๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ยส

กรมศิลปากร

วันที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒

ขอประทานกราบทูล ทรงทราบใต้ฝ่าพระบาท

ข้าพระพุทธเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ ประทานคืนพระบรมรูปที่ทรงยืมไปรวม ๓ แผ่นไว้แล้ว

ที่ทรงพระเมตตาประทานความเห็นเรื่อง ประ กับ บรร มานั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นพ้องในกระแสพระดำริที่ตรัสอธิบายมา และโดยเหตุที่แปลง บัน มาเป็น บรร คิดด้วยเกล้าฯ ว่า กัน ที่แปลงมาเป็น กรร และ กระ ซึ่งมีอยู่ดกดื่นในภาษาไทย ก็น่าจะมาจากความคิดที่แปลง บัน เป็น บรร และ ประ แต่ทำไมจึงแปลงเสียงหันอากาศมาเป็น รร จะเป็นเพราะคำที่มี รร ในภาษาสํสกฤตออกเสียงเป็นหันอากาศอยู่นิดๆ ก็เลยถือเอาเสียง ร ตัวหนึ่งเป็นเสียงเป็นหันอากาศ และเสียง ร อีกตัวหนึ่งเป็นเสียงวิสัญชนีไป อย่างเดียวกับภาษาบาลี ที่แปลงเสียง รร ในคำสํสกฤต เป็นซ้อนตัวสกดขี้น ซึ่งคงเนื่องจากออกเสียง รร ได้ลำบาก

เสียงของคำที่มีพยัญชนะอนุนาสิก ง น ม มักเคลื่อนที่ได้ง่าย คำเช่น สํสกฤต เขียนเป็น สังสกฤต สันสกฤต ก็มี แต่เมื่อข้าพระพุทธเจ้าฟังพราหมณ์ ป.ส. ศาสตรี ออกเสียง ก็เป็น สัมสกฤต ไป เสียงของแขกคงจะหนักไปทางตัว ม เพราะคำเช่น สิงห วงศ ในภาษาฝรั่งจึงถ่ายเป็นตัวโรมันว่า Simha และ Vamsa ข้าพระพุทธเจ้าคิดเห็นว่า สํสกฤต อ่านเป็น สันสกฤตสดวกกว่าเพราะมี ส ในคำ สกฤต เสียงเกิดที่ฟัน อนุนาสิกเกิดที่ฟัน กับเสียง น กลมกลืนเสียงกันได้สดวก เข้าหลักเปลี่ยนตัวสกดตามวรรคอักษร

เรื่องเสียงกลมกลืนกัน ในตำรานิรุกติศาสตร์วางหลักไว้ ๓ อย่าง คือ เสียงของพยางค์หน้าลากเสียงของพยางค์หลังไป เช่น สิบเอด เป็นสิบเบด เสียงพยางค์หลังลากเสียงพยางค์หน้ามา เช่น มนิลา เป็น มลิลา ลากเสียงกลมกลืนกันหมด เช่น ทีเดียว เป็น เทียว ลางทีการกลมกลืนเสียงเป็นแต่บางส่วนของเสียงเท่านั้น คือชนิดที่เปลี่ยนตัวสกดตามวรรคอักษร

การกลมกลืนเสียง ลางทีทำให้คำเปลี่ยนไปมากก็มี เช่น ผักหม เป็น ผักขม เป็นเพราะเสียง ก กับ ห กล้ำกันก็เกิดเป็นเสียง ข ขึ้น หนวกหู ลางทีฟังเสียงเป็น หนวกขู คงจะเป็นเพราะ หู แปลได้ความอยู่ หู จึงคงเสียง ผิดกับ หม ซึ่งแปลไม่ออก แต่ ขม แปลออก หม จึงกลายเป็น ขม ไป

เรื่องเมืองพัตบอง ซึ่งเกี่ยวกับตะบองหาย ข้าพระพุทธเจ้าเคยพบในพงศาวดารเขมร ว่ากษัตริย์เขมรครั้งโบราณองค์หนึ่ง จะเปนพระเทวงศ์อัศจรรย์หรือกษัตริย์องค์ใค ข้าพระพุทธเจ้าจำไม่ได้ เมื่อครั้งยังไม่ได้เป็นกษัตริย์ ได้เอาตะบองขว้างฝูงงัว แล้วตะบองหายไป แต่ไม่บอกว่าเกี่ยวกับเรื่องเมืองพัตบอง คิดด้วยเกล้าฯ ว่า จะเป็นเรื่องแต่งขึ้นภายหลัง เพื่อให้เข้ากับคำแปลของคำว่า บัดตัมบอง เรื่อง ท้าวโคตรบอง เป็นเรื่องมีอ้างถึงในตำนานลาวหลายแห่ง เมื่อข้าพระพุทธเจ้าไปภาคอีศาน ไปถึงเมืองนครพนม ได้ข้ามไปเที่ยวเมืองท่าแขก อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับนครพนม มีผู้ชี้ให้ข้าพระพุทธเจ้าดูธาตุเจดีย์แห่งหนึ่งว่า เป็นที่บรรจุอัฐิท้าวโคตรบอง ข้าพระพุทธเจ้าจึงซักถามต่อไปว่า ที่เรียกเมืองท่าแขกแปลว่าอะไร เขาตอบว่า เป็นท่าที่พวกแขกขึ้นลง ซึ่งเป็นคำอธิบายอย่างเดา ที่ข้าพระพุทธเจ้าซักถามเช่นนี้ เพราะเฉลียวถึงคำว่า แขก กับ แกรก ซึ่งตามหลักการกลายเสียงก็เป็นคำเดียวกัน ถ้าคำ แขก มาจาก แกรก ก็นับว่าแปลก ที่มาเกี่ยวข้องกับท้าวโคตรบอง ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบสวนต่อไป ก็พบข้อความในตำนานทางภาคอีศาน อ้างถึงท้าวโคตรบองหลายแห่ง เรียกว่าพญาศรีโคตรบัตบอง ว่ามีฤทธิ์เพราะมีฆ้อนตะบองเป็นอาวุธ ในตำนานอุรังคธาตุ เรียกว่า พระยาโคตรบุตรหรือโคตรบูร ครองเมืองติโคตรบอง และว่าเมืองนี้เรียกเป็นหลายอย่าง เป็น สีโคตรโม ติโคตรบุรังนคร ติโคตรบูร และ สีโคตรบอง ก็มี และว่ามาจากคำว่า โคตโม อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้าประทานแก่พระยาติโคตรบุต เมื่อข้าพระพุทธเจ้าอ่านพบเรื่องตอนนี้ ก็นึกไปถึงเมืองโคตรบูร ที่มีกล่าวไว้ในกฎมนเทียรบาล และซึ่งนักปราชญ์โบราณคดดีสันนิษฐานว่ามีราชธานีอยู่แถวนครพนม เรื่องก็เข้ารูปกันได้ว่า ในแถบนครพนมและท่าแขก คงมีเมืองโบราณชื่อ โคตรบูร หรือ โคตรบัตบอง โคตรบุต โคตรบอง ซึ่งคงเกิดจากคำๆเดียวกัน แต่เพี้ยนเสียงไป เรื่อง พระยาโคตรบอง ถือตะบอง จะเป็นการเพิ่มฤทธิ์ให้พระยาโคตรบอง โดยอาศัยเสียงในชื่อนั้นเป็นเหตุก็ได้

เรื่องเมืองเสียมราบ ข้าพระพุทธเจ้านึกค้นหาเหตุไม่ได้ นอกจากนึกเดาว่าเขมรตั้งชื่อขึ้นลอย ๆ เป็นการปลุกขวัญเขมร

เรื่องพระตรา ข้าพระพุทธเจ้าพบประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยเรื่องผู้ที่ใช้ตราไปหัวเมืองตอนหนึ่งมีว่า ถ้ากรมขึ้นกรมพระกลาโหม ก็มีตราพระคชสีห์ประจำชื่อ พระราชสีห์สมทบประจำต่อ มีตราช้างที่เป็นรูปนารายน์บัลลังก์นาค นั่งเหนือกระเษียรสมุท เป็นสำคัญกลางประจำศุกทุกฉะบับ ข้าพระพุทธเจ้ายังสงสัยว่าตราช้างที่เป็นรูปนารายน์บัลลังก์นาค จะเป็นตราองค์เดียวกันกับตรานารายน์บรรทมสินธุ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนเป็นนารายน์นาคบัลลังก์ หรือเป็นคนละดวง เพราะชื่อคล้ายคลึงกันมาก

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอนุมานราชธน

ขอประทานกราบทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ