๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๒๖ และวันที่ ๓๐ กันยายน รวม ๒ ฉะบับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานรับสารภาพผิด ในความเขลาของข้าพระพุทธเจ้า ที่มิได้เฉลียวนึกถึง พระนามพระพุทธยอดฟ้า ว่าเป็นพระนามที่ถวายขึ้นภายหลัง เมื่อทรงพระกรุณาทักขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้สำนึกว่าที่กราบทูลไป เปนความเข้าใจผิดโดยแท้

เรื่องจิ้มก้อง ที่ทรงพระเมตตาประทานเค้าเงื่อนมาให้ข้าพระพุทธเจ้า มีประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก เพราะข้าพระพุทธเจ้ากำลังค้นหาเรื่อง เพื่อเรียบเรียงตำนานศุลกากร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะรวบรวมเรื่องการแต่งสำเภาไปค้ายังประเทศจีนเข้าด้วย แต่เรื่องการค้าขายและการเก็บภาษีศุลกากรของไทย ดูเป็นเรื่องยุ่งยากมาก เพราะไปพัวพันเข้ากับการค้าของคลังสินค้า และเรื่องแบ่งแยกหน้าที่บังคับบัญชาการเก็บภาษีเป็นหลายกรม แม้เพียงในรัชชกาลที่ ๕ นี้เอง ก็ค้นหาเรื่องราวไม่ได้ชัด ข้าพระพุทธเจ้าเคยทูลถามพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์ ทรงอธิบายว่า แต่เดิมกรมศุลกากรเมื่อยังไม่ตั้งกรมขึ้นกับใคร ก็ได้ความว่าขึ้นกรมท่า และกลาโหม แยกเป็นสินค้าข้าวขาออกส่วนหนึ่ง และภาษีร้อยชักสามส่วนหนึ่ง แต่ส่วนไหนจะขึ้นใครก็จำไม่ได้ คิดด้วยเกล้าฯว่า ท่ากรุงเทพฯ ภาษีทั้งขาเข้าขาออกควรจะเป็นกรมท่า ในหัวเมืองปักษ์ใต้ควรจะเป็นกลาโหม แต่เหตุไฉนกลาโหมจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับทางท่ากรุงเทพ ฯ ด้วย เมื่อตรวจดูหนังสือเก่า กลับปรากฏว่า สินค้าขาออกนอกจากข้าว เป็นภาษีผูกขาด ให้รายชื่อเจ้าภาษีไว้เป็นแถว ข้าพระพุทธเจ้าได้ต้นหนังสือของพระยาราชภักดีไว้ฉะบับหนึ่ง ประทับตรานกวายุภักษ์ แต่ในที่นั้น พระยาราชภักดีเป็นผู้บังคับบัญชาภาษีข้าว ในเอกสารลางฉะบับ ปรากฏว่า เจ้าเมืองจันทบุรีนำส่งเงินค่าภาษีศุลกากรกรมท่าๆนำส่งกรมศุลกากร ลางฉะบับกลับปรากฏว่า เงินค่าภาษีสุราต่างประเทศที่กรมศุลกากรจัดเก็บเมื่อ ร.ศ. ๑๑๑ นี้เอง ก็มีนายอากรสุรามารับเอาไปเป็นรายได้ของนายอากรเอง เรื่องออกจะยุ่งยากเป็นที่สุด ข้าพระพุทธเจ้าพยายามสาวคำว่า จังกอบ ที่ปรากฏในครั้งแรกก็คือ จกอบ ในศิลาจารึก ศาสตราจารย์เซเดส์ ว่าเป็นภาษาเขมร หมายความว่า ภาษีเก็บจากสัตว์พาหนะและสิ่งของที่นำเข้ามา ท่าทีจะเป็นภาษีผ่านด่าน (ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยอยู่ว่า จกอบ จะไม่ใช่ภาษาเขมร) ตกมาถึงหนังสือกฎหมายเก่า ในลักษณะพระธรรมนูญ เกิดมี ขนอน ขึ้นอีกคำหนึ่ง ลางทีก็ใช้ควบไปกับคำว่า จังกอบ ขนอน น่าจะเป็นสถานที่เก็บจังกอบ แต่ในลางแห่งกลายเป็นตัวภาษีไป เป็นอากรขนอนตลาดค่าที่เชิงเรือน มาในกรุงรัตนโกสินทร ขนอน หายไปกลายเป็นด่านภาษี จังกอบก็เป็นค่าภาษีปากเรือ ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า ขนอน มากลายเป็นด่าน เพราะขนอนกับด่านจะอยู่ใกล้กัน นานเข้าขนอนก็หายไปเหลือแต่ด่าน สอบคำ ด่าน ได้ความว่าเดิมแปลว่า ทาง ที่มากลายเป็นด่านคอยก็ไม่แปลก เพราะคงไปตั้งอยู่ต้นทาง แต่ที่กลายมาเป็นด่านภาษีนี้ ได้ความว่าทางภาคอีศานก็เรียกด่านเหมือนกัน ต่อมาพบแต่คำว่า ภาษี และ อากร ทั้งสองประเภทนี้ ส่วนมากคงเป็นภาษีผูกขาด จะต่างกัน ภาษีเรียกเก็บผ่านด่าน ส่วนอากรเรียกเก็บจากที่เกิด ส่วนจังกอบหายสาปศูนย์ไป แต่มาเกิดใหม่กลายเป็นเงินบำรุงท้องถิ่นที่หัวหิน ส่วนภาษีอากรในเวลานี้ ดูก็จะปน ๆ กันไป เช่นเงินอากรศุลกากร ภาษีรายได้ และอื่นๆ จับเค้าว่าผิดแปลกกันอย่างไรไม่ได้ชัด ทางภาคอีศาน คำว่าภาษีอากรเรียกว่า ส่วย ทั้งนั้น ตรงกับในภาษาจีน ส่วยเป็นภาษีอากรได้ทุกอย่าง ในภาษาไทยใหญ่เรียกภาษีอากรทุกชะนิดว่า ขอน รูปคำคล้าย ขนอน มาก ผิดกันแต่เพียงไม่ได้เป็นคำยืดเท่านั้น

ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามชาวภาคอีศาน และชาวพายัพหลายคนถึงคำว่า ข้าวเม่า ก็แปล เม่า ไม่ออก ค้นในพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นต่างๆ คงพบในภาษาไทยย้อยและภาษาผู้ไทยขาว แต่ไม่แปลคำว่า เม่า กลับไปอธิบายถึงลักษณะข้าวเม่าเสีย คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เม่า จะเป็นคำที่ลืมกันเสียแล้ว จึงแปลกันไม่ได้ ถ้าว่าโดยเสียง อาศัยยึดเอาลักษณะของข้าวเม่าลางประการเป็นแนวค้น คิดด้วยเกล้าฯ ว่า มาง กับ เมา จะเป็นคำเดียวกัน เพราะเมื่อออกเสียง มาง ให้ขึ้นจมูกหนัก เสียงก็เพี้ยนเป็นลงท้ายด้วยเสียงสระ ในภาษาไทยก็มีคำซ้อนว่า บางเบา ในภาษาอาหม มาง แปลว่าบาง และแปลว่าทำให้แตกด้วย ใช้ทิ่มตำ (to break by poking at) ดูก็ใกล้ไปทางว่า ทุบ หรือตำให้แตกเป็นแผ่นบาง แต่ก็เป็นเดา ซึ่งอาจผิดพลาดได้ง่าย ทั้งนี้การจะควรประการไร แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

คำว่า แตก สอบถามชาวอีศานก็อ้ำอึ้ง ชี้แจงอย่างไม่รับรองว่า เห็นจะแปลว่า ตำ เพราะ ข้าวแตกงา ต้องตำเสียก่อนแล้วจึงสลัดงา ยังมีคำอยู่อีกคำหนึ่ง คือ ปลาร้า ซึ่งชาวอีศานเรียกว่า ปลาแดก ว่าต้องเอาปลาไปตำเสียก่อน ผู้บอกจึงยืนยันว่า แดก เห็นจะแปลว่า ตำ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า แตก ถ้าแปลว่า ตำ ทำไมจึงไม่ใช้ว่า ตำ ลางทีจะเป็นลักษณะตำชะนิดที่ทำให้แหลก เพราะ แตกกับ แหลก เสียงก็ใกล้กันมาก ในภาษาชาวพายัพมีคำว่า แต้ก หมายความว่า ตำ ใกล้กับคำ กระแทก มาก ทั้งมีคำซ้อนว่า กระแทกแดกตำ อยู่ในภาษาด้วย

พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ ที่ทรงพระเมตตาประทานเรื่องสังเคตมาให้ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้ากำลังค้นหาที่มาของคำนี้อยู่ เพราะไม่ทราบเกล้าฯ ว่าเป็นอะไรแน่ ถามพระสารประเสริฐก็ว่าไม่มีในภาษาบาลี และก็ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าอะไรเหมือนกัน นอกจากเห็นเรียกสิ่งของที่ทำบุญถวายพระในพิธีศพ พวกเข้ารีดเคยเรียกที่ตั้งศพว่า สังเคต เป็นการกลายความหมายไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้รับพระอธิบาย ก็คงค้นไม่พบคำนี้เป็นแน่

ข้าพระพุทธเจ้าอ่านรายงานของกับตันบารนี ตอนหนึ่งว่า ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงฉลองพระองค์ แต่ไม่มีเสื้อทำด้วยผ้ามัสลินอย่างบางคลุมทับเหมือนพวกแขกชั้นสูงในเมืองสุหรัด ดูเค้าเสื้อบางนี้อาจเป็นครุยก็ได้

ในหนังสือฝรั่งเล่มหนึ่ง กล่าวว่า ธรรมเนียมทมิฬ ถ้าอยู่ฉะเพาะหน้าผู้ใหญ่ จะต้องเปลือยกายตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไปถึงศีร์ษะ พราหมณ์จะเข้าไปในเทวาลัย นำอาจารย์หรือเข้าไปหาอาจารย์ หรือเข้าไปฉะเพาะพระพักตร์เทวรูป ต้องถอดเสื้อออกพันพุง ชาวนาถ้าเห็นข้าราชการเดินใกล้เข้ามาหาตน หรือชาวนาจะเข้าไปในโรงศาล ต้องเอาผ้าโพกออก ถ้ามีเสื้อผ้าก็ต้องปลดออกคาดพุง เมื่อมหาราชาแคว้นไมโสรออกขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ๒-๓ คนเท่านั้น ที่ห่มผ้าเฉวียงบ่าไว้ ข้าราชการนอกนั้น ถ้ามีเสื้อผ้าอยู่ก็ต้องเอาออกคาดพุง ธรรมเนียมนี้ใกล้มาทางถอดเสื้อครุยคาดพุง เมื่อคราวพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยายมราช มีผู้เล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า เจ้าหน้าที่คนซึ่งสวมครุยเข้าริ้วกระบวนแห่ เมื่อเสร็จการแห่แล้ว ได้ถอดครุยม้วนอย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว แล้วเอาคาดพุง ข้าราชการที่นั่งคอยเฝ้าอยู่เห็นเป็นขัน ถึงกับหัวเราะกันก็มี ทั้งนี้ก็เพราะไม่ทราบธรรมเนียมที่มีมา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ