๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ทรงพระเมตตาตรัสอธิบายเรื่องทำศพหลายประการ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับไว้แล้ว รู้สึกในพระเมตตากรุณาล้นเกล้าฯ เป็นสุดซึ้ง ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบเกล้า ฯ เรื่องที่คิดไม่เห็นอยู่มากแห่ง ลางแห่งผิดพลาดไป เพราะรู้เท่าไม่ถึง ก็ได้มาทราบเกล้า ฯ ขึ้น นับว่าลายพระหัตถ์ฉะบับนี้ มีคุณค่าแห่งความรู้เป็นที่สุด ข้าพระพุทธเจ้าอ่านลายพระหัตถ์ซ้ำหลายหน เพื่อไม่ให้ลืม และใช้เป็นแนวทางพิจารณาค้นคว้าต่อไป

๑. ชะมัด ข้าพระพุทธเจ้าใช้ด้วยหลงผิด ที่ถูกควรเป็น ชะงัด ชะมัด คงมีแต่ภาษาปาก สังเกตดูจะไปทางเก่งทางสามารถ รูปคำคล้ายกับ สมรรถ มาก ส่วน ชะงัด เป็นไปทางขลังศักดิ์สิทธิ์

๒. เสียงหอนของพวกหอดเตนโตด ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในพระวิจารณที่ตรัสว่า จะเป็นสวดอะไรอย่างหนึ่ง

๓. หาปลาภ พิมพ์ผิด ข้าพระพุทธเจ้าต้องการเขียนว่า หายลาภ

๔. เรื่องแมว เป็นความรู้แก่ข้าพระพุทธเจ้ามาก แมวคราว ที่ถูกควรจะเป็น แมวเครา ดั่งตรัส สระอะและสระอาในคำไทย หนังสือไทยถิ่นอื่นเขียนเป็นอย่างเดียวกัน จะออกเป็นเสียงสั้นยาวก็เมื่อเวลาอ่านหรือพูด เพราะฉะนั้น เครา กับ คราว ก็คงเป็นไปในเรื่องออกเสียง อย่างเดียวกับคำว่า เข้า กับ ข้าว เลา กับ ลาว เรื่องฆ่าแมวเท่ากับฆ่าพระ คงได้ความว่ามีเปรียบทั้งพระและเณร คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า พระมากกว่าเณร เพราะเทียบกับพราหมณ์ได้ ลางทีอาจเกิดจากเกรงใจว่าพระหนักไป ก็เปลี่ยนเป็นเณร เพื่อให้เบาลง

๕. ใบไม้ต้มสำหรับอาบน้ำศพ ข้าพระพุทธเจ้าติดใจด้วยเรื่องใบหนาด ว่าทำไมจึงกันผีได้ ทางอีศานก็ใช้ใบหนาดและใบมะเขือผูกเป็นประตูป่า และถือว่าใบหนาดกันผีได้ หรือจะเนื่องมาจากคติอินเดีย ข้าพระพุทธเจ้ากำลังสืบหาอยู่ว่า ใบหนาดมีอยู่ในอินเดียหรือไม่ และเรียกชื่อว่าอะไร ยิงปืนไล่ผีในพิธีตรุส ใช้ใบหนาด ใบสาบแร้ง ใบสาบกา เป็นหมอน ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบเกล้า ฯ จากพระอธิบาย

๖. การทาขมิ้น ข้าพระพุทธเจ้าค้นดูเรื่องทางอินเดีย ได้ความว่าในพิธีบูชายัญ ต้องใช้น้ำมันและขมิ้นขัดถูผู้ที่จะถูกบูชายัญเสียก่อน แล้วจึงให้อาบน้ำและเอาเนยแขก (ฆี) ทาตัวอีกที หญิงที่ขึ้นสาวต้องเข้าพิธีมีการขัดถูด้วยน้ำมันและขมิ้น เรียกว่า หริทรา ในพิธีแต่งงานและพิธีศพก็ใช้หริทราเช่นเดียวกัน เป็นอันว่าขมิ้น มีใช้อยู่ในพิธีของอินเดีย กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความเห็นใหม่ว่า การทาขมิ้นจะติดเนื่องมาทางอินเดียก็ได้ สืบประเพณีทางอีศานก็ว่าใช้ขมิ้นในการอาบน้ำศพเหมือนกัน และเรียกว่า ขี้มีน ไทยใหญ่ก็เรียกอย่างเดียวกัน หาได้เรียกว่าขมิ้นไม่ ขมิ้นคงเป็นของรักษาผิวของชาวอินเดียคู่กับน้ำมัน ถ้าว่าได้แบบอย่างมาจากอินเดีย ทำไมจึงไม่ใช้น้ำมันด้วย เรื่องไทยนิยมผิวสีเหลือง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องด้วย ส่วนจีนและไทยอื่นจะนิยมอย่างเดียวกันหรือไม่ ข้าพระพุทธเจ้าเคยสืบสาวเรื่องความงามของผู้หญิงในชาติต่างๆ ว่าเขาคิดเห็นกันมาอย่างไร อะไร ๆ ข้าพระพุทธเจ้าก็สอบถามเขาได้ แต่ไม่ได้นึกถึงเรื่องผิวเนื้อนี้เลย เรื่องแขกใช้น้ำมันขัดถูตัว ข้าพระพุทธเจ้าเคยถามพวกแขกกลิง อธิบายว่า ถ้าใช้น้ำมันขัดถูตัวและผึ่งแดดแล้วทาอีกและผึ่งแดดอีกครบ ๓ หน จะป้องกันความร้อนได้ จะทำให้ผิวหนังเย็นสบาย มีผิวเนื้องามและอ่อนนุ่ม หายขัดยอกตามข้อต่าง ๆ ในตัว ดูก็มีมูลอยู่บ้าง เพราะยาแก้บวมแก้ขัดยอกก็มักใช้น้ำมันยาขัดสี เทวรูปในเทวาลัยพวกกลิง ถนนสีลม ก็มีการอาบน้ำมันเสมอ เรื่องทาน้ำมันออกจะมีมากชาติ ในพิธีของบาดหลวงและของยิว ก็มีการเจิมด้วยน้ำมันเหมือนกัน ซึ่งคงเลือนมาจากทาน้ำมัน พวกเปอร์เซียน กรีก โรมัน ก็มีขัดสีผิวเนื้อด้วยน้ำมันปนปรุงด้วยของหอม พวกแอฟริกาหลายพวกก็ใช้น้ำมันขัดตัว แล้วลงฝุ่นสีแดง ลางพวกก็เติมชะมดด้วย เพื่อให้มีกลิ่นหอม การทาน้ำมันเดิมคงจะมุ่งหมายแต่งและรักษาผิวเนื้อ เป็นเรื่องทำร่างกายให้สะอาด ให้งดงามเป็นเงามัน ทั้งจะใช้สิ่งอื่นทา เช่น ฝุ่นหรือผงหอมสีต่างๆ ก็ติดตัวได้ง่าย เหตุนี้ชาติต่าง ๆ ที่ยังล้าหลังต่อความเจริญ เช่นชาวแอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย และชาวเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่ออาบน้ำศพแล้ว ก็ใช้น้ำมันขัดถู เรื่องทาขมิ้น คิดด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นอย่างเดียวกัน แต่ทำไมจึงไม่ใช้ทาน้ำมันด้วย ข้าพระพุทธเจ้าคิดไปไม่ตลอด

๗. ข้าพระพุทธเจ้าเขียนไว้ว่า สมเด็จกรมพระยา ตกพระนามไป

๘. เรื่องรดน้ำ ข้าพระพุทธเจ้าพบเรื่องอาบน้ำสงกรานต์ของอินเดียว่า ในสมัยพระเวท พราหมณ์ก่อนเข้าพิธีต้องอาบน้ำแล้วเจิมด้วยน้ำมันหรือน้ำมันเนย เห็นจะตรงกับ กระสุทธ ที่มีกล่าวไว้ในพิธีพราหมณ์ของไทย ในหนังสือเรื่องนั้นกล่าวต่อไปว่า ในวันแรกของสงกรานต์ เป็นประเพณีที่ทุกคนจะต้องอาบน้ำและเอาน้ำมันขัดสีร่างกาย เข้าลักษณะการอาบน้ำสงกรานต์ของไทยที่ตรัสเล่า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าค้นหาเรื่องนื้อยู่ ไปพบเรื่องการเจิมเพื่อเป็นสิริมงคล ข้าพระพุทธเจ้าเคยเห็นเขาเจิมบานประตูหน้าต่างคลอดจนหีบปัด แต่การเจิมนั้นเป็น ๑-๒ และ ๓ จุด ซ้อนกันเป็น ๓ แถว รูปพระเจดีย์ แต่ที่เป็น ๔ เป็น ๕ ก็มี ถามใครว่าทำไมจึงมี ๓ ๔ ๕ และเจิมทำไม ก็ไม่ได้รับตอบเป็นที่พอใจ สอบถามพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ก็ว่าประเพณีอินเดีย ถ้าเป็นของใหม่ กลัวผีจะเอาไป จึงต้องเจิมเพื่อให้มีมลทินเป็นตำหนิเสีย ผีจะได้รังเกียจ เรื่องไม่สู้เข้ากับที่เข้าใจกันเป็นสามัญว่า เจิมเพื่อเป็นมงคล จนมาได้พบเรื่องที่ฝรั่งอธิบายไว้ว่า ชาวฮินดู เมื่อก่อรากตึก ก็จัดไม้แผ่น ๑ เรียกว่า คังกุ เอามาเจิมด้วยน้ำมันจันทน์ เพื่ออัญเชิญวาสตุบุรุษเทพประจำบ้าน ให้มาสิงสถิตย์อยู่ เมื่อถึงตอนยกประตูใหญ่ของเรือน เจิมที่ไม้อีกครั้งหนึ่ง เวลายกอกไก่ก็เจิมเหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เรือนฝากระดาน ก็คงเหมือนมีการเจิมที่เสาและประตู ในเรื่องว่าด้วยอภิเศก เขาให้ลักษณะอภิเศกของพระเจ้าแผ่นดินไว้ ๓ อย่าง คือ อภิเศก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทั่วไป ปูรณาภิเศก สำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่สูงกว่า และมหาภิเศก สำหรับจักรพรรดิ เรื่องเจิมและอภิเศก คิดด้วยเกล้า ฯ ว่าจะย่อมาจากการอาบน้ำ ทาน้ำมันและทาสิ่งปนปรุงอื่นที่เป็นยารักษาผิวและมีกลิ่นหอมให้เกิดสิริมงคล

๙. คาถา ยนฺตํ สนตํ วิกลึงคเล ข้าพระพุทธเจ้าสอบถามผู้รู้เสกเป่าว่า วิกลึง ที่ถูกเป็น วิกรึง ดั่งตรัส และว่าใช้สำหรับชักยันตร์ได้ทุกอย่าง

๑๐. เรื่องมัดศพ ข้าพระพุทธเจ้าได้ความว่า ประเพณีชาวชนบทและชาวอีศาน จะมัดเมื่อเวลาจะเผา ถ้าศพตายร้ายไม่มัด เวลายกศพลงเรือน ตอนนี้ยังไม่มัด คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า การเผาศพชาวชนบท ย่อมทำกันในเร็ววัน คือ เผากันทั้งสด ๆ จึงต้องมัดเพื่อเผาได้สดวก แต่เมื่อเชือกถูกไฟก็ขาด ดูจะไม่ได้ประโยชน์ในการมัดนัก ถ้าแต่ก่อนไม่ได้เก็บศพไว้นาน การมัดเพื่อกันโลงแตกก็ไม่สู้จำเป็น จะว่ามัดเพื่อกันผีมารังควานอย่างฝรั่งว่า แต่ทำไมศพตายร้าย ซึ่งควรจะมัดก็ไม่มัด ดูก็แปลกมาก

๑๑. ตราสัง ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงคำ แมวเครา แมวคราว ว่าเสียงสั้นยาวถือเป็นกำหนดแน่ไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น สัง อาจเป็น สาง ได้บ้างกระมัง เพราะ สาง ก็แปลว่าผี เหมนสาง ก็เหม็นกลิ่นผีที่ติดมา สาง ก็มีอยู่ในคำของชาวอีศาน แปลว่าผี ในภาษาอาหม สาง แปลว่า เทวดาและผี และถ้าเปลี่ยนตัวสกดของ สาง เป็น ก วรรคเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะของภาษาไทย ก็ได้คำว่า ซาก เพราะฉะนั้น ตราสัง ก็คือตรึงหรือมัดซากผี ที่ สางเสียงหดสั้นเป็น สัง ก็จะเนื่องด้วยคำสองพยางค์ เสียงยาวด้วยกัน เสียงหนึ่งในคำนั้น เวลาพูด ย่อมจะสั้นกว่าอีกเสียงหนึ่งเป็นธรรมดา ทั้งนี้จะถูกผิดสถานไร ขอรับพระบารมีปกเกล้าฯเป็นที่พึ่ง แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

๑๒. เรื่องแต่งศพนั่ง ซึ่งประทานคำว่า ศุกรัม และ พันธนัม มาด้วยนั้น กระทำให้ข้าพระพุทธเจ้าคิดเดาไปว่า ประเพณีแต่งศพจะมาทางชาติทราวิฑ ชาวใต้ของอินเดีย เพราะคำว่า ศุกรัม และ พันธนัม นี้ พระสารประเสริฐบอกข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นรูปคำในปฐมาวิภัติ ตามปกติภาษาบาลีและสํสกฤตที่ไทยนำมาใช้ ย่อมนำแต่คำที่ประกอบศัพท์เป็นตัวตั้งเท่านั้น เช่น ในที่นี้ก็จะเป็น ศุกร และ พันธน์ คำ พันธนัม เป็นรูปศัพท์ประกอบแล้ว แต่ ศุกรัม ถ้าแปลว่าขาวก็ถือได้ว่า เป็นคำประกอบรูปศัพท์ได้ แต่ ศุกรัม นี้ ผู้รู้ยังค้นหากันไม่พบว่าแปลว่าอะไร จนในหมายรับสั่งลางทีก็เขียนว่า สุกรรม ก็มี เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้ความเช่นนี้ ก็นึกถึงภาษาทมิฬว่า คำที่เป็น นปุงสกลึงค์ ในภาษาทมิฬย่อมลงปัจจัยว่า อัม เพราะฉะนั้น ศุกรัม และ พันธนัม จะมาทางทมิฬได้บ้างกระมัง เครื่อง ศุกรัม หากจะมีเครื่องแต่งพระศพหลายอย่างก็ดี ส่วนใหญ่คงจะหมายถึงผ้าขาว ส่วน พันธนัม คงหมายถึงเชือกผูกมัด ข้าพระพุทธเจ้าเดาความดังนี้ เรื่องจึงมีต่อไปว่า ชาวทราวิฑใช้วิธีแต่งศพนั่งหรือไม่ ที่ข้าพระพุทธเจ้ากล่าวไว้ในเรื่องทำศพว่า พราหมณ์ในอินเดียตอนใต้ใช้มักศพในท่านั่งนั้น บัดนี้ได้พบอีกพวกหนึ่ง ว่าพวกอินเดียนิกายลิงคายัต นับถือพระศิวะ มีวิธีฝังศพในท่านั่ง หันหน้าไปทิศเหนือ ยกเว้นคนโสด ถ้าตายก็ฝังนอน จะฝังนั่งไม่ได้ คนเจ็บจวนตาย มีพิธีให้อาบน้ำและกินน้ำมนตร์ เรียกว่าพิธี วิภูติเวไล เมื่อตายแล้วเอาศพนั่งไปในเก้าอี้ไม้ไผ่ เรียกว่า วิมาน นำไปสู่ป่าช้า ฝังตั้งตรงในหลุมขุดลึก ๙ ฟิต พวกนิกายลิงคายัตมีหมดด้วยกันสามล้านคนเศษ มีมากในตอนใต้ของอินเดีย และเป็นคนเชื้อชาติทราวิฑเป็นส่วนมาก หาใช่มีเชื้อชาติอริยกะไม่ ในหนังสือว่าด้วยแหลมมลายู เรื่องหนึ่งว่า พราหมณ์ขาวในพัทลุงก็ฝังนั่ง พราหมณ์พัทลุงนี้อาจเป็นพราหมณ์มีเชื้อสายมาทางภาคใต้ของอินเดียด้วย ตามที่กราบทูลมานี้เพียงมีเค้าให้สืบสาวประเพณีอินเดียตอนใต้ต่อไปเท่านั้น

๑๓. ชาวปักษ์ใต้เรียกทิศเหนือว่าหัวนอน และ เรื่องมอญร้องไห้ข้าพระพุทธเจ้าลืมสนิท พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ ที่ทรงทักให้สติข้าพระพุทธเจ้า ประเพณีมอญร้องไห้ อ้างเอาต้นเหตุมาแค่ครั้งพระพุทธเจ้านิพพาน ตอนเมื่อพระพุทธเจ้าทรงปาฏิหาริย์ ให้พระบาทออกมานอกโลง เพื่อให้พระมหากัสสปบูชา ฝ่ายพุทธบริษัทที่ยังไม่สำเร็จ ร้องไห้กันระงม จึงสืบเป็นประเพณีมา เมื่อบิดามารดาและครูบาอาจารย์ถึงแก่ความตายไป ลูกหลานและศิษย์ต้องไปร้องไห้แสดงกตัญญู เกิดมีการร้องไห้ ซึ่งมีผู้รับจ้างขึ้นเป็นพิเศษ เพราะไม่ร้องไห้รำพันโหยหวน ก็ถือว่าไม่กตัญญู

๑๔. เรื่องสวดและเรื่องทำบุญ ๗ วัน ของข้าพระพุทธเจ้าสับสนผิดหมด ถ้าไม่ทรงพระเมตตาทักขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่รู้สึกว่าผิด เพราะเห็นเป็นเรื่องง่ายไป ก็ผิดได้ง่าย

๑๕. เรื่องคาดเสื้อครุย ข้าพระพุทธเจ้าเพิ่งทราบเกล้า ฯ จากพระอธิบายในคราวนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นบาดหลวงจะทำพิธีอะไรในลัทธิก็สวมเสื้อแบบเป็นชะนิดเสื้อยาว เสื้อครุยที่ใช้สวมในพิธีก็คงมีความหมายในลักษณะเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยพบหนังสือใดที่ว่าด้วยต้นเหตุเรื่องสวมครุยในพิธี

๑๖. สัมหา ควรเขียนเป็น สำมหา และน่าจะมาแต่คำ สำ + มหา ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในพระดำรินี้

๑๗. ถ่านเถ้า ควรเขียนเป็น ถ่านเท่า เพราะมีคำสีเทา ขี้เท่า เป็นเครื่องเทียบอยู่ ข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นถูกแน่ดังกระแสพระดำริ

๑๘. เวียนซ้าย ข้าพระพุทธเจ้าเขียนผิด เพราะไปนึกถึงข้างซ้ายของตัวเอง ในขณะที่เวียนขวา เป็นแบบเดียวกับคำบอกว่า ให้อ้อมซ้าย ในเสาโคมของตำรวจจราจร ซึ่งรถจะต้องเลี้ยวให้ข้างทางขวาเสมอ

๑๙. การเผาศพ ข้าพระพุทธเจ้านึกไม่ออกว่า ฟืนหายไปไหน เพิ่งมาสว่างเมื่อตรัสอธิบายมาว่า หดไปรวมอยู่กับดอกไม้จันทน์

๒๐. เรื่องแปรรูป แจงรูป และเรื่องโบราณไม่ได้เก็บอัฐิไว้ในบ้าน ข้าพระพุทธเจ้าก็เพิ่งได้ทราบเกล้า ฯ คราวนี้เอง

ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบารมีปกเกล้า ฯ เก็บเอาข้อความต่างๆ ที่ทรงพระเมตตาตรัสมาในลายพระหัตถ์ฉะบับนี้ ลงในเรื่องทำศพของข้าพระพุทธเจ้า การจะควรสถานไร พระอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ