๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๑ เดือนนี้ ได้รับแล้ว ขอบใจท่านเปนอันมาก ที่บอกอะไรไปให้เข้าใจเปนหลายอย่าง เรื่องเขียนหนังสือฝรั่งเปนไทย ไทยเปนฝรั่งนั้น ขัดข้องเหลือเกิน เช่นคำ ชาเตอร์ ฉันได้เคยคิดตัดตัว ร ออก เพราะเขียนว่า เตอ ก็เห็นได้เสียงอยู่แล้ว แต่เห็นพระคลังข้างที่เขาเขียนชื่อ แบงก์ชาเตอ เปน ชาเตอร์แบงก์ ทำให้ได้สติขึ้นว่า ฝรั่งมี ชาเตอร์ และ ชาเตอเรด ความผิดกัน แค่ เรด เขาไม่อ่านออกเสียง เลยนึกไม่ออกว่าควรจะเขียนอย่างไรดี ในทางที่เขียนตามภาษาบาลีพาหลงไปก็มี เช่น เรื่องหนังฉายไทยตั้งชื่อพระเอกว่า นายหาญ ฝรั่งเขียนเปน หานะ เพราะเขียนหนังสือฝรั่งทางบาลี นักปราชญ์วางไว้ให้เขียน ñ อย่างสเปญ แทนตัว ญ แต่ฝรั่งสามัญไม่เอื้อแก่เครื่องหมายตุ้งติ้งข้างบน จึงเปนตัว น เฉยๆ ไป ที่จริงตัว ญ ต่างพวกก็เขียนต่าง ๆ กันไป ใช้ gn ก็มี ใช้ nh ก็มี แล้วน่าจะมีอะไรซึ่งฉันยังไม่รู้อยู่อีก แต่อย่างไรก็ดี ชื่อนายหาญ เราไม่ได้อ่านว่า หานะ กรมพระสมมตก็ได้ทรงประสบเรื่องเขียนเปนภาษาบาลีมา ด้วยแต่ก่อนนั้นทรงเซนพระนามเปนภาษามคธ แล้วเกิดเหตุขึ้นที่ห้างเปนสันเมืองลอนดอน เขาแต่งคนเขามาเฝ้า มาถามถึง ปรินศ์ สะ มะ ตะ อะ มะ ระ บันธู ไม่มีใครเข้าใจเลยไม่สำเร็จผล เมื่อได้ทรงทราบเรื่อง ทรงพระดำริเห็นไม่เป็นการ จึงต้องทรงเปลี่ยนการเซนพระนามใหม่ ให้เปนไปตามเสียงอย่างไทยๆ ต้องบอกแบงก์เปนการใหญ่ ฉันเองก็ได้เคยถามกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ว่า อินชเนีย เขียนอย่างไร เธอบอกว่าเขียน อินชเนีย นั่นแปลว่าเธอถือเอาเสียงไทยพูดเปนที่ตั้ง แม้คำฝรั่งจะเลื่อนมาเปนไทย เช่น หมอจัน หมอปลัดเล เธอก็ยึดเอาตามเสียงที่เราเรียกกัน อีกเรื่องหนึ่ง กรมพระสวัสดิ์เธออยากรู้มงคล ๘ ฉันได้พบอะไรที่ไหนมาบ้าง ก็ตรวจจดให้เธอในแบบทางจีนมีมงคล ๘ ที่เขาได้มาจากทางมงโคล เขียนชื่อบอกไว้เปนตัวหนังสือฝรั่งตัวลั่ง ๆ ควบกันตั้งสามสี่ตัว อ่านไม่ออก ก็ทำให้อยากรู้ วันหลังพบเธอ ถามว่าอ่านว่ากะไร เธอบอกว่าเรื่องอ่านชื่อนั้นเธอไม่อ่าน รู้ว่าเปนสิ่งอะไรบ้างเท่านั้นก็เปนแล้ว มีคำหนึ่งซึ่งเขาเขียนตัวควบหลายตัว แต่เขาบอกเสียงอ่านไว้ด้วย ดังเปกเดียวไม่ยากอะไรเลย กรมพระสวัสดิ์เธอก็บอกว่ามันต้องเปนเช่นนั้น ลิ้นมนุษย์จะผกผันไปตามตัวหนังสือหาได้ไม่ หนังสือที่ชาติต่าง ๆ เขาเขียนไว้ ลางคำก็อ่านไม่ออกจริงๆ แต่ไม่มีอะไร ต้องอ่านออกเสียงอย่างง่าย ๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นทางที่เขียนตามตัวหนังสือ รู้สึกว่าคิดจะเปนทางที่ใช้ไม่ดี เห็นจะต้องผ่อนผันเอาความเข้าใจและความชินเปนที่ตั้ง

เรื่องเขียนหนังสือเปลี่ยนตัว เห็นจะเปนไปหลายทาง ที่ฉันบอก พ เปน ภ หรือ พ เปน ป นั้น คิดว่าเปนไปตามทางเขมร คำ สะไภ้ เฉภาะ ได้เปิดดูพจนานุกรมภาษาเขมร ไม่พบคำ สะไภ้ พบแต่คำ สพาย ส่วนคำ เฉพาะ นั้นพบเขาเขียนด้วย พ ฟันเลื่อย ไม่ใช่ ภ ภรรยา คำ ฆ่า เห็นจะเปนไปตามทางภาษามคธ มาแต่ ฆาฏ ส่วนคำอื่นนั้นคิดไม่ลุ เช่น คำระฆัง ฉันก็เคยสงสัยมาแล้วเหมือนกัน ว่าทำไมจึ่งเขียนเช่นนั้น แต่ก็แลไม่เห็นทางไป

คำ ไล่ เห็นจะหมายถึงไม้ไผ่ชะนิดเล็กจริง มีหลักอยู่ในกลอนลิลิตพระลอ ว่า ปู่เอาไม้เลี้ยงไม้ไล่ ไม้ไผ่ไขว่ลูกลม เคยได้ยินพระนรินทร์รังสรรค์ผู้ซึ่งไปควบคุมทหารอยู่ที่ชลบุรีแต่ก่อน เล่าถึงไปเที่ยวเขาเขียว ออกชื่อ ไม่ไล่ ก็ทำให้เข้าใจว่าเปนไม้ไผ่ชะนิดเล็ก ไม้เลี้ยง นั้น เห็นจะแน่ว่าหมายถึงต้นไผ่ซึ่งปลูกเลี้ยงไว้ เมื่อหาคำ ไร่ หรือ ไฮ่ ไม่พบ ก็น่าสงสัยอยู่ว่า ไล่ จะเปนไร่ไปก็ได้

พิสวง คำที่ท่านใช้ไปนี้ ฉันเคยประสบมาคราวหนึ่งแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรี ทรงพระปรารภจะทำศพหม่อมเจ้าพิศวง ป้าของท่าน ตรัสขอให้ช่วยคิดลายพัดรอง ซึ่งจะทรงทำสำหรับการนั้น ฉันเปิดพจนานุกรมสํสกฤตดูในคำ วิศวํ พบเขาแปลให้ไว้ว่า ทั่วโลก (whole world) นี่บอกให้ท่านรู้เท่านั้น ไม่ใช่คัดค้าน คำบาลีสํสกฤตที่เราใช้ ไม่มีความหมายเหมือนต้นเดิมมีถมไป สงสาร คำนี้ทางชวาก็ใช้ เขาหมายถึงคนยาก มาเข้ารูปทางข้างเรา

ขอบใจท่านที่บอกให้ทราบว่า ฝุ่น กับ แป้ง นั้น เปนภาษาจีนซึ่งฉันไม่เคยนึกเลยว่าจะเปนเช่นนั้น ฝุ่น กับ แป้ง ทางเราดูเหมือนจะหมายความว่าเปนผงละเอียด แป้งที่ว่าเปนผงข้าว แต่ฝุ่นนั้นเปนผง สิ่งอื่น เว้นแต่แป้งซึ่งเราทากัน หาใช่ข้าวไม่ เข้าใจว่ามาเปลี่ยนไปทีหลัง เช่นแป้งทาตัว ของฝรั่งก็ทราบว่าเปนข้าว เมื่อเปลี่ยนไปแล้วก็คงเรียกตามเคย เลยตามเลย

อีนจี ทีก็จะสืบมาแต่สีลูกลิ้นจี่นั้นเอง ชื่อลูกลิ้นจี่ก็เปนภาษาจีนเคยได้ยินพระยาดำรงสุจริต (ซิมก้อง) เรียกว่า ไลจี้ เห็นจะเปนภาษาฮกเกี้ยน

ชาด มีคำที่เราพูดกันอยู่ว่า แดงฉาด จะมาแต่ตีหัวฉาดเลือดไหลแดงหรืออะไรไม่ทราบ แต่คำ ฉาด นั้นใกล้กับ ชาด มากทีเดียว จึ่งบอกท่านมาเพื่อพิจารณาอีกทางหนึ่ง

เสน เชื่อว่ามาจาก ซิ้น เปนการชอบแล้ว

คำ น้ำเงิน ท่านคิดลากเอาไปเปนภาษาจีน ฉันนึกโมทนา ด้วยคำน้ำเงิน นั้นมันมีครามอยู่ในนั้นน้อยเต็มที

หงสบาท คำนี้ มีเรื่องที่ควรจะเล่า แต่ลืมเสียไม่ได้เล่า พวกช่างแก่ ๆ ที่ได้พบมา เขารู้กันอยู่ว่ามีสีเรียกว่า หงสิบบาด อยู่ ได้ถามว่าเปนสีอะไร ลางคนบอกได้ว่าเปนสีแดงเจือเหลือง ลางคนก็ไม่ทราบทีเดียวว่าเปนสีอะไร ได้ยินแต่ชื่อมาเท่านั้น ฉันจึงคิดคะเนว่าชื่อ หงสิบบาท จะได้แก่อะไร ก็เห็นไปใกล้เข้ากับ หงสบาท ในภาษาบาลี จึ่งทักเอาว่า หงดิน หงชาด หงเสน เปน หงสบาท แต่เมื่อได้คำชี้แจงความเห็นของท่านก็เห็นด้วย ว่า หง ได้แก่ หั้ง ภาษาจีนใกล้กว่า ที่ว่านกเฟลมิงโกเปนหงส์นั้น ให้นึกสงสัยมาก ด้วยรู้อยู่เต็มใจว่าการแปลศัพท์นกศัพท์ไม้นั้นยากนัก ต้องพิเคราะห์ดูด้วยดี นกเฟลมิงโก เข้าใจว่าไม่ใช่นกในประเทศอินเดีย หากจับมันมาเลี้ยงไว้ดูเล่นเท่านั้น ถ้าที่ว่านี้เปนการเข้าใจถูก มันก็ไม่ควรมีชื่อว่าหงส์ ในพจนานุกรมของอาจารย์จิลเดอส์แปลหงส์ให้ไว้ว่า a goose, a swan ได้ไปเห็นในประเทศชวา รูปพระพรหมซึ่งมีพาหนะติดอยู่ด้วย ก็ทำเปนห่าน ลงกัน คำ ห่าน ก็คิดว่ามาแต่ หันส ซึ่งตรงกับภาษาบาลีว่า หังส อันเขียน หํส ตรงกัน แต่อ่านนิคฤหิตสับปลับกันไปตามเคย

เขียวตั้งแช ได้ความเปนแน่แล้วว่าทำด้วยถนิมทอง ที่เรียกสุวรรณ ว่าทองนั้น เปนคำเรียกลัด ถ้าเรียกเต็มที่จะต้องเปน ทองคำ จึ่งจะได้ชุดกับ ทองเหลือง ทองแดง ทองขาว ในชื่อคนมี ทองดำ ต่อไปอีก เห็นจะได้แก่สิ่งที่เราเรียกกันอยู่ว่า สัมฤทธิ์ ทราบว่าทองที่เปนสีดำซึ่งเราเรียกว่าสัมฤทธิ์นั้น เปนของทำขึ้นโดยจำเพาะ ไม่ใช่ว่าทองสัมฤทธิ์แล้วจะต้องดำ ในหนังสือมีถมไปว่าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ดูของที่หล่อกันมาแต่เก่าก่อนก็ไม่เห็นเปนสีดำ ทำให้สงสัย ไปเปิดพจนานุกรมสํสกฤตดู เขาว่าสัมฤต เปนทองผสม เขาสกต ต ไม่ใช่ ทธิ พวกช่างหล่อเขาจะหล่ออะไรเขาก็พูดแต่ว่าหลอมทอง ดูก็ดี จะเปนทองอย่างไรก็ได้

แหลม กาเม้า นั้นเปน เขมา แน่นอน อันแผนที่นั้นฝรั่งทำก่อน ถามชื่อเขมรจดลงในแผนที่เปนหนังสือฝรั่ง นั่นก็เปนเหตุให้เคลื่อนคลาศไปทีหนึ่งแล้ว แล้วไทยเราคัดแผนที่และหนังสือฝรั่งมาอีกที ก็เปนเหตุให้เคลื่อนคลาศไปอีกเปนชั้นที่สอง อย่างเดียวกับ ทุ่งคา เปน ตองแก

ชื่อเมืองระนอง ที่มีผู้แปลว่าแร่นองนั้นรับไม่อยู่ เห็นเปนแปลขอไปที เอาแต่พอได้ อันคำทั้งหลายที่จะแปลว่าอะไรเปนอะไรนั้น คำยืนจะต้องเปนคำที่คนใช้พูดกันอยู่ ถ้าคำยืนไม่เปนคำที่คนพูดกันแล้วเชื่อไม่ได้ เช่นคำ แร่นอง ไม่มีใครพูด ชื่อเมืองระนองและชุมพร ไปมีทางแคว้นหลวงพระบางอีกนั้น เปนการประหลาดมาก คำว่า ชุมพร ฉันคิดว่าเปน อุทุมพร พวกช่างเขียนเขาไปสับยางไม้มาปิดทอง เขาเรียกว่ายางมะเดื่อชุมพร คิดว่าพอจะเปนพยานได้ด้วยมีคำมะเดื่อนำหน้า พาคำชุมพรให้เปนอุทุมพรไปได้อยู่ เมืองทางเหนือมีเมืองชื่ออุทุมพรพิสัยเมืองหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ จะเปนในแคว้นหลวงพระบางหรือมิใช่ก็ไม่ทราบและที่นั้นเดิมจะชื่อไร จะช่วยสนับสนุนคำชุมพรให้เป็นอุทุมพรขึ้นได้ด้วยหรือไม่ก็ไม่ทราบ

เรื่องชื่อเมืองหลังสวน เคยได้ยินอธิบายกันมาครั้งหนึ่ง ว่าเปนคลังสวน ไม่ใช่ หลังสวน ดูเปนอธิบายเพื่อจะแก้คำ หลัง ซึ่งเห็นเปนไม่ได้ความอยู่ให้ได้ความขึ้น ที่จริงคำว่า หลัง จะเอาความก็ได้ เปนว่าหลังเมืองเปนสวน ชื่อเมืองนครศรีธรรมราช ให้รู้สึกว่าเปนชื่อใหม่ ในชื่อว่า ตามพรลิงเคศวร นั้น ก็ควรที่จะมีศิวลึงค์หล่อด้วยทองแดงอยู่ แต่ก็หามีไม่ จะยกเอาไปข้างไนกันเสียแต่เมื่อไร ก็ไม่ได้ทราบเรื่องเลย

อ่านหนังสือพิมพ์ พบเขาพูดถึงเมืองไทยครั้งน่านเจ้า ว่าราษฎรต้องเสียภาษีคนหนึ่งต่อปี เปนข้าว ๒ ถัง ว่าตามที่กล่าวนี้เปนหนังสือจีนแต่งครั้งแผ่นดินถัง บอกท่านให้ทราบ เพราะมีความเรื่องเสียภาษีอยู่ที่นั้น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ