๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวาย เรื่อง บัวเผื่อน บัวผัน ซึ่งพระยาวินิจวนาดรจดมาให้ข้าพระพุทธเจ้ามาในซองนี้ฉะบับหนึ่ง พระยาวินิจ ฯ เดาคำ เผื่อน ว่าซีด โดยอาศัยลักษณะของบัวเผื่อนนั้นเอง ถ้าว่าโดยเสียงของคำ เผื่อน กับ เผือด ก็เป็นคำเดียวกัน ที่เดา เผื่อน ว่า ซีด ก็ใกล้กับเผือดมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

----------------------------

เรื่อง บัวเผื่อน บัวผัน ฯลฯ ที่เจ้าคุณถามมานั้น ผมขอเรียนเท่าที่ทราบดังต่อไปนี้

บัวเผื่อน และบัวผันกล่าวตามทางพฤกษศาสตรเป็นไม้ชะนิดเดียวกันคือ Nymphaea stellata ซึ่งขึ้นอยู่ชุกชุมตามทุ่งนาและหนองบึงในฤดูน้ำมาก เช่นเวลานี้ หัวกลม ๆ ขนาดใหญ่ราว ๑ นิ้ว หรือย่อมกว่านั้น สายเกลี้ยง ไม่เป็นขน ใหญ่ผ่ากลาง ๓-๖ มิลลิเมตร ใบรูปกลมรี (Oval) ยาว ๕-๗ นิ้ว กว้าง ๕-๕ นิ้ว ท้องใบสีม่วงไม่มีขน ขอบใบเรียบไม่จักหรือเป็นเพียงลูกคลื่นจาง ๆ ดอกเมื่อบานใหญ่ผ่ากลาง ๓-๔ นิ้ว ถึง ๖ นิ้วเศษ แล้วแต่ต้นเล็กต้นใหญ่ แลน้ำตื้นหรือลึก กลีบดอกบาง แคบกว่า ๑ นิ้ว ชะนิดดอกเล็กกว้างเพียงกระเบียดเศษๆ ปลายกลีบเรียวแหลม สีขาวล้วนหรือตอนปลายสีครามเรื่อ ๆ ไม่เปลี่ยนสี่ แต่โดยมากสีครามเรื่อเมื่อแรกบานแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมภู ชมภูอมม่วงเมื่อแก่จัด ดอกเริ่มบานราว ๘.๐๐ น. หุบราว ๑๖-๑๗ น. แห่งวันเดียวกัน

พันธ์ที่มีดอกขาวล้วนหรือครามเรื่อ ตอนปลายกลีบแลไม่เปลี่ยนสีนั้นเรียกกันว่าบัวเผื่อน (เผื่อน=ซีด?) ส่วนพันธุ์ที่มีดอกสีครามเรื่อ แล้วเปลี่ยนเป็นสีชมภู ฯลฯ นั้นเรียกกันว่า บัวผัน (ผัน=เปลี่ยน?) บัวเผื่อนมีน้อย โดยมากเป็นบัวผัน หัวรับประทานได้ไม่ขม สายไม่ใช้ต้มแกง แต่คงรับประทานดิบเช่นผักจิ้มปลาร้าได้

บัวสาย บัวกินสาย หรือ บัวขม ก็เรียก เป็นไม้ต่างชะนิดกับ บัวเผื่อน บัวผัน แลมีนามพฤกษศาสตรว่า Nymphaea lotus war pubescens หัวกลม ๆ ขนาดใหญ่ ๒-๓ นิ้ว สายใหญ่ผ่ากลางราวเท่านิ้วก้อย เป็นขนเล็กน้อยใบมน ๆ ใหญ่ผ่ากลาง ๖-๑๒ นิ้วเศษ ท้องใบสีเลือดหมู มีขน ขอบใบจักแหลมเป็นฟันเลื่อย ดอกสีขาว กลีบตอนนอก ๆ ชักมีสีอมชมภู กลีบใหญ่ราว ๑ นิ้ว หรือกว่านั้นบ้าง ยาวราว ๒-๓ นิ้ว ปลายทู่หรือแหลมเล็กน้อย เมื่อดอกบานใหญ่ ผ่ากลางราว ๔-๖ นิ้ว ชะนิดที่กล่าวนี้คือที่ขายกันตามตลาด

บัวซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตรเช่นเดียวกันนี้ มีบางพันธุ์ขนาดใหญ่ ดอกขาวปลอดหรือแดง ขนาดใหญ่กว่าบัวกินสาย คือเมื่อบานแล้วใหญ่ผ่ากลางตั้ง ๑๐ นิ้วก็มี ดอกขาวใหญ่เรียกกันว่า สัตบุษย์ พันธุ์ดอกแดงเรียกกันว่า สัตบัน ทั้งสองพันธุ์นี้ไม่มีเองตามธรรมชาติ คงมีแต่ที่ปลูกกันไว้ชมดอกเท่านั้น สายรับประทานได้ แต่ชักกระด้าง ไม่อร่อย

บัวสาย ฯลฯ เหล่านี้เริ่มบานตั้งแต่ ๑๘-๒๐ น. หุบราว ๑๓-๑๔ น. แห่งวันรุ่งขึ้น

พันธุ์เดิมคือ Nymphaea Lotus ชะนิดดอกขาวเป็นไม้ของอาฟริกา เป็นบัวชะนิดหนึ่ง ที่ฝรั่งเรียกว่า The Sacred Lotus of Egypt

ต้นศาล (Sal หรือ Sala) ในสังสกฤต หรือต้นไม้ใต้ร่มที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานนั้น หาใช่ต้นรังของไทยเราไม่ ต้นรังและต้นเต็งในประเทศอินเดียไม่มี คงมีแต่ในประเทศพะม่าและในแหลมอินโดจีน และในขณะเดียวกัน ในประเทศพะม่าและในแหลมอินโดจีน ก็ไม่มีต้นศาลเช่นเดียวกัน ในประเทศไทยทางจังหวัดจันทบุรี มีผู้พบต้นไม้ชะนิดหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นพันธุ์หนึ่งของ ต้นศาล แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ได้

ต้นศาล มีชื่อลาตินว่า Shorea robusta ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับต้นรัง (Pentacme Siamensis) ของไทยเรามาก ถ้าจะแปล ต้นศาล ของอินเดีย เช่น ต้นรัง ดังที่ได้เคยแปลกันมาช้านานแล้ว ถึงแม้จะไม่ถูกทีเดียว ก็ไม่ผิดไปมากนัก เพราะต้นศาลกับต้นรังคล้ายคลึงกันมากดังกล่าวแล้ว และเป็นไม้ในตระกูลเดียวกัน ตู่เรียกเอามานิดหน่อย เห็นจะไม่เป็นไร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ