๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

จะตอบหนังสือของท่าน ซึ่งลงวันที่ ๑๗ และที่ ๑๙

ท่านคัดที่เขาแปลคำ ก้อง ไว้ในพจนานุกรมไปให้ ประกอบทั้งคำอธิบายด้วยนั้นดีมาก ที่พระเจนจีนอักษรบอกเปนความหมายที่หย่อนลง คงเปนด้วยทุกวันนี้เอาคำนั้นมาใช้กันเพรื่อไป แต่ที่จริงไม่ได้ผิดความหมายไป ถึงบรรณาการก็เปนของกำนัลอยู่นั่นเอง แต่ต่างหนักเบาด้วยเปนของเมืองขึ้นให้กับคนสามัญให้ ให้ด้วยผู้รับมีบุญเหมือนกัน

คำ ภาษี นั่นแหละผิดความหมายแน่ แต่ก่อนไม่ได้หมายถึงเงิน เดี๋ยวนี้ความหมายเลื่อนมาเปนเงิน ค้นหาเหตุก็ได้ความว่าเพราะเอาคำนั้นมาใช้แก่การเงิน ท่านค้นหาที่มาของคำเดิมต่อไปนั้นดีแล้ว

ชา ฉันทราบนานแล้ว ว่าภาษาเขมรแปลว่า เปน แต่ทราบโดยทางสัมพันธ์ที่อ่านหนังสือ ไม่ได้ทราบจากพจนานุกรม ครั้นท่านบอกคำของพระยาอุปกิตว่าแปลว่า ดี ก็ได้ จึงได้เปิดพจนานุกรมดู เขาแปลให้ไว้ในนั้นมาก อยากจะว่าร้อยแปดอย่าง เปนว่าดี ว่าซื่อตรง ว่าปรากฏ ว่าปราศโรค และอื่นอีก ก็ตระหนักในใจได้ว่าเพราะเป็นคำเล็ก ซึ่งสำหรับเชื่อมคำใหญ่ให้ติดต่อกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีข้อสงสัย จะแปลว่าอะไรก็ได้ทั้งนั้น สุดแต่จะกินความกันได้

เรื่องใบหนาด เอาเปนแน่ได้ว่าถือเอากลิ่นเป็นที่ตั้ง รู้ได้ที่ใช้ปนกับใบสาบแร้งสาบกา นั่นก็อาศรัยกลิ่นเหมือนกัน คนในประเทศฟิลิปินส์เอาใบหนาดไปกันตัว ถือว่าปลอดภัยต่าง ๆ นั้น ก็คือกันผีนั่นเอง เพราะคนแต่ก่อนคิดว่าภัยอย่างใด ๆ ผีย่อมนำมาให้ทั้งนั้น แม้สัตวต่าง ๆ ก็กลัว แล้วผีก็จะต้องกลัวด้วย

ขมิ้น สันนิษฐานตามคำชี้แจง เห็นว่าจะต้องใช้เปนน้ำย้อมผ้าก่อน ภายหลังจึงเอาน้ำย้อมผ้ามาย้อมผิวกาย เปนการเพื่อแต่งผิวชัด คงใช้ทางพวกแถบบ้านเราก่อน เพราะพวกแถบบ้านเรามีผิวกายเปนสีขาวเหลือง แล้วจึงตกเข้าไปในอินเดียทีหลัง ชาวอินเดียผิวกายดำ ย้อมไม่ขึ้น ไม่มีประโยชน์อะไร เพียงแต่รู้ว่าเขาทากันก็ทาบ้างเท่านั้น ในเรื่องจรเข้กลัวขมิ้น ฉันก็ทราบ คงเปนด้วยเอาน้ำขมิ้น ซึ่งย้อมผ้าแล้วไปเทลงในน้ำซึ่งมีจรเข้อยู่ มันก็หนีไป จึ่งสังเกตกันมาว่ามันกลัวขมิ้น ที่จริงมันเหม็นเต็มทีมันจึงต้องหนีไป ถ้าจะเอาขมิ้นแง่งนิดหนึ่งผูกคอแล้วโจนน้ำเข้าหาจรเข้ คิดว่าเห็นจะไม่รอดตัว

เรื่องบัวเผื่อนบัวผันนั้น ฉันได้สงสัยเหมือนกัน ว่ามันจะเปนชะนิดเดียวกัน แต่หาคำที่มีสระเอือนกับอัน เปนคำซ้ำกันไม่พบ จึ่งลองถามท่านดู ท่านบอกเปนบัวต่างชะนิดกัน ทั้งเจ้ากรมก็บอกเช่นนั้นด้วย จึงเปนอันพ้นความสงสัย แต่พระยาวินิจอธิบายว่าเปนบัวชนิดเดียวกัน หากแต่เปลี่ยนสีเท่านั้น ก็ไปเข้ารอยเดิมที่สงสัยมาแล้วอีก ดอกไม้ที่เปลี่ยนสีมีถมไป เช่น ดอกพุดตานเปนต้น ฉันไม่ได้คิดเลย ว่าพระยาวินิจจะเปนคนมีความคิดซอกแซกมากไปกว่าวิชาต้นไม้อันได้เรียนมา คำเผื่อน ฉันเคยพบในฉันท์อนิรุทธว่า ขวัญเกี่ยงกินเผื่อน มีผู้รู้บอกให้ว่า เผื่อน แปลว่า ป่า นอกจากที่นั้นก็ไม่พบที่ไหนอันจะพึงเทียบเคียงได้อีกเลยว่าถูกหรือไม่ ถ้าถูกแล้วชื่อ บัวเผื่อน ก็ไม่ต้องเดาแปลงเปน บัวเผือด อย่างความเห็นพระยาวินิจ บัวเผื่อน แปลว่า บัวป่า คือขึ้นเอง ไม่ต้องปลูกก็ได้ คำว่า ป่า นั่นก็สังเกตว่าเคลื่อนมาแล้ว ชื่อตำบลครั้งกรุงเก่ามีป่าโทน ป่าถ่าน ป่าผ้าเขียว ไม่ใช่ต้นไม้เลย ถ้าตามแนวนี้ ต้นไม้ที่ขึ้นเปนหมู่ใหญ่จะต้องเรียกว่า ป่าไม้ จะเรียกแต่ว่า ป่า เท่านั้นหาได้ไม่

เรื่องภาษีที่ท่านแต่ง จะต้องเขียนความเห็นมาให้ทีหลัง เพราะยืดยาว จะต้องตรวจดี ๆ ทักมาเปนแห่ง ๆ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ