๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

จะตอบหนังสือของท่าน ซึ่งลงวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒ ฉะบับนั้น

บาณบุรีย รูปอักษรใกล้ ปราณบุรี จริง แต่ปราณบุรีเปนเมืองเล็ก แสดงอยู่ในตัวว่าไม่ใช่ทำเลค้าขาย จะว่าเปนอ่าวที่จอดเรือขนสินค้าข้ามทางบกมาลงเรือที่นั้น เรือแต่ก่อนจะหามาได้แต่ละลำก็ยากเต็มที ธุรการและภูมิศาสตร์ดูขัดข้องไปหมด ไม่น่าที่เมืองปราณบุรีจะเปนเมืองบาณบุรีย (เขียน บุรี มีตัว ย เปนแบบเขมร)

มีคนเปนอันมากย่อมยึดถือหนังสือเก่า เชื่อเอาว่าเปนความจริงที่ถูกดังนั้น แต่ฉันเห็นว่าหนังสือก็คนแต่ง คนที่แต่งก็ย่อมรู้มาถูกบ้างผิดบ้าง เดาเอาตามใจคิดเห็นบ้าง จะเชื่อเอาเปนหลักฐานแน่นอนเห็นยาก ในเรื่องนี้ฉันได้พูดกับท่านมาคราวหนึ่งแล้ว ท่านก็เห็นชอบด้วย ตามคำที่นายสุดว่าด่านช้างทางทิศอีศานหมายถึงแดนที่ช้างอยู่ นั่นมาเข้ารอยทางที่ฉันเดา แดนที่ช้างอยู่มีทางไหน คนก็ไปจับช้างที่นั้นเข้ามาขายมาใช้ ทางที่พาช้างเข้ามาก็เปนเหตุให้ไปตั้งด่านตรวจช้างที่ต้นทางด้านนั้น คำว่าแดนก็แดน ดินก็ดิน ด่านก็ด่าน ไม่น่าจะเปนคำเดียวกัน

เรื่องพระคลังสินค้าและเรื่องจิ้มก้อง ตามพระดำรัสอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงนั้น ก็เข้าทางที่ฉันกล่าวไว้ในข้อเหนือขึ้นไปนี้อยู่เหมือนกัน ท่านขออนุญาตเก็บเอาความลางประการไปเขียนแต่งหนังสือนั้น ฉันให้อนุญาตหาได้ไม่ ด้วยไม่ใช่คำของฉัน เปนคำของสมเด็จกรมพระยาดำรง ฉันคัดส่งมาให้ท่านทราบฉันก็ไม่ได้ทูลขออนุญาตก่อน เปนการทำโดยละเมิดผิดอยู่แล้ว จะซ้ำถือวิสาสะให้อนุญาตแก่ท่านนั้นย่อมไม่ได้อยู่เอง

เรื่องเมืองเที่ยนจิ๋น เที่ยนสิน ได้รับคำอธิบายของท่าน เปนเรื่องออกเสียง เสียงของภาษาหนึ่งย่อมผิดกับภาษาอื่น อันจะพูดตามหรือเขียนตามไปให้ถูกทีเดียวไม่ได้อยู่เอง อย่าหาไกลไปเลย เอาแต่คำพูดของเราเอง ลางคำก็เขียนลงเปนหนังสือไม่ได้ ขืนเขียนลงไปก็อ่านไม่ออก อันหนังสือของเราก็ไม่ได้คิดขึ้นจากภาษาของเรา เอาอย่างเขมรมาเปนโครง แม้หนังสือขอมก็ไม่ได้คิดขึ้นจากภาษาเขมรเอง ไปเอาอย่างทางอินเดียเขามาอีกต่อหนึ่ง ที่เปนดังนี้มิใช่มีแต่เรากับเขมร แม้พวกฝรั่งที่ใช้ตัวโรมัน โดยมากก็เอาอย่างกันมาเหมือนกัน แต่เขาใช้ตัวไปต่างๆ กัน อ่านออกเสียงก็ต่างกัน ให้นึกสงสารคนไทยที่แปลหนังสือฝรั่ง เขียนออกเสียงดังไปต่าง ๆ กัน จนอ่านอาจสังเกตได้ว่า เปนนักเรียนสำนักไหนแปล ทุกวันนี้ดูเหมือนพยายามกันที่จะใช้ตัว ไทยให้เปนไปตามตัวฝรั่งเอาจนอ่านไม่ออกก็มี แต่ลางคำก็เอาเข้าไปตามหนังสือฝรั่งไม่ได้ ฉันติดจะเดือดร้อนอยู่เหมือนกันว่าคำฝรั่งที่จำจะต้องเขียนเปนหนังสือไทย และคำไทยที่จำจะต้องเขียนเปนหนังสือฝรั่งอยู่ลางคำก็มีอยู่บ้าง จะเขียนอย่างไรดี เคยประชุมปรึกษากันมาคราวหนึ่งแล้ว แต่ก็ดูเปนล้มไป ตกลงเปนบินกันคนละทีสองที

คำ ปสาน ของเขมร อาจเปนคำมลายูได้ คำเขมรกับคำมลายูมีพ้องกันมาก ไม่ทราบว่าเปนด้วยเหตุใด

เรื่อง โบด โบสถ์ เขียนอย่างไรนั้น ได้ฟังคำท่าน ฉันลา ไม่ประสงค์จะรู้แล้ว การเขียนหนังสือเพิ่งจะมากึกกักเขียนเอาเปนพิกัดอัตรากันขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่ก่อนก็เขียนตามใจ ใครอยากเขียนอย่างไรก็เขียนไป

เรื่องระดับเสียงฉันเห็นไม่สำคัญ ถมไปทีภาษาเขาไม่มีระดับเสียง มีคำที่เสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายต่างกันอยู่มาก ย่อมจะสังเกตได้ในคำที่ประกอบความ ชอบใจท่านที่บอกให้ทราบว่า เผือ หมายถึง ๒ คน คำ เผือ เขือ ในลิลิตพระลอใช้มากนัก แต่ก็อยู่ในที่สองคนทั้งนั้น

พู ภู พง ป่ง สับสนกันไปด้วยเหตุใด จะบอกตามความเห็นฉันก็ได้แต่มักง่าย ตรงกันข้ามกับที่ท่านอธิบายถึงฐานที่เกิดแห่งสระพยัญชน ในคำ เทียนจิ๋น และ เทียนสิน คือ ฉันเห็นว่า ก ข ค ฆ หรือ จ ฉ ช ญ เปนตัวเดียวกัน ตกเปนทั้งวรรคก็มีสองตัวเท่านั้น เขมรเปนผู้ใช้สับสนมาก่อน ตัว ด เขาไม่มี มีแต่ตัว ต เขาอ่าน ต เปน ด อ่าน ท เปน ต ตัว บ ก็ไม่มี มีแต่ ป ก็อ่าน ป เปน บ อ่าน พ เปน ป เพราะฉะนั้นถ้าจะเขียน พู ก็อ่านไปเสียว่า ปู ผิดเสียงไป จึงต้องเขียน ภู เพื่อให้ได้เสียง ไม่ใช่ไปอาศรัยทางบาลีเลย ตัวอย่างเช่น ภูล แต่แรกเราก็เขียนตามเขมร ซึ่งเขาเขียนกันดั่งนั้น แล้วก็มาคิดเห็นกันว่าผิด เขียนแก้กันไปเปน พูน เขมรเขียน พูน ไม่ได้จริง ๆ เพราะจะต้องอ่านว่า ปูน เราอ่านคนละอย่างกับเขมร แต่เวลาโน้นเขมรเขาเปนใหญ่อยู่ในทางนี้ ประเทศน้อยก็ต้องเอาอย่างประเทศใหญ่ ความสับสนในอักษรจึ่งตามมา จะเห็นได้อยู่ที่เราเขียน ปติ เปน บดี นั่นคือตามเขมร แล้วที่หลังเขมรกลับมาตามเราก็มี เช่น ทวาร แต่ก่อนเขมรเขียน ธวาร เพราะถ้าเขียน ทวาร จะกลายเปน ตวาร ต้องหันไปหาที่ใกล้เสียงอ่าน แต่เดี๋ยวนี้เขากลับเขียน ทวาร ตามแบบเมืองไทย ทนเอา คิดดูก็เห็นเปนประหลาค แต่ก่อนเขมรเขาจำเริญ อะไรๆ เราก็เอาอย่างเขมร เดี๋ยวนี้เราจำเริญขึ้นกว่าเขมร เขมรต้องหันมาเอาอย่างเรา

คำว่า สวน ที่ไขว่ามีรั้วล้อมนั้น เห็นจะเปนคำไขของประเทศที่พื้นที่ทำรั้วล้อมกันอยู่ ที่ไขว่ามีท้องร่องก็เห็นจะเปนแต่ในประเทศที่มีพื้นที่ราบต่ำ เพื่อแบ่งน้ำพูนโคกให้ต้นไม้อยู่ ที่สูงและเทเช่นเมืองหลังสวนก็ไม่ต้องขุดท้องร่อง ถ้าจะไขความเอาอย่างกำปั้นทุบดิน ที่จะเปนแห่งใดที่มีเจ้าของหวงแหน นั่นเปนสวน ถ้าแห่งใดที่ใครอยากเก็บก็เก็บเอาได้ตามชอบใจแล้ว นั่นเปนป่า

คำว่า ไร่ มีคำว่า ไม้ไล่ แหล่งไล่ อยู่ ท่านควรพิจารณาดูว่าจะเปนคำเดียวกันหรือมิใช่ ถ้าเปนคำเดียวกัน ไม้ จะหมายถึงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมีเนื้อทำอะไรได้ดอกกระมัง ถ้าเปนเช่นนั้น ไล่ ก็ตกเปนต้นไม้เล็กๆ ซึ่งไม่มีเนื้อจะทำอะไรเปนแก่นสารได้ หากเปนเช่นนั้น คำว่า สวน ก็ตกเปนที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ คำว่า ไร่ ก็ตกเปนที่ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ อนึ่ง คำว่า กง ทางเราเปนว่าขอบ เช่น กงเกวียน ก็คือขอบล้อเกวียน หมายถึงขอบพื้นที่ก็มี มีในคำโคลงศรีปราชญ์ แต่จำไว้ไม่ได้มากไปกว่า ถึงกง ถ้าตามแนวนั้นคำว่า ไร่กง จะเปนว่าขอบไร่ได้กระมัง

สี คำนี้เปนคำสำหรับโลก ขยับจะไล่ไม่จน เพราะใครนึกอะไรได้ก็เรียกไปตามชอบใจ มีมากนัก ที่ฉันบอกท่านถึง สีเบญจรงค์ ก็เพื่อจะให้รู้แม่สีตามภาษาโลก เปนเหตุให้เกิดความยินดี ที่ท่านบอกว่าข้างจีนก็มีเรียก โหงเซ้ก ๕ สีเหมือนกัน ๔ สีตรงกัน เว้นแต่สีฟ้านั้นเลเพลาดพาดไป ท่วงทีจะเปนอย่างภาษาบาลีที่ว่า นิลจะเปนสีอะไร พวกดำคล้พไปก็ได้ทั้งนั้น แต่จะทึกเอาว่าตรงกันหมดก็ได้

จะพรรณนาถึงเรื่องสี ช่างชะนิดต่าง ๆ เขายักย้ายทำไปด้วยวิธีต่างๆ สุดแต่จะเหมาะให้เปนสีไปตามภาษาโลกได้ เช่น ช่างทำผ้าเขาจะทำให้เปนสีแดง เขาใช้ฝางและแกแล แต่พวกช่างเขียนไม่ตามเพราะตามไม่ได้ เอามาเขียนไม่ขึ้น จึงต้องยักย้ายไปเอาสิ่งอื่น แต่เขาไม่เรียกว่า สี เขาเรียกว่า น้ำยา (เห็นจะมาแต่คำ กระยารงค์) ท่านมีประสงค์จะทราบคำที่ช่างเขียนเขาเรียกชื่อน้ำยา ติดจะยากแก่การพรรณนา จะเขียนบอกแต่พอได้ดังรูปที่เขียนให้ทราบต่อไปนี้ เขาเรียกชื่อไปตามธาตุแห่งสี

แม่สี ขาว เรียกฝุ่น
เหลือง เรียกรง
แดง เรียกดินแดง ชาด เสน
ขาบ (ยักเรียกเสียจาก เขียว แบบบุราณ เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด) เขาเรียก ขาบ กันก็มี เรียก คราม ก็มี
ดำ เรียก เขม่า

ทีนี้จะอธิบายให้แจ้ง อันสีขาวนั้น ทราบว่าเคยมี ๒ อย่าง คือกะบังกับฝุ่น กะบังนั้นสืบทราบว่าเปนดินขาว แต่ฉันไม่เคยเห็น เขาว่าสีมัวกว่าฝุ่น จึงสันนิษฐานว่าแต่ก่อนใช้กะบังเปนสีขาว ทีหลังได้ฝุ่นมาสีสดใสดีกว่า จึงใช้ฝุ่นเสียแทน เลิกใช้กะบัง ฝุ่นเปนของมาแต่เมืองจีน เดิมเห็นจะใช้สำหรับผัดหน้า สีเหลือง เคยเห็นของเก่ามีทาด้วยดินเหลือง จึงสันนิษฐานว่าแต่ก่อนเห็นจะใช้ดินเหลือง ครั้นรู้จักใช้รงอันจะทำให้สีเปนไปได้ตามใจ ก็เลิกดินเหลือง ใช้รงแทน สีแดง คิดว่าเดิมใช้ดินแดงอันเปนของในเมืองไทย แล้วมีดินแดงเข้ามาแต่อินเดีย เรียกว่าดินแดงเทศ เนื้อแขงกว่าดินแดงของไทย และสีก็สุกกว่า แต่หาใช้ยาก ใช้กันน้อย แล้วมี ตัวเปี๊ย เข้ามาแต่เมืองจีน สีเหมือนดินแดง แต่เนื้อเปนผงละเอียด ต่างก็ใช้ตัวเปี๊ยกันต่างดินแดง แต่ก็คงเรียกกันว่าดินแดงอยู่ตามเคย เว้นแต่ผู้รู้จึงเรียกตัวเปี๊ย แล้วมีชาดเข้ามาแต่เมืองจีน ชาด จะเปนภาษาอะไรก็ไม่ทราบ ผู้รู้เขาดูเขาบอกได้ว่าเปน ชาดจอแส และ ชาดอ้ายมุ่ย แต่ฉันเองก็ลา ช่างเขียนทั้งปวงก็เรียกกันแต่ว่า ชาด เท่านั้น และมีสีแดงอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า เสน ภาษาไรก็ไม่ทราบ มาแต่เมืองจีนเหมือนกัน ฝรั่งก็เห็นมีทาเหล็กว่ากันถนิม สีแดงกระเดียดเหลืองนิด ๆ แล้วมีสีแดงลิ้นจี่อีก นี่รู้ได้ว่าคำไทย หมายว่าสีเหมือนเปลือกลูกลิ้นจี่ เปนของมาแต่เมืองจีนชุบสำลีเปนแผ่นกลม ๆ จะใช้ต้องชักเอาสีออก เปนสีแดงเข้มอย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Carmine หรือ Crimson สีนี้ใช้แต่เขียนเส้นฮ่อ ที่หน้าโขนหน้าหุ่น ไม่ได้ใช้ทั่วไป เพราะเหตุที่ผสมเอาก็ได้ ไม่จะต้องใช้สีสำเร็จ สีขาบ เห็นเขียนฟ้ามาแต่ก่อน เปนสีครามคล้ำ ๆ เขาว่าใช้ครามก้อน ลางแห่งก็มีคนบอกว่าใช้ครามหม้อ ครามก้อน กับ ครามหม้อ จะเปนอย่างเดียวกันหรือคนละอย่างฉันก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยเห็นเนื้อครามชนิดนั้น ที่ใช้กันอยู่เดี๋ยวนี้เรียกว่า ครามฝรั่ง แต่ก็เห็นห่อมีหนังสือจีน ทำไมจึงเรียกครามฝรั่งก็ไม่ทราบ มีลักษณะเปนผงและสีสด คำว่า คราม เข้าใจว่าเปนชื่อต้นไม้ ซึ่งให้น้ำยาสีนั้นมาอีกนัยหนึ่ง เรียกกันว่า ขาบ หมายถึงสีนกคตะขาบ สีดำ เรียกกันว่าเขม่า นั้นเปนคำมาแต่เขมร เขมา เขาว่าดำ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หมึก นั่นเปนคำไทยหมายถึงน้ำดำ ซึ่งปลาหมึกพ่นออกมา แต่เรียกยักกันอยู่หน่อย ถ้าเปนผงเรียก เขม่า ถ้าทำแท่งเรียก หมึก แต่ก็ไม่แน่ เมื่อเอาน้ำยาผสมกันเรียกว่าหมึกก็มี ดังจะบอกชื่อน้ำยาผสมต่อไปนี้

รงปนฝุ่น เรียกว่า เหลืองอ่อน

ดินแดง ชาด เสน ปนด้วยฝุ่น เรียก หงดิน หงชาด หงเสน

ดินแดงปนด้วยรง เรียกว่า หงดินตัด

ครามปนด้วยฝุ่น เรียกว่า มอคราม

ครามปนด้วยรง ผสมกันอยู่แต่อย่างมีครามมาก เรียกว่า เขียวแก่

ส่วนที่เปนปานกลางนั้นใช้สีสำเร็จ เรียกว่า เขียว ถ้าปนฝุ่นอีกด้วยเรียกว่า เขียวอ่อน

ครามปนด้วยดินแดง เรียกว่า ม่วง ถ้าปนฝุ่นอีกด้วยเรียกว่า ม่วงอ่อน ชื่อหลังนี้ถีบชื่อหน้าไปให้เรียกว่า ม่วงแก่

เขม่าปนฝุ่น เรียกว่า มอหมึก

เขม่าปนรง เรียกว่า เขียวรง หรือ เขียวแก่ เหมือนกันกับอย่างผสมครามมากปนรง ต่างกันด้วยวิธีผสม เปนเกจิอาจารย์

ทางอธิบายก็มีแต่อธิบายคำ หง มาแต่คำ หงสบาท แปลว่าตีนหงส์ หมายว่าแดงอ่อน หงดิน คือดินแดงอ่อน หงชาด คือชาดอ่อน หงเสนคือ เสนอ่อน หงดินตัด คือคินแดงเจือรงให้สีอ่อน สำหรับใช้ตัดเส้นเนื้อรูปภาพพระนางที่ทาขาวและเหลืองอ่อน เขียว ซึ่งว่าปานกลางใช้สีสำเร็จนั้น เปนสีสำเร็จมาแต่เมืองจีน ผู้รู้เรียกกันว่าเขียวตั้งแชก็มี เรียกกันว่าเขียวฝรั่งก็มี ทำไมจึ่งเรียกเขียวฝรั่งก็ไม่ทราบ แต่สีสำเร็จนี้ไม่นานก็เปลี่ยนไป เขาว่าทำด้วยถนิมทองแดง โบราณไม่นับถือ ไม่ใช้ ท่านใช้อื่น เรียกกันว่าเขียวหิน เปนสีครามอมเหลืองเล็กน้อย ได้เคยหามาดู มีเนื้อคล้ายสารส้ม แต่เปนสีครามมีเมล็ดเหลือง ๆ เกาะปนอยู่ เขาว่าต้องฝนใช้ ในเวลานี้มีสีอย่างอื่น ๆ งาม ๆ เข้ามาขายอีกเปนหลายอย่าง แต่พวกช่างเขียนเขาไม่ตื่นใช้ เพราะเปนสีทำด้วยวิทยาศาสตร์ พวกสีสวรรค์ อยู่ไม่ช้ามันก็ไปสวรรค์หมด

น้ำยา ที่พวกช่างเขียนเขาใช้นั้น ละลายกันไว้เปนกะลาๆ เพราะเหตุที่ต้องใช้มาก ถ้าหากจะใช้สีอะไรแปลก ๆ ไปเล็กน้อย เขามีถ้วยเล็กๆ ควักเอาน้ำยาในกะลามาผสม แแต่ก็หามีชื่อเรียกโดยจำเพาะไม่

ฉัพพรรณรังษี ฉันเคยสืบสวน เพราะจะต้องเขียนรัศมีพระเจ้า อยู่ข้างจะมีเรื่องสนุก บาลีว่า นีล ปิต โลหิต โอทาต มเชฏฺ ปภสฺสร ดูพจนานุกรมจิลเดอส์แล้วก็ไม่พอใจ ไปทูลถามสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณเข้าอีก ท่านตรัสบอกคำ ปภสฺสร ว่ามีตัวอย่าง สุวณฺณปภสฺสร เปนแปลบปลาบเท่านั้น ฉันก็นึกได้จากสีกายพระศุกร เขาว่าสีเลื่อมประภัสสร เทียบด้วยเลื่อมปักเครื่องละคอนก็เปนแพรวพราวเท่านั้น ไม่เปนสี เห็นได้ว่าเปนคำกวี ไม่ใช่ช่างเขาจัดไว้ ส่วน โอทาต ท่านตรัสแปลว่าขาว แต่ มฺเชฏฺ นั้นท่านติด หันไปตรัสถามพระสาธุศีลสังวร (ชาวลังกา) ทูลว่าเปนเมล็ดลูกไม้อย่างหนึ่ง ตรัสถามว่าที่กุฎีมีไหม ท่านก็ทูลว่ามี จึงตรัสสั่งให้ไปเอามาดู ได้มาก็เปนเมล็ดมะกล่ำตาช้างเรานี่เอง ฉันมาวิจารณ์ดูก็นึกว่าที่ท่านกวีกล่าว ทีท่านก็จะนึกเอาดวงไฟนั่นเอง จึงขีดไม้ขีดไฟดู จึงเห็นมีสีขาบได้แก่นิลอยู่จริง แต่สีแดงออกจะไม่มี จึงคิดปรุงสีรัศมีพระเจ้าตามที่มีในหนังสือกับสีดวงไฟเจือกัน จัดให้สีกินกันได้ ชั้นในที่สุดทาครามสมมตเปนได้แก่สี นีล ถัดออกไปลงเส้นม่วง สมมตได้แก่ มฺเชฏฺ ถัดออกไปลงเส้นแดงเปน โลหิต ถัดออกไปทาเหลืองเปน ปิต ถัดออกไปทาขาวเปน โอทาต ที่สุดนอกล้อมด้วยเส้นทอง สมมตเปน ปภสฺสร จะถูกผิดจะควรหรือไม่ควรอย่างไรก็ขอไปที

เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนนี้ นายพืช มาหา ลาไปจังหวัดระนอง สนทนากันเรื่องก็ดำเนินไปถึงพลับพลาจตุรมุข ได้ความว่าที่เขาพูดนั้นตั้งใจอ้างถึงพลับพลาจตุรมุขที่วังจันทรเกษม แต่ฉันเข้าใจผิด คิดว่าพูดถึงในวังหลวงที่ร้าง จึงตอบท่านเปน ไปไหนมาสามวาสองศอก ผิดไปถนัด พลับพลาจตุรมุขที่วังจันทร์นั้นหน้าบรรพ์จะทำเปนอะไรฉันไม่ได้สังเกต แม้เปนพระราชลัญจกร ก็คงไม่มีพระราชลัญจกรมังกรเล่นแก้วอยู่ด้วย อันพระราชลัญจกรที่ทำไว้ที่หน้าบรรพ์นั้นทำนารายน์ทรงครุฑ คือ พระครุฑพ่าห์เปนพื้น ถัดไปก็เปนพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ คือ ไอยราพต นอกจากนั้นก็ไม่ค่อยเคยเห็นอะไรอีก จะมีอื่นอีกก็เปนมาแขก อันพระราชลัญจกรซึ่งทำที่หน้าบรรพ์นั้น เปนที่หมายว่าสิ่งนั้นเปนของทรงสร้าง แต่คนภายหลังไม่มีความรู้ วัดราษฎร์ทำหน้าบรรพ์เปนนารายน์ทรงครุฑก็มี นั่นคือทำผิด

เมืองระนองแปลว่าอะไร ติดจะไม่เปนภาษาคน

ข้าวย้อมสีที่พราหมณ์เขากอง ประกอบกับโรยแป้งทำภัทรบิฐนั้น ฉันสอบถามไป เขาก็เขียนแบบมาให้ ฉันจะเก็บไว้ก็เห็นไม่เปนประโยชน์ จึงได้ส่งมาให้ท่านพร้อมด้วยหนังสือนี้ เพื่อท่านจะได้เก็บรักษาไว้ สีที่ย้อมข้าวเปน ๕ สี เกือบจะลงกับเบญจรงค์ เว้นแต่สีเขียวเปนเขียวใบไม้ ไม่เปนเขียวคราม เห็นจะเปนเพราะเข้าใจผิด กับสีดำเปนสีม่วงไป อาจจะเห็นว่าดำไม่งามก็ได้ ที่จริงสีทั้ง ๒ นั้นเปนสีผสม เขียวใบไม้ก็คือครามกับเหลือง ม่วงก็คือครามกับแดง หาใช่แม่สีไม่

ข้าวย้อมสีเซ่นผีแม่ซื้อ ฉันก็ได้สืบเหมือนกัน แต่จะได้ความหรือไม่นั้นไม่แน่ ถ้าได้ความจึงจะบอกท่านมา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ