๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ น

ตำหนักปลายเนิน คลองเตย

วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๘๒

พระยาอนุมานราชธน

หนังสือของท่านลงวันที่ ๑๒ กันยายน ได้รับแล้ว จะตอบปัญหาของท่านตามกำลังความรู้

พลับพลาจตุรมุขที่กรุงเก่า ฉันเคยเที่ยวบุกบันในพระราชวังกรุงเก่ามามาก ตั้งแต่ก่อนจัดตั้งสมุหเทศาภิบาลมาแล้ว ไม่เคยเห็นพลับพลาจตุรมุขของเก่ามีอยู่เลย มีแต่ปราสาทเล็กก่อขึ้นไว้ชิดท้ายพระที่นั่งสรรเพชปราสาท ในประธานกั้นผนังเปนห้องสี่เหลี่ยม แม้คนเข้าไปในนั้นสักหกเจ็ดคนก็เห็นจะเต็มห้อง มีมุขโถงเสาสองต้นต่อห้องสี่เหลี่ยมออกมาสี่ทิศ เห็นจะตั้งใจให้เปนปราสาท แต่เห็นจะไม่เคยมีหลังคา ผนังก็เปนอิฐแดง ๆ ดูจะไม่เคยถือปูน แปลว่าทำค้าง ได้ยินเขาพูดกันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้ทำขึ้น เปนศาลสำหรับพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า ด้วยเวลาพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพ ฯ เสวยราชสมบัติใหม่ ก็เสด็จขึ้นไปบวงสรวงพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าทุกทีมา ในกาลโน้นเวลาเสด็จขึ้นไปบวงสรวง ก็ปลูกปรำกันขึ้นในที่ใกล้พระที่นั่งสรรเพช คงทรงพระราชดำริเห็นว้าเหว่า จึงมีพระราชดำรัสสังให้สร้างเปนศาลขึ้น อาจเข้าใจกันไปว่าปราสาทเล็กนี้เองเปนพลับพลาจตุรมุขของเก่า แล้วทีหลังก็รื้อเสียเกลี้ยงหมด แต่ใครจะรื้อเสียเมื่อไรฉันไม่ทราบ เชื่อว่ารื้อเมื่อแต่งการพระราชพิธีรัชชมงคลที่นั่น

พลับพลาจตุรมุขหรือช่อมุขเดี๋ยวนี้ พระยาโบราณราชธานินทร์เปนผู้ทำ เข้าใจว่าประกอบกับพระดำริสมเด็จกรมพระยาดำรง ซึ่งเวลานั้นทรงธำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอยู่ด้วย เห็นจะหวังให้แทนปรำซึ่งเคยต้องปลูก พลับพลานั้นตั้งอยู่ท้ายพระที่นั่งสรรเพชปราสาทเหมือนกัน แต่ห่างออกไป พระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วต้องเปนสำคัญอยู่เอง เพราะจะหมายถึงโบราณคดี ก็ไม่มีอะไรจะดีกว่าทำพระราชลัญจกรองค์นั้น และพระราชลัญจกรนั้นเอง ดึงดูดให้ทำพระราชลัญจกรอื่นขึ้นอีก ๕ องค์ ถ้าท่านจะใคร่ทราบละเอียดข้อใดในเรื่องนี้ ทูลถามสมเด็จกรมพระยาดำรงเปนได้ความแน่ เข้าใจว่าพระองค์เปนผู้ทรงพระดำริเริ่มต้น

ที่เรียกว่าพระราชลัญจกรมังกรเล่นแก้วนั้น สนิทกว่าเรียกมังกรคาบแก้ว เพราะดวงแก้วไม่ได้อยู่ในระหว่างปาก ซึ่งควรจะใช้คำว่าคาบ น่าประหลาดที่ทำไมจึ่งเพ่งเอาแก้วกันเสียหนักหนมหนักหนา

เขียน หน้าบรรพ สนิทกว่า หน้าบัน เพราะคำ บรรพ แปลว่า ก่อน ก่อนก็คือ ด้านหน้า หน้าเรือนอยู่ทางด้านขื่อ ดูโบสถ์เปนอย่างเถิด เขียนบัน ไม่ได้ความอะไร ตามที่ฉันอธิบายมาก่อนเรื่อง บรรพแถลง อ้างถึง ถะ จีนนั้นห่างไป ควรจะอ้างถึงปราสาทพม่า ท่านจะดูรูปเข้าใจได้ดีกว่า เพราะมีพร้อมอยู่ทุกอย่าง

ตราสัง เรายังรู้ไม่ได้แน่ว่ามาแต่อะไร ท่านเดาว่า ตราสาง เปนใกล้ดีที่สุด ดีกว่าใกล้กว่า ตรากระสัน มากทีเดียว

พระแสงรายตีนตอง ได้ชื่อต่อมาแต่คำมหาดเล็กเชิญพระแสงรายตีนตอง คือ เชิญพระแสงนั่งอยู่บนปากเรือสี่มุมบุษบกที่ประทับในเรือพระที่นั่ง จะพยายามแปลคำ รายตีนตอง ลองดู ถ้าผิดไปแล้วขอโทษ ราย ท่านเข้าใจแล้ว ลางทีแต่ก่อนจะมีมหาดเล็กรายมากกว่า ๔ คนก็ได้ ตีน หมายถึง ตีนบุษบก ตอง หมายถึง ก้านตอง คือลวดประกอบปากเรือ ซึ่งกล้อกลมดุจก้านใบตอง ซึ่งเปนที่มหาดเล็กนั่งรายอยู่ ยานนาวาในกุมารบัพก็มีคำก้านตองอยู่ในนั้น ว่าตามที่จำได้ สำเภาลำใดของพาณิช ย่อมจะตกแต่งต่อติดด้วยกงวาน ก้านตองตะปู (ตาปู) ตะปลิง (ตัวปลิง) ยิงตรึงกระชับชิด พืชนเหล็กติดตอกหมัน โซมน้ำมันชันเคี่ยวแล้วเยียวยา ขอให้ท่านสังเกตคำกวี ไพเราะดี แต่ได้ความอย่างไรบ้าง นอกจากชื่อสิ่งเหล่านั้นเปนของมีอยู่ในเรือ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ