๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๓ ไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องเขียนหนังสือฝรั่งเป็นไทย ไทยเป็นฝรั่ง ราชบัณฑิตยสถานได้รับโอนภาระเรื่องนี้จากคณะกรรมการซึ่งกระทรวงธรรมการได้ตั้งขึ้น มาจัดทำต่อไปจนสำเร็จรูปเป็นร่างขึ้นไว้ แต่มาเกิดติดขัดในเรื่องสระและพยัญชนะลางตัว ซึ่งไม่ตกลงกันในระหว่างศาสตราจารย์เซเดส์ พระยาอินทรมนตรีและพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร แต่จะเป็นตัวไหนบ้าง ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบเกล้า ฯ ทราบเกล้า ฯ แต่ว่าเรื่องค้างเติ่งมาแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายแบบเทียบตัวไทยกับตัวโรมันของราชบัณฑิตยสถานที่กราบทูลมาข้างต้น แต่ส่งถวายมาทางไปรษณีย์ต่างหาก ข้าพระพุทธเจ้าเคยแนะนำผู้แทนกระทรวงกลาโหม ซึ่งมาหาข้าพระพุทธเจ้าให้ใช้แบบนี้ แต่ก็ทราบเกล้า ฯ ว่าจะไม่ได้ใช้นักว่าจำ ยากเพราะเป็นแบบนักปราชญ์มากไป

ที่ทรงพระเมตตาประทานหัวข้อเรื่อง ประเพณีเกี่ยวกับการทำศพ เป็นพระเดชพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าล้นเกล้า ฯ ที่ข้าพระพุทธเจ้าเรียบเรียงเรื่องทำศพของต่างประเทศมาก เพราะหาเรื่องทางประเพณีในพื้นเมืองข้างไทยไม่ค่อยได้ ที่มีกล่าวไว้ในหนังสือบ้างก็เล็กน้อย อย่างมากเล่าไว้ไม่เกินหน้าหนังสือ อย่างประเพณีภาคอีศาน ที่เจ้าคุณพรหมมุนีเรียบเรียงไว้ ก็กล่าวแต่เล็กน้อย ข้าพระพุทธเจ้าให้นายสุดไปสอบถามท่าน ก็ว่าท่านรู้เพียงเขานิมนต์ไปเทศน์และบังสุกุลเท่านั้น ไม่เคยเห็นตลอด ทั้งประเพณีที่ทำกันในเมืองอุบลก็เป็นอย่างใหม่เสียโดยมาก ซัดให้นายสุดเป็นผู้สอบสวนต่อไป ข้อนี้ก็จริง เพราะท่านเป็นพระสงฆ์ ยากที่จะได้เห็นพิธีที่เขาทำกันได้กลอด สอบพวกคฤหัสถ์ก็มักบอกว่าไม่ได้สังเกตเอาใจใส่เรื่องเกิดเรื่องตาย ทราบแต่ที่เคยเห็นลุ่มๆ ดอนๆ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าต้องได้ซักคนแก่คนเฒ่า จึงจะได้เรื่องมาก เพราะประเพณีเปลี่ยนแปลงไปมากเสียแล้ว คนสมัยใหม่ไม่เอาใจใส่เรื่องประเพณีต่าง ๆ ที่ฝรั่งเขาทำกัน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือราชบัณฑิตยสถาน หรือสมาคมเกี่ยวกับความรู้เป็นผู้สอบสวน ทำเป็นฉะเพาะชาติหรือท้องถิ่น ไม่ออกความเห็นอะไรหมด นอกจากสอบสวนได้อย่างไรก็ตีพิมพ์ขึ้นไว้ แล้วมีผู้เก็บข้อความจากหนังสือเหล่านี้ มาพินิจพิจารณาแต่งเป็นเรื่องขึ้น เพื่อบำรุงความรู้ ใช้หนังสือพวกแรกเป็นเครื่องมือ ส่วนประเพณีของไทยไม่มีใครทำเครื่องมือชะนิดนี้ไว้ จึงลำบากแก่การเรียบเรียง ซึ่งทรงทักว่าเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้าเรียบเรียงมีประเพณีต่างประเทศปนอยู่มาก ข้าพระพุทธเจ้าจะตัดเอาออกเสีย เหลือไว้แต่ที่จะใช้เปรียบเทียบพิจารณากับประเพณีของไทย เพื่อสนับสนุนเหตุผลที่จะอธิบาย นายสุดบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ทางพายัพเขามีตำราว่าด้วยเรื่องทำศพ กล่าวไว้อย่างละเอียด เรียกว่า คัมภีร์บัวรพันธ์ ว่ามีอยู่หลายผูก ข้าพระพุทธเจ้าถือโอกาศขอให้ข้าหลวงจังหวัดเชียงใหม่ช่วยหาให้เป็นทางราชการ เพราะจะสำเร็จมากกว่าขอส่วนตัว และก็เป็นประโยชน์แก่หอพระสมุดอยู่ ทางมอญเขาก็มีเป็นตำรา ในหนังสือฝรั่งแต่งไว้ว่าด้วยเรื่องชาติเตลง ว่าตำรานี้ชื่อ โลกสมุตติ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าถ้าทางราชการจะมีหนังสือไปขอแรงกรมการจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญสมัยใหม่ ช่วยสืบจดมาให้ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย แต่ต้องตั้งหัวข้อไปให้สอบสวนและจดมา มิฉะนั้นก็จะบกพร่อง เพียงแต่ที่ทรงแนะนำหัวข้อมา ข้าพระพุทธเจ้าก็ได้รับความรู้กว้างออกไป เช่นการเผาศพใช้ฟืนเรียงซ้อนกันหลายๆ ชั้น แล้วเอาโลงวางบนนั้น และเอาฟืนท่อนยาววางตั้งให้ก่ายปากโลง ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบเกล้า ฯ ว่า พนมศพ พนมเมรุ ก็คงเป็นอย่างนี้เอง ลางแห่งต้องการไม่ให้ฟืนที่กองสูงทลายลงก็ทำเสาสกัด ที่ดีหน่อยก็มีแทงหยวกประกอบหลัก เขยิบขึ้นไปสร้างเป็นร้านม้าสี่เสาเอาศพไว้บนนั้น ข้างล่างเรียงฟืนลำดับไว้ ร้านม้านั้นจะทำด้วยไม้อะไรก็สุดแล้วแต่จะหาได้ ขนาดสูงและกว้างยาวตามสมควรไม่มีกำหนด ลางทีก็มีฟืนพนม ที่ทำดีหน่อยมีผ้าขาวดาดข้างม้าร้านหรือเขียนเป็นลวดลาย เขยิบขึ้นไปก็มีแทงหยวกประกอบเสา ถ้าทำอย่างนี้ไม่มีพนมฟืน ถัดขึ้นไปอีกชั้นต่อเสาร้านม้าให้สูงมีหลังคา นี้เป็นชั้นที่เจริญใกล้เข้ามาทางเชิงตะกอนในกรุงเทพ ฯ แล้ว ผู้เล่าว่าแต่ก่อนออกจากบ้านไปไม่สู้ไกลก็หาฟืนได้ง่าย ต่อมาต้องไปหาไกล ๆ เดี๋ยวนี้คงหายากเข้า ต่อไปเรื่อง พนมศพ คงหมดเพราะหาฟืนยาก ถ้าอีกชั้นหนึ่งเผาด้วยวิทยาศาสตร์ เพียงปิ้งศพ ก็น่าจะหมดไป ส่วนโลงนั้นว่าเดิมใช้ไม้งิ้วขุดเป็นโลง แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นโลงไม่มีฝาปิด เพราะหากระดานได้สะดวกขึ้น นายสุดอธิบายว่า เวลาชักศพพระยืนไปบนตะเฆ่ข้างหลังศพ ๒ รูป แบคัมภีร์บนหลังโลงและอ่านคัมภีร์ตลอดไปทั้งสองรูป บนโลงมีเสื้อผ้าผู้ตายผืนหนึ่ง เมื่อถึงที่เผาโยนผ้าข้ามหรือลอดโลง ๓ ครั้ง และเอาผ้านั้นกลับบ้าน เวลาทำบุญก็ตั้งผ้าไว้ด้วย เสร็จแล้วจึงถวายพระ ข้าพระพุทธเจ้าคิดตีความเรื่องเอาผ้าขว้างโลงเวลาไฟกำลังลุกไม่ออก เมื่อได้ฟังคำอธิบายนี้ก็ระลึกได้ว่าวิธีเรียกขวัญหรือวิญญาณกลับมา จีนใช้เสื้อผ้าเหมือนกัน ชาติอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ประเพณีทำขวัญชาวอีศานก็เอาเสื้อผ้าของเด็กมาไว้ในพานบายศรีด้วย แสดงว่าเสื้อผ้าเป็นภาคส่วนของผู้เป็นเจ้าของ จึงต้องทำเช่นนั้น เรื่องจุดไฟในกะลามะพร้าว นายสุดว่าเขาใช้เปลือกมะตูมหรือลูกขี้กาแห้งใส่น้ำมัน ถ้าไม่มีน้ำมันก๊าศ น้ำมันมะพร้าว ใช้น้ำมันปลาหรือไขเนื้อก็ได้ ข้าพระพุทธเจ้ามีเด็กคนใช้เป็นชาวอีศาน อธิบายว่าเขาใช้กระป๋องนมวัวใส่น้ำมันตามไฟ ถ้าหากระป๋องนมวัวไม่ได้ก็ต้องจุดไต้ เวลาเอาศพลงเรือง ถ้าพังฝาไม่สะดวก จะออกทางประตูธรรมดาก็ได้ แต่ต้องกลับแม่บรรไดเสีย ยังมีเรื่องกระจุกกระจิกอีกมาก ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าให้เขาช่วยจดอยู่ จะได้กราบทูลมาภายหลัง ประเพณีเกิด ข้าพระพุทธเจ้าก็รวบรวมไว้ได้มาก แต่ยังได้แปลกมาเสมอ ถึงกระนั้นก็แพ้เรื่องเกี่ยวกับตาย

ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบในบทพระไอยการบานผแนก มาตราหนึ่ง กล่าวถึง สิบสองกำนัลข้าส่วยสัทพัทยากร ความไปข้างเจ้าหน้าที่สิบสองคลัง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ