- เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๓)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๓)
- สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น (๒)
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒
- ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส (๒)
- ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส
- ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น
- ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒
- มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒
- ภาคผนวก
๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น
ตำหนักปลายเนิน คลองเตย
วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๘๒
พระยาอนุมานราชธน
อ่านหนังสือของท่านเรื่องทำศพที่ให้ไป อ่านสนุกเต็มที ทั้งได้ความรู้ได้ความคิดมากออกไปด้วย แต่มีข้อคำที่ติดใจสงสัยอยู่บ้าง เห็นว่าควรจะบอกให้ท่านทราบ จึ่งจะบอกต่อไปนี้
๑. ชะมัด (หน้า ๑๑ และหน้า ๓๐) คำนี้ใช้กันดื่นขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่ก่อนเห็นใช้ ชะงัด อย่างไรถูกก็ไม่ทราบ
๒. เสียงหอนของพวกหอดเตนโตด กลัวจะเปนสวดอะไรพวกบอกหนทาง แต่เพราะคนมากไม่ได้ซักซ้อมกันก็ฟังเอาศัพท์ยาก ฝรั่งฟังไม่ออกและอยากใส่ความร้ายให้จึ่งว่า หอน ตามที่สันนิษฐานว่าสวดอะไรนั้น ด้วยเคยเห็นหนังสือทางเมืองเขมร อันกล่าวถึงเมื่อพระเจ้าศรีสวัสดิจะสวรรคต คนทุกคนที่เข้าไปอยู่ที่นั่นต้องพร้อมกันสวดพุทธคุณ นี่ก็เหมือนกับหอนเวลาคนจวนตาย ของพวกหอดเตนโตดนั้น
๓. หาปลาภ (หน้า ๓๕) คิดว่าคำนี้ผิด เคยได้ยินเปน อับพะลาภ คือ อัปปลาภ หรือ มหับพะลาภ คือ มหัปปลาภ
๔. แมว น่าจะถือกันเปนสองนัย แมวเซื่อง คือแมวเลี้ยง อันได้อบรมให้รู้ดีรู้ชั่วแล้ว ถือว่าเปนมงคล แมวเปรียว คือแมวป่า หรือที่เรียกว่าแมวขะโมย อันไม่ได้ความอบรมให้รู้ดีรู้ชั่ว นันถือว่าเปนอวมงคล การขึ้นเรือน เอาเด็กลงเปล แต่งงานบ่าวสาว หมดนั้นเปนงานอย่างเดียวกัน มีถุงเข้าเปลือก ถั่วงา ผลฟัก ทั้งหินบดยาด้วย ลางรายก็น้อยลง ลางรายก็มีไรต่ออะไรมากขึ้นอีก เอาแน่ไม่ได้ หมายเปนเครื่องเรือนเครื่องทำกินแก่ผู้ที่มาใหม่ทั้งนั้น แมวนั้นจะได้ประจำเรือนคอยจับหนู อันจะมารันทำให้ของเสีย ขอบใจท่านที่จดว่า แมวคราว ทำให้ได้สติขึ้น เคยได้ยินมาว่าแมวเทา เปนการเข้าใจผิด หาแมวสีเทากันออกย่ำแย่ แต่ที่แท้เห็นจะเปนแมวเครา หมายความว่าเปนแมวใหญ่ที่มีเคราแล้ว เท่ากับที่จัดคนว่าเปนผู้ถึงนิติภาวะ ลูกแมว จะใช้หาได้ไม่ คำที่ท่านได้ยินมาว่า ฆ่าแมวเหมือนฆ่าเณร นั้น ทำไมจึงเบาไป ฉันเคยได้ยินมาเปนว่า ฆ่าแมวเหมือนฆ่าพระ สูงขึ้นไปอีก ทีจะเทียบด้วยคำของพราหมณ์ที่ว่า ฆ่างัวเหมือนฆ่าพราหมณ์ คำนี้สมกับจะหมายถึงแมวเลี้ยง ส่วนแมวขะโมยนั้นเห็นจะนึกกันว่าเปนแมวผี เพราะย่อมมาในเวลาเงียบดึก ๆ มืด ๆ กลัวจะมาทำละลาบละล้วงอะไรแก่ศพ ก็ที่แมวขะโมยนี้ ออกจะฆ่าได้
๕. ต้มน้ำอาบศพ ท่านว่าใส่ใบอะไรก็ได้นั้น คิดว่าจะเปนทำโดยไม่เอื้อเสียแล้ว แต่ก่อนเห็นจะเปนใบที่มีจำกัด เช่น ใบหนาดเปนต้น ซึ่งถือกันว่าผีกลัว ยิงปืนไล่ผีในพิธีตรุสมีเปนอย่าง ซึ่งพอจะเทียบกันได้อยู่ ใช้ใบหนาด ใบสาบแร้งสาบกาเปนหมอน
๖. การทาขมิ้น กรมขุนพิทยลาภทรงสันนิษฐานว่า เปนการบำรุงผิว เหตุด้วยเราผิวเหลือง จึ่งทาขมิ้น เห็นได้จากฝรั่งมีผิวขาว เขาก็เอาฝุ่นพอกเข้าไปท่าเดียว แขกที่สิงคโปร์ ปีนัง ใช้น้ำมันงาทาตัวเพื่อกำจัดฝ้าให้เห็นผิวดำงาม แล้วทรงพระดำริคาดต่อไป ว่าพวกอินเดียนแดงคงจะใช้ผัดผิวด้วยดินแดง ตามที่ตรัสนี้เข้าทีอยู่มาก จึ่งบอกท่านให้ทราบเพื่อพิจารณา
๗. ท่านเขียนไว้ว่า สมเด็จกรมพระยาทรงนิพนธ์ (หน้า ๓๗) เห็นว่าควรจะลงพระนามไว้ด้วย เพราะสมเด็จกรมพระยามีอยู่หลายพระองค์
๘. ท่านไม่ต้องสงสัย การรดน้ำใส่มือ เปนของทำย่อเกิดขึ้นภายหลัง แต่ก่อนอาบกันจริงๆ ทั้งนั้น อาบน้ำสงกรานต์ท่านผู้ใหญ่ ก็ขึ้นเตียงตั้งขันท่านตักน้ำอาบ ลูกหลานก็เข้าช่วย แล้วมีน้ำหอมไปช่วยทาให้ท่าน เพียงอายุฉันยังได้เคยทำให้ท่านผู้ใหญ่ การรดน้ำแต่งงานสมรสก็คือรดน้ำมนต์ เมื่อพระสวดมนต์จบ ก็ยกน้ำมนต์มา ญาติพี่น้องช่วยกันรด โกนจุกก็ขึ้นเตียงรดน้ำชำระกายเมื่อโกนผมแล้ว ศพก็ชำระล้างให้สอาด ล้วนแต่ญาติพี่น้องทำให้กันทั้งนั้น การสาดน้ำสงกรานต์เห็นจะมาแต่ลงท่าอาบน้ำ เขาว่าประเพณีในเชียงใหม่ เจ้าผู้ครองเมืองลงท่าแล้วก็ขึ้นเสลี่ยงแห่กลับคุ้มทั้งเปียก ๆ ตามทางมีราษฎรสาดน้ำกัน ตลอดกระทั่งถึงคุ้ม ท่านจงดูพิธีจดแจตรในกฎมณเฑียรบาล มีคำว่าข้าราชการลงน้ำตามมาทีเดียว ดูเปนทีว่ามาเปียก ๆ เหมือนเชียงใหม่ แต่ไม่ได้กล่าวถึงมีราษฎรสาดน้ำซ้ำ เข้าใจว่าเปนประเพณีอันเดียวกัน
๙. การหวีผมศพ มีหลายอุปเทห์นัก คิดตามก็ไม่ทัน แต่เมื่อฉันถูกให้เปนคนหวีก็หวีให้อย่างคนเปน ด้วยไม่เห็นว่าควรจะทำอุตริ ส่วนการหักหวีนั้น เห็นเหตุว่าเพื่อจะไม่ให้คนเปนเอาไปหลงใช้ร่วมกับคนตายเท่านั้นเอง
๑๐. เรื่องนุ่งผ้าศพกลับหน้าเปนหลัง ได้เคยสงสัยมานานแล้ว ว่าทำเช่นนั้นด้วยเหตุไร แต่ไม่มีใครอธิบายให้เข้าใจ จนกระทั่งได้มาอ่านเรื่องที่ท่านเรียบเรียงไว้ จึงเปนอันเข้าใจว่าเปนเรื่องทำให้กลับ อย่างกลับอะไรเสียต่าง ๆ ตลอดถึงหวีผมด้วย
๑๑. สุภาสิตที่ว่า มรคา วารี อิตถี ศาลา เปนแน่ว่าหมายถึงของซึ่งเปนสาธารณะ ไม่ใช่ของในบ้านตน อิตถี ก็เห็นจะหมายถึงหญิงหาเงิน
๑๒. คาถา ยนฺตํ สนฺตํ วิกฺลึงคเล เคยได้ยินเปน ยนฺตํ สนฺตํ วิกฺรึงฺ คเร คำ กรึง กลัวจะเปน ตรึง แต่เราอ่านว่า กรึง ดูเหมือนเขาไม่ได้ใช้สำหรับชักยันตร์ทุกอย่างไป ใช้แต่ชักยันตร์สามเหลี่ยมตรึง หลังยันตร์ตรีนิสิงเห แต่ไม่แน่ ด้วยเอาใจใส่มาน้อยเต็มที ต้องเรียนกับหมอเสกเป่าจึงจะเอาแน่ได้ บรรดาคาถาเสกอะไรต่าง ๆ เปนธรรมดาที่คนรู้งูๆ ปลาๆ ผูกขึ้นทั้งนั้น จึ่งแปลไม่ได้ หรือแปลก็สิ้นขลัง ทั้งนั้นก็กลัวจะปรากฎที่ผิด
๑๓. การมัดศพของเรา เพื่อกันดันโลงแตกแน่ เพราะเทียบได้จากศพที่จะเอาไปฝัง เขาไม่มัด เปนแต่เอาผ้าขาวห่อเท่านั้น ในการที่เอาเชือกมัดลอดออกมานอกโลง ก็เพื่อผูกผ้าโยงให้พระบังสกุล จะได้แล่นเข้าไปถึงตัว
๑๔. คำตราสัง ฉันเคยคิดแปลสะระตะให้สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ ว่าตราสังขาร ตรา หมายความว่าผูกว่าตรึง นึกเทียบเอาคำ รัดรึง ตรึงตรา มาเทียบ สังขาร นั้นคำหลังตกหายไปเสีย แต่สมเด็จกรมพระสวัสดิ์เธอไม่เห็นด้วย เธอนึกเดาขึ้นอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ฉันก็ไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วย จึงเลยจำไว้ไม่ได้
๑๕. เรื่องแต่งศพนั่ง อ่านหนังสือซึ่งท่านแต่งไว้ แม้มีตัวอย่างอยู่หลายแห่งก็จริง แต่เปนประเทศที่ไกลและเก่าเต็มที คงจะไม่มาถึงเมืองเราได้ จะต้องเปนธรรมเนียมของเมืองที่ใกล้กับเรา เมื่อเลงดูถึงคำเรียกเครื่องใช้ประกอบกับการแต่งศพนั่งของเรา ที่นอกจากเปนภาษาไท ก็เปนภาษาสํสกฤต มีเครื่อง ศุกรัม(ศุกฺลํ) และ พันธนัม เปนต้น จะต้องเปนแบบมาจากอินเดีย แต่ศพชาวอินเดียเขาก็ไม่ได้แต่งนั่ง นอกจากพวกโยคีก็ต้องเปนแบบที่จำการแต่งศพของพวกโยคีมานั่นเอง ทั้งนี้ก็ไปเข้ารอยกับที่เคยสืบสวนมาแล้ว ทีแรกเที่ยวเดินซนไป ไปเห็นศพสมภารจีนวัดเล่งเนยยี่ เขาใส่ลุ้งตั้ง แล้วมาได้ทราบความที่สมเด็จกรมพระยาดำรง ว่าสมภารวัดประดู่ที่กรุงเก่า ศพก็ใส่ลุ้งตั้งเหมือนกัน ครั้นช่วยท่านแต่งเรื่องโกศหีบ จึ่งต้องไปสืบที่พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร วัดเล่งเนยยี่ (ซึ่งเรียกกันว่าอาจารย์แมว) ถามท่านว่าศพพระจีนญวน เห็นใส่ลุ้งตั้งนั่งก็มี ใส่หีบนอนก็มีแบ่งเปนยศกันอย่างไร ท่านอธิบายว่าไม่ใช่แบ่งเปนยศ ศพใดที่นั่งสมาธิไปจนตาย เขาก็ต่อลุ้งตั้งใส่นั่ง ศพใดที่นอนตายเขาก็ต่อหีบใส่ให้นอน ด้วยเขาไม่อยากถูกต้องศพให้มากนัก เปนอันเข้าใจ สมภารวัดประดู่ก็เปนผู้ขลังในการปลุกเสก ศพก็เอาอย่างพระที่ขลังของจีน ศพพระญี่ปุ่นซึ่งท่านได้ความมาว่า เขาแต่งนั่งก็เอาอย่างพระจีนที่ขลัง ศพพวกโยคีและพราหมณาจารย์ก็เปนผู้ขลัง นับเนื่องว่าเปนศพพระด้วยกันทั้งนั้น ก็เหตุไฉนเราจึ่งจำเอามาแต่งศพเจ้า ดูก็ประหลาดอยู่บ้าง แต่มาทีหลังศพหีบเปนแน่นอน แต่ก่อนนี้ถ้าแต่งศพลงโกศแล้วก็นับว่าเปนเจ้า
๑๖. ได้พูดมาแล้วว่า คาถาปลุกเสกอะไรต่าง ๆ นั้น คนรู้งูๆ ปลาๆ แต่งถ้อยคำก็ย่อมได้ตามน้ำเนื้อ คาถาทำน้ำมนต์ธรณีสารนั้น ใช้ไม่ว่าอะไร ใครต่อใครจำเอาไปใช้มากต่อมาก ก็เปนธรรมดาที่จะต้องเคลื่อนคลาศเปนหลายอย่างต่างกันไป จนจับต้นเค้าไม่ได้ แต่ถ้าจะเดากลั่นเอาต้นเค้า ทีก็จะเปนดั่งนี้
สิโรเมพุทฺธเทวฺจ
ลลาเฏพฺรหฺมเทวตา
หทยํนารายกฺเจว (ควรจะเปน ณฺจ)
หตฺเถจปรเมสุรา
ปาเทวิสฺสณุกฺเจว (ควรจะเปน กมฺมฺจ)
สพฺพกมฺมาปสิทฺธิเม ฯ
เปนเพียงคาถากึ่งเท่านี้ก็ควรจะพอแล้ว สำหรับเข้ากรรมทำน้ำมนต์อะไรต่าง ๆ อันเปนความว่า เชิญ พระพุทธ พระนารายณ์ พระปรเมศวร พระวิศวกรรมมาเข้าสิงกายให้ทำกรรมต่าง ๆ สำเร็จ ส่วนคำ สิทฺธิกิจฺจํ สิทธิกมฺมํ สิทธิการิยตถาคโต สิทฺธิลาโภนิรนฺตรํ สิทฺธิเตโชชโยนิจฺจํ สพฺพสิทฺธิ ภวนฺตุเต ฯ นี่เปนคำโหรเขาใช้ให้พรเจ้าเรือน เวลาเขาบูชาเทวดาขอพรให้ปกปักรักษาเจ้าเรือน แต่ก็ไม่ใช่คำของโหรคิดขึ้นเอง ไปตอนเอาคำพระถวายอติเรกมาต่อแต้มใช้อีกทีหนึ่ง แล้วใครไปฉวยเอามาต่อคาถาทำน้ำมนต์ธรณีสารเข้า ดูไม่เข้ากันเลย ทั้งไม่เปนรูปคาถาด้วย
๑๗. ขอให้ท่านสังเกตว่า โลง นั้น ทำพอบังตาแต่เพียงด้านข้างสี่ด้านเท่านั้น ทางก้นแต่ก่อนแสดงว่าเปิด จึงต้องมีเฝือกรอง เพราะศพชั้นก่อนใช้ห่อด้วยเฝือก ปากก็เปิด จึงต้องมีผ้าคลุม โลงขุดกลัวจะเปนของคนถิ่นอื่น
๑๘. ชาวปักษ์ใต้ก็เรียกทิศใต้ว่าหัวนอนเหมือนชาวเหนือ แต่ไม่มีระบุไว้ในหนังสือซึ่งท่านเรียง
๑๙. เรื่องจุดไฟไว้ที่ศพ ทำให้ตีความไม่เข้าใจให้แปลออกได้ คือจัดพระศพที่อย่างดี แล้วมีขันใส่ข้าวสารปักแว่นติดเทียนตั้งไว้ด้วย สืบถามหาความหมายก็ไม่มีใครบอกได้ บอกได้แต่ว่าเปนของซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๔ เคยทรงพระราชดำริให้จัดขึ้น ก็ทำเปนธรรมเนียมต่อมา เพิ่งมารู้สึกได้ว่าเทียบด้วยตะเกียงกะลามะพว้าวตั้งบนข้าวเปลือกนั้นเอง ทรงพระราชดำริ เห็นตะเกียงกะลามะพร้าวตั้งบนข้าวเปลือกนั้น มันเลวสกปรกนัก จึ่งทรงพระราชดำริ เอาขันปักแว่นอย่างเวียนเทียนมาใช้แทน มีอะไรครบทุกอย่าง ขาดแต่เทียนไม่ได้จุดไฟก็เพราะไฟอื่นมีถมเถไปแล้ว ตะเกียงกะลามะพร้าวตั้งบนข้าวเปลือกนั้น ก็ไม่ใช่อะไรทำไปอย่างง่าย อันจะพึงทำได้โดยปัจจุบันเท่านั้น คือขึ้นต้นมะพร้าวปลิดลูกมาปอกเอากะลาผ่าออก ใช้เปนภาชนะใส่น้ำมัน จะขูดเอาเนื้อออกก็เสียเวลา กะลาตั้งโคลงเคลงทำให้น้ำมันหกได้ ก็เอาอะไรตักข้าวเปลือกมารองตั้งเสียไม่ให้โคลงเท่านั้น
๒๐. เรื่องสวด ดูเหมือนท่านจะเข้าใจผิดเปนว่า พระร้องเอาตามใจ แต่หาเปนเช่นนั้นไม่ ทำนองนั้นเปนแบบมีชื่อทีเดียว เช่น ทำนองสวดกะ ทำนองสวดพระธรรมใหม่ เปนต้น ที่คนกลัวกันนั้นก็เพราะกลัวผีนำไป ที่สวดครึ่งคืนนั้นอีกนัยหนึ่งเรียกว่า สวดสองจบ สวดมี จบหนึ่ง สองจบ สามจบ สี่จบ ตามต้องการ สี่จบเปนสวดยังรุ่ง คือว่าสี่รอบแห่งพระธรรมที่สวดนั้น การสวดนั้นปกติเปนสี่องค์ สวดทั้งการมงคลและอวมงคล เขาว่ากรมหลวงวงษาเวลาทำบุญวันประสูติ มีสวดสองร้าน มหาชัยร้านหนึ่ง อุณหิสวิชัยร้านหนึ่ง ท่านอาจสังเกตในชื่อได้ มหาชัยไม่ใช่ชื่ออวมงคล ที่เรียกว่าคู่สวดนั้น ก็เพราะสวดทีละคู่ แบ่งกันสวดคู่ละวรรค องค์หนึ่งเปนแม่คู่ อีกองค์เปนลูกคู่ ส่วนสวดเล่นตลกนั้นคิดขึ้นอีกทางหนึ่ง อย่างมีละคอนตลก นั่นเพื่อประสงค์เฮฮาครึกครื้น จัดเข้าเปนพวกเฝ้าศพได้
๒๑. เรื่องร้องไห้ ขาดไม่มีกล่าวถึง ที่รู้แจ้งกันอยู่หมิ่นๆ คือมอญร้องไห้ เขามีพวกรับจ้างร้องเปนอามิศเหมือนกัน
๒๒. เรื่องทำบุญ ๗ วัน นั้นน่าสงสัย กลัวจะไปปนกันยุ่งเข้ากับการทำบุญ ๗ วัน นับแต่ปลงศพแล้ว เพราะท่านทราบอยู่แล้วว่า ก่อนนี้เขาไม่เก็บศพไว้ในบ้านเกินกว่า ๓ วัน การทำบุญทุก ๗ วัน และทำบุญ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน นั้นเปนประเพณีจีนแน่ มีขึ้นทางเราเมื่อครั้งพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน เปนต้นเค้า
๒๓. เรื่องไว้ทุกข์ ของเราเปนเรื่องสับปลับยากใจเปนที่สุด เอาแน่อะไรไม่ได้เลย ถ้าสังเกตแบ่งก็แบ่งได้เปนสองทาง คือไว้ฉะเพาะแต่ไปเข้างานศพทางหนึ่ง กับไว้ประจำวันอีกทางหนึ่ง การไว้ไปเข้างานศพก็คือนุ่งขาวนุ่งดำ เข้าใจว่าเราจำเขามา นุ่งขาวพูดกันว่าเอาอย่างจีน แต่ถามพวกจีนเขาก็ว่าเขาไม่ได้นุ่งขาว ตกลงจะมาแต่ไหนก็ไม่ทราบ แต่นุ่งดำนั้นจำฝรั่งมาแน่ และเปนแน่ว่าเกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ ด้วย ที่นุ่งสีกุหราสีนกพิราบและสีน้ำเงินอะไรเหล่านี้ เชื่อว่าเปนของเราคิดขึ้นเอง เพื่อจะเดินให้เปนสายกลาง แต่ฉันไม่เล่นด้วย เห็นว่าแต่งขาวแต่งดำเท่านั้นก็ลำบากพออยู่แล้ว ไฉนจะไปรับเอาอย่างอื่นมาพอกให้ลำบากยิ่งขึ้นอีกเล่า เดิมทีเราเห็นจะไม่ได้แต่งไว้ทุกข์กัน เพราะเคยเห็นพระเมรุใหญ่ ๆ แต่ก่อนมา นุ่งสมปักลายสีต่าง ๆ คาดเสื้อครุยกันทั้งนั้น (ที่ว่าคาคเสื้อครุยลางทีท่านจะสงสัย พวกที่เขาไม่มีหน้าที่แห่เสด็จ เขาทำผ้าคาดย่อมีแต่สำรด เปนทีว่าได้คาดเสื้อครุย เรียกว่า ผ้าแฝง แต่ผู้มีหน้าที่แห่เสด็จต้องคาดเสื้อครุยจริง ๆ เวลาเข้าริ้วต้องสรวมเสื้อครุย เวลาอยู่นอกริ้วถอดเสื้อครุยออกคาด) ส่วนทางไว้ทุกข์ประจำวันนั้น แต่ก่อนมีโกนหัว หากสั่งห้ามเสียแล้วในรัชชกาลที่ ๕ แต่มีการแต่งดำ และพันแขนดำเข้ามาแทนที่ เดี๋ยวนี้แต่งดำหายไป เหลือแต่พันแขน วันทำก็น้อยลง คิดว่าต่อไปเห็นจะเลิก
๒๔. สัมหา คิดว่าควรจะเขียน สำมหา นึกว่าจะมาแต่คำ ส่ำ+มหา คือข้อใหญ่ต่าง ๆ
๒๕. วิธีเอาศพไว้บนต้นไม้ ทางหัวเมืองปักษ์ใต้ของเราก็ทำกัน แต่ก่อนนี้เห็นจะเกือบเปนปกติ เรียกว่า แขวน คือเอาศพห่อเฝือกไปแขวนไว้บนต้นไม้ ลางทีจะเปนต้นเค้าของการเอาเฝือกห่อศพ แม้ใส่โลงแล้วก็ยังปูกันโลงด้วยเฝือก ส่วนศพคนมียศมีเงินนั้น เขาไปปลูกร้านเอาศพไว้แทนแขวน
๒๖. ประตูผี ตามธรรมเนียมไท ไม่จำจะต้องเปนประตูเล็ก เปนประตูใหญ่ก็ได้ ดูแต่ประตูสำราญราษฎร์เปนตัวอย่างเถิด เรียกว่า ประตูผี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ก็เปนประตูใหญ่เหมือนกัน คนเดินเข้าออกได้เท่ากับผี คำว่าประตูผีนั้น เปนคำชาวบ้านเรียก แม้ประตูนั้นจะมีชื่อว่าอะไรอยู่ก็ตามที เหมือนกับประตูด้านที่ลงแม่น้ำ จะมีชื่อว่าอะไร ก็เรียกว่าประตูน้ำ เหตุที่เรียกว่าประตูผีก็เพราะเอาผีออกทางนั้น ที่ต้องเอาผีออกทางนั้นก็เพราะป่าช้าที่ปลงศพ จะเผาหรือฝังหรือทิ้งก็ได้ อยู่ใกล้กับประตูนั้น ป่าช้านั้นเปนป่าจริง ๆ มีเขตต์กว้างใหญ่มาก ไม่ใช่ที่ทำศพในวัดใดอย่างเราเข้าใจกัน ทำไมจึ่งมีคำว่า ชั่ว ต่อท้ายด้วยก็ไม่ทราบ คำที่มี ช้า ต่อท้ายเปนเพื่อนกันก็มีอีก เช่น ต่ำช้า เปนต้น
๒๗. ประตูป่า เห็นจะหมายถึงเข้าสู่ป่าช้านั้นเอง ทีหลังปลงศพกันนอกป่าช้าก็ได้ จึ่งทำประตูป่าขึ้นเปนสมมต
๒๘. ถ่านเถ้า (หน้า ๘๕ หน้า ๘๖ หน้า ๙๗ หน้า ๑๐๐ หน้า ๑๑๖ หน้า ๑๑๗ สองแห่ง) เห็นควรจะเขียน ถ่านเท่า เพราะมีคำ สีเทา ขี้เทา เปนเครื่องเทียบอยู่ หมายความว่า สีขี้เท่า
๒๙. พระนำศพ คิดว่าเปนอันเดียวกับพระสวด ตัดเอาแต่องค์เดียวเพื่อให้ง่าย ที่เห็นเช่นนั้นก็เพราะอ่านคัมภีร์พระอภิธรรมเหมือนกัน
๓๐. เวียนซ้าย อยากรู้มานานแล้ว ว่ามีมาแต่อินเดียหรือเรามาคิดขึ้นเอง ถามใครก็บอกไม่ได้ เพิ่งมาได้ทราบจากหนังสือซึ่งท่านแต่ง ว่ามาแต่อินเดียทีเดียว ซ้ำได้คำสํสกฤตที่เขาเรียกด้วย ขอบใจเปนอันมาก แต่ที่ท่านเขียน ปรสวย นั้น ไม่ทราบจะอ่านอย่างไร เห็นไม่พ้นความโง่ จึงพลิกดูพจนานุกรมภาษาสํสกฤต พบว่า ปร เบื้องต้นเปนตัวควบ กับ วย เบื้องปลายก็เปนตัวควบ ทีนี้คิดว่าควรจะเขียนอย่างไรดี ประสัวย์ หรือ ประสวัย อะไรก็เปนเรื่องเต็มปล้ำ ฟังคำนั้นก็ไม่เข้าหู จำไม่ได้ จึ่งเห็นว่าไม่เอาดีกว่า ใช้คำ เวียนขวา เวียนซ้าย อย่างไท ๆ ก็แล้วกัน จะขอทักท่าน ที่ใช้คำว่าเวียนซ้ายไปขวา (หน้า ๑๐๑) นั้นผิด กลายเปนเวียนขวาไป ต้องด้วยคำกลอนว่า เวียนเทียนให้เวียนแต่ซ้ายไปขวา ที่จริงเวียนเอาเบื้องขวาให้เปนเวียนขวา ถ้าเวียนเอาซ้ายให้เปนเวียนซ้าย คำชี้แจงทั้งนี้ท่านกล่าวไว้แจ่มแจ้งแล้ว แต่ขัดกับที่พูดไว้ว่าเวียนซ้ายไปขวา อีกแห่งหนึ่ง พูดถึงพิธีของโรมันคาโธลิก ว่าบาดหลวงเดินรอบศพจากซ้ายไปขวา (หน้า ๑๐๓) คำนั้นจะถูกหรือไม่ถูกฉันทักไม่ได้ ด้วยไม่รู้ว่าเขาเวียนขวาหรือซ้าย
๓๑. การเผาศพ เปนแน่ว่าต้องมีธูปเทียนดอกไม้กับฟืน ธูปเทียนดอกไม้สำหรับขมาศพ ฟืนสำหรับเผา ย่อมยังเห็นปรากฏได้อยู่ที่เครื่องขมาศพของหลวง มีกระทงเข้าตอกดอกไม้ด้วยอยู่จนทุกวันนี้ ในหนังสือเรียนฉะบับหมอปลัดเลตีพิมพ์ (ซึ่งมี ไข่ไก่ในตระกร้า อยู่ในนั้น) มีจดหมายหน้าที่มหาดเล็ก ว่าต้องตั้งเครื่องขมาศพ กับท่อนจันทน์ถวายในการพระราชทานเพลิงศพ เข้าใจว่าภายหลังคิดประดิษฐเอาไม้จันทน์ทำเปนดอกไม้ เพื่อกระเบียดกระเสียนให้เปลืองเนื้อไม้จันทน์น้อย เลยเตะเอาดอกไม้สดทับท่อนจันทน์กระเดนไป ไม่มีอะไรจะเผาก็เอาธูปเทียนนั้นเองใส่ต่างฟืน ในงานพระบรมศพเปนหลายงาน ซึ่งล่วงมาแล้วไม่ช้านัก ก็ยังตั้งราวเทียนให้ประชาชนจุดติดบูชาขมาพระบรมศพ
๓๒. ยายกะลี เห็นด้วยว่าจะเปน พระกาลี แน่ เพราะพบหนังสือทางอินเดียกล่าวถึงป่าช้าทีไร ก็มีศาลพระกาลีอยู่ด้วยทุกที
๓๓. การต่อไฟ เห็นท่านผู้ใหญ่ท่านถือ ไม่ทำกัน ไม่ชั่วแต่การเผาศพ แม้การบูชาพระท่านก็ไม่จุดต่อกัน มักมีตะเกียงดวงหนึ่งตามไว้ให้จุด ดูทีจะไปทางข้างไม่เปนเคารพ
๓๔. การชำระกายเมื่อไปเผาศพกลับมานั้น มีประโยชน์จริงๆ อย่างน้อยก็มีกลิ่นเผาศพติดมาบ้าน ถ้าเปนคนกลัวผีก็ว่าผีตามมา กรมพระสมมตท่านสอนว่า กลับมาแล้วให้ล้างหน้าเสีย หรืออย่างน้อยก็ล้างในรูจมูก เพราะควันที่เผาศพติดมาในรูจมูก เมื่อได้ทำตามท่านสอนก็เปนผลสำเร็จจริง
๓๕. ใบบอกเผาศพ ฉันเรียกว่าใบดำ ลางทีก็เชิญให้ไปมีอยู่ในนั้นด้วย นี่เปนของใหม่ เดิมทีก็ไปกันเองตามใจสมัคร
๓๖. วันเผาศพ ท่านแนะว่าวันคู่ข้างแรมก็ได้แก่วันคี่ข้างขึ้นนั้น ขอบใจเปนอันมากที่ทำให้ได้สติพ้นจากหลง ด้วยแต่ก่อนคิดไม่ออก ว่าทำไมจึงบังคับให้เผาวันคี่ข้างขึ้น ครั้นถึงข้างแรมกลับยักเปนบังคับให้เผาวันคู่ไป ส่วนห้ามตายวันเสาร์เผาวันอังคารนั้นเคยได้ยิน ห้ามเผาวันพระซึ่งท่านไม่ได้กล่าวถึงก็เคยได้ยิน นั่นเห็นจะคิดไปถึงสัตว์ที่หากว่าจะมีอยู่ในศพ ก็ไม่ให้ต้องเสียชีวิตไปในวันพระ ส่วนห้ามวันศุกรนั้นเพิ่งเคยได้ยินเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง คิดว่ามาทางฝรั่ง ส่วนห้ามวันพฤหัสบดีนั้นไม่เคยได้ยิน ได้นึกวิตกอยู่ในใจ ว่าห้ามเพิ่มขึ้นทุกทีแล้วจะไม่มีวันเผาศพได้ แต่เปล่าเดี๋ยวนี้ออกจะไม่มีใครค่อยถือ ไปแย่งกันเผาวันอาทิตย์ ต้นคิดเห็นจะมาแต่วันหยุดราชการ จะได้มีมิตรสหายมามาก แต่ไม่จำเปน วันอะไรก็ได้ทั้งนั้น วางเวลาเผาให้พ้นจากเวลาราชการก็แล้วกัน
๓๗. แปรรูป ในราชการเรียกกันเปนสองอย่างอยู่ เมื่อทำถ่านเปนรูปทีแรกหันหัวไปทางตะวันตก เรียกว่าแจงรูป แล้วโกยถ่านกลับทำรูปใหม่ หันหัวไปทางตะวันออก นี่เรียกว่าแปรรูป เข้าทีอยู่มาก กระดูกนั้นเขาคัดเอาออกไว้เสียก่อน สำหรับให้ลูกหลานเก็บ เมื่อแปรรูปแล้วจึงเอากระดูกประดับลงตามที่ เช่น กระดูกหัวก็เอาไว้ที่หัวเปนต้น เพราะเหตุที่ทำดั่งนี้ การตั้งศพเผาคู่จึ่งบังคับให้ตั้งทางเหนือกับใต้ เพื่อไม่ให้แจงรูปและแปรรูปเหยียดตีนรดกัน การเก็บกระดูกไว้ที่บ้าน ได้ยินว่าเปนแบบกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยทรงพระราชดำริไม่แน่พระทัย ว่าจะรักษาบ้านเมืองไว้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะได้พาย้ายไป ด้วยเวลานั้นเปนเวลาศึกสงครามพัวพัน ทางพายัพเขาถือกันด้วยซ้ำไม่เอาอัฐิเข้าบ้าน ต้องบรรจุไว้ที่วัด ประเพณีของเราแต่ก่อนก็เอาไว้วัด ไม่เอามาไว้บ้านเหมือนกัน ถ่านซึ่งเก็บอัฐิแล้ว ทางพระศพเจ้านำไปลอยน้ำที่วัดปทุมคงคา เข้าใจว่าเปนคติพราหมณ์เข้ามาปน ถ่านของชาวบ้านหาได้ลอยน้ำไม่ วัดปทุมคงคาเข้าใจว่าจะตั้งชื่อให้ลากเอาแม่น้ำเจ้าพระยาไปเปนแม่น้ำคงคา
๓๘. การทำบุญ ๗ วันเมื่อเผาศพแล้ว ได้ทราบว่า เปนการทำบุญเรือน ไม่ใช่ฉลองอัฐิ เพราะฉะนั้นจึงตั้งบาตรน้ำ แต่เพราะเก็บเอาอัฐิมาบ้าน การทำบุญจึงกำกวมไป
ตามที่จดมาให้นี้ เปนทางไทเกือบเปนพื้น ทางต่างประเทศนั้นไม่ค่อยจะรู้ ได้ส่งต้นฉะบับกลับคืนมานี้แล้ว