๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ทรงพระเมตตาประทานพระอธิบายเรื่องตราชาดและตราครั่ง พร้อมทั้งประทานคืนตัวอย่างตราประทับไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้อ่านพระอธิบายด้วยความเพลินและสนใจ ได้รับความรู้ซึ่งยังไม่รู้ขึ้นอีกมาก เป็นพระเมตตากรุณาล้นเกล้า ฯ หาที่สุดมิได้

เรื่องตราประทับเหล่านี้ คิดด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าไม่ทรงพระเมตตาตรัสอธิบาย ตราประทับบางดวงก็คงจะเลอะเลือนหาเรื่องราวไม่ได้ถูกต้อง ดั่งตัวอย่างที่เรียก ตราพระเพลิงทรงระมาด และ ตราเทพดาทรงพระนนทิการ เป็น ตรานารายน์ทรงระมาด และ ตรานารายน์ทรงสุบรรณ ไป เป็นต้น ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้า ฯ ว่า จะเสนอกรมศิลปากร ขอให้ช่างช่วยเขียนจำลองดวงตราเหล่านี้ขึ้นไว้ พร้อมทั้งคำอธิบาย เก็บเป็นหลักฐานไว้ เมื่อมีผู้ศรัทธามาขอตีพิมพ์ ก็จะเป็นโอกาศรักษาของดี ๆ มีผู้ทราบได้น้อยคน ไว้ได้นาน

เรื่องตราจันทรมณฑล ซึ่งพระราชทานกระทรวงยุติธรรมไป ข้าพระพุทธเจ้าสืบได้ความว่า ทรงพระกรุณาโปรดให้ใช้ตรา พระดุลยพ่าห แทนตรา จันทรมณฑล เมื่อในรัชกาลที่ ๖ ส่วน ตรามหาสารทูลธวัช ข้าพระพุทธเจ้าหาตัวผู้ที่ข้าพระพุทธเจ้านึกว่าจะไปสอบถามได้เรื่องราวยังไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าดำริจะสอบค้นหาบรรดาพระราชบัญญัติพระราชลัญจกรมารวบรวมไว้ เพื่อเป็นเครื่องมือสอบสวนต่อไป

ตามหนังสือของข้าพระพุทธเจ้าฉะบับก่อน กราบทูลถึงคำแปลของคำว่า บาง ข้าพระพุทธเจ้าได้ค้นหาคำแปลต่อมา ที่กราบทูลว่า เมืองพระบาง อาจมาจาก เมืองพ่อขุนบาง นั้น ความปรากฏในหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัย ที่อ้างถึง เมืองพระบาง อยู่ ๒ แห่ง คือ ในหลักที่ ๑ และที่ ๒ ในนั้นจารึกเป็นเมืองพระบางทั้งสองแห่ง ตัวอักษรในศิลาจารึกใช้เครื่องหมายวิสัญชนีน้อยที่สุด ในที่ซึ่งในปัจจุบันนี้ใช้ประวิสัญชนี แต่ในศิลาจารึกไม่ใช้เลย นอกจากคำว่า พระ เท่านั้น น่าจะเข้าใจว่า พระบาง คงไม่ได้เพี้ยนไปจาก พ่อบาง หรือ พบาง เมื่อ พระบาง จะมาจาก พ่อบาง ไม่ได้ ถ้าถือคำแปลคำว่า บาง ในภาษาไทยอาหม พระบาง ก็น่าจะหมายความว่า พระซึ่งรุ่งเรืองสุกใส เข้าพวกกับพระสุกพระใส พระพุทธรูปอีก ๒ องค์ของเมืองหลวงพระบางได้

ข้าพระพุทธเจ้าถือเอาคำ บาง แปลว่า รุ่งเรือง ค้นหาคำในภาษาไทยถิ่นอื่น ซึ่งมีพจนานุกรมสำหรับค้นเป็นภาษาฝรั่งเศส-ไทย ก็ได้คำซึ่งถึงไม่ตรงกับคำว่า บาง แต่ก็เป็นข้อความที่ข้าพระพุทธเจ้าอดที่จะกราบทูลไม่ได้

ในภาษาไทยขาว ความว่า รุ่งเรือง ให้คำไว้ว่า ล่ง หรือ ร่ง และ ร่วง ในภาษาไทยนุง เป็น ล่ง เลียง และ หมิ่ง ให้ตัวหนังสือจีนกำกับไว้ด้วย เมื่อค้นดูในพจนานุกรมภาษาจีน-อังกฤษ ได้ความว่า ล่ง ในเสียงชาวกวางตุ้ง อ่านเป็นสองอย่างคือเป็น หล่ง และ หลั่ง ถ้าเช่นนั้นคำว่า ลังลอง หรือ รังรอง ในภาษาไทย ก็เป็นคำซ้อนนั่นเอง ส่วนคำ เลียง คงเป็น เหลี่ยง ในเสียงชาวกวางตุ้ง ข้อแปลกที่คำซึ่งมีความหมายในพวกว่า รุ่งเรือง มีในภาษาไทยอยู่หลายคำ คือ รุ่ง ร่วง เรือง เรื้อง เหลือง รังรอง ส่วนคำว่า เหมง ในภาษาจีนได้ความว่าเสียงเดิมเป็น หมั่ง หรือ หม่าง นับว่าใกล้กับคำว่า บาง ของอาหม ที่แปลว่า รุ่งเรือง มากอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าคิดไม่เห็นว่า ถ้า บาง กับ ร่วง เป็นคำมีความหมายอย่างเดียวกัน เพราะเหตุอะไรพ่อขุนบางกลางท่าว จึงมาเปลี่ยนเป็นพ่อขุนร่วงไป และคำว่า บาง ทำไมจึงได้หายไป ไม่ใช้ในภาษาอีก หรือว่า บาง ย้ายความหมายไปใช้เป็นอื่นไป อย่าง บ่าว ย้ายไปเป็น ข้าทาส ส่วนความหมายเดิมของ บ่าว ถูกคำว่า หนุ่ม มาแทนที่ (หนุ่มในภาษาจีนเป็น หน่ำ ในเสียงกวางตุ้ง แปลว่า ผู้ชาย ตัวหนังสือจีนเขียนรูปนาไว้ข้างบน มีคำแปลว่ามีแรงไว้ข้างล่าง แปลว่ามีแรงทำนา) ทั้งนี้การจะควรสถานไร แล้วแต่จะทรงพระกรุณา

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ