรุณาล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ที่ทรงทักท้วงคำ นึกคิด ซึมซาบ ว่าเปนคำที่ไม่ควรใช้ในหนังสือ ข้าพระพุทธเจ้าขอรับใส่เกล้า ฯ ไว้ ด้วยรู้สึกในพระเมตตาเป็นล้นพ้น

บาณปุรีย์ ข้าพระพุทธเจ้านึกค้นหาเมืองนี้ว่าจะเป็นเมืองไร ก็ไม่ได้ความ เสียงที่ใกล้ก็มีแต่ ปรานบุรี จะว่าเรือสินค้าของชาวยุโรปมาแวะที่เมืองตะนาวศรีแล้วขนสินค้ามาทางบก ผ่านช่องสิงขร ถ่ายลงเรืออีกต่อหนึ่งที่ปรานบุรี เข้ามากรุงเทพ ฯ ก็อาจเป็นได้ แต่ข้อความที่มีอยู่ไม่ได้บ่งชัดว่าเป็นเช่นนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่กล้าสันนิษฐานลงไป

ทำนอง ที่ข้าพระพุทธเจ้าใช้แก่การเก็บภาษีไม่เหมาะแน่ เพราะมีคำอื่นเปลี่ยนใช้ได้มาก ที่ทรงสันนิษฐานว่าจะยืดมาจาก ท่อง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าอาจเป็นได้ เพราะการ ท่อง ก็มักมี ทำนอง ติดมาด้วยเสมอ อย่างที่อังกฤษเรียกว่า recitation ซึ่งเป็นท่องเป็นทำนอง ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในภาษาไทยต่างๆ ไม่พบคำว่า ท่อง หรือ ทำนอง ถามนายสุด ศรีสมวงศ์ ก็ว่าภาคอีศานใช้ ท่อง และ ทำนอง เหมือนกัน

ด่าน ข้าพระพุทธเจ้าถือเอาความตามที่พระยาประชากรกิจ (แช่ม บุนนาค) อธิบายไว้ เพราะสอบหาในภาษาไทยต่างๆ ไม่พบ แต่นายสุดว่า ด่านช้าง ทางภาคอีศานหมายถึงแดนที่ช้างอยู่ ถ้าเทียบคำว่า ดินแดน ด่าน ก็มีเสียงและความหมายใกล้กันมาก ถ้าจะแปล ด่านตรวจ ว่าแดนตรวจ ตรวจด่าน คือ ตรวจแดน ดูก็เข้ากันได้ ที่ทรงสันนิษฐานว่าด่านช้าง จะหมายถึงทางช้างเข้ามา ก็ไม่ผิดความที่ว่าเป็นแดนช้างเข้ามา ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ ว่า ประตูใหม่ คือ ประตูพฤฒิบาศ ทางช้างเข้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ที่ประทานความรู้นี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า

เรื่องพระคลังสินค้าและเรื่องจิ้มก้อง ซึ่งทรงพระเมตตาประทานสำเนาพระอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มาแก่ข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้พระอธิบายเรื่องพระคลังสินค้า ข้อความที่ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวไว้ด้วยเรื่องพระคลังสินค้า ก็เป็นผิดอย่างใหญ่ เพราะข้าพระพุทธเจ้าคิดไปแต่เรื่องได้รับของส่วยไว้มากก็ต้องมีพระคลังสินค้า และคงจะส่งของส่วยที่เหลือใช้บรรทุกสำเภาไปจำหน่ายก่อนได้ติดต่อการค้ากับฝรั่ง อันเป็นความเข้าใจผิดของข้าพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก

เรื่องพระเจ้าคุบไลข่าน ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบในหนังสือฝรั่งแต่งว่า ประเทศไทยน่านเจ้าต้องแตกเพราะพระเจ้าคุบไลข่านยกมาตีเมื่อครั้งยังเป็นรัชชทายาท ครั้นไทยน่านเจ้าแตก ก็เป็นทางให้พระเจ้าคุบไลข่านบุกเข้ามาตีพะม่าได้ เพราะเมื่อก่อนนี้จีนยังยกมาตีพะม่าไม่ได้ เพราะไทยน่านเจ้าขวางหน้าอยู่ พงศาวดารพะม่ากล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ สมัยก่อนพระเจ้าคุบไลข่านว่า พะม่าเคยติดต่อกับจีน ที่แท้ติดต่อกับไทยน่านเจ้า หาใช่ติดต่อกับจีนไม่ จนทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่า ที่ขงเบ้งมาปราบเบ้งเฮก คือหม่องเฮกหรือพะม่านั้นเอง อันที่จริง เบ้งเฮกเห็นจะเป็นเมืองเฮกอย่างเรียกเจ้าผู้ครองเมืองต่าง ๆ โดยอ้างเอาชื่อเมืองขึ้นมากล่าวแทนชื่อเจ้าผู้ครอง ในแผนที่ซึ่งจีนทำไว้ เขียนชื่อเมืองต่าง ๆ ในภาคใต้ของจีน ขึ้นต้นด้วยคำว่า เมง (ฮกเกี้ยนเป็น เบ้ง) อยู่เป็นกลุ่ม ๆ แสดงว่า เมง คือ เมือง นั่นเอง ทั้งแม่น้ำก็เรียกว่า นาน (คำเดียวกับ ยูนนาน และ น่านเจ้า คือเจ้าแคว้นใต้) ทุกแห่ง นาน คำนี้ ถ้าเป็นเสียงในกวางตุ้งก็เป็น หนำ เทียบได้กับคำว่า น้ำ พระเจ้าคุบไลข่านนอกจากไปรบกับพะม่า ยังไปก่อกวนเข้ากับญวนและแขกจามด้วย จามไม่ยอมอ่อนน้อม กองทัพจีนจะยกมาตีทางบกก็ไม่ได้ เพราะติดญวน ซึ่งเวลานั้นยังอยู่ที่ตังเกี๋ยขวางหน้าอยู่ จีนต้องสู้รบกับญวนเพื่อหาทางยกลงมาตีแขกจาม แต่เผอิญจีนแพ้ญวน พระเจ้าคุบไลข่านจึงต้องชะงักการแผ่อำนาจมาทางนี้ มิฉะนั้นอาจลามต่อมาถึงเขมรด้วยก็ได้

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระอนุญาตใต้ฝ่าพระบาท และสมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ เก็บข้อความเรื่องพระคลังสินค้า และเรื่องจิ้มก้องลางแห่งมาลงไว้ในเรื่องศุลกากรของข้าพระพุทธเจ้า แต่ก็เกรงพระบารมีเป็นล้นเกล้า ฯ ทั้งนี้การจะควรสถานไร ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เป็นที่พึ่งแล้วแต่จะทรงพระกรุณา

เมืองเทียนสิน ถ้าเขียนตามสำเนียงชาวแต้จิ๋ว ก็เป็น เทียนจิ๋น หรือ เทียนจิ่น ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันมาแต่ก่อน ที่ข้าพระพุทธเจ้าเขียนเป็น เทียนสิน อนุโลมตามเสียงของจีนหลวง ซึ่งฝรั่งเขียนเป็น Tientsin และตามที่คนรุ่นใหม่ถ่ายเสียงคำนี้เป็น เทียนสิน เรื่องถ่ายเสียงชื่อเมืองในประเทศจีน ทำความยุ่งยากแก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก เช่น ยูนนาน เป็นเสียงอย่างจีนหลวง แต่เป็น ฮุนหนำ ในเสียงแต้จิ๋ว กวางซี กับ กวางไซ ไกวเจา กับ กุยจิ๋ว ฟุกเกียน กับ ฮกเกี้ยน ก็เป็นลักษณะเดียวกัน อามอย กับ เอ้หมึง (โบราณเป็น อ้ายมุ่ย กวางตุ้งเป็น ห่าหมุน แปลว่าประตูหอ คือประตูกลางของเรือนใหญ่) ข้าพระพุทธเจ้าถือเป็นหลักว่า ถ้าเป็นชื่อเมืองที่ไทยเคยเรียกมาก่อนเป็นอย่างแต้จิ๋ว ก็ใช้อย่างเสียงแต้จิ๋ว เช่น ฮกเกี้ยน เอ้หมึง ถ้าจะใช้ว่า อ้ายมุ่ย ก็ออกจะเก่าไป ไม่มีใครรู้จัก ส่วนกวางตุ้ง แต้จิ๋ว เป็น กึงตัง แต่ กึงตัง ไม่สู้รู้จักกัน จึงต้องใช้ กวางตุ้ง ตามเสียงของเจ้าถิ่น และใกล้กับคำไทย เพราะ กวาง แปลว่ากว้างขวาง ตุง แปลว่า ตะวันออก รวมกันก็แปลว่า แดนกว้างตะวันออก คู่กับ กวางซี แปลว่า แดนกว้างตะวันตก ส่วน เทียนสิน คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเขียนเป็น เทียนจิ๋น ดีกว่า เทียนสิน เพราะเป็นชื่อที่เคยรู้จักกันมาแต่โบราณ

ที่ฝรั่งเขียนคำ จิ๋น เป็น tsin มีตัว t ด้วย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าเสียง ส (เสียงหนัก) ซ (เสียงเบา) ผิดกับเสียง s ของฝรั่ง เพราะ s ของอังกฤษเป็นเสียงเกิดแต่ปลายลิ้นจดปลายพื้นบน ปล่อยให้ลมเสียดแซกออก แต่เสียง ส ซ เกิดแต่ปลายลิ้นจดถัดปุ่มเหงือกเข้าไปนิดหนึ่ง เข้าถึงแดนเพดานแข็ง ในวรรค จ และกักลมไว้นิดหนึ่ง เป็นเสียง ต อย่างเสียงชะนิดที่เป็นตัวสกด แล้วปล่อยลมให้เสียดแซกออกมา อย่างออกเสียงว่า (i) ts ผิดกับเสียง s ของอังกฤษซึ่งไม่มีการกักลม แต่ปล่อยให้เสียงเสียดแซกออกมาทีเดียว การแบ่งเสียงพยัญชนะฝรั่ง แบ่งออกเป็น ๒ วิธี แบ่งตามฐานกรณ์อย่างบาลี เรียกว่า แบ่งโดยตำแหน่งที่ แต่การแบ่งรูปนี้หยาบไป เช่นพยัญชนะเกิดแต่พื้นเสียง ส ก็มีถึง ๔ ชะนิด คือ ปลายลิ้นจดปลายฟันบนเป็นชะนิด s ของอังกฤษอย่างหนึ่ง ปลายลิ้นกดปุ่มเหงือกอย่าง ส ของบาลีและสํสกฤตอย่างหนึ่ง ปลายลิ้นกดลึกเข้าไปตรงเพดานแข็งเป็น s อย่างอเมริกัน หรือ ศ ในสํสกฤต และ ส ซ ของไทย ถ้าปลายลิ้นช้อนเข้าไปลึกอีก กลายเป็นเสียง ฎ ซึ่งเรียกว่า มูทชะ เคยแปลกันว่าเกิดที่ศีร์ษะ ที่ถูกหมายถึงสุดของเพดานแข็ง ซึ่งมีลักษณะเป็น dome หรือศีร์ษะของเพดานแข็ง เสียงเหล่านี้ ถ้าภาษาใดไม่ได้แยกไว้เป็นหลายหน่วย เสียงก็จะฟังไม่ออก ว่าผิดกันอย่างไร

การแบ่งเสียงพยัญชนะอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าแบ่งตามรูปเสียง คือ แบ่งเป็นเสียงปิดเสียงเปิด และเสียงนาสิก เสียงปิดได้แก่พยัญชนะทุกตัว ยกเว้นวรรค จ ซึ่งเป็นเสียงครึ่งปิดครึ่งเปิด และยกเว้น ง น ม ซึ่งเป็นเสียงนาสิก และ ฝ ฟ ส ซึ่งเป็นเสียงเปิดเสียงปิด คือตอนที่ ๑ ลมแล่นขึ้นมา ถูกอวัยวะในปากตอนใดตอนหนึ่งกักลมไว้ ตอนที่สอง ลมมาคั่งอยู่ตรงที่ถูกกัก พยายามจะดันออกมา ตอนที่ ๓ เปิดให้ลมแล่นออกมา ก็เป็นเสียงระเบิด เสียงเปิดอย่าง ฝ ฟ ส อวัยวะในปากกักไม่สนิท ปล่อยให้ลมเสียดแซกออกมาได้ ส่วนเสียง ง น ม เป็นชะนิดเสียงระเบิด แต่ให้ลมออกทางนาสิก เสียงในวรรค จ ฝรั่งว่าเป็นเสียงพยัญชนะผสม และเป็นเสียงครึ่งปิดครึ่งเปิด เช่น เสียง จ ก็ประกอบขึ้นด้วยเสียง ต+ย (เทียบ นิตย-นิจจ) เพราะฉะนั้นคำว่า Portuguese จึงออกเสียงเป็นโปรจุเกส (t + u) พะม่าเรียกจีนว่า Tyok แต่อ่านเป็น จ๊ก เสียง ฉ ก็คือเสียง ต+ย = จ+ห = ฉ เสียง ช ก็คือ ต+ย = จ+ฮ = ช เสียง ซ ก็คือเสียง ช เป็นชะนิดเสียดแซก เสียง ญ ก็เป็นเสียง จ แต่ลมออกทางจมูก และคงเป็นด้วยเหตุนี้ ฝรั่งจึงเขียนเสียง ส ซ ของจีนเป็น ts เพราะมีเสียงปิดระยะที่ ๒ ของ ต ปนอยู่ด้วย เสียงวรรค จ นี้ ในภาษาจีนแคว้นต่าง ๆ ใช้สับสนกันมาก ลางแห่งก็สังเกตไม่ได้แน่ว่าเป็นเสียง จ ฉ ช หรือ ซ ในภาษาไทยก็ออกจะยุ่ง ถ้าไทยใต้เป็น ช อีศานก็เป็นเสียง ซ ส แต่พายัพมักเป็นเสียง จ เช่น ช้าง ซ้าง จ๊าง และในภาษาจีนแคะเป็น เซี้ยง กวางตุ้งเป็น เจื่อง แต้จิ๋วเป็น เฉีย (Chiang เสียง ง ขึ้นนาสิกค้าง) ไหหลำและญวนเป็น เตี่ยง เตื่อง มอญ เป็น เจิ่น เจ่ง พะม่าเป็น เชน เจ้าคุณอินทรมนตรีว่า เชน ในภาษาพะม่าเป็นคำของไทย พะม่าเดิมอยู่ในธิเบตซึ่งไม่มีช้าง เมื่อยกลงมาในประเทศพะม่า พบช้างก็เรียกชื่อว่า ช้าง ตามไทยใหญ่ แต่พะม่าไม่ชอบเสียงแม่กง เสียง ช้าง จึ่งเพี้ยนเป็น เชน ไปโดยเหตุที่เสียงวรรค จ เหลื่อมกับเสียงวรรค ต จึงมีคำสับสนเสียงกันมากกว่าวรรคอื่น เช่น

จ-ต พัดด้ามจิ้ว-ติ้ว จิ๋ว-ติ๋ว (กวางตุ้ง สิว แปลว่า เล็ก แต้จิ๋ว เซี้ยว ไหหลำ เตี้ยว เนี้ยว)
จ-ด จำอวด-ดำอวด
จ-ท จม-ท่วม (ปักษ์ใต้ น้ำจมบ้าน=น้ำท่วมบ้าน)
จ-ถ โจม-โถม
ช-ซ โชก-โซก เงียบเชียบ-เซียบ
ช-ส ใช้-สอย (กวางตุ้ง ฉอย แต้จิ๋ว ใช้ ฮกเกี้ยน จ๋าย ไหหลำ ส่าย แปลว่า สิ่งสำหรับใช้)
ช-ต ชา-เต๊
ช-ท ชวด-ทวด

เปรี้ยน้ำ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ปริ่ม กับ เปรี้ย จะเป็นคำเดียวกัน เพราะถ้าออกเสียง ง น ม ให้ขึ้นนาสิกค้างเติ่ง เสียงก็เพี้ยนเปน อี เอ แอ และ เอีย อย่าง กะลิ้มกะเหลี่ย ขีด-เขียน-เขี่ย สิ้น-เสีย ลิ้น-เลีย ตอง-กิน หรือ ตองกิง-ตังเกี๋ย ปักกิ่ง-ปักเกีย เชิญ-เชี้ย (แต้จิ๋ว)-เชื้อเชิญ (เทียบ เสือ = เสีย ไทยจังหวัดเลย เสอ ผู้ไทย ดงเสอเผอ ดงเสอเผลอ) เซงแซ่ เน่ง-นิ่ง-แน่ แต่มี แปล้ อีกคำหนึ่ง ความคล้ายคลึงกับ ปริ่ม ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ารวนเรใจ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ใช้ ปริ่ม ดีกว่า เปรี้ย เพราะตัดข้อที่สงสัยได้

ยี่สาน กับ ปสาน ถ้าเดิมเป็นคำเดียวกัน เสียง ป กับ ย ในคำหน้าจะเพี้ยนกันไม่ได้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะมีเหตุอะไรสักอย่างหนึ่งจึงทำให้เสียงเพี้ยนออกไปไกล ในภาษามลายู ได้คำว่า ปสาน มาจากเปอรเซีย ก็ยังคงเสียงเป็น bazar อยู่

ข้อที่ทรงพระเมตตาทักท้วง คำอื่นในลายพระหัตถ์ ฉะบับลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ข้าพระพุทธเจ้าได้แก้ไขตามนั้นทุกคำ

ที่ประทาน สีเบ็ญจรงค์ มาให้ข้าพระพุทธเจ้า เป็นพระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ เพราะคนโดยมากและรวมทั้งข้าพระพุทธเจ้าด้วย เข้าใจผิดไปว่า เบญจรงค์จะเป็นสีอะไร ๆ ก็ได้ ให้ได้ ๕ สีก็แล้วกัน คติข้างจีนก็ถือสีทั้ง ๕ นี้เป็นแม่สี เรียกว่า โหงเซ้ก ได้แก่ ดำ แดง สีฟ้า (รวมสีเขียวใบไม้ สีมอคราม หรือ ดำ ก็ได้ คำว่า สีมอคราม ในภาษาไทยต่าง ๆ ใช้ว่า ดำ หรือ กำ อาจเป็น คราม คร้ำ ก่ำ ก็ได้) ขาว และ เหลือง โหงฮุน=สีเมฆ ๕ ประการ ถ้าเมฆเป็นสีเขียว เป็นลางว่า จะมีสัตว์เลื้อยคลานระบาด ถ้าเป็นสีขาว เป็นลางได้แก่ความเศร้าโศก ถ้าสีแดงได้แก่รบราฆ่าฟัน ถ้าสีดำได้แก่อุทกภัย ถ้าสีเหลืองได้แก่อุดมสมบูรณ์

ข้าพระพุทธเจ้านึกได้ว่า รัศมีพระพุทธเจ้าข้างจีนเป็นห้าสี มีผู้ทักว่าเห็นจะผิด เพราะที่ถูกต้องเป็นฉพรรณรังสี

โบสถ์ ข้าพระพุทธเจ้าเคยค้นหามาครั้งหนึ่ง แต่ต้องจนด้วยเกล้า ฯ เพราะในภาษาไทยต่าง ๆ ถ่ายคำที่มาจากบาลีแต่เสียงเดียว ไม่คนึงถึงตัวสกดการันต์ ในคำว่า โบสถ์ ก็เขียนว่า โบด สอบภาษาไทยในเมืองจีนก็ใช้เป็นคำจีน พจนานุกรมภาษาไทยลางถิ่นก็ไม่ให้คำ โบสถ์ ไว้ เพราะเป็นคำฉะเพาะ ซึ่งในพจนานุกรมมักไม่มีไว้ พจนานุกรมภาษาลาวทางเวียงจันทน์ ซึ่งบาดหลวงที่เมืองนั้นทำไว้ ก็ใช้เรียกว่า โบดฝรั่ง วัดฝรั่ง เหมือนกับเสียงภาษาไทย กรุงเทพ ฯ จะว่าโบสถ์หดมาจากอุโบสถ ก็เข้าใจได้ยาก

เผือ เพื่อน ในภาษาไทยอีศาน มีคำเสียงคล้าย ๆ กันหลายคำ เผิน แปลว่า ท่าน (ใช้เรียกผู้ใหญ่) เผื่อน แปลว่า เพื่อน เผื่อ แปลว่าสองคน เช่น เผื่อข้า = ข้าสองคน (เผือขา ก็แปลว่า ๒ คน ใช้เป็นไวพจน์กันได้) เผื่อ แปลว่า ฝูง คำจำพวกนี้ ถ้าไม่ได้ฟังเสียงจากปากคนพูด อาศัยดูตัวหนังสืออย่างเดียว ซึ่งไม่ได้บอกระดับเสียงไว้ด้วย ก็เป็นความลำบากที่จะทราบถึงระดับเสียง ซึ่งอาจทำเหตุให้เดาผิดพลาดได้ง่าย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ไม่ได้นำมาลงพิมพ์ เพราะหาอ่านได้ในสาส์นสมเด็จ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ