๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๑ และวันที่ ๒๔ ตุลาคม พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

คำว่า บุษบง บุษบัน ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูในพจนานุกรมภาษา สํสกฤต-อังกฤษ ในคำว่า ปุษกร หรือ โปกขร ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่าบัว มีแปลกที่ในวงเล็บแห่งหนึ่งเขียนว่า ปุษป และทำเครื่องหมายคำถามไว้ แสดงว่าผู้ทำพจนานุกรมสงสัยคำ ปุษกร ว่า จะมาแต่ง ปุษป อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น บุษบัง บุษบัน น่าจะเป็นคำเพี้ยนกันมาจากอินเดียก็ได้

สีน้ำเงิน ที่ข้าพระพุทธเจ้าเคยสงสัยอยู่ว่า สีมอคราม ไฉนจึงเรียกว่า สีน้ำเงิน เพราะห่างไกลกับสีของเนื้อเงินที่ตัดออกใหม่ ๆ พระอธิบายที่ทรงพระเมตตาประทานมา เป็นอันตัดความสงสัยของข้าพระพุทธเจ้าในข้อนี้ แต่ที่ย้ายมาใช้เรียกแก่สีมอคราม คงจะเป็นเพราะเข้าใจผิดอะไรกันอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าคิดไม่เห็น เพราะห่างไกลกับสีฟ้าอย่างอ่อนมาก

ที่ทรงสันนิษฐานเรื่อง สาน ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริทุกประการ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าถวายคำแปล สาน ว่าที่หวงห้าม ได้นึกปรับความหมายเข้ากับศาลเทพารักษ์ ก็พอได้กัน แต่เมื่อเอาเข้าปรับกับ ศาลชำระความ ข้าพระพุทธเจ้านึกเสียว่า ศาลชำระความ ควรจะเป็นที่เปิดเผย ความไม่เข้ากับที่แปลว่าระโหฐาน ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่กล้าถวายความเห็นอย่างไรไป ต่อเมื่อได้อ่านพระอธิบาย ข้าพระพุทธเจ้าจึงหายเขลา และเห็นจริงตามที่ทรงสันนิษฐาน เพราะในเรื่องเก่าของอินเดียว่า ศาลชำระความ เขาปลูกเป็นโรงหรือศาลาขึ้น เวลาเช้าพระจ้าแผ่นดินเสด็จออก มีพระราชครูปโรหิตหลายคนตามเสด็จ ก่อนที่จะประทับทรงตัดสินคดี ทรงบูชาทวยเทพที่มีอยู่ในศาลาเสียก่อน แสดงว่าในศาลาชำระความต้องมีสานเทวดาอยู่ด้วย ที่สานจะกลายมาเป็นศาล น่าจะเป็นเพราะลากเอาคำว่า ศาลา มาช่วยด้วยครึ่งหนึ่ง สาน จึงกลายเป็น ศาล ไป

คำ บริเวณ ที่ทรงทักท้วงมา ข้าพระพุทธเจ้ากับพระสารประเสริฐไม่ได้นึกเฉลียวถึงคำแปลเดิม เมื่อเปิดดูพจนานุกรมของชิลเดอร์ ก็พบคำแปลว่ากุฏิฤษี กระทำให้พระสารประเสริฐปลาดใจ แต่ยังสงสัยว่าจะแปลเป็นอย่างที่เข้าใจกันได้บ้างกระมัง จึงค้นหาดูในพจนานุกรมฉะบับอื่น พบในฉะบับของรีสเดวิดส์และสตีด นอกจากแปลว่า กุฏิฤษี มีคำแปลต่อไปว่า เขตต์ที่แวดล้อมปุระนคร (castle and its constituents) แต่เห็นจะเป็นคำมีที่ใช้น้อย เพราะอ้างที่มาของคำซึ่งใช้ในความหมายอย่างนี้แห่งเดียว

เผือน ในปทานุกรม แปลว่า ป่า คำว่า ขวัญเกี่ยงกินเผือน มีผู้แปลให้ข้าพระพุทธเจ้าฟังว่า ขวัญจะร้ายต้องไปอยู่ป่า ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยอยู่ แต่ผู้นั้นรับรองว่า ความในลิลิตเตลงพ่าย ในคำว่า เผือน แปลว่า ป่า โดยชัดทีเดียว ข้าพระพุทธเจ้าค้นยังไม่พบ ถ้า เผือน แปลว่าป่า ก็คงเป็นคำที่เลิกใช้แล้ว แต่คำว่า เผือน ในอีศานยังใช้เป็นปกติในภาษาอยู่ เช่น เผือนหาเห่ว-วอนจะตกเหว เผือนจะตาย-รนหาที่ตาย เผือนจะเสียเงิน เผือนจะเกิดเรื่อง แส่จะเสียเงิน แส่จะเกิดเรื่อง ถ้าจะเอาคำเผือน ในความหมายนี้เข้าปรับกับคำ ขวัญเกี่ยงกินเผือน ดูก็เข้ากันยังไม่ได้สนิท ข้าพระพุทธเจ้าค้น เผือน ในพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นต่างๆ ก็ไม่พบ ในคำว่า ป่า ก็ใช้อยู่แต่ว่า ดง ว่า เถื่อน เป็นปกติ ส่วนคำว่า ป่า มีบ้างในลางถิ่น แต่ลางทีมีความหมายไปในทางว่า ที่ซึ่งรก พง กอไม้ สุมทุมพุ่มไม้ ไม่สู้หมายความว่าป่าโดยตรง ในภาษาจีนมีคำว่า ปา แปลว่าที่นอกเมือง หรือที่เปลี่ยว เช่น ซัวปา แปลว่า บ้านนอก แปลตามคำว่าที่นอกเมืองมีภูเขา ความก็น่าจะได้กันกับคำว่า ป่า ในภาษาไทย เพราะที่นอกเมืองครั้งโบราณก็ต้องมีแต่ป่า แปลกที่ ป่า ในภาษาจีนคำนี้ ใช้หนังสือตัวเดียวกับ ปา ซึ่งเป็นชื่อเมืองปาของชาติไทยในสมัยโบราณ คือเมืองจุงกิง ที่รัฐบาลจีนย้ายไปตั้งเป็นเมืองหลวงอยู่ในเวลานี้ ข้าพระพุทธเจ้านึกไปในทางที่ว่า ปา ซึ่งเป็นชื่อเมืองนั้น จีนจะนําเอาไปใช้เป็นคําในภาษาขึ้น เป็นความหมายว่าเมือง บ้านนอก อย่างเดียวกับคําว่า ปิศาจ ทมิฬ มักสัน ซึ่งเดิมก็เป็นชื่อชาติ แต่นําเอาไปใช้เป็นคําสามัญในภาษาขึ้น อนึ่ง ปา คํานี้ ในภาษาจีนแปลว่า หาง ได้ด้วย ทําให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคําว่า เลขผา จะแปลว่าหางเลข ได้บ้างกระมัง แต่การเทียบคําของภาษาที่ใช้คําโดด ๆ หรือคําพยางค์เดียว อาจเป็นด้วยบังเอิญมาพ้องเสียงพ้องความกันได้ง่าย โดยคําที่เทียบกันทั้งสองไม่เกี่ยวข้องกันก็ได้

คํา ป่า ดง และ เถื่อน ข้าพระพุทธเจ้านึกไม่เห็นว่าในภาษาไทย จะผิดแปลกกันอย่างไร ดูออกจะใช้เป็นไวพจน์ปน ๆ กันไป เถื่อน ในหนังสือเก่าและตามบ้านนอกใช้กันมากกว่า ป่า แต่ในกรุงเทพฯ ใช้ ป่าา มากกว่า เถื่อน เช่น ช้างป่า ของเก่าใช้ว่าช้างเถื่อน ส่วน หมูป่า ก็เป็น ป่า ส่วนน้ำมันหมูป่า ใช้เป็นน้ำมันหมูเถื่อน หาใช้ว่าน้ำมันหมูป่าไม่ หมูป่ากับหมูเถื่อน ในกรุงเทพ ฯ มีความหมายต่างกัน หมูเถื่อน กลายเป็นหมูหนีภาษี ส่วน ปืนเถื่อน บ้านนอกลางถิ่นกลับเรียกว่า ปืนป่า แต่ ผืนเถื่อน คงคํา หาใช่ผืนป่าไม่ ส่วน ดง ไปกับ ป่า ได้ แต่เข้ากับ เถื่อน ไม่ได้ ดูเป็นทีว่า ป่า เป็นคํากลาง เป็นป่าดงก็ได้ ป่าเถื่อนก็ได้ เพราะฉะนั้นป่า จะใช้ได้กว้างกว่า ดง และ เถื่อน ป่า จะเป็นที่โปร่งหรือที่รก ดง จะหมายว่าที่ทึบมาก อย่างดงหนาด เถื่อน จะเป็นที่มีภูเขาด้วย ภาคอีศานใช้คํา เถื่อน ไปในความหมายว่า ถ้ำ แต่ในไทยถิ่นอื่นคงแปล เถื่อน ว่าป่าอย่างเดียว ที่ตรัสถึงคํา ป่า เคลื่อนความหมายมาเป็น ป่าโทนป่าถ่าน อันเป็นไปในทางว่ามาก ในคําว่า ดง ก็เป็นทํานองเดียวกัน ดูเหมือนจะเคลื่อนความหมายมาใช้กับที่ไม่ใช่ต้นไม้ก็มี ในเรื่องความหมายย้ายหรือเคลื่อนที่ ข้าพระพุทธเจ้าพบในภาษาสํสกฤตมีแปลกอยู่คำหนึ่ง ฝรั่งอธิบายว่า โคตร ความหมายเดิมแปลว่า ดอกงัว ยังใช้ความนี้อยู่ในพระเวท ทีจะหมายความถึงคนอยู่ในตระกูลเดียวกัน ก็เพราะคนเหล่านั้นเป็นพวกเดียวกัน เข้าไปอยู่ในดอกงัว เพื่อป้องกันศัตรูที่จะมาลักเอางัวไป แล้วคำตกไปอยู่ในภาษาละตินว่า Cortis แปลว่า คอกงัวเหมือนกัน ภายหลังชาวโรมันไปตั้งถี่นฐานลงในแดนไกลในอาณาจักร ได้ไปสร้างบ้านเรือนและไว้นาอยู่ ก็สร้างรั้วและป้อมขึ้นสำหรับป้องกันศัตรู เรียกว่า Curtis ซึ่งเพี้ยนไปจาก Cortis และโดยเหตุที่ Curtis ย่อมเป็นสถานที่อยู่ของชาวโรมันผู้เป็นนาย สถานที่นั้นก็เคลื่อนความหมายกลายเป็น Court แปลว่าวัง ขึ้น คำว่า Courteous Courtesy ซึ่งแปลว่า สุภาพเรียบร้อย ก็มาจากกิริยามารยาทแห่งดอกงัวนั้นเอง ตลอดจนคำว่า Courtier ข้าราชการในราชสำนัก และ to court แสดงกิริยาเอาใจด้วย ในภาษาสํสกฤต โคษุยุธควิษฎิ แปลว่า รบ ในพระเวทหมายความว่า รบระหว่างงัว และแย่งงัว โคษ แปลว่า สภา ที่ปรึกษาการบ้านเมือง ความเดิมว่าโรงงัว เพราะไปประชุมปรึกษาหารือกันในนั้น เคฺวษฺณ แปลว่า ค้นคว้า (to research) ความเดิมว่าค้นหางัว ข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบคำทางพายัพ ซึ่งพระยาราชสัมภารากรจดไว้ในสมุดไทย มีคำ ขนัน แปลไว้ว่า จุกช่อง ขนันต้นต่างแปลว่า ด่านต้นทาง สอบถามผู้รู้ภาษาทางอีศานว่า ขนัน ใช้ว่าด่านก็ได้ และว่า ขนันทัพ แปลว่า ขัดตาทัพ ความใกล้ไปทางกวดขัน ป้องกันไม่ให้เข้ามาหรือออกไป ถ้าจะเทียบกับคำว่า ขนอน ก็มีความหมายเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง แต่สู้มาจาก ขอน ในภาษาไทยใหญ่ ซึ่งแปลว่า ภาษีอากร ไม่ได้

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ