๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

บัดนี้จะให้ความเห็นแก่ท่านในเรื่องที่ท่านแต่งขึ้น เรียกชื่อว่าภาษีอากร ซึ่งท่านส่งไปให้ดู แต่เสียใจที่ในเรื่องภาษีอากรนั้น ฉันเอาใจใส่มาน้อยเต็มที ความรู้ไม่สู้มีในทางนั้นอันจะพึงทักมาให้ท่านได้ เพราะฉะนั้นจะทักได้ก็แต่ทางถ้อยคำเปนส่วนใหญ่ ดังจะปรากฏต่อไปนี้

๑. นึกคิด (หน้า ๑) นาย ก.ส.ร. กุหลาบ เปนเจ้าของปรุงขึ้นใช้ เท่าที่เขียนไว้นี้เปนตัดเสียแล้ว ถ้าเต็มที่จะต้องเปน รู้สึกนึกคิด ที่จำกันมาใช้ ชะรอยจะเห็นเปนไพเราะ ไม่เห็นดีอะไร คำซ้ำกันไปเปล่า ๆ ถ้าจะใช้แต่ นึก หรือ คิด คำเดียวเท่านั้น ก็พอยิ่งกว่าพอแล้ว

๒. บาณบุรีย (หน้า ๒) นี่จะเปนชื่อเมืองไร จะต้องเปนเมืองที่ใกล้ปากอ่าว ซึ่งเรือกำปั่นจะเข้าถึงได้โดยสะดวก และเปนแน่ว่าอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา เพราะมีชื่อกรุงเทพพระมหานครอยู่ในนั้นด้วย

๓. ทำนอง (หน้า ๓) คำนี้ให้รู้สึกว่าใช้กับเสียงร้อง จะยืดมาจาก ท่อง ได้กระมัง ในที่เก็บภาษีอากร จะเอาคำอย่างอื่นมาใช้ก็ได้ ไม่ขัดข้องลย

๔. ด่าน (หน้า ๕) คำว่า ด่าน เห็นจะไม่ใช่หมายว่าทาง เปนสถานที่อันไปตั้งอยู่ปากทาง สำหรับคนอยู่คอยตรวจตรา ด่านช้าง ก็เห็นจะไม่ใช่ทางขี่ช้างไปตรวจด่าน เข้าใจว่าจะเปนทางที่คนพาช้างเข้ามา มากกว่าทางอื่น เช่นพระนครของเรา ประตูใหม่บางลำภูก็เรียกว่า ประตูพฤฒิบาศ เปนทางเอาช้างเข้าเหมือนกัน ทำไมประตูช้างจึงอยู่ทางเหนือ ก็เพราะช้างจะมีเข้ามาก็แต่ทางเหนือ ทางใต้ไปออกทะเลไม่มีธุระแก่ช้าง ด่านช้าง ก็คงอยู่ที่ปากทางจะเข้าไปสู่ป่า ไม่จำเปนว่าจะต้องมีด่านช้างทุกเมืองไป สุดแต่เมืองใดมีช้างเข้ามามาก เมืองนั้นจึ่งมีด่านช้าง นี่เปนความเห็นของฉัน ซึ่งขัดกับความเห็นของท่าน แต่ท่านก็เดาฉันก็เดา ของใครจะถูกก็ทราบไม่ได้ แต่เมื่อมีความเห็นที่ต่างกันก็บอกให้ท่านทราบ เพื่อจะได้เปนทางพิจารณา

๕. เรียกว่าอากรเดิม (หน้า ๘) ไม่มีใครเรียกดังนั้น จะแก้ด้วยตัดคำ เดิม ทิ้งเสีย หรือเติมคำเข้าเปน เรียกว่าอากรตามเดิม ก็ได้

๖. สมัยปัจจุบันไม่มีภาษีอากรผูกขาดแล้ว (หน้า ๘) นึกได้ว่ายังมี เช่น อากรรังนกก็ดูเหมือนผูกขาด กับครึ่งๆ กลางๆ เช่น ภาษีฝิ่น รัฐบาลต้ม แต่ให้เจ๊กว่าประมูลผูกขาดไปขาย จะว่าเปนประเภทไร

๗. ซึมซาบ (หน้า ๘) คำนี้เปนคำแสลงของเจ้านาย ใช้แต่ว่า ซึม เท่านั้นก็มี หมายความว่ารู้ดีหรือเข้าใจดี ถ้าจะเอามาใช้ทั่วไปก็ควรจะเปลี่ยนคำเสียบ้าง เช่นว่า เป็นที่ซึมซาบ เปลี่ยนเปน รู้สึกซึมซาบ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ดีกว่า

๘. เรื่องคลังสินค้า (หน้า ๑๐) พอดีได้รับพระอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรง ได้คัดส่งมาให้นี้แล้ว

๙. ถ้าพระคลังต้องการพริกไทย ก็ให้บริษัทรับซื้อไปทั้งหมด (หน้า ๑๓) สงสัยว่าจะเปน ถ้าพระคลังไม่ต้องการพริกไทย

๑๐. เรื่องก้อง (หน้า ๒๐) สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงเขียนอธิบายในเรื่องเราไปก้องเมืองจีนประทานมา ได้คัดส่งมาให้ท่านทราบด้วยนี้แล้ว ในพระอธิบายเปนว่า ชั้นต้น การศึกษาบ้านเมืองทำให้ไปก้อง ทีหลังการค้าสำเภานำให้ไปก้อง ในที่สุดการค้าสำเภาก็ไม่มีแล้ว ฉันเห็นว่าการก้องก็ควรจะเลิกไป แต่ที่มีทวงก้องมาอีก กลัวจะเปนเจ้าพนักงานผู้น้อย ซึ่งเคยได้ประโยชน์อยู่ในการที่เราจัดไปก้อง จะทวงมาด้วยพลการตนเอง ไม่ใช่ได้รับคำสั่งมาแต่เมืองหลวงดอกกระมัง

๑๑. เกาซิล (หน้า ๒๑) ท่านคัดเอาจากหนังสือของฉัน ฉันจดให้มาตามที่คนเรียกกันอยู่เปนพื้น ลางคนตั้งใจจะเรียกให้ถูกว่า เกา-ซิน-ลอ-ออบ-ฟอ-สเต๊ด ก็มี แต่เปนเรื่องเช่นเดียวกับเรียก สายตแล็บแก๊บ ทั้งนั้น เคาน์ซิล ออฟ สเตตส์ เห็นจะควรเขียนที่ถูกลงไว้ คนทั้งปวงจะได้เข้าใจ แล้วจะกล่าวไขตามที่เรียกผิด ๆ ไว้ด้วยหรืออย่างไรก็ตามใจท่าน

๑๒. ได้นำเรื่องการค้าสำเภา ซึ่งหมอ กัตสลัฟ แต่งไว้ว่า (หน้า ๒๓) เห็นความบกพร่องไปเสียหน่อย ถ้าเติมคำเปน มากล่าวไว้ ว่า จะแจ่มแจ้งขึ้นอีก ในเรื่องที่เรียกเรือเมืองไทยว่า เรือหัวขาว นั้น ฉันเคยทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงว่า เรือเมืองไทยจะทาหัวขาว แทนสีแดงแห่งสำเภาแต้จิ๋วกระมัง เหมือนสำเภาฮกเกี้ยน เขาก็ทาสีเขียวแทนสีแดง แต่ไม่ทรงยอม มีพระดำริโยกไปเปนว่า ทาวาดหรือคิ้วขอบอะไรเปนสีขาวเท่านั้น

๑๓. พระยาพิศาลพาณิช (หน้า ๒๔) ตำแหน่งนี้มาในชั้นหลังมีคำ ผล มากขึ้นอีกคำหนึ่ง เปน พระยาพิศาลผลพาณิช จะเปนเติมคำ ผล ขึ้นในคนซึ่งเปนที่นั้นทีหลัง หรือดีดพิมพ์ตกก็ไม่ทราบ คำใดที่ทราบแน่ว่าดีดพิมพ์ตกผิด ได้แก้มาในต้นฉะบับ หาได้จดบันทึกทักมาไม่

๑๔. เมืองเทียนสิน (หน้า ๒๕) อยากจะถามท่าน ว่าที่ฝรั่งเขาเขียนชื่อเมืองนั้น เปนหนังสือฝรั่งเปน Tientsin เขาเขียนต่อ t ไว้หน้าตัว s ทำไม เอาออกเสียไม่ดีหรือ ที่หนังสือเก่าของเราเขียนว่า เทียนจิ๋น นั้นผิดหรือ

๑๕. ความที่เล่าถึงสำเภา ตั้งแต่หน้า ๒๖ ไปนั้นดีเต็มที ฉันก็ไม่เคยรู้ เล่นเอาหูผึ่งมาก

๑๖. เปรี้ยน้ำ (หน้า ๒๖) ดูเปนเขียนผิด ล เปน ร แต่คิดดูถึงคำ เปลี้ย และ เพลีย ก็ดูเปนไปข้างอ่อนแอ ไม่ควรจะเอามาใช้ประกอบคำเปนเปลี้ยน้ำ ถ้าจะใช้ว่า ปริ่มน้ำ ท่านจะเห็นเปนอย่างไร

๑๗. กันชิง (หน้า ๒๖) คิดว่าเขียน กรรชิง จะดีกว่า เพราะคนเรียกกันว่า กระฉิ่ง ก็มี

๑๘. เรื่องกับตันเดินเรือ ฉันเคยสงสัยมาเหมือนกัน เห็นการเล่นเช่น คริกเกต หรือ ฟุตบอล เขาก็มีกับตัน ครั้นสอบสวนก็ได้ความว่าที่ชื่อว่า กับตันเรือ ก็คือนายเรือ สำหรับดูการทั่วไปในเรือ ส่วนการเดินเรือเปนหน้าที่ของต้นหน

๑๙. ยี่สาน (หน้า ๒๘) คำนี้เคยสอบได้ความว่าเปนคำเขมร คำเดิมเปน ปสาน แปลว่า ตลาด นั่นเอง เปนแต่บอกให้ท่านทราบเท่านั้น ไม่ได้เห็นควรจะแก้หนังสือ ซึ่งเขียนตามไทยพูด

ได้ส่งต้นฉะบับกลับคืนมาให้ด้วยแล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

----------------------------

(สำเนา)

พระอธิบายสมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ

เรื่องตั้งคลังสินค้า

เรื่องคลังสินค้านั้นเกิดแต่ค้าขายกับฝรั่ง ไม่เกี่ยวกับค้าขายทางเมืองจีน หม่อมฉันทราบจากหนังสือซึ่งฝรั่งแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่า ตั้งแต่ฝรั่งสามารถแล่นเรือจากยุโรปอ้อมอาฟริกามาได้ถึงอินเดีย และประเทศอื่น ๆ ทางฝ่ายตะวันออกนี้ เที่ยวขออนุญาตเจ้าของเมืองตั้งสถานีการค้าเป็นที่พักตามเมืองที่เป็นทำเลค้าขาย ในสถานีนั้นตั้งคลังสินค้า เปนที่พักสินค้าซึ่งบันทุกมาจากยุโรปก่อนจำหน่ายขายแก่ชาวเมือง และเป็นที่พักสินค้าซึ่งซื้อหาได้ในพื้นเมืองเมื่อก่อนบันทุกเรือส่งไปยุโรป เมื่อพวกฝรั่งโปรตุเกศ ฮอลันดาและอังกฤษ มาค้าขายถึงกรุงศรีอยุธยา ก็มาตั้งสถานีการค้าเช่นนั้นที่ริมแม่น้ำข้างใต้พระนคร การค้าขายของพวกฝรั่งต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหลายอย่าง เป็นต้นว่า ถ้าเอาเครื่องศาสตราวุธยุทธภัณฑ์เข้ามาขาย รัฐบาลไม่ยอมให้ขายแก่ผู้อื่นนอกจากรัฐบาล แม้สินค้าอย่างอื่น ถ้าเปนของต้องใช้ในราชการ ก็ต้องขายให้รัฐบาลก่อนผู้อื่น ส่วนสินค้าในพื้นเมืองที่ฝรั่งปรารถนาจะซื้อนั้น ที่เปนของดีมีราคามาก เช่น ดีบุก และงาช้างเปนต้น เปนของหายาก รัฐบาลเกรงจะหมดเสีย จึงบัญญัติว่าเปนสินค้าต้องห้าม ชาวเมืองจะขายได้แต่แก่รัฐบาล ห้ามมิให้ขายแก่ผู้อื่น เปนประเพณีมีมาแต่ก่อนแล้ว ถึงสินค้าที่มิต้องห้าม มีของบางอย่าง เช่น เขาและหนังกวางเปนต้น ก็หายาก ยังไม่เปนของสินค้าในท้องตลาด พวกฝรั่งก็ต้องขอซื้อสินค้าต้องห้ามและต้องขอให้รัฐบาลช่วยหาสินค้าหายากมาขายแก่ตน การสงเคราะห์ฝรั่งด้วยประการดังกล่าวมานี้ เปนทางที่ได้กำไร เปนผลประโยชน์แก่รัฐบาลอีกอย่าง ๑ ถึงรัชชกาลพระเจ้าปราสาททอง จึงขยายการหาผลประโยชน์ในทางนั้นให้มีผลยิ่งขึ้น ด้วยตั้งคลังสินค้าของหลวงให้มีเหมือนอย่างของฝรั่ง เปนที่รวมสินค้าต่าง ๆ ที่หามาขายฝรั่ง และรับเหมาซื้อสินค้าต่างประเทศที่ฝรั่งเอาเข้ามา ไว้ในคลังสินค้า สำหรับขายย่อยไปแก่ชาวเมือง เมื่อตั้งคลังสินค้าแล้ว ตั้งบัญญัติเพิ่มสินค้าต้องห้ามให้ซื้อขายได้แต่รัฐบาลอีกหลายอย่าง สินค้าที่ฝรั่งเอาเข้ามาขาย ก็ตั้งบัญญัติสิ่งซึ่งให้ขายแต่แก่รัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกหลายสิ่ง คือ ผ้าแดง (ชรอยจะอ้างว่าสำหรับทำเครื่องแต่งตัวทหาร) เปนต้น แม้สินค้าสามัญ เช่น เครื่องถ้วยชาม ก็ต้องให้รัฐบาลเลือกซื้อได้ก่อนผู้อื่น ว่าโดยย่อ รัฐบาลทำการค้าหากำไรขึ้นในกรมพระคลังสินค้าอีกอย่าง ๑ มูลของกรมพระคลังสินค้ามีมาดังนี้

มีสาขาคดีเปนข้อสำคัญอันเกิดแต่ตั้งพระคลังสินค้า ซึ่งควรจะเล่าต่อไปด้วย เมื่อรัฐบาลตั้งคลังสินค้าขึ้นอย่างว่ามา พวกฝรั่งพากันเดือดร้อนแต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร รอมาจนถึงรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช พอไทยยกกองทัพไปตีเมืองพะม่า กำลังรักษาพระนครอ่อนลง พวกฮอลันดาก็ให้ทัพเรือมาปิดปากน้ำ แล้วขอแก้ไขวิธีการค้าขาย สมเด็จพระนารายน์ ฯ ต้องทรงอนุญาต ให้พวกฮอลันดาซื้อหาสินค้าต้องห้ามบางอย่าง คือ เขาและหนังกวางเป็นต้น ได้ตามใจ จึงไม่เกิดรบกัน เหตุครั้งนั้นเปนมูลอันหนึ่งซึ่งสมเด็จพระนารายน์ทรงสร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีสำรองสำหรับเวลารบกับฝรั่ง เพราะเห็นว่าฝรั่งอาจจะเอาเรือรบขึ้นมาพระนครศรีอยุธยาได้ และยังมีเหตุชนิดเดียวกัน เปนแต่มิได้เกี่ยวกับคลังสินค้าเกิดขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์อีก ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาทางไมตรีกับฝรั่ง มีกงซุลต่างชาติเข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในสมัยเมื่อไทยกับฝรั่งยังไม่สู้คุ้นกัน ถ้าเกิดโต้เถียงกัน พวกกงซุลมักขู่ว่าจะเรียกเรือรบเข้ามากรุงเทพ ฯ ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ รำคาญพระราชหฤทัย ทรงพระราชดำริตั้งเมืองลพบุรีเป็นราชธานีสำรอง เหมือนอย่างสมเด็จพระนารายน์ แต่มีความเห็นอีกฝ่ายหนึ่งว่าควรตั้งที่เมืองนครราชสีมา จึงโปรดให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เสด็จขึ้นไปตรวจ แต่ไปเห็นว่าเมืองนครราชสีมากันดานน้ำนัก พระปี่นเกล้า ฯ โปรดที่เขาคอก ในแขวงเมืองสระบุรี จึงคิดทำที่มั่นที่เขาคอกนั้นสำหรับพวกพระบวรราชวัง เป็นเหตุให้สร้างที่ประทับ ณ ตำบลสีทาที่ริมแม่น้ำสัก ใกล้กับเขาคอกแต่นั้นมา แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดเมืองลพบุรี จึงทรงสร้างพระราชฐาน ณ ที่นั้น ยังมีพระราชมณเฑียรสถานปรากฏอยู่จนบัดนี้

สำเนาถูกต้องตามต้นฉะบับ

ดวงจิตร

----------------------------

(สำเนา)

พระอธิบายสมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ

เรื่องก้องเมืองจีน

ข้อปัญหาที่ตรัสถามมาว่า ไทยจะได้จิ้มก้องจีนมาแต่เมื่อใดนั้น หม่อมฉันเคยพิจารณาในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน ซึ่งพระเจนจีนอักษร (ตันสุดใจ) แปลจากจดหมายเหตุจีน และหอพระสมุดฯ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ประกอบกับหนังสือพงศาวดารจีน Imperial History of China ซึ่งดอกเตอร์แมกเคาวัน แปลเปนภาษาอังกฤษสอบกับอธิบายพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ์เลขาที่หม่อมฉันแต่ง ได้ความเป็นหลักฐานว่า ไทยไปจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีนตั้งแต่สมัยเมื่อพระเจ้ารามคำแหงมหาราชครองกรุงสุโขทัยเป็นปฐม และมีสืบมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้จึงได้เลิก

มูลเหตุที่จะจิ้มก้องนั้น ตามเรื่องพงศาวดารจีน ว่าเมื่อสมัยราชวงศ์ซ้องครองกรุงจีน เกิดผู้วิเศษขึ้นในประเทศมงโคเลีย สามารถรวบรวมกำลังรี้พลได้มาก ตั้งตนเป็นราชาธิบดี ทรงนามว่า เยนฆิสข่าน Genghis Khan เมื่อ พ.ศ. ๑๗๐๙ แล้วเที่ยวรบพุ่งขยายอาณาเขตต์ไปทางกลางอาเซีย จนในดินแดนที่เป็นประเทศรุสเซียบัดนี้ แล้วบุกรุกเลยเข้าไปจนในยุโรปบางแห่งทางฝ่ายใต้ ก็ตีได้เมืองมันจุเรียและบ้านเมืองในแดนจีนทางฝ่ายเหนือต่อลงมา พวกจีนต้านทานไม่ไหว พระเจ้ากรุงจีนในราชวงศ์ซ้องต้องยอมเปนไมตรีกับพวกมงโคลด้วย แบ่งอาณาเขตต์จีนทางฝ่ายเหนือให้เยนฆิสข่านครอบครอง เมืองจีนจึงแยกเป็น ๒ อาณาเขตต์อยู่สมัยหนึ่ง พระเจ้าเยนฆิสข่านสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๑๗๗๐ ราชบุตรองค์หนึ่ง ทรงนามว่ากุปไลข่าน Kublai Khan ได้รับรัชทายาทครองอาณาเขตต์ที่ได้ไว้ในเมืองจีน กุปไลข่านแผ่อาณาเขตต์รุกแตนจีนต่อลงมาจนได้เมืองจีนทั้งหมดและสูญสิ้นราชวงศ์ซ้องแต่นั้น เมื่อกุปไลข่านได้ครองแผ่นดินจีนทั้งหมด ก็รับขนบธรรมเนียมใช้เพื่อความสะดวกแก่การปกครอง ประกาศตั้งราชวงศ์ หงวน Juan เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๓ ใช้พระนามเปนภาษาจีนว่า พระเจข้าหงวนสีโจ้วฮ่องเต้ พระเจ้าหงวนสีโจ้วฮ่องเต้จัดการปกครองราชอาณาเขตต์มาทางตะวันตกถึงปลายแดน เกิดรบกับพะม่า เปนเหตุให้จีนตีได้เมืองพะม่า และเมืองญวนก็ต้องยอมเปนเมืองขึ้นจีน แต่ในสมัยนั้นพวกขอมยังมีกำลังมาก จีนตีเมืองเขมรหาได้ไม่ คงเปนเพราะจีนสามารถตีเมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียงได้ครั้งนั้น พระเจ้าหงวนสีโจ้วฮ่องเต้ จึงแต่งราชทูตไปเกลี้ยกล่อมประเทศที่อยู่ห่าง อันทางไปมาต้องข้ามทะเล ให้ไปอ่อนน้อมต่อกรุงจีน ญี่ปุ่นไม่ยอมไปอ่อนน้อมถึงเกิดรบพุ่งกัน แต่จีนตีเมืองญีปุ่นไม่ได้ เพราะกองทัพเรือไปถูกพายุแตกฉาน เรื่องพงศาวดารประสพกับความในจดหมายเหตุจีนที่พระเจน ฯ แปลว่า

เมื่อ พ.ศ.๑๘๒๕ พระเจ้ากรุงจีนหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ (คือกุปไลข่านครองกรุงจีนได้ ๓ ปี) ตรัสสั่งให้ขุนนางชื่อหอจูจี่ เป็นทูตมาเกลี้ยกล่อมเสียมก๊ก คือกรุงสุโขทัย (กับหลอฮกก๊ก คือกรุงละโว้ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นอิสสระแก่กัน ยังมิได้รวมเป็นเสียมหลอฮกก๊ก ข้อนี้พึงเห็นได้ตามรายการที่กล่าวในจดหมายเหตุ) ให้ไปอ่อนน้อมต่อกรุงจีน เทียบศักราชปีที่ทูตจีนมากับศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย ได้ความว่า ทูตจีนมาก่อนพระเจ้ารามคำแหงตั้งแบบหนังสือไทยปี ๑ จึงรู้ได้แน่ว่าทูตจีนเข้ามาเกลี้ยกล่อมเสียมก๊ก เมื่อรัชชกาลพระเจ้ารามคำแหงมหาราช แต่ส่วนหลอฮกก๊ก ที่ว่ายังอิสสระอยู่นั้น มีเค้าอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมิได้ออกชื่อ อ้างว่าเมืองละโว้และเมืองอื่น ๆ อันอยู่ทางฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เมือง โคราฆบุรี (นครราชสีมา) ลงไปจนแดนเขมร เปนเมืองขึ้นในราชอาณาเขตต์สุโขทัยเหมือนอย่างทางทิศอื่น ในจดหมายเหตุจีนเรียงลำดับเหตุการณ์ไว้ดังนี้

พ.ศ. ๑๘๒๕ ทูตจีนมาเกลี้ยกล่อมเสียมก๊ก (และหลอฮกก๊ก)

พ.ศ. ๑๘๓๒ หลอฮกก๊ก (พระเจ้ากรุงละโว้) ให้ราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน

พ.ศ. ๑๘๓๔ หลอฮกก๊กอ๋อง (พระเจ้าละโว้) ให้ราชทูตเชิญสุพรรณบัตร์พระราชสาส์น กับเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน (แต่นี้ในจดหมายเหตุจีนก็มิได้กล่าวถึงหลอฮกก๊กอีก)

พ.ศ. ๑๘๓๖ พระเจ้ากรุงจีนหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ ให้ราชทูตไปทำทางพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสียมก๊ก (ความตอนนี้ส่อข้อสำคัญชวนให้คิดเห็นว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๔ พระเจ้ารามคำแหง ฯ คงตีเมืองละโว้ พระเจ้าละโว้แต่งราชทูตไปขอให้พระเจ้ากรุงจีนช่วย พระเจ้ากรุงจีนจึงแต่งราชทูตให้ออกมาว่ากล่าวห้ามปราบ แต่ทูตจีนมาถึงเมื่อพระเจ้ารามคำแหงตีเมืองละโว้ได้เสียแล้ว ทูตจีนถือรับสั่งพระเจ้ากรุงจีนไปต่อว่าพระเจ้ารามคำแหง ๆ เกรงจีนจะยกกองทัพมาช่วยกู้เมืองละโว้ แล้วเลยย่ำยีต่อขึ้นไปถึงเมืองสุโขทัย จึงยอมทำทางไมตรีรับจิ้มก้องจีนแต่นั้นมา

พ.ศ. ๑๘๓๗ พระเจ้าหงวนสีโจ้วฮ่องเต้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ขึ้นเสวยราช เสียมก๊กอ๋อง กังมิงตึ๋ง (คือพระเจ้ารามคำแหง) ไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีนองค์ใหม่ ความตอนนี่ส่อให้เห็นว่า พอตกลงทำทางไมตรีกับจีนแล้ว กรุงสุโขทัยก็เป็นไมตรีสนิทสนมกับจีนสืบต่อมา ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า แต่งทูตไปจิ้มก้องเสมอ

การจิ้มก้องนั้น ในเมืองจีนกับเมืองต่างประเทศเข้าใจผิดกัน ในเมืองจีนเข้าใจว่าต่างประเทศที่ไปจิ้มก้อง เป็นประเทศราช ไปแสดงความสามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงจีน แต่เมืองต่างประเทศถือว่าเป็นไมตรีกับจีนอย่างบ้านพี่เมืองน้อง แสดงความเคารพต่อพระเจ้ากรุงจีนเหมือนอย่างว่าเป็นพี่ ที่ไม่รังเกียจการจิ้มก้อง หรือจะว่าชอบไปจิ้มก้องก็ว่าได้นั้น เพราะเรือทูตที่ไปจิ้มก้อง จะบันทุกสินค้าอันใดไปขายก็ไม่ต้องเสียภาษีอากร สินค้าที่พวกทูตซื้อมาจากเมืองจีน ก็ไม่ต้องเสียภาษีอากร ทั้งราชบรรณาการที่พระเจ้ากรุงจีนตอบแทนก็เป็นของดีมีราคามากกว่าของที่ส่งไปถวาย การจิ้มก้องได้กำไรแก่ต่างประเทศมาก จึงพากันชอบไปจิ้มก้อง ไม่แต่เมืองไทยเท่านั้น จนถึงรัฐบาลจีนรำคาญ ข้อนี้มีในจดหมายเหตุที่พระเจนแปลแห่ง ๑ ว่าพระเจ้าไถ่โจ้วฮ่องเต้ทรงปรารภว่าประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ไกลคือ เจียมเสีย (จำปา) งังน่าง (ญวน) ซีเอี้ยง (โปรตุเกศ) ซอลี้ (สันนิษฐานว่า สะเปน) เอี่ยวอวา (ชวา) เสียมหลอฮกก๊ก (เมืองไทย) ปะหนี (ปัตตานี) กำพัดฉิ (กำพูชา) เคยไปจิ้มก้องทุกปี ฝ่ายจีนสิ้นเปลืองมากนัก ดำรัสสั่งให้มีราชสาส์นห้ามมิให้ไปทุกปี (ให้ไปต่อ ๓ ปีครั้ง ๑) จึงเปนกำหนดเช่นนั้นสืบมา ที่กล่าวมานี้เป็นแต่ด้วยเรื่องจิ้มก้อง

เรื่องหองนั้นมีเค้ามูลอยู่ในจดหมายเหตุจีนที่พระเจน ฯ แปลพ้องกับเรื่องพงศาวดารไทยชอบกล คือเมื่อพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสสระแล้ว ไม่ช้าทางเมืองจีนก็เปลี่ยนราชวงศ์หงวนเปนราชวงศ์ไต้เหม็ง พระเจ้าไถ่โจ้วฮ่องเต้ประฐมวงศ์ เสวยราช เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๑ ใช้นามแผ่นดินว่า หงบู๊ ในรัชชกาลพระเจ้าอู่ทอง ก็มีเค้าว่าไปจิ้มก้องเมืองจีน แต่ไม่มีรายการปรากฏ มาเริ่มมีรายการต่อในรัชชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) ในจดหมายเหตุจีนกล่าวว่า

เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๔ เสียมหลอก๊กอ๋อง (คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชพงั่ว พอเสวยราชย์แล้วก็) มีพระราชสาส์นให้ทูตเชิญไปเมืองจีน ว่าอ๋องพระองค์ก่อน (คือสมเด็จพระราเมศวร) ไม่ทรงปรีชาสามารถ ชาวเสียมหลอฮกก๊กจึงเชิญพระองค์ผู้เปนพระเจ้าลุงขึ้นครองราชสมบัติ พระเจ้ากรุงจีนทรงรับทูตตามประเพณี แต่ไม่ปรากฏในจดหมายเหตุว่า มีพระราชสาส์นตอบมาว่าอย่างไร

ต่อมาอีก ๒ ปี เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๖ เซียนเลียะซือสิง พระภคินีของเสียมหลอก๊กอ๋อง (คือพระชนนีของสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งกลับไปครองเมืองลพบุรีอยู่ในเวลานั้น เห็นจะเคยคุ้นกับราชสำนักจีนมาแต่เมื่อเปนมเหษีพระเจ้าอู่ทอง ) ให้ทูตเชิญราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนกับพระอัครมเหษี พระเจ้ากรุงจีนเปนแต่เลี้ยงดูทูต ไม่ยอมรับราชสาส์นและเครื่องบรรณาการ

ต่อมาอีกปี ๑ ถึง พ.ศ.๑๙๑๗ เจ้านครอินทร จีนเรียกว่า เจี่ยวลักกวานอิน และว่าเป็นโอรสผู้จะรับทายาทของ ซูมันบังอ๋อง (เจ้าผู้ครองเมืองสุพรรณ) ให้ทูตถือสาส์นกับเครื่องบรรณาการไปถวายฮ่องไทจือ (พระยุพราช) พระเจ้ากรุงจีนให้รับบรรณาการและประทานของตอบแทนมายังเจ้านครอินทร ความตอนนี้ขยายคดีอันมิได้ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช พงั่ว เสด็จเข้ามาครองกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงตั้งน้องยาเธอองค์ ๑ ให้ครองเมืองสุพรรณ ที่จีนเรียกว่าซูมันบังอ้อง และน้องยาเธอองค์นั้นเป็นพระชนกของเจ้านครอินทร ซึ่งเห็นจะได้ครองเมืองอินทร และต่อมาได้เข้าครองกรุงศรีอยุธยา เรียกพระนามในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระอินทราชาธิราช และว่าเป็นราชนัดดาของสมเด็จพระบรมราชา พงั่ว

ต่อมาอีกปี ๑ ถึง พ.ศ. ๑๙๑๘ เจ้าองค์ ๑ จีนเรียกว่า เจียวปะล่อกะยก เป็นสี่จื้อ (ทายาท) ของอ๋ององค์เก่า (คือราชบุตรของสมเด็จพระราเมศวร) ให้ทูตถือสารคุมเครื่องบรรณาการไปถวายฮ่องไทจือ และพระเจ้ากรุงจีนก็โปรดให้รับ และประทานของตอบแทนเหมือนอย่างเจ้านครอินทร เจ้าองค์นี้คือพระราม ที่ได้เสวยราชย์ต่อรัชชกาลครั้งหลังของสมเด็จพระราเมศวร ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามราชาธิราช ความตอนนี้ส่อให้เห็นว่าในสมัยนั้นเจ้านครอินทร กับพระราม อยู่ในฐานะเปนคู่แข่ง ประมูลกันรับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยาในวันหน้า

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๙๑๘ ปีเดียวกันนั้นเอง ซูมันบังอ๋องให้เจ้านครอินทร ออกไปเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน และว่าเมื่อเจ้านครอินทรจะกลับ พระเจ้ากรุงจีนให้เชิญลัญจกรมาประทานสมเด็จพระบรมราชาธิราช พงั่ว ด้วยดวง ๑ ลายเปนอักษรจีนว่า เสียมหลอก๊กอ๋องจืออิน (แปลว่าตราของเสียมหลอก๊กอ๋อง) แต่นั้นจีนก็ตัดคำ ฮก ออกจากนามประเทศ เรียกว่าเสียมหลอก๊ก ตามอักษรในลัญจกรนั้นสืบมา ในจดหมายเหตุจีนกล่าวถึงไทยไปจิ้มก้อง ศักราชตรงในรัชชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช พงั่ว และในรัชชกาลสมเด็จพระราเมศวรอีกหลายครั้ง

ถึง พ.ศ. ๑๙๓๘ ตรงในรัชชกาลสมเด็จพระราเมศวร ครั้งหลัง เจ้านครอินทรให้ทูตถือสาส์นไปทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า ซูมันบังอ้อง พระบิดาสิ้นพระชนม์ พระเจ้ากรุงจีนทรงแต่งทูตมาเยี่ยมพระศพและทรงตั้งเจ้านครอินทรเปนซูมันบังอ๋องแทนพระบิดา

ต่อมาถึงรัชชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช ก็ปรากฏในจดหมายเหตุว่า ให้ไปจิ้มก้องเมืองจีนหลายครั้ง เมื่อสมเด็จพระรามราชาธิราชถูกปลงจากราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระอินทราชาธิราช (เจ้านครอินทร) ได้ครองกรุงศรีอยุธยา ปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๖ เสียมหลอก๊กอ๋องให้ไปจิ้มก้อง พระเจ้าเสงโจ้วฮ่องเต้ดำรัสให้ทำลัญจกรด้วยเงินกาไหล่ทอง ยอดทำเปนรูปอูฐ ให้ราชทูต (จะเปนจีนหรือไทยไม่ปรากฏ) เชิญมาประทานก๊กอ๋อง เจียวลกกวานอิน ตอล่อทีล้า (เจ้านครอินทราธิราช) ดังนี้ เรื่องที่กล่าวมาดูเปนมูลเหตุที่เกิดประเพณีที่พระเจ้ากรุงจีน หอง และประทานพระราชลัญจกรแก่พระเจ้าแผ่นดินไทย เพราะหาอำนาจจีนอุดหนุนแข่งกันในระหว่างเจ้านายราชวงศ์สุพรรณกับราชวงศ์เชียงราย เปนเดิม แล้วเลยเปนธรรมเนียมสืบมา แม้มิได้มีเหตุแข่งกัน ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า เมื่อสมเด็จพระอินทราชาสวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ได้ครองกรุงศรีอยุธยา แต่งทูตเชิญพระราชสาส์นไปเมืองจีน แถลงการที่เปลี่ยนรัชชกาลใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๙ พระเจ้ากรุงจีนก็ให้ราชทูตมาเยี่ยมพระบรมศพและยกย่องอ๋องจื๊อเปนก๊กอ๋อง การหองจึงเปนประเพณีมีมาเก่าแก่แต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาด้วยประการฉนี้ ค้นหนังสือเสียหลายวันจึงได้ความดังทูลมา

สำเนาถูกต้องตามต้นฉะบับ

ดวงจิตร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ