๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๓ เมษายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

พระบรมรูปอันประทับอยู่ภายใต้พระเศวตฉัตรและพระกลดเครื่องสูง ซึ่งเปนของหอสมุด ท่านมีเมตตาจัดส่งไปให้นั้น ฉันเลือกที่พึงใจให้ช่างถ่ายจำลองออกแล้ว จึ่งได้ส่งรูปต้นคืนมาให้ท่านในบัดนี้ พร้อมทั้งความขอบใจท่านเปนอย่างยิ่งด้วย

ในโอกาสนี้ จะขอบ่นเพ้อเรื่องคำต่อไปด้วย

บรร คำนี้ ทีจะเปนนักปราชญ์บัญญัติขึ้น ด้วยคิดเห็นว่าเปนคำเดียวกับ ประ เช่น ประจุ บรรจุ เปนต้น แต่ฉันเกรงจะหลงคำ บัน ในภาษาเขมร คำ บัน นั้น เขมรใช้มากทีเดียว ที่หลุดมาถึงไทยนั้นน้อย ฉันพิจารณาเห็นความหมายว่าตรงกับคำ ทำให้ ในภาษาไทย จุ เขาว่า ลง บันจุ ก็เปนทำให้ลง ลางทีก็เขียน บัญจุ เหมือน บันจบ ลางทีก็เขียน บัญจบ นั่นเปนความคิดของนักปราชญ์ จะใช้ตัวสกดให้ต้องตามวรรคอักษร ตามความคิดอันนั้นก็มีมูล ด้วยมีตัวอย่างที่เปลี่ยนตัวสกดตามวรรคอักษรอยู่ เช่น บังคับ ก็คือ ทำให้คับ ทำให้ฝืดแน่น และ บัมบัด ทำให้หาย บัด เขาหมายความว่า หาย บัง หรือ บัม ก็เหมือนกับ บัน ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ บํ นั้นเอง

เมืองพัตบอง หรือ พระตบอง เราออกชื่อไม่ถูก เขมรเขาเรียก บัดตัมบอง หมายความว่า ไม้ท้าวหาย บัด ว่าหาย ตัมบอง ว่าไม้ท้าว ดูเหมือนชื่อนั้นจะเกี่ยวไปในนิทานเรื่อง พญาโคตรตัมบอง เมืองเสียมราฐ เขมรเขาเขียน เสียมราบ อ่านว่า เสียมเรียบ เขาว่าไทยแก้เปน เสียมราฐ ทีก็จะจริง เมื่อฉันยังหนุ่มก็เห็นในราชการใช้ว่า เสียมราบ เขาจะหมายความว่ากะไรไม่ทราบ แต่เราคงคิดว่าเขาหมายว่าไทยแพ้เขาราบที่นั่น จึงเปลี่ยนเสียเปนเสียมราฐ (คือสยามรัฐ) ออกจะไม่มีมูล ที่จริงอ่านประวัติหรือพงศาวดารก็ไม่เคยพบว่าไทยแพ้เขมรที่นั่น

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ