๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๒๖ มิถุนายน แจ้งรายงานการค้นคำ บาง บอกไปให้ทราบนั้น ได้รับแล้ว ขอบใจมาก

จะว่าด้วยคำก่อน

บาง คำที่เราใช้อยู่ในบัดนี้ มีความหมายไปได้เปนสองอย่าง คือตรงข้ามกับหนาอย่างหนึ่ง เป็นคลองด้วนซึ่งขุดชักน้ำแม่น้ำ เข้าไปสู่เรือกสวนไร่นาอีกอย่างหนึ่ง ที่เปนคลองด้วนนั้น ไปเข้าเปนรูปเดียวกับที่ท่านค้นมาได้ว่าเปนคำมอญ

บาง ในคำอาหม แปลว่ารุ่งเรือง ไม่มาทางที่เราพูดกันอยู่เวลานี้ แต่ไปเข้ารูปทางชื่อพระร่วง คือ พ่อขุนบางกลางเท่า ข้อนี้ก็มีรับรองอยู่ที่พระในมณฑลพายัพแต่งประวัติหรือพงศาวดารเปนภาษาบาลี มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ชื่อที่เปนคำไทยเปลี่ยนหรือเหยียดไปเสียเปนภาษามคธทั้งนั้น เช่น พระร่วง เปลี่ยนเปน โรจนราชา แปลคำมคธนั้นก็ว่า พระราชาผู้รุ่งเรือง เห็นได้ว่าท่านผู้แต่งเปลี่ยนชื่อ ท่านเข้าใจคำ ร่วง ว่าเปนอันเดียวกับ รุ่ง แต่ความเข้าใจของพวกเราทุกวันนี้ต่างกัน รุ่ง ว่า สว่าง ร่วง ว่า ตกหล่น แต่จะอย่างไรก็ดี ต้องถือเอาคำที่เข้าใจกันมาก่อนเปนถูก เพราะที่เข้าใจกันในบัดนี้อาจเปนเข้าใจเคลื่อนผิดมาได้ นึกขึ้นได้อีกทางหนึ่ง ในกลอนเก่า ๆ กล่าวชมพลอยเครื่องประดับกาย ใช้คำว่า รุ้งร่วง รุ้ง คิดว่า รุ่ง นั่นเอง ร่วง ก็ไปเข้ารูปเดียวกับเรียกพระร่วงว่าโรจนราชา ก็คือรุ่งเหมือนกัน เปนอันว่าพูดคำซ้อน ที่จะหมายความว่าพลอยตกหล่นนั้นเปนไปไม่ได้ ด้วยเปนการเลว ไม่ควรเอามาพูด รังรอง ก็ รุ้งร่วง รุ่งเรือง วนอยู่นี่เอง ไม่ไปข้างไหน

ทีนี้จะวิจารณถึงชื่อเมือง

เมืองพระบาง ที่นครสวรรค์ เปนชื่อจริง เมืองหลวงพระบางที่แม่น้ำโขงเปนชื่อเก๊ เหตุใดจึ่งว่าดังนั้น เหตุด้วยเมืองพระบางที่นครสวรรค์ มีชื่อปรากฏในหนังสืออันเปนหลักฐานมาเก่าแก่ เมืองหลวงพระบางที่แม่น้ำโขง ไม่ปรากฏในหนังสือเก่า ต้องเปนเอาอย่างเมืองพระบางที่นครสวรรค์ไปชื่อบ้างทีหลัง เพราะเมืองพระบาง ที่นครสวรรค์ เวลานั้น จะรุ่งเรืองมากหรืออย่างไรก็ตามที เมืองหลวงพระบาง ที่แม่น้ำโขงนั้น มีคนว่าเดิมชื่อเมืองชวา แต่ลางคนก็ไม่เห็นด้วย นับทั้งท่านด้วยคนหนึ่ง ความจริงก็เปนแต่มีหนังสือออกชื่อเมืองชวาเท่านั้น แล้วก็มีคนชี้เอาโดยสันนิษฐาน ว่าเมืองชวาคือเมืองหลวงพระบาง อยู่ข้างจะหมิ่นเหม่มาก เพราะฉะนั้น เมืองหลวงพระบางทางแม่น้ำโขงก็สิ้นทางที่จะพึงวิเคราะห์ต่อไป ที่เรียกว่าเมืองหลวงพระบางนั้น ฉันก็อาจแยกได้ เมืองหลวง แปลว่าเมืองใหญ่ มีตัวอย่างเช่น พระนครหลวง นี่เปนคำไท เขมรเรียก นครธม ธม ก็แปลว่าใหญ่ หลวง ก็แปลว่าใหญ่ตรงกัน แล้วคำว่า หลวง ก็เคลื่อนมาเปนว่า Royal ผิดที่สุด ผิดที่เข้าใจคำ ในหลวง ว่าเปนพระราชา แต่แท้ที่จริงเปน นายหลวง หมายความว่านายใหญ่ เหมือน เขาหลวง ก็หมายความว่าเขาใหญ่นั่นเอง อันคำว่า เมืองหลวง หรือ เมืองใหญ่ ถ้าจะว่าไปก็ตรงกับคำว่า เมืองเอก นั้นเอง

ท่านอยากรู้ว่าพระบางเปนพระชะนิดไร ฉันอาจบอกได้ว่าเปนพระฝีมือลาวกาวทำ พวกพระเสิมพระไสอะไรเหล่านั้น ด้วยมีตำนานว่าจะต้องส่งพระบางไปเมืองเขมร ส่งไปทำไมก็ไม่ทราบ อาจที่พระองค์นั้นจะเปนพระเขมร ไปฉวยเอาของเขามา เขาเรียกเอากลับคืนก็เปนได้ ในตำนานว่าประทุกเรือล่องน้ำไป เรือล่มพระจมลงแม่น้ำ แล้วปาฏิหารย์กลับมาสู่ที่เดิม เปนพวกพระเขียวแก้วในเมืองลังกา ฝรั่งเอาไปโขลกเสียละเอียดแล้วยังกลับติดเปนองค์ ปาฏิหารย์มาสู่ที่เดิมได้ ในการที่คิดจะไปดูพระที่วัดสามปลื้มนั้นเห็นจะไม่เปนเก๋ เพราะเชิญพระบางส่งคืนไปแล้ว วิหารก็ว่างกะโจ๋โหวอยู่ช้านาน จนเกิดรำคาญใจแก่ผู้ที่เข้าไปถึง จึงได้เกิดความคิดหาพระมาตั้งแทนที่ อาจฉวยเอาพระที่มีอยู่แล้วมาตั้งแทนที่ก็ได้ หรือแม้จะหล่อขึ้นใหม่โดยจำเพาะ ก็จะทำได้แต่เพียงว่า มีขนาดสูงต่ำไล่เลี่ยกัน และพระอาการเปนห้ามสมุทหรือห้ามญาติ ก็เปนอย่างเดียวกัน ที่จะไปสังเกตดู แก้ม คาง ปาก คอ พระองค์นั้น กลัวจะไร้ผล อีกประการหนึ่ง การถ่ายเหมือนนั้นเปนวิชาของฝรั่ง เมื่อพระบางอยู่ในกรุงเทพฯ กลัวจะยังไม่มีครูฝรั่งเข้ามาสอนวิชาถ่ายให้เหมือนแก่คนไท

ที่นี้ก็เหลือแต่จะวินิจฉัยว่าชื่อ เมืองพระบาง นั้นจะหมายเอาอะไร ฉันอยากจะทึกเอาว่าหมายเอาชื่อพระร่วง ถึงว่าเมืองนั้นใครจะสร้างก็ตามที แต่ไม่ขัดกับที่จะเอาชื่อพระร่วงมาตั้ง ด้วยเหตุคำ บาง ท่านสอบคำอาหมมาได้ว่าตรงกับ รุ่งเรือง มีพยานประกอบที่คำแปลชื่อ พระร่วง ว่าโรจนราชา เห็นได้ว่าคำ ร่วงเปน รุ่ง จึงตกเปนคำ พระร่วง กับ พระบางนั้นเปนคำเดียวกัน และที่ใช้คำ บาง นั้น หมายเอาชื่อ พ่อขุนบางกลางเท่า (ท่าว) ตามชือเดิม ชื่อพระร่วงนั้นเข้าใจว่ามาขนานกันขึ้นทีหลัง ก็ชื่อว่าพ่อขุนนางกลางเท่า นั้นยาวมาก เห็นได้ว่ามีคำประกอบยกยศปนอยู่ในนั้นมาก เช่น พ่อขุน นั้นก็เปนคำยกยศ ไม่ใช่ชื่อ ตัดออกทิ้งเสียได้ คำ เท่า หรือ ท่าว ข้างท้ายนั้นมีคำใช้อยู่ เช่น ท่าวถึง หรือ ตราบท่าวห้าพันพระวัสสา จะแปลว่าอะไรก็ตามที แต่ไม่ใช่ชื่อ ย่อมตัดออกเสียได้อีกคำหนึ่ง ถ้าถือเอาความคิดของท่าน แปลชื่อ พ่อขุนบางกลางเท่า เปน พระร่วงในหมู่ท้าวทั้งหลาย ก็เหลือคำที่เปนชื่ออยู่คำเดียวแต่คำ บาง เมืองพระบาง กับ เมืองพระร่วง ก็ลงกันเปนอันดี คำ พบาง หรือ พระบาง นั้นไม่สำคัญอะไร ท่านสอบได้แน่นอนว่าเปน พระ ไม่ใช่ พ ก็ดีแล้ว ได้ความรู้เปนแม่นมั่นขึ้นอีก แต่จะเปน พระ หรือ พ ก็เปนคำยกยศเหมือนกัน เมืองพระบาง เปนเขตต์สุโขทัยนั้นแน่นอน ในพระราชพงศาวดารก็มีปรากฏอยู่ ว่าเมืองเหนือเปนจลาจล สมเด็จพระอินทราชาเสด็จขึ้นไปปราบปราม พระยาบาลเมืองกับพระยารามลงมาเฝ้าที่เมืองพระบาง ท่านว่าเมืองพระบางเปนเขตต์สุโขทัยทางใต้นั้นก็ถูกแล้ว พระยาทั้งสองลงมาเฝ้าที่นั้น ก็แปลว่ามาเฝ้าที่เมืองปลายแดน เพื่อจะระงับศึก ก็เมื่อเมืองพระบางเปนเมืองในแดนสุโขทัย อันเปนเมืองอยู่ในเขตต์ของพระร่วง จะเอาพระนามของท่านมาให้ชื่อเมืองในเขตต์ของท่าน ก็ไม่เห็นมีที่ขัดขวางเลย หนังสือมูลสาสนาเห็นว่าจะเปนหนังสือแต่งก่อนยุคพระร่วงไปไม่ได้ เข้าใจว่าทีหลังหนังสือจามเทวีวงศ์ลงมาเสียอีก เพราะมีเรื่องนางจามเทวียกขึ้นไปเหนือ เปนดีเตลของหนังสือจามเทวีวงศ์ ต้องเก็บเอามาแต่หนังสือจามเทวีวงศ์นั้นเอง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ