๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ทรงพระเมตตาตรัสประทานข้อความรู้หลายอย่าง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เคยทราบเกล้า ฯ ทั้งนี้พระเดชพระคุณล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

ในพจนานุกรมภาษามอญ-ไทย มีคำว่า ป้าด แปลว่า ระนาด (ฉะบับภาษาอังกฤษของหมอฮัลลิเด ว่าเครื่องดนตรี) บ้านโกนจอก ว่ากลองวง (ฉะบับภาษาอังกฤษของหมอฮัลลิเดว่า ฆ้องวง เห็นจะถูกเพราะกลอง มอญว่า พอม) ป้าดเกีย ว่า ระนาดแก้ว ป้าดตลา ว่า ระนาคนางหง ป้าดเม่ะสอนสาด ว่าระนาด ๕ อย่าง (ในฉะบับของหมอฮัลลิเดว่า มีกลองหน้าเดียว กลองสองหน้า กลองหนังทั้งตัว ไม่ทราบเกล้า ฯ ว่ากลองชะนิดอะไร เครื่องเป่าและเครื่องตี) ป้าดเวิง ว่าระนาดวง ป้าดลาด ว่า ระนาดทองเหลือง ตามคำแปลเหล่านี้ คำป้าดในภาษามอญ น่าจะหมายถึงเครื่องดนตรีทั่วไป ในฉะบับของหมอฮัลลิเดว่า ป้าด มาแต่ วาทย ในสํสกฤต ข้าพระพุทธเจ้าเปิดดูคำว่า วาท ในพจนานุกรมสํสกฤตเป็นอังกฤษว่า ทำให้เกิดหรือเล่น เช่นเครื่องดนตรี ในพจนานุกรมศัพทศาสตรว่า วาทย หมายความถึงเครื่องดนตรีก็ได้ เปนอันแน่ว่า พาทย มาจากสํสกฤต แปลว่า เครื่องดนตรี แต่แปลกที่ของไทย ตามที่เข้าใจกันสามัญเรียก พาทย์ แต่เครื่องระนาด ส่วนของมอญตามตัวอย่างข้างบนนี้ใช้ ป้าด เรียกประกอบกับเครื่องดนตรีต่าง ๆ ได้ นอกจากเครื่องสาย

ข้าพระพุทธเจ้าพบเรื่องแต่งศพนั่งของอินเดียในหนังสืออังกฤษเล่มหนึ่ง ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้คัดตัวอังกฤษและคำแปลเป็นภาษาไทยถวายมาในที่นี้ด้วย

Of another form of burial that in a crouched or sitting position India supplied many examples. It has been supposed to symbolise the prenatal position in the womb, or more probably it is a survial of the binding of the corpse to prevent the ghost from walking. In later times it seems to have been regarded as honorific the chief being buried in the posture he occupies at the tribal fire, or the ascetic teacher as he addresses his pupils. Crooke’s page 129.

วิธีฝังอีกอย่างหนึ่ง มีตัวอย่างในประเทศอินเดียอยู่มาก คือให้ศพอยู่ในท่าคู้เข่าหรือในท่านั่ง เข้าใจกันว่า ที่ให้ศพอยู่ในท่าเช่นนั้น เป็นมีความหมายเหมือนกับท่าของทารกที่อยู่ในอุทร หรือลางทียิ่งกว่านี้ จะเป็นประเพณีที่เหลือสืบมาจากเรื่องมัดศพเพื่อไม่ให้เดินมาได้ ในกาลต่อมารุ่นหลัง ดูเหมือนจะถือว่าเป็นเกียรติยศที่จัดฝังผู้เป็นหัวหน้าในท่านั่ง เป็นอย่างนั่งอยู่ ณ ในพิธีกองกูณฑของโคตรชาติ หรือจัดฝังผู้เป็นอาจารย์นักบวชเป็นอย่างนั่งสอนศิษย์

ข้อความนี้ เป็นได้เพิ่มเติมขึ้นว่า การแต่งศพนั่งแก่ผู้เป็นประมุขของหมู่ในอินเดียก็มี แต่เป็นของรุ่นหลัง น่าเสียดายที่ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวอะไรให้มากไปกว่านี้ เป็นแต่หมายเหตุให้ไปดูหนังสือ Primitive Rites of Disposal of The Dead With Special Refernce to India by W. Crooke และในเรื่อง Journal of Anthropological Institute เล่มที่ ๒๙ หน้า ๒๗๑ ซึ่งที่หอสมุดไม่มี เป็นอันได้ความว่าประเพณีแต่งศพนั่งที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ ใกล้เข้ามาทางของไทยอีกทางหนึ่ง เพราะใช้แต่งแก่ศพผู้เปนประมุขและเพื่อเป็นเกียรติยศและเป็นประเพณีที่เกิดรุ่นหลัง

พระยาเทวาธิราชบอกข้าพระพุทธเจ้าว่า ในพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา ตอนอิเหนามาเยี่ยมศพพระอัยกา มีกล่าวถึงทักษิณพระศพ ข้าพระพุทธเจ้าพลิกดูเรื่องอิเหนาตอนที่กล่าวนี้ ก็พบกล่าวถึงคำว่าทักษิณศพอยู่ ๕-๖ แห่ง คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า คนเป็นเวียนศพซึ่งเป็นประธาน เวียนขวาเห็นจะถูกต้อง เพราะเป็นการเวียนให้เกียรติยศแก่สิ่งที่เป็นประธาน ส่วนชักศพเวียนเชิงตะกอนเป็นเวียนซ้าย ให้กลับกับของคนเป็น แต่ไฉนเวียนสามหาบจึงเวียนซ้าย เพราะในการเวียนครั้งนี้ เป็นการเวียนให้เกียรติยศแก่อัฐิธาตุซึ่งเป็นประธานในการเวียน

เมื่อเช้าวันที่ ๒๒ มีพิธีหล่อพระพุทธสิหิงค์จำลองที่สนามพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ข้าพระพุทธเจ้าดูเครื่องบัตรพลีที่เขาตั้งสังเวยไว้บนสานเพียงตา มีอยู่สองสาน เป็นของโหรที่หนึ่ง ของช่างหล่อที่หนึ่ง ของโหรมีบายศรีปากชาม กรวยกลางใส่ข้าวสุกปากหม้อหยิบมือหนึ่ง ยอดเสียบฟองไข่ เป็ดต้มสุกแล้ว นอกนั้นมีบายศรีนมแมว ๓ อัน บนยอดเสียบดอกมลิและมีรูปแมงดา ๓ ใบ และมีกล้วยน้ำวางไว้ผลหนึ่ง ข้าง ๆ ชามบายศรีมีมะพร้าวอ่อนผลหนึ่งเฉือนเปลือกนอกแต่ไม่เฉาะปาก มีกล้วยน้ำใส่พานหวี ๑ กับธูปและเทียน สิ่งเหล่านี้ตั้งไว้ชั้นบนของสานเพียงตา ส่วนชั้นล่างเป็นถาดใส่หัวหมูต้มสุกแล้ว พร้อมทั้งหางและขาสับเป็นท่อนๆ วางไว้ด้วย และมีพริกแดงประดับ ส่วนของช่างหล่อ เอาหัวหมูใส่ถาดวางไว้ชั้นบนของสาน ส่วนชั้นล่างวางบายศรีปากชาม เป็นการกลับกัน มีผิดกับของโหรที่มีกล้วยน้ำบิเป็นสามชิ้นใส่ไว้ในชามบายศรีด้วย ส่วนกล้วยน้ำทั้งหวีไม่มี แต่มะพร้าวอ่อนเฉือนเปลือกนอกและเฉาะปาก นอกนี้มีขันน้ำมนต์ติดเทียนและธูป มีธูปห่อหนึ่ง เหตุที่วางถาดหัวหมูผิดชั้นกัน เห็นจะเป็นเพราะขนาดถาดของช่างหล่อโตกว่าที่จะวางได้บนชั้นล่างได้สะดวก จึงได้เอายักเอาไว้ชั้นบนเสีย ตามที่ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้า ฯ มา ในชามบายศรีมีแตงกวาสามชิ้น กล้วยน้ำสามชิ้น แต่ที่ทำครั้งนี้ แตงกวาไม่มี กล้วยน้ำก็เอาวางไว้ทั้งผลหรือบิออกเป็นสามก้อน เห็นจะเป็นการทำเลือนไปเสียแล้ว ทำไมจึงต้องมีกล้วยน้ำและแตงกวา คิดด้วยเกล้า ฯ ก็ไม่เห็นเหตุ เพราะแตงกวาและกล้วยน้ำก็ไม่ใช่เป็นอาหารตามปกติของไทย หรือเดิมจะเปนกล้วยน้ำว้า แต่ตกคำว่า ว้า เสีย จึงเหลือแต่กล้วยน้ำ ก็เข้าใจไปว่าเป็นกล้วยน้ำไทย ส่วนหัวหมู โหรบอกข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นของที่พราหมณ์ชอบ ซึ่งเป็นอธิบายขอไปที อย่างเดียวกับที่มีผู้อธิบายไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องหัวหมูบายศรี ว่าหัวหมูเป็นของประเสริฐ เปรียบเทียบด้วยพระอมตธรรมหรืออะไรอย่างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นเหลวไหลจึงไม่ได้เอาใจใส่กับคำอธิบายเหล่านั้น คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า การพลีด้วยหัวหมูจะย่อมาจากหมูทั้งตัว จึงได้มีหางและขาไว้ด้วย อาจเป็นประเพณีสืบมาจากอีศานหรือพายัพก์ได้ เพราะชอบรับประทานเนื้อสุกร แม้แต่การเล่นที่เรียกกันว่าเสือกินวัว ก็เรียกว่า เสือกินหมู แต่ของอินเดียทางปัญจาปเรียกว่า เสือกินแพะ แสดงว่าต่างถิ่นมีสัตว์เลี้ยงอะไรดกดื่น ก็เอาสัตว์ชะนิดนั้นมาเรียก เรื่องสังเวยด้วยหัวหมูก็อาจมีเค้าอย่างเดียวกัน

เรืองปรำครอบเชิงตะกอนเผาศพ ข้าพระพุทธเจ้าสอบลักษณะที่ทำในชนบทลางแห่งว่าทำเป็นรูป ๔ เหลี่ยมผืนผ้ามี ๖ เสา ลางแห่งทำเป็น ๔ เหลี่ยมจัตุรัสมี ๖ เสาเหมือนกัน แต่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อวางโลงบนเชิงตะกอนแล้ว หัวและท้ายโลงไม่ยื่นเลยออกมานอกเชิงตะกอนเหมือนที่ทำกันในกรุงเทพ ฯ เวลานี้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เชิงตะกอนที่ทำในกรุงเทพ ฯ จะย่นลงมาจนวางโลงไม่ได้ตลอด คงเกิดจากจะกะเบียดกะเสียนเรื่องทำเชิงตะกอน แม้ย่อเชิงตะกอนลงมาแล้ว ก็ได้ทราบเกล้า ฯ ว่า แต่ก่อนนี้ยังตั้งเสาปรำเป็น ๖ เสา เพิ่งจะมาเป็น ๔ เสาในเวลาไม่สู้ช้านี้เอง

ในการชำระปทานุกรม ถึงอักษร ซ เกิดมีขัดข้องกันด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วย ซ ผันด้วยไม้เอก และ ส ผันด้วยไม้โทเช่น ซ่อม และ ส้อม ซ่อง และ ส้อง ควรจะใช้ ซ หรือ ส กรรมการลางท่านอธิบายว่าที่ถือเป็นหลักมาแล้ว คือถ้าเป็นกิริยาใช้พวกอักษรต่ำ ถ้าเป็นอักษรสูงใช้ที่เป็นนาม เช่น ซ่อมแซม ช้อนส้อม เป็นต้น แต่ครั้นถึงลางคำก็ถือหลักนี้ไม่ได้ทีเดียว เช่น คอยท่า-ท่าน้ำ ข้าพระพุทธเจ้านึกแปลกใจว่า ที่คำซ้ำระดับเสียงกันมากคู่เช่นนี้ น่าจะมีเหตุอะไรมาก่อน ของเดิมจะมีระดับเสียงผิดกัน หากมาเลื่อนเสียงเหมือนกันในทีหลังก็ได้ เพราะไทยลางถิ่นเช่น อาหม ก็มีพยัญชนะแต่เสียงสูง พยัญชนะเสียงต่ำไม่มี แต่เมื่อออกเสียง อาจผิดระดับเสียงกันก็ได้ ข้าพระพุทธเจ้าจดคำที่เป็นอักษรสูงและอักษรต่ำผันด้วยไม้โทและไม้เอก เลือกแต่ที่เห็นว่าจะเป็นคำไทยแท้ แล้วให้นายสุดอ่านออกเสียงดู คงได้ความว่า เสียง ข และ ค ตรงกันกับกรุงเทพ ฯ ถ้าเสียง ข่ และ ค่ ออกเสียงคล้ายเสียง ค แต่หางเสียงเป็นไม้ตรีนิดๆ ถ้าเสียง ข้ เป็น ข่ เสียง ค่ เป็น ข้ เป็นอย่างนี้ตลอดไปถึงพยัญชนะในวรรคอื่นที่เป็นอักษรสูงและต่ำ เมื่อเทียบคำว่า ถ้า-ท่าน้ำ-คอยท่า ก็เป็น ถ่า-ท๊าน้ำ-คอยท๊า เถ้าแก่ เป็น เถ่าแก๊ ส่วน ขี้เทา เป็น ขี่เท๊า หางเสียงเกือบเป็น เทา ทำให้ข้าพระพุทธเจ้านึกไปถึงคำว่า ขี้เทา ที่ตรัสทักข้าพระพุทธเจ้ามา ถ้าถือเสียงอีศานเป็นแนวเทียบ คำที่ควรจะใช้เป็นอักษรสูงไม้โทหรืออักษรต่ำไม้เอก น่าจะถือเอาเสียงที่เขาอ่านเป็นเค้าเห็นจะได้ แต่ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่มีโอกาศสอบสวนเสียงทางพายัพและไทยถิ่นอื่นๆ ในคำไทย ข้อน แปลว่า ตี เขียนในหนังสือวรรณคดีเป็น ข่อน ก็มี ตรงกับเสียงทางอีศาน ส่วน ค่อน ว่าเขาออกเสียงเป็น ค้อน ลางคำ เช่น เซ่นไหว้ เส้นสาย ทางอีศานออกเสียงเป็น เส่น ทั้งสองคำ หาได้ออกเสียงผิดกันเหมือนกับคู่อื่นไม่ เป็นเรื่องที่คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าสอบสวนให้ได้ตลอด จะพบอะไรแปลก ๆ อีกมาก

ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานถวายหนังสือมหาทิพมนต์ ซึ่งมีบทสวดมหาชัยอยู่ด้วย มาในซองนี้ด้วยเล่ม ๑

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ