๒๓ ธันวาคม พ.ศ .๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่าน ลงวันที่ ๑๙ ธันวาคม ได้รับแล้ว

ได้ทราบความตามที่ท่านบอก ว่าเรื่องเขียนหนังสือฝรั่งเปนไทย ไทยเปนฝรั่ง ตกเปนหน้าที่ราชบัณฑิตยสถานที่จะกำหนดอยู่แล้วฉันก็พอใจ ส่วนแบบอักขรของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งท่านบอกว่าได้ส่งทางหนึ่งต่างหากนั้น ไม่ได้รับ แต่ไม่เปนไร จะตกลงเอาอย่างไร และจะได้ประกาศออกเมื่อไรนั้น ฉันไม่ติดใจ

เรื่องประเพณีทำอะไรต่างๆ เช่นการทำศพเปนต้น จะต้องจดเอาคำให้การหลายคนมาผสมกัน และเดาประกอบว่าทีเดิมจะเปนอย่างไร เพราะผู้ที่เห็นการมาก็ย่อมจะเห็นต่างคราว เมื่อประเพณีได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่นที่ได้ความว่าการชักศพทางอุบล มีพระยืนอ่านหนังสือไปท้ายตะเฆ่สองรูปนั้น ก็พอเดาได้ว่าเดิมมีพระสวดพระอภิธรรมไปบนตะเมฆ่สองร้าน แต่ทำเช่นนั้นก็ต้องเปนตะเฆ่ใหญ่ เมื่อย่นย่อทำตะเฆ่ลง ด้วยไม่มีกำลังพอ พระสวดก็ย่นลงเอาแต่ร้านละองค์ ในการที่ทำร้านไม่ได้พระจึงต้องยืน แล้วก็ส่องมาให้เห็นอีก ว่าที่เราจัดพระองค์หนึ่งขึ้นคานหาม อ่านหนังสือนำศพนั้น ก็ย่นย่อมาจากพระยืนอ่านหนังสือสองรูปนั้นเอง ตามที่ท่านว่าฝรั่งเขาจดไว้โดยที่ไต่สวนได้ไม่มีความเห็นนั้น ก็เข้าทางที่พระสารสาสน์พลชันธ์ (เยรินี) เคยแนะนำฉัน ด้วยฉันปรารภถึงพงศาวดารว่าได้ความมาใหม่ๆ แปลกๆ แต่จะแต่งขึ้นก็รู้สึกว่าไม่สิ้นสุด แกจึ่งว่าได้อะไรมาก็จดรวมไว้ แล้วภายหน้าคนเขาก็เก็บเอาความที่จดไว้ไปแต่งขึ้นได้เท่านั้นเอง จึงมาเห็นตามที่ท่านบอกว่าความแนะนำ ทั้งนี้ก็ตามทางที่ฝรั่งเขาทำกันอยู่นั้นเอง การถามประเพณีอะไรแก่ใครนั้น ฉันเคยได้ประสบแก่ตัวมาแล้ว เห็นใครที่เปนผู้ใหญ่เขาทันเห็นก็ถามเขาเพื่อรู้ แต่เขาบอกอะไรไม่ได้มากด้วยกัน เพราะเขาไม่ได้สังเกตที่จะจำ ผู้ใหญ่ที่จะบอกแก่เราได้นั้นน้อยคนนัก การเผาศพด้วยกองฟืนโต ๆ สูง ๆ จะต้องเลื่อนไปอยู่เอง เพราะบ้านเมืองศรีวิลัยขึ้น หาฟืนได้ยากเข้า ฉันลืมบอกแก่ท่านไป ฉันเคยมีคนใช้เปนชาวอุบลมาคนหนึ่ง บอกว่าการเผาศพ (ชะนิดกองฟืนโตๆ) นั้น เขามีไม้ปักขึ้นไปข่มโลงไว้ เรียกว่า ข่มเผง คำนี้เองที่เรามาพูดกันว่าข่มเหง เพราะ ผ เปน ห ได้ เช่น ผัน เปน หัน เปนต้น ที่ทำไม้ข่มเผงขึ้นก็เพื่อกันไม่ให้โลงตกลงมาเมื่อฟืนไหม้ไฟ

คำว่า ร้านม้า เมื่อวินิจฉัยตามคำก็จะต้องเปนร้านมีสี่ขา ดุจม้าเติมตะเกียงฉะนั้น เหมาะที่สุดที่จะตั้งคร่อมบนกองฟืนอย่างท่านว่า แล้วตั้งศพบนนั้น จุดไฟเผาไหม้ไปหมดสิ้นทั้งศพและโลงกับร้านม้าด้วย นี่เปนประเพณีแต่ก่อน แต่ทีหลังอาจเปลี่ยนแปลงเปนทำร้านม้าขึ้น ตั้งเชิงตะกอนเผาศพบนนั้นอย่างปิ้ง ไม่เผาร้านม้าไปเสียด้วยก็ได้ ใช้ร้านม้าเปนอย่างฐานปูนแห่งเมรุ ที่เรียกชื่อว่า เมรุ ก็ต้องมีอะไรล้อม ลักษณเดียวกับเขาพระเมรุมีเขาสัตตบริพันธ์ล้อม ถ้าไม่มีสิ่งแวดล้อม โบราณเรียกว่า โรงทึม แต่เดี๋ยวนี้ที่เผาศพไม่ว่าจะมีลักษณอย่างไรก็เรียกเมรุทั้งสิ้น

ในการส่งผ้าข้ามโลงฉันก็เคยเห็น เห็นทำกันที่ศพสามัญ ศพที่จัดอย่างพระราชทานเพลิงไม่เห็นทำ ที่เห็นนั้นเปนผ้าขาว จะเปนผ้าอะไร เอามาแต่ไหนก็หาทราบไม่ เข้าใจเอาว่าเปนผ้าที่ปิดปากโลงนั้นเอง ถ้าจะเอาแน่ต้องถามพวกสัปเหร่อ ท่านบอกว่าทางอุบลใช้ผ้าของผู้ตายปิดปากโลงนั้นเข้าทางดีอยู่มาก ผ้าคลุมหีบศพของเราแต่ก่อนก็ใช้ผ้าห่มนอนเปนพยานอยู่ คำ สัปเหร่อ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ เดาว่า คือ สัปรุส ทางเขมรอ่านออกเสียงคำที่มีตัว ส ข้างท้ายเปนวิสัญชนี เช่น สัปรุส ก็เปน สัปรุะ แล้ว รุะ อาจเปน เรอะ ไปได้โดยง่าย

ในการที่ท่านเล่าถึง ทำขวัญ ว่าเขาเอาเสื้อผ้าของเด็กผู้รับทำขวัญใส่ในพานบายศรีด้วยนั้น ทำให้นึกถึงการเวียนเทียนสมโภชในราชการ ทำอยู่เปนสองอย่าง อย่างเต็มยศเวียนเทียนห้ารอบ อย่างครึ่งยศเวียนสามรอบ อย่างครึ่งยศนั้นบายศรีเปิด อย่างเต็มยศนั้นบายศรีปิด ใช้ใบตองทั้งใบสามใบ ห่อบายศรีเปนชั้นใน แล้วเอาผ้าทอง ๆ ห่อทับชั้นนอก เมื่อเวียนเทียนไปได้สามรอบ พราหมณ์เขาก็แก้คลุมบายศรี เอาผ้าห่อใบตองเปนม้วนยาว ๆ ไปวางบนตักผู้ซึ่งได้รับทำขวัญ ฉันคิดไม่ออกว่าทำเช่นนั้นประสงค์อะไร ใบตองและผ้าที่คลุมบายศรีนั้นก็คือฝาชี แล้วเบปิดฝาชีเอาไปวางบนตักผู้ได้รับทำขวัญ จะหมายความว่ากะไร คิดไปถึงได้รับทำขวัญเมื่อเด็กๆ ผู้ใหญ่เขามาให้พรแล้วเขาก็ให้กินอาหารอันแต่งไว้ในบายศรี และแบ่งอาหารใส่ใบตองวางสี่ทิศหรือสามเหลี่ยมเซ่นผีด้วย แล้วเขาเอาใบตองบายศรีห่อผ้าไปซุกไว้ใต้หมอนที่เคยนอนอีกด้วย จึ่งเห็นว่าเปนวิธีอย่างเดียวกัน ที่เอาใบตองคลุมบายศรีก็เพราะบายศรีไม่เป็นใบตองเสียแล้ว ต้องการใบตองห่อจึงเอาใบตองมาคลุมบายศรีเปนชั้นใน แต่ผ้านั้นเอาเข้ากับผ้าของผู้ได้รับทำขวัญยังไม่ถนัด อาจที่แต่ก่อนนี้ผ้านั้นเปนของคนที่ได้รับทำขวัญก็ได้ การให้กินของในบายศรีนั้น การสมโภชในราชการพราหมณ์เขาก็ทำอยู่ แต่ย่นย่อลงเปนตักลมข้างบายศรีใส่ในลูกมะพร้าวแล้ว เอาน้ำมะพร้าวป้อนแก่ผู้ซึ่งได้รับทำขวัญสามช้อน การตักลมข้างบายศรีเปนสมมตว่าตักของกินในบายศรีใส่รวมลงในลูกมะพร้าว พราหมณ์เดี๋ยวนี้ตักแต่ลม เคยเห็นพราหมณ์แต่ก่อนเขาตักเอาขนมลางอย่าง มีทองหยิบเปนต้น ใส่ลงไปในลูกมะพร้าวพร้อมทั้งลมด้วย แสดงให้เห็นว่าที่คิดคาดนั้นไม่ผิด

การจุดตะเกียงหน้าศพ ฉันเคยคาดมาให้ท่านแล้ว ว่าฉวยอะไรได้ก็เอาอ้ายนั้นเปนการง่าย ก็มาปรากฏตามที่ท่านทราบมาใหม่ เข้ารอยกับที่ฉันคาด

สิบสองพระกำนัล ตามที่ท่านพบ ถ้าเกี่ยวกับสิบสองพระคลัง กำนัลนั้นก็เปนผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิง เข้ารูปกับที่ฉันบอกท่านถึงกำนัลพระแสง ที่เก็บพระแสงก็เปนคลังอันหนึ่ง คลังแสงนั้นแยกเปนสอง ที่เก็บอาวุธดีๆ พวกพระแสงตั้งอยู่ในพระราชวัง เรียกว่าคลังแสงใน ขึ้นกรมวัง ส่วนอาวุธเกนจ่ายนั้นเก็บไว้นอกพระราชวัง เรียกว่าคลังแสงสรรพยุธ ขึ้นกรมกลาโหม

ชื่อเมืองอุทุมพรพิสัย ทูลถามไปที่สมเด็จกรมพระยาดำรง ตรัสบอกว่า ยกบ้านกันตวดกับบ้านห้วยอุทุมพรขึ้นเปนเมือง มีความปรากฏอยู่ใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖ หรือชื่อบ้านห้วยอุทุมพรจะเปนเขียนแต่งเสียแล้ว ไม่ตรงตามที่คนออกเสียงเรียกกันก็ไม่ทราบ ถ้าตรงตามนั้นก็เปนอันตรงกับชื่อเมือง ไม่มีทางลัดแลง ส่วนเมืองนองนั้นทรงจำได้ว่าเปนชื่อเมืองขึ้นแห่งเมืองหลวงพระบาง ตรัสว่าบรรดาชื่อเมืองแถบเหนือกับทั้งทำเนียบชื่อเจ้าเมือง ได้ทรงจัดการให้ตีพิมพ์ไว้ มีฉบับอยู่ที่หอสมุดหรือไม่ ถ้ามีท่านจะกรุณาให้ฉันดูสักที จะขอบใจท่านเปนอย่างยิ่ง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ