๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๔ และวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ รวมสองฉะบับไว้แล้ว พระเดชพระคุณล้นเกล้าฯ หาที่สุดมิได้

ที่ประทานคํา ปราบ บําราบ กําราบ มาเป็นเพื่อนกับคํา บน บำนน และ กํานน เป็นแนวทางทําให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดค้นต่อไปนั้น ครั้นได้คิดค้นดู กลับเป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจข้าพระพุทธเจ้าดั่งตรัส คํา บําราบ กําราบ และคํา บํานน กํานน จะมีที่มาแห่งเดียวกันหรือเป็นคนละคํา ก็ยากที่จะสันนิษฐานได้แน่ ข้าพระพุทธเจ้าวานมหาฉ่ำค้นหาคําเหล่านี้ในภาษาเขมรคงได้ผลดั่งนี้

บน แปลว่า บน บำณน แปลว่า ของที่บนไว้
บุล (บล) แปลว่า กู้ยืม บําณุล แปลว่า ทรัพย์ที่กู้ยืมเขามา
กล แปลว่า หนุน กําณล แปลว่า สิ่งสําหรับหนุน
บาน แปลว่า ได้ บํานาน (คํานี้ไม่มีใช้ในภาษาเขมร)
บัด (ไม่ค่อยใช้) แปลว่า ให้ บําหนัด แปลว่า สิ่งที่จะต้องให้
ปราบ แปลว่า ปราบ บําราบ แปลว่า ทําให้ราบ
กราบ แปลว่า กราบ $\left. \begin{array}{}\mbox{กำราบ } \\[1.4ex]\mbox{บังกราบ }\\[1.4ex]\end{array} \right\}$ แปลว่า ทําให้ราบ

เมื่อพิจารณาคําเหล่านี้ เท่าที่มหาฉ่ำจดมาให้ ก็ยังไม่เป็นทางจะสันนิษฐานได้พอ ว่าเป็นคําพวกเดียวกันหรือคนละพวก ครั้นมาถึงคําว่า กํานัล รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่ายุ่งอีกเหมือนกัน เช่น

กล แปลว่า หนุน กําณล แปลว่า สิ่งสําหรับหนุน
กัน แปลว่า ถือ $\left. \begin{array}{}\mbox{กำนัน } \\[1.4ex]\mbox{ประกัน }\\[1.4ex]\end{array} \right\}$ การถือ (พวก)
คัล แปลว่า เฝ้า คํานัล แปลว่า การเฝ้า

ข้าพระพุทธเจ้าเคยคิดผิดไปว่า นางกํานัล จะเป็น กํานัน คือนางที่ป้องกันไว้ แต่นางกํานัล ใช้ ล สกด ก็น่าจะมาจาก คํานัล นางผู้มีการเฝ้า หรือ กำณัล นางผู้เป็นสิ่งที่หนุน ครั้นมาได้อ่านเรื่อง ชาวกํานัล ศรีกํานัล ที่ทรงพระเมตตาประทานมา ก็ทําให้ความคิดเป็นไปในทางที่ว่ามาจาก กําณัล คําว่า ธารกํานัล ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้นึกเฉลียวถึงคําแปลว่า ทรงไว้ซึ่งกํานัล เพราะไม่ทราบเกล้า ฯ ถึงต้นเหตุของเรื่องรักษาราชบรรณาการ ข้าพระพุทธเจ้าดีใจเป็นที่สุด ด้วยได้คําแปลที่แท้จริงของคํานี้ กระทําให้เห็นถึงคําแปล ธารกํานัล ที่แปลว่า สาธารณ ว่าคงเป็นความหมายชะนิดย้ายที่ ในชั้นเดิมน่าจะหมายความว่า ต่อหน้าขุนธารกํานัล คือขุนธารกํานัล ได้รู้เห็นเป็นพะยานด้วยแล้ว เรื่องกลับวกไปถึงคํา บนบาน บํานาน และกํานล อีก คิดด้วยเกล้าฯ ว่า การให้ในชั้นเดิมก็มีการให้เพื่อแสดงการนับถือกลัวเกรง หรือเพื่อความช่วยเหลือคุ้มครอง การบูชาพระเจ้าด้วยวิธีบูชายัญหรือด้วยวิธีอื่น ๆ ก็เป็นการให้ การบนบาน เช่น สังเวยผีสางเทวดา ก็เป็นการให้ ผู้ที่ให้ของแก่กันก็เป็นการให้ เข้าในลักษณะข้างต้น ในชั้นเดิมการให้เหล่านี้ คงจะมีคําใช้เพียงคําเดียวหรือน้อยคํา ครั่นต่อมาเมื่อแยกลักษณะแห่งการให้เป็นไปในทางแบ่งชั้นผู้ให้ผู้รับก็มี เป็นการให้ข้างดีก็มี ข้างไม่ดีก็มี ก็เกิดเป็นลัทธิวิธีที่ให้แยกออกเป็นหลายลักษณะ คําที่ใช้ก็ต้องแยกออกเป็นหลายคํา เพื่อใช้ให้เหมาะแก่ลักษณะที่ให้ การคิดหาคําใช้ขึ้นใหม่โดยมากคงเอาคําเดิมเป็นหลักแล้วแปลงเสียงของคํานั้นๆ ให้ต่างออกไปตามลักษณะของภาษา เพื่อให้จําง่ายและเข้าใจง่าย เหตุนี้คําที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน จึงมักมีเสียงคล้ายคลึงกันด้วย ในที่นี้ก็มี บน บาน บํานาญ กํานัล กํานล บําหนัด (บําเหน็ด) สินบน ประกัน ส่วนคําว่า เซ่นสรวง สังเวย บูชา บรรณาการ อ่อนน้อม เพราะมีลักษณะที่ให้เป็นไปในทางลัทธิศาสนาหรือธรรมเนียมเป็นพิเศษออกไป คําจึงเป็นต่าง ๆ กัน ไม่เข้าพวกข้างต้น ทั้งนี้การจะผิดถูกอย่างไร ขอรับพระบารมีปกเกล้าฯ แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

เรื่องโบราณเขียน เสดจ เป็น เสดจ์ ในกฎหมายเก่า ใช้ลงทัณฑฆาตคําที่สกดด้วย จ เท่านั้น แต่ก็ไม่ทั่วไปทุกคํา เช่น กิจ ก็ไม่ได้ลงทัณฑฆาต คิดด้วยเกล้าฯว่า คงจะมีความมุ่งหมายอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าคิดยังไม่เห็น ที่ตรัสถึงคํา เช่น ขัดสมาธิ์ ศรีมหาโพธิ์ จะอ่านกันว่าอย่างไร ข้าพระพุทธเจ้าลองถามพระสารประเสริฐ ในขั้นต้นดูก็อธิบายได้คล่องดี แต่พอถึงคําเช่น ธาตุ ดังที่ตรัส ก็เลยอ้ำอึ้ง ตอบไม่ลง ที่เคยตรัสว่า การเขียนกับการอ่านเป็นคนละอย่าง เป็นเรื่องที่จับใจข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ เพราะไปบังคับให้เขียนและอ่านเป็นแม่พิมพ์เดียวกัน จึงได้เกิดมีวิสัญชนีและไม้ไต้คู้จนรุงรัง เหตุที่เป็นเช่นนี้ ว่าจะทําให้เด็กเขียนและอ่านได้ง่าย แต่ข้าพระพุทธเจ้ากลับเห็นเป็นว่า กลับเป็นเรื่องยุ่งยาก ทําให้คําที่อ่านเพี้ยนเสียงจากเดิมไปได้ในลางคํา และเปลืองเวลา เปลืองกระดาษ ถ้าต้องเขียนวิสัญชนีซ้ำมากครั้งเข้า การจะใส่เครื่องหมายบังคับ ก็เมื่อคํานั้นอาจมีความหมายให้ผู้ฟังผู้อ่านหลงผิดได้ เช่น เอน กับ เอ็น ดังที่เคยตรัสให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง แต่การที่จะให้เปลี่ยนความคิดเป็นของยากยิ่ง เว้นไว้จะได้ตรึกตรองสอบสวนค้นคว้าหาเอาเหตุผลของเก่าขึ้นมาดูเป็นความรู้รอบตัว จึงอาจเปลี่ยนความคิดได้ ข้าพระพุทธเจ้าเคยปรารภเรื่องวิสัญชนีและไม้ไต้คู้ให้พระสารประเสริฐฟัง ในชั้นต้นก็ไม่เห็นด้วย ครั้นต่อมานาน พระสารประเสริฐมาปรารภว่า ได้ไปตรึกตรองเรื่องวิสัญชนีแล้ว เห็นจริงว่า โบราณต้องการให้เป็นเสียงหนัก แต่จะทําอย่างไรดี เพราะไปบังคับให้เขียนวิสัญชนีกันทั่วบ้านทั่วเมืองเสียแล้ว จะกลับใหม่ก็ยาก รู้สึกเสียใจจริงๆ ข้าพระพุทธเจ้าก็หมดปัญญา เว้นไว้แต่จะทําให้ผู้อื่นๆอีกมากคนเปลี่ยนความคิดได้อย่างพระสารประเสริฐ

และ แหละ แหล่ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยในกระแสรับสั่งว่าเป็นคําเดียวกัน ในหนังสือเก่าก็ใช้เขียน แล อย่างเดียว ข้าพระพุทธเจ้าพบในภาษาอาหมใช้ แล เป็นคําซ้อนกับ ก็ เป็น ก็-แล แต่เขาเขียนตัวโรมันเป็น ko จึงไม่ทราบเกล้าฯ ว่า อ่านเป็น กอ หรือ ก้อ แต่ถึงจะอ่านอย่างไร เมื่อซ้อนเข้ากับ แล ก็ไม่ทําให้เข้าใจผิดความหมายได้

เรื่องอ่านเสียง ฑ เป็นเสียง ด บ้าง ท บ้าง ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยค้นหาเหตุผลมาครั้งหนึ่งก็จับเค้าไม่ได้ เสียง ฑ ที่อ่านเป็นสองอย่างนี้ เป็นข้อยืนยันในกระแสรับสั่งที่ว่าอ่านกับเขียนเป็นคนละอย่าง ในตํารานิรุกติศาสตร์ให้หลักไว้อย่างหนึ่ง เรียกว่า Analogy ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าใช้ว่า แนวเทียบ คือกล่าวว่าที่มนุษย์เรียนภาษาได้เร็ว เพราะมีแนวเทียบ เช่น เมื่ออ่าน ก กา กิ กี ถึงตัว ข ก็อ่านว่า ข ขา ขิ ขี ได้เร็ว เพราะได้เสียงใน ก กา กิ กี เป็นแนวเทียบ เขาชักตัวอย่างภาษาของชาวเกาะทะเลใต้ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะหนึ่งว่า มะพร้าว ๑ ผล ๑๐ ผล ๑๐๐ ผล ก็ใช้คําเป็นต่างๆกัน ห่างกันไกล ทําให้จําได้ยาก แต่เคราะห์ดีที่มีอยู่เพียงคําที่ยกอุทาหรณ์มาเท่านั้น มิฉะนั้นจะทําให้การเรียนภาษาต้องจดจํากันได้ยากยิ่ง แนวเทียบมีคุณแก่ภาษา เพราะทําให้จําได้ง่ายก็จริง แต่ให้โทษในภาษาไม่น้อย อาจทําให้ผู้ใช้นําหลักแนวเทียบไปใช้ในที่ผิด ๆ ก็ได้ ที่ภาษาเปลี่ยนแปลงไป ก็เพราะแนวเทียบเป็นต้นเหตุ ได้ให้ตัวอย่างเช่น cow ถ้าหลายตัวเป็น kine โดยเหตุที่คําพหูพจน์ส่วนมากเติม s พหูพจน์ของ cow ก็กลายเป็น cows ไป เกิดเป็นคําที่ถูกขึ้น ในภาษาไทยก็มีอยู่มากที่มักเขียนผิด ๆ เช่น สังเกตุ เพราะมี เกตุ เหตุ เป็นแนวเทียบ ทําให้คํา สังเกต มีสระอุไปด้วย บิณฑบาตร์ เพราะเอา บาตร์ เป็นแนวเทียบ อนุญาติ เพราะมี ญาติ เป็นแนวเทียบ คิดด้วยเกล้าฯ ว่าที่ ฑ อ่านเป็นเสียง ด ก็น่าจะเกิดจากแนวเทียบผิดอะไรกันอย่างหนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังค้นไม่พบ

อุปยุรราช เมื่อข้าพระพุทธเจ้าตรวจต้นฉะบับก่อนที่จะส่งไปตีพิมพ์ ได้เคยนึกถึงคำว่า ประยูร จึงสอบถามไปยังมหาฉ่ำ ๆ ว่าไม่เคยพบในภาษาเขมร พบแต่คำว่า อุปโยราช หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงละราชสมบัติ ความไม่ตรงกับ ประยูร ในภาษาไทย ข้าพระพุทธเจ้าจึงนิ่งไว้ ไม่ได้กราบทูลถวายไป

เรื่องไวยากรณ์ไทย ที่ตรัสว่าได้ทรงทราบว่ามีแก้เปลี่ยนอยู่เสมอ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่า ถ้าหลักใดมีหลักฐานดี ข้าพระพุทธเจ้าก็นำไปโต้เถียงกับพระยาอุปกิตศิลปสาร ซึ่งเป็นเจ้าตำรา ก็ได้ผลอยู่บ้าง ที่ต่อมาตำราไวยากรณ์ไทยได้เปลี่ยนรูปไปบ้าง เมื่อก่อนนี้ คำซ้อนที่แปลไม่ออก เช่น แมน แสง เง่า ในคำว่า แขนแมน เสื้อแสง โง่เง่า บอกว่าเป็น อุทาน สร้อยบท ที่เรียกว่า อุทาน โดยที่คำนั้นไม่ใช่อุทานเลย ก็เพราะสงเคราะห์คำเหล่านี้เข้าในนาม สรรพนาม วิเศษณ์ และอื่น ๆ ที่จำแนกไว้อย่างภาษาบาลีและภาษาฝรั่งไม่ได้ เพราะแปลไม่ออก ไม่มีความหมาย จึงกำหนดให้เข้าพวกอุทานเป็นการขอไปที ในบัดนี้ตัดคำ อุทาน ออกแล้ว คงเหลือแต่ สร้อยบท เท่านั้น ในเรื่องหลักอื่น ๆ ผู้แต่งตำราไวยากรณ์รู้สึกขึ้นแล้วว่าภาษาไทยกับภาษาฝรั่งและบาลีเป็นคนละแบบ อัดเข้าไปในแม่พิมพ์เดียวกันไม่ได้ แต่ซัดว่าของเก่าท่านทำมาอย่างนั้น ต้องค่อยแก้ค่อยไป เรื่องชื่อคำที่ทรงพระเมตตาประทานมา ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานเก็บไว้ตรึกตรองต่อไป

ยิงธนูแพ้เลี้ยง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วยในกระแสพระดำริว่า จะเป็นยิงธนูแพ้ แล้วเลี้ยงกัน

มังศรี ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งหายโง่เขลา เมื่อมาได้ทราบเกล้าฯ ว่า ศรี คือ สิริ ในภาษามลายู แปลว่า หมาก ข้าพระพุทธเจ้าควรจะทราบเกล้าฯ คำนี้ แต่ก็คิดไปไม่ถึง เพราะเป็นคำที่ถูกปรับเข้าหาภาษาสํสกฤตเสียสนิทยิ่งกว่า สตรี มาเป็น ศรี ในภาษาเขมร ส่วนคำ มาง ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามคนชาวภาคอีศานว่า มาง ที่แปลว่า เรือ ไม่มีในภาษาของเขา ที่ใช้กันอยู่มีแต่ มาง แปลว่าฆ้องชะนิดหนึ่ง เป็นคำของพวกขา ซึ่งคงตั้งคำจากเสียงของฆ้อง

กั้นหยั่น ข้าพระพุทธเจ้าได้พบหนังสือฝรั่ง ว่ามาจากภาษาเปอรเซียหรืออาหรับ เขียนเป็น Kandijan ข้าพระพุทธเจ้าค้นหาในสมุดที่จดไว้ยังไม่พบ จะได้กราบทูลไปภายหลัง

ข้าพระพุทธเจ้าพบคำว่า พระสตันทองคำ เมื่อเจ้าหน้าที่พระคลังในหยิบมาให้ข้าพระพุทธเจ้าดู ก็เป็นถ้ำชา ถามว่าทำไมจึงเรียกว่า สตัน ก็ตอบไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้ามาค้นหาในปทานุกรมก็ไม่มี เป็นอันจนเกล้าฯ ขอพระบารมีปกเกล้า ฯ เพื่อทราบคำนี้ด้วย

ในวารดิถีซึ่งเวียนมาเป็นวันขึ้นศกใหม่นี้ ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ใต้ฝ่าพระบาท ทรงพระเกษมสำราญพระกายและพระหฤทัย ตลอดกาลนาน ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ