๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๖ มกราคม พร้อมทั้งสมุดประชุมจารึกภาคที่ ๒ ได้รับแล้ว

ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่จัดการช่วยให้ได้รับสมุด ประชุมจารึกภาคที่ ๒ ในนามของหอสมุดแห่งชาติ ตามประสงค์ โดยไม่ต้องใช้ราคา แต่ถึงแม้ต้องใช้ก็ไม่รังเกียจอย่างไรเลย เปนการบำรุงหอสมุด

ในการปรุงหลังคา ไม่ว่าหลังคาอะไร เขาย่อมปรุงกันกับพื้นดินก่อนทั้งนั้น เสร็จแล้วจึ่งยกขึ้นปรับกับที่ เขาไม่ได้ปรุงกันบนที่สูงมิได้ ด้วยจะทำลำบาก แต่เพราะเปนหลังเครื่องสับจึ่งรื้อเอาขึ้นไปคุมได้ เมื่อเปนหลังคาเครื่องผูกก็รื้อไม่ได้ ต้องยกขึ้นไปทั้งอันอยู่เอง ในการที่เขาชักมุมขึ้นไปก่อน ก็จำเปนให้ต้องทำเช่นนั้น เพราะจะยกอย่างอื่นเหมือนหลังคาเล็ก ๆ หาได้ไม่

อันสถานที่ทำศพนั้น สิ่งที่ทำไว้กลาง จะมีลักษณเปนอย่างใดๆ ในกรุงเทพ ฯ เวลานี้ก็เรียกว่า เมรุ ทั้งนั้น ถ้ามีปีกออกไปด้านหนึ่งหรือกี่ด้าน เขาเรียกว่า มุข ตรงกลางก็เปน ประธาน เรือนที่ล้อมเปนเขตต์จึ่งเรียกว่า คด ซึ่งตรงกับคำ ทับเกษตร ความเห็นฉันเห็นว่าถ้าไม่มีอะไรล้อมก็ไม่ควรเรียกว่า เมรุ เรียก โรงทึม ดีกว่า จะใหญ่เล็กเท่าไร และมีมุขติดต่อหรือไม่ ก็ควรเรียก โรงทึม ทั้งนั้น

คำว่า ทึม คิดว่าตรงกับ ทิม สำคัญในใจว่า ทึม เปนเสียงเขมร ด้วยเคยได้ยินเขาเรียกโรงพิมพ์ว่า โรงพึมพ์ เห็นจะเปนปกติของเขาอ่านอิเปนอึ ปกติเช่นนั้นเข้ามาสู่เมืองเรามาก เช่น มหึมา โอฬารึก อัศวานึก เปนต้น โดยแนวนี้จึ่งเห็นว่าคำ ทึม จะไม่ได้มาจาก ทึบ เปนอยู่หน่อยที่ดูเหมือนพวกเราจะเข้าใจกันว่า ทิม นั้นเปนเรือนยาว ๆ แต่เกรงจะเข้าใจผิด ทิมสนม ก็ไม่เห็นเปนเรือนยาว

คำว่า ผำ หรือ ผาม นั้นเคยทราบ เราเขียนกันเปน ปรำ ก็ตรงกับ ผำ ดูเหมือนที่เขียนเปน ปราม ก็มี ถ้ามีก็ตรงกับ ผาม

ตูบ เคยทราบว่าเปน ปทุน ไปเข้าเปนพวกเดียวกับ กูบ จะตรงกับ ทับ ด้วยหรือไม่ก็ไม่แน่ใจ

กะต๊อบ เคยพบในหนังสือเขมรเขียนถึงห้องเล็กที่เฉลียงพลับพลา เปน กนทพ เห็นจะอ่านว่า กันโตป ดูใกล้กันมาก สอบพจนานุกรมภาษาเขมร แปลให้ไว้ว่าผ้า ว่าแคบ และอื่นอีก ที่แปลว่าผ้า เห็นจะได้แก่กรรถอบ ที่แปลว่าแคบ เห็นจะได้แก่ กะต๊อบ จะกินไปถึงได้แก่ กท่อม ด้วยหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ

ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบว่า ยอดโรงทึม ทางอีศานเขาทำเปนธง พวกชาวอีศานเขามาวานเขียนโรงทึมไว้ จะได้ทำให้เขาให้ถูกตามประเพณีที่ชาวอีศานเขาชอบกัน

พอดู ควรคู่กับ ไม่พอดู ดูถูก ควรคู่กับ ดูผิด ดูหมิ่น เปน ดูเผินๆ ดูแคลน (แคลง) เปน ดูไม่แน่ สองคำหลังใช้ในความหมายว่าประมาท ก็เห็นสมควรอยู่แล้ว คำเหล่านี้แม้ว่า ดู เปน ดุะ ก็กลับทำให้ไม่ได้ความดีขึ้น คำ ลบหลู่ มีเพื่อนว่า หลู่คุณ ใกล้ไปทาง ลู่ เช่น ไม้ล้มลู่ มากกว่าทางเปน ดู

คำ ออกเหนือ ออกใต้ ตกเหนือ ตกใต้ ไม่ใช่คำที่ฉันผูกขึ้นใช้ เปนคำที่คนเขาใช้พูดกันอยู่ดาษดื่น ฉันเปนแต่เก็บเอามาเขียนหนังสือถึงท่าน ด้วยเห็นสั้นและได้ความ ทั้งคล้ายกับคำฝรั่งด้วย คำ ปี่พาทย์ ก็เปนคำที่เขาพูดกันอยู่ดาษดื่นเหมือนกัน เช่น มโหรีปี่พาทย์ เปนต้น ต่อเขียนหนังสือจึงเขียนพิณพาทย์ ฉันเห็นว่า พิณ เราไม่มี เขียนหนังสือลเมอ จึงเขียนเปนปี่พาทย์ไปตามคนพูดกันเท่านั้นเอง ด้วยเห็นว่าได้ความดีกว่าเขียนพิณ

ศัพท์ มโหรี นั้นจะแปลว่ากะไร อันธาตุ มโหร นึกที่เราใช้ได้อยู่ ๓ คำ คือ มโหรทึก มโหรศพ กับ มโหรี มีคนคิดกันอยู่นานแล้ว ว่าจะได้แก่ภาษามคธสํสกฤตคำไหน ในคำ มโหรศพ มีคนคิดเห็นว่าได้แก่ มหุสฺสว ในภาษามคธ แล้วได้ยินเอะอะกันว่าพระสารประเสริฐพบคำมโหรศพ เข้าในภาษาสํสกฤต แต่จะว่ากะไรผู้ที่เอะอะก็ไม่ได้พูด ได้ตรวจดูปทานุกรมกระทรวงธรรมการฉบับตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ พบคำ มโหรสพ ซัดให้ดูคำ มหรสพ เมื่อไปดูคำ มหรสพ จำหน่ายไว้ว่า ภาษามคธเปน มหุสฺสว ภาษาสํสกฤตเปน มโหตฺสว แต่คำ มโหรทึก และ มโหรี นั้นไม่พบ

เรื่องถือซ้ายขวา เปนแน่ว่าเมื่อก่อนนี้เราถือซ้ายเปนใหญ่อย่างจีน แม้ทางอินเดียก็เห็นจะถือซ้ายเปนใหญ่เหมือนกัน ด้วยจำได้ว่ามีเหตุขึ้นในการบวชนาคหลวง ผู้ใหญ่เข้าซ้ายผู้น้อยเข้าขวา สมเด็จพระราชปิตุลาตรัสทักว่าเข้าผิด สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณตรัสตัดว่า เรื่องทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้หม่อมฉันเถอะ ข้อนี้แหละทำให้เข้าใจว่าทางอินเดีย คือทางพระพุทธศาสนาถือซ้ายเปนใหญ่เหมือนกัน ข้อที่ท่านทักว่าฝรั่งถือทิศเหนือใต้เปนใหญ่ จีนไทยถือทิศออกตกเปนใหญ่นั้นถูกแล้ว การวางลำดับผู้ใหญ่ผู้น้อยในราชการของเราทุกวันนี้ ไม่ได้เอาซ้ายขวาเปนใหญ่ ใช้เอาทิศเปนใหญ่ เช่น ตั้งพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ ถ้าตั้งเรียงตามทิศตวันออกตวันตก ก็เอาผู้แก่ไว้ออกผู้อ่อนไว้ตก ถ้าตั้งเรียงตามทิศเหนือใต้ ก็เอาผู้แก่ไว้เหนือผู้อ่อนไว้ใต้ ตามที่ว่านี้ท่านจะเห็นเค้าได้ที่ตั้งพระบรมรูปอยู่ในปราสาทพระเทพบิดร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยมีพระราชปรารภที่นั่น ว่าฝรั่งจะเข้าใจไม่ได้เลย

เรื่องเซ่นแม่ซื้อ ท่านคิดว่า แม่ซื้อเมืองบน เปนผีบนสวรรค์ แม่ซื้อเดินหน เปนผีในอากาศ แม่ซื้อเมืองล่าง เปนผีอยู่บนแผ่นดิน แม่ซื้อใต้ที่นอน เปนผีเรือนนั้น ฉันมีความเห็นกลับ รับรองว่าถูกแล้ว ที่ฉันไปนึกถึงผีบาดาลนั้นเอา ตฺริวิกฺรม ในเรื่องปราบกรุงพลิ มาเปนหลัก เปนก้าวยาวเกินไป พวกเราไม่รู้จักบาดาล แต่ข้าวย้อมสีไรควรแก่ผีพวกไรนั้นคิดไม่เห็นทาง

เรื่องแต่งศพนั่ง ฉันเคยไต่สวนพราหมณ์ศาสตรีมาคราวหนึ่งแล้ว เขาบอกว่าทางอินเดียมีทำเช่นนั้นอยู่แต่พวกโยคี ก็มาเข้าพวกกับพระทางจีนและเอิบมาถึงพระข้างไทยด้วย ฉันจะเล่าต่อให้ท่านฟัง ได้สนทนากับสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง ท่านบอกว่าท่านได้ไปเคยเห็นศพสมภารวัดท่ามอญในนครศรีธรรมราช เขาใส่ลุ้งสี่เหลี่ยมสูง ก้นรัดปากบาน มีตีนไม้และมีฝาเปนมณฑป เรียกว่า หีบนั่ง เห็นจะสันนิษฐานได้ว่าการแต่งศพนั่งใส่โกศ เราได้มาทางจีนหรือมงคล อะไรเหล่านั้นซึ่งเขาได้ประเพณีอินเดียมาแก้ไขไปแล้ว ไม่ใช่เราได้ประเพณีตรงมาแต่อินเดีย ทั้งถ้าหากว่าเรื่อง ๑๒ เหลี่ยม เปนเรื่องที่มาทางตาด ก็ยิ่งเปนหลักดีขึ้นอีก ท่านจะถามนายไซเดนฟาเดนนั้นดีแล้ว บุคคลผู้นี้ฉันก็นับถือว่าเขารู้อะไรอยู่มาก

สิบสองนักษัตร เอาเปนแน่ได้ว่ามาทางจีน ทางอินเดียไม่มี เมืองที่ใช้สิบสองนักษัตรตามที่พบทราบเปนแน่แล้ว มีเมือง เนปาล(ะ) จีน ญี่ปุ่น เขมร ไทย ญี่ปุ่นนั้นหนักมือ ใช้หมายทั้งปีและเดือน ตลอดถึงโมงยามด้วย ที่จริงดี เปนของจำง่ายกว่าเลข

คำว่า ฉาน ย่อมยุ่งเหยิงอยู่ เมื่อยังจับไม่ได้ว่าอย่างไรแน่ จดเอาไว้ก่อนก็ดีแล้ว เสียงสั้นยาวก็มีทั้งสองอย่าง เช่น พรรณรายฉายฉัน ก็มี พรรณรายฉายฉาน ก็มี หรือ กระหม่อมฉัน ก็มี กระหม่อมฉาน ก็มี ไม่ใช่ว่าเขียนผิด รู้ได้ว่าแน่ที่อยู่ในสัมผัส อัน ท้องพระโรง นั้น ไม่ใช่แต่จะเปนที่เปิดเผยเหมือนสานชำระความ แต่ก่อนเปนสานชำระความทีเดียว พระเจ้าแผ่นดินทรงชำระความเอง เสนาบดีกระทรวงวังเปนผู้ช่วย ชื่อยังปรากฏอยู่ว่าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ทั้งชื่อพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยก็ปรากฏว่าเปนที่วินิจฉัยคดคี

คำ คาดกลอง มีคำที่เปนเพื่อนคือ คาดฆ้อง ที่ว่าคำ คาด จะเปนอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า ตี คำ คาดพุง ที่จะใช้ผิดเคลื่อนมาเสียแล้ว แต่ก่อนที่จะใช้คำว่า เกี้ยว มีคำ เกี้ยวลาย ผ้าเกี้ยว เปนหลักอยู่

คำ รนาด ฉันก็เคยสงสัย ด้วยมีสิ่งหนึ่งเขาใช้ปูเปนที่นั่งในเรือเล็กๆ จักไม้ไผ่เปนซีก ๆ ถัก เรียกว่า รนาด เหมือนกัน ที่สงสัยก็สงสัยว่าใครก่อนใครหลัง ใครเอาอย่างใคร รนาด ในเครื่องปี่พาทย์เปนของทำเติมทีหลัง แต่ก่อนก็ไม่มี คำ รนาด จะเปนคำเดียวกับ ราด ก็จะเปนได้ง่ายที่สุด ถือว่าเปนคำยืดคำย่นก็ได้

ชื่อกรุงเก่าว่า ทวาราวดี ฉันนึกสงสัยว่าจะเติมเข้าเมื่อได้ขุดขื่อหน้าแล้ว เพราะได้เคยเห็นคำอธิบายว่า ที่ชื่อทวาราวดีเพราะมีน้ำล้อมรอบกรุงเก่าแต่ก่อนมีคลองน้ำคั่นแต่สามด้าน ครั้นขุดขื่อหน้าขึ้นอีกด้านหนึ่ง เมืองจึงเปนเกาะมีน้ำล้อมรอบ เข้าใจว่าเพราะรื่นรมย์ข้อนั้น จึ่งเติมชื่อเปน ทวาราวดีศรีอยุธยา แต่นี่ก็เปนสันนิษฐาน

มหาดไทย จะมาแต่ มหาราชอุไทย นั้นรับไม่อยู่ ไม่มีมูล มหาดไทย ก็มีคำใช้อยู่โดยตรงแล้ว คือ มหาด + ไท จะแปลว่ากะไรก็ตามใจเถิด กลา ไม่ได้แปลว่าพระจันทร์ แปลว่ากลามพร้าวนั่นเอง หมายความว่าดวงจันทร์กลมดุจกลามพร้าว เมื่อเห็นแหว่ง เช่น ครึ่งซีก ก็เหมือนกลาครึ่งใบฉะนั้น ถึงคำว่า อุทัย ก็ไม่ได้หมายความว่าดวงพระอาทิตย์เหมือนกัน คำ มหาดไทย กับ กลาโหม กลัวจะไม่ได้มาพร้อมกัน มหาดไทย กลัวจะมีมาก่อน กลาโหม มาทีหลัง ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ

เรื่องนกหัสดีลึงค์นั้น รู้สึกเห็นชอบกล ชื่อนั้นจะมาแต่ไหน เราเรียกกันว่า นกหัสดิน ต่างหาก สงสัยว่าจะมาทางเขมร เพราะ ลิงค์ เปน ลึงค์ ทีจะเข้ามาทางอีศานก่อน แล้วทางพายัพจึ่งจำเอาอย่างไป แม้สังเคตการทำรูป ก็ทำกันตัวเปนนกหัวเปนราชสีห์ แต่ที่จมูกยืดขึ้นไปเปนงวง กับที่เขียนหน้าเปลี่ยนเปนงา ถ้าจะแปลชื่อก็คล้ายกัน นกหัสดีลึงค์ แปลว่า นกมีที่หมายช้าง นกหัสดิน แปลว่า นกช้าง แท้จริงนกหัสดินนั้นมีมาเก่าแก่แต่อินเดียแล้ว เห็นมีในหนังสืออารับราตรี ทำเปนรูปอย่างนกอินทรีย์ข้างไทย เฉี่ยวเอาช้างไปหลายตัว เข้าใจได้ว่าเดิมเขาตั้งใจว่าเปนนกใหญ่ ซึ่งสามารถกินช้างได้ แปลว่านกกินช้าง ที่เราทำตัวเปนนก หัวเปนราชสีห์มีงวงมีงานั้น คือตั้งใจจะทำให้ตัวเปนนกหัวเปนคชสีห์ เพื่อให้มีลักษณเปนช้างสมชื่อ อันคชสีห์นั้น ก็ผูกแก้กันมาหลายชั้นแล้ว เริ่มแรกหมายว่า ช้างดุะ ราวกับ สีห์ ก่อน ถัดไปก็ทำรูปแก้เปนราชสีห์ เว้นแต่ส่งจมูกให้เปนงวง และทำเขี้ยวหน้าเปนงา ทีหลังจะเห็นว่าไกลไปจึ่งกลับแก้หัวเปนช้าง แต่เข้ากับตัวซึ่งเปนราชสีห์ไม่ได้ จึงทำเปนหัวช้างมีหงอน แต่หงอนนั้นจะทำให้โอนไปหลังอย่างราชสีห์ ย่อมขัดข้องแก่หัวช้าง จึ่งทำให้พนมตรงขึ้นไป ที่ทำดังนั้นก็ชอบอยู่ เพราะหงอนเปนขน อาจปลิวไปทางไหนก็ได้ เมื่อได้เปลี่ยนหัวเปนช้างไปแล้วอย่างที่ทำหัวเปนราชสีห์นั้นก็ตั้งชื่อเสียใหม่ เรียกว่า ทักทอ จะเปนตัวอะไรก็ไม่ทราบ คงฉวยเอามาแต่คำกลอน ที่ว่า ทักทอนรสิงห์เม่นหมี อันเปนคำกวี ในบานประตูมุกด์ที่ไหนแห่งหนึ่ง นึกว่าจะเปนที่วิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านผูกแก้เอางาเปนปากนก แล้วมีงวงทับบนปาก ท่วงทีก็เปนอย่างไก่งวง เห็นเข้าก็ชอบใจว่าคิดผูกแก้ไปดี ไม่ทิ้งลักษณนกให้ขาดลอยไปเสียทีเดียว

ตามที่ท่านเล่าถึงประเพณีเมืองอุตตรกุรุ เล่นเอางงไป ด้วยชื่อนั้นเคยทราบว่าเปนเกาะหนึ่งในสี่แห่งโลก ออกจะเปนเมืองลับแลซึ่งคนจะเห็นไม่ได้ แต่คิดดูก็เข้าใจได้ว่าเปนลิ้นกวี ที่จริงคงมีประเทศนั้นอยู่ในบ้านเมืองแห่งหมู่มนุษย์นี้เอง แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ถ้าแปลตามชื่อก็เปนว่าอยู่เหนือกุรุขึ้นไป กุรุเปนแคว้นของพวกกษัตริย์ปาณฑว ค้นพจนานุกรมต่าง ๆ ก็ไม่ได้ความชัดที่พอใจ ตามที่ท่านเล่าว่าเขาห่อศพด้วยผ้าแดง ทำให้รู้สึกในใจว่าในเมืองนั้นคงหาผ้าแดงได้ง่าย ชาวเมืองเขาคงชอบใช้ผ้าแดงกัน เหมือนเมื่อไปเที่ยวเมืองชวา ได้เห็นบ้านนอกที่เมืองไหนก็ลืมเสียแล้ว เขาใช้ผ้าแดงกันชุกชุม มีทั้งนุ่งทั้งห่ม ทำให้นึกว่าเมืองชายป่าทางปักษ์ใต้ของเราก็คงชอบใช้ผ้าแดงเหมือนกัน จนพวกเงาะชอบเปนชีวิต เพราะอยากให้เหมือนกับชาวเมือง จนเขาจะต้องการของป่ามาเพื่อการค้าขาย ก็ใช้วิธีเอาผ้าแดงไปแลกเอาจากพวกเงาะ ตามที่ท่านสันนิษฐานว่าการทำรูปนกหัสดีลึงค์ในการศพ จะมาแต่ประเพณีเมืองอุตตรกุรุนั้นชอบแล้ว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ